Skip to main content

ประเทศไทย: สงครามยาเสพติดบดบังความสำเร&

ในการดำเนินการเกี่ยวกับโรคเอดส์

(นิวยอร์ค) รายงานขององค์การฮิวแมนไรท์ วอชท์ ซึ่งเผยแพร่ก่อนหน้าการประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 11-16 กรกฎาคม ระบุว่า “สิทธิมนุษยชน และความสำเร็จของประเทศไทยในการดำเนินการเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามยาเสพติดที่ดำเนินไปอย่างโหดเหี้ยม โดยนอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คนแล้ว การปราบปรามดังกล่าวยังทำให้ผู้ติดยาเสพติดต้องหลบหนีไปซ่อนตัว และไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอีกด้วย”

รายงานความยาว 60 หน้า เรื่อง “หลุมฝังศพมีไม่พอ: สงครามยาเสพติด เชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” เสนอหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ทางการไทยใช้อำนาจเหนือกฎหมายในการสังหาร และจับกุม รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในช่วงที่มีการทำสงครามยาเสพติด โดยหลักฐานเหล่านั้นประกอบด้วย คำให้การของญาติผู้เสียชีวิต และคำให้การของผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทุบตี บังคับให้สารภาพ และจับกุม

นายโจนาธาน โคเฮน นักวิจัยในโครงการด้านเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ ของ องค์การฮิวแมนไรท์ วอชท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานเรื่องนี้กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่าละอายใจที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ในขณะที่มีการลงโทษผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้ ในบรรดามาตรการต่างๆ ที่ได้รับการพิสูจน์ว่า สามารถแก้ไขปัญหาการติดยาเสพติด และเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ได้นั้น ไม่มีการฆาตกรรมรวมอยู่ด้วย”

ถึงแม้ทางการจะระบุว่า ผู้ค้ายาเสพติด คือ เป้าหมายในการทำสงครามยาเสพติด แต่ผู้เสพยาเสพติดที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดกลับถูกลงโทษ และกดดันให้ต้องไปหลบซ่อนตัว จนทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงโครงการแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยา และบริการต่างๆ ที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ ผู้เสพยาเสพติดจำนวนมากต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี จากการใช้เข็มฉีดยา และหลอดฉีดยาที่ปนเปื้อนร่วมกัน

ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเคยยกย่องบทบาทของประเทศไทยว่า เป็นผู้นำในการดำเนินการเกี่ยวกับโรคเอดส์จากความสำเร็จด้านการรณรงค์เรื่อง “ถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์” การรณรงค์ดังกล่าวสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ถึงประมาณ 200,000 ราย ด้วยการแจกถุงยางอนามัย และเอกสารเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ ตามสถานบริการทางเพศ และคลีนิกต่างๆ แต่การทำสงครามยาเสพติดทำให้ความสำเร็จดังกล่าวถดถอยไป

นายโจนาธานกล่าวว่า “นโยบายยาเสพติดทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีต้องแปดเปื้อน และกลายเป็นตัวแบบของการใช้วิธีการที่เลวร้ายที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้เสพยาเสพติด”

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศ “ชัยชนะ” ในสงครามยาเสพติด ซึ่งมีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่ยังไม่มีการอธิบายเกือบ 3,000 คน และยังมีประชาชนอีกหลายพันคนถูกบังคับให้ต้องเข้ารับการบำบัดการติดยาเสพติดที่ใช้การฝึกหนักตามแบบทหาร ซึ่งผลการสำรวจพบว่า มีประชาชนหลายคนที่ไม่ได้เป็นผู้เสพยาเสพติด แต่กลับต้องยอมเข้ารับการบำบัด เพราะกลัวที่จะถูกจับกุม หรือสังหาร ถ้าหากขัดขืน

นายโจนาธานกล่าวว่า “ชัยชนะของประเทศไทยในสงครามยาเสพติดทำให้การสาธารณสุขกลายเป็นเรื่องตลก เพราะผู้เสพยาเสพติดนั้นสมควรที่จะได้รับโอกาสในการเลือกเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยวิธีการที่มีมนุษยธรรมได้โดยสมัครใจ ไม่ใช่ตกเป็นเป้าหมายของการสังหาร หรือจับกุม”

รัฐบาลไทยเริ่มการปราบปรามยาเสพติดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 เพื่อควบคุมการค้ายาบ้า ภายในระยะเวลา 3 เดือน มีผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดถูกสังหารถึง 2,275 คน ผู้ต้องสงสัยจำนวนมากถูกระบุชื่ออยู่ใน “บัญชีดำ” ของรัฐบาล ซึ่งจัดทำขึ้นอย่างลวกๆ และเมื่อบุคคลเหล่านี้ได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ปรากฏว่า มีหลายกรณีที่ผู้ต้องสงสัยถูกสังหารภายหลังจากที่กลับจากสถานีตำรวจได้ไม่นาน

ถึงแม้ยาบ้าจะเป็นยาเสพติดประเภทที่แพร่หลายที่สุด แต่จำนวนผู้ที่เสพเฮโรอีนด้วยการใช้เข็มฉีดยาในประเทศไทยนั้นก็มีมากถึงประมาณ 100,000 – 250,000 คน ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้เสพเฮโรอีนเพิ่มสูงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์มาตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งสวนการกับการติดเชื้อเอชไอวีจากสาเหตุอื่นๆ ที่ลดต่ำลง ผู้เสพยาเสพติดมีทางเลือกที่จำกัดในการเข้ารับการบำบัดรักษา และยังถูกข่มเหงรังแกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น การทุบตี การจับกุมโดยปราศจากความผิด การบังคับให้รับสารภาพ นอกจากนี้ รับบาลไทยยังปฏิเสธโครงการแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยา ถึงแม้ว่าการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากจะพิสูจน์แล้วว่า โครงการดังกล่าวสามารถลดการแพร่เชื้อเอชไอวีได้โดยที่ไม่เพิ่มปัญหาการใช้ยาเสพติดก็ตาม

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.