Skip to main content

ประเทศไทย: นายกฯ คนใหม่ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นด้านสิทธิ

นายกรัฐมนตรีแพทองธารควรยุติการปราบปราม เริ่มการปฏิรูปด้านกฎหมาย

นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร แถลงข่าวกับกับสื่อมวลชน พร้อมกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการประชุมนัดพิเศษที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร วันที่ 7 กันยายน 2567 © 2024 Anusak Laowilas/NurPhoto via AP

(กรุงเทพฯ) – แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของ ประเทศไทย ให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แต่ในระหว่างปี 2567 มีการดำเนินงานน้อยมากเพื่อยุติการปราบปราม หรือดำเนินการปฏิรูปอย่างจริงจัง ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ใน รายงานระดับโลกปี 2568 ในช่วงปีที่ผ่านมา มีความถดถอยครั้งสำคัญต่อความพยายามที่จะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในประเทศ การแก้ปัญหาความรับผิดต่อการปฏิบัติมิชอบที่ร้ายแรง และการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย 

ในรายงานระดับโลกความยาว 546 หน้า ซึ่งจัดพิมพ์เป็นปีที่ 35 ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ทบทวนการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในกว่า 100 ประเทศ โดยในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก ทีรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการบริหารเขียนใน บทนำรายงานว่า รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ปราบปรามและดำเนินการอย่างมิชอบ เพื่อจับกุมและคุมขังฝ่ายต่อต้านทางการเมือง นักกิจกรรม และผู้สื่อข่าว กลุ่มติดอาวุธและกองทัพของรัฐบาลได้สังหารพลเรือนอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้คนจำนวนมากต้องหลบหนีจากบ้านเรือนของตนเอง ทั้งยังมีการปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ในการเลือกตั้งระดับชาติที่เกิดขึ้นกว่า 70 ครั้งในปี 2567 ผู้นำเผด็จการได้รับเลือกตั้งเข้ามามากขึ้น ด้วยการใช้วาทศิลป์และนโยบายที่เลือกปฏิบัติ 

“นายกรัฐมนตรีแพทองธารต้องแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลของเธอเคารพเสรีภาพด้านการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอื่น ๆ” อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว  “รัฐบาลไทยไม่ได้ถูกตัดสินด้วยคำสัญญาที่พวกเขาให้ แต่จะถูกตัดสินจากการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมสิทธิและแก้ไขข้อผิดพลาดทั้งในอดีตและปัจจุบัน” 

  • วันที่ 7 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบ พรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน และได้คะแนนนำในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 จากการฟ้องคดีด้วยข้อกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง คำวินิจฉัยนี้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความพยายามของประเทศที่จะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย
  • รัฐบาลไทยไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดความรับผิดต่อการปฏิบัติมิชอบของกองกำลังของรัฐบาล เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ถูกสั่งฟ้องในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา และข้อหาอาญาร้ายแรงอื่น ๆ เกี่ยวเนื่องกับ การสังหารหมู่ที่อำเภอตากใบ เมื่อปี 2547 ไม่ได้ถูกนำตัวมาที่ศาลเพื่อรับการพิจารณา ก่อนที่อายุความ 20 ปีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีกับพวกเขาต่อไปได้
  • ทางการไทยจับกุมและบังคับส่งกลับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย ไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงว่าจะต้องเผชิญกับการประหัตประหาร รวมทั้งกรณีของ อี ควิน เบดั๊บ ผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาดจากเวียดนาม โดยที่ผ่านมา ทางการไทยไม่ยอมรับฟังข้อกังวลที่แสดงออกโดยองค์การสหประชาชาติ รัฐบาลต่างชาติ และกลุ่มสิทธิมนุษยชน
  • นับเป็นก้าวย่างสำคัญในเชิงบวกเมื่อเดือนกันยายนที่รัฐบาลไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ทำให้ประเทศไทยจะเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยอมรับความสัมพันธ์ของเพศเดียวกัน  

รัฐบาลไทยควรยุติทันทีไม่ให้มีการปราบปรามอย่างกว้างขวางต่อการแสดงความเห็นอย่างเสรี ให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายซึ่งเป็นการปฏิบัติมิชอบ และให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ประเทศไทยควรใช้โอกาสที่ได้รับเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกของ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจะเริ่มต้นในปี 2568 เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.