Skip to main content

ประเทศไทย: นักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชาถูกยิงเสียชีวิต

ต้องสอบสวนการสังหาร ลิม กิมยาในกรุงเทพฯ อย่างเร่งด่วน

เจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางของไทยยืนอยู่ใกล้จุดที่นายลิม กิมยา อดีตสมาชิกรัฐสภากัมพูชา ถูกยิงเสียชีวิตในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย วันที่ 7 มกราคม 2568  © 2025 Lillian Suwanrumpha/AFP via Getty Images

(กรุงเทพฯ) – ทางการ ไทย ควรดำเนินการสอบสวนโดยทันทีและอย่างรอบด้าน ต่อการสังหารอดีตนักการเมืองฝ่ายค้านชาว กัมพูชา ระหว่างอยู่ในกรุงเทพฯ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ 

ในวันที่ 7 มกราคม 2568 ในช่วงหัวค่ำ มือปืนได้ยิงสังหารลิม กิมยา อดีตสมาชิกรัฐสภาชาวกัมพูชาวัย 74 ปี จากพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ซึ่งถูกยุบไปแล้ว ระหว่างอยู่ที่วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ เขาและภรรยาเพิ่งเดินทางมาถึงด้วยรถบัสจากจังหวัดเสียมเรียบในกัมพูชา ต่อมาทางการไทยระบุว่ามือปืนคือ เอกลักษณ์ แพน้อย อดีตนาวิกโยธินชาวไทย และได้ออกหมายจับเขา สื่อในประเทศรายงานว่า ทางการกัมพูชา จับกุมตัวเอกลักษณ์ได้ที่จังหวัดพระตะบองหลังจากเขาหลบหนีไปกัมพูชา และระบุว่าจะมีการส่งตัวกลับมาที่ประเทศไทย

หนังสือพิมพ์ The Nation รายงานว่า ศาลอาญาของไทย ออกหมายจับ กิมริน พิช พลเมืองชาวกัมพูชา ซึ่งเป็น รองผู้อำนวยการตลาดสาธารณะ ที่กรุงพนมเปญ เนื่องจากอาจมีส่วนร่วมในการสังหารครั้งนี้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลระบุว่า พิชเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยพร้อมกับลิม กิมยาภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็น ภาพขณะที่พิชนั่งอยู่ในรถมินิบัสคันเดียวกับลิม กิมยา ระหว่างเดินทางมาที่กรุงเทพฯ พล.ต.ต.ธีรเดช ระบุว่า พิชได้เดินทางด้วยเครื่อบินออกจากสนามบินนานาชาติที่กรุงเทพฯ ไปแล้ว ภายหลังการสังหาร 

“การสังหารนักการเมืองฝ่ายค้านคนสำคัญชาวกัมพูชาอย่างโหดร้ายในใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้เกิดข้อกังวลอย่างมากเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลต่างชาติ ในการสังหารที่มีแรงจูงใจทางการเมืองในแผ่นดินไทย” อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ทางการไทยต้องสอบสวนอย่างเต็มที่ต่อการสังหาร ลิม กิมยาและประกันให้มีการไต่สวนเพื่อลงโทษผู้รับผิดชอบ” 

ปัจจุบัน กัมพูชา ควบคุมตัวนักโทษทางการเมือง 38 คน ตามข้อมูลของ LICADHO ซึ่งเป็นหน่วยงานสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา

ลิม กิมยาได้โพสต์ เฟซบุ๊ก เป็นครั้งสุดท้าย วิจารณ์ฮุนมานี รองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาและน้องชายของนายกรัฐมนตรีฮุนมาเนต จากการใช้เงินเพื่อจัดงานฉลองปีใหม่วันที่ 1 มกราคม ซึ่ง “ไม่ได้เกิดผลประโยชน์ในระยะยาวต่อประชาชน” ลิม กิมยาได้เขียนว่า รัฐบาลควรหันมาเคารพสิทธิมนุษยชนมากกว่า 

การสังหารลิม กิมยา พลเมืองสัญชาติกัมพูชา-ฝรั่งเศส ซึ่งเคยรับราชการในฝรั่งเศส เป็นการส่งสัญญาณไปยังผู้วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชาว่า ไม่มีสถานที่ใดที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว 

พรหม พันนา นักกิจกรรมพรรค CNRP ให้ข้อมูลกับฮิวแมนไรท์วอทช์ ว่า ในเดือนสิงหาคม 2566 คนร้ายได้สะกดรอยและติดตามเขาในบริเวณที่พักของเขาในจังหวัดระยองของประเทศไทย ทั้งยังได้ถ่ายภาพเขาจากในรถ และมีการทำร้ายร่างกายเขาด้วย คนงานก่อสร้าง 10 คนที่เห็นเหตุการณ์ทำร้ายได้เข้ามาช่วยพันนาเอาไว้  และมีการบันทึกภาพเหตุการณ์ในกล้องวงจรปิดของร้านค้าใกล้เคียง

ผู้นำกัมพูชายังคงข่มขู่พันนา ระหว่างที่รอการเดินทางไปพำนักในประเทศที่สามที่สหรัฐอเมริกา Radio Free Asia รายงาน ว่า จากคลิปเสียงที่มีการเผยแพร่ในเฟซบุ๊กเปิดเผยว่า ในเดือนกันยายน 2567 อดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานวุฒิสภาได้ระบุว่า “คณะทำงานในประเทศไทยต้องทำงานกับตำรวจไทย เพื่อกำจัดกลุ่มบุคคลซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือพรหม พันนา....กองกำลังของเราต้องใช้ทุกวิถีทาง เพื่อนำตัวเขากลับมาให้ได้ ไม่ว่าจะจับเป็นหรือตาย” 

ในเดือนธันวาคม 2562 คนร้ายที่พูดภาษากัมพูชาสองคนได้โจมตีทำร้ายสวน จำเริญ นักกิจกรรมพรรค CNRP ระหว่างอยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตึกที่พักของเขาในกรุงเทพฯ โดยมีการใช้ปืนช็อตไฟฟ้ายิงใส่เขา 15 นาที พยายามที่จะจับกุมตัวและลากตัวเขาออกจากร้าน พร้อมกับทุบตีเขาที่ศีรษะ หลัง และแขน ในขณะที่พนักงานร้านเซเว่นอีเลฟเว่นได้ตะโกนบอกว่า มีการแจ้งตำรวจแล้ว ทำให้คนร้ายไม่ทราบฝ่ายหลบหนีไป 

ทางการไทยยังได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เห็นต่างชาวกัมพูชา โดยอาจมีส่วนร่วมจากรัฐบาลกัมพูชา ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ทางการไทยได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการบังคับส่งกลับนักกิจกรรมฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองชาวกัมพูชาหกคน และเด็กเล็กหนึ่งคน ทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะต้องเข้ารับการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรมและการปฏิบัติมิชอบในกัมพูชา 

รายงาน ของฮิวแมนไรท์วอทช์ปี 2567 ชี้ให้เห็นแบบแผนของการปราบปรามข้ามชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยมีส่วนช่วยเหลือรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ให้ปฏิบัติการอย่างมิชอบด้วยกฎหมายต่อผู้เห็นต่างและนักกิจรรมที่แสวงหาความคุ้มครองในประเทศไทย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ทางการไทยก็สามารถโจมตีทำร้ายผู้วิจารณ์รัฐบาลไทยที่ลี้ภัยอยู่ในกัมพูชา ลาว และเวียดนาม โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของ “ตลาดแลกเปลี่ยน” ของผู้ลี้ภัยและผู้เห็นต่าง

“แนวทางการรับมือของประเทศไทยต่อการสังหารลิม กิมยา จะชี้ให้เห็นว่า ทางการไทยจะยอมรับหรือปฏิเสธไม่ให้มีการก่ออาชญากรรมที่น่าตกใจ ซึ่งอาจถือเป็นการปราบปรามข้ามชาติ” เพียร์สันกล่าว “ฝรั่งเศสและมิตรประเทศอื่น ๆ ของไทย ควรกระตุ้นให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีการสอบสวนอย่างน่าเชื่อถือ และเพื่อให้มีการลงโทษผู้มีส่วนรับผิดชอบทุกคน" 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.