Skip to main content

ประเทศไทย: การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นบกพร่องในขั้นพื้นฐาน

กระบวนการที่ไม่เป็นธรรม การเซ็นเซอร์ การกดขี่ปราบปราม

ผู้หญิงชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ชูสามนิ้วระหว่างการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2566 © 2023 Pongmanat Tasiri / SOPA Images/Sipa USA

(New York) – การเลือกตั้งในประเทศไทย กำหนดมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยจะจัดขึ้นภายใต้กรอบการเมือง รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ซึ่งทำให้กระบวนการที่เสรีและเป็นธรรม แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้

ฮิวแมนไรท์วอทช์และกลุ่มภาคประชาสังคมในไทยและระหว่างประเทศกว่า 50 แห่ง ย้ำถึงประเด็นเหล่านี้ใน จดหมายร่วม ที่ส่งถึงประเทศพันธมิตรที่เป็นประชาธิปไตย และประเทศคู่ค้าของไทย 25 แห่ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ แสดงข้อกังวลนี้ต่อผู้นำของไทย โดยไม่ควรตีความว่าการที่พรรคฝ่ายค้านเข้าร่วมในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นครั้งนี้ หมายถึงว่าพวกเขาเชื่อมั่นว่ากระบวนการเลือกตั้งในประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างเสรีและเป็นธรรม ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

“ในขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในประเทศไทย รัฐบาลประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกควรประกาศอย่างชัดเจนต่อผู้นำไทยว่า การละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนไทย จะทำให้เกิดผลกระทบตามมา” จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การเลือกตั้งที่มีขึ้นภายใต้ระบบที่บกพร่องในขั้นพื้นฐาน และภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัว ย่อมไม่นำไปสู่ความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย”

กระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งยึดอำนาจมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย ในการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ข้อบทในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มุ่งกระชับอำนาจของกองทัพ พร้อมกับบั่นทอนระบอบปกครองของพลเรือน โดยให้อำนาจรัฐบาลทหารในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ

สส. 500 คนในสภาล่างของไทยมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่สมาชิกวุฒิสภา 250 คนได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร และส่วนใหญ่มีความจงรักภักดีต่อนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2557 และเป็นนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ซึ่งจะลงแข่งขันเป็นนายกฯ อีกสมัยหนึ่ง

ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เสียงข้างมากในสภาล่างจะเป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่สมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 250 คน และสมาชิกสภาล่าง 500 คน จะร่วมกันลงคะแนนเสียงเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งต้องใช้เสียงข้างมาก (376 เสียง) จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 750 คน 

ส่งผลให้ พรรคการเมืองที่สนับสนุนทหารต้องการเสียงเพียง 126 จาก 500 ที่นั่งในสภาล่าง เพื่อรวมกับสว.ที่รัฐบาลทหารแต่งตั้งอีก 250 เสียง ในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2562 สว.ไทยทุกคนต่างยกมือออกเสียงสนับสนุนให้ประยุทธ์เป็นนายกฯ แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนกองทัพและเสนอชื่อประยุทธ์ จะไม่ได้มีจำนวนสส.มากสุดในสภาล่างก็ตาม

ในทางตรงกันข้าม พรรคการเมืองฝ่ายค้านจะต้องได้สส.มากกว่าถึงสามเท่า คือต้องได้จำนวนสส. 376 คนจากจำนวนสส.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 500 คน เพื่อให้มีโอกาสที่จะได้เลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ของตน สมาชิกวุฒิสภาระดับสูง ได้กล่าวย้ำหลายครั้งว่า พวกเขาอาจไม่สนใจต่อผลการเลือกตั้งของสภาล่าง และจะเดินหน้าออกเสียงเลือกประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งพวกเขาเข้าดำรงตำแหน่ง

มีการส่งจดหมายจากกลุ่มภาคประชาสังคมไปให้กับรัฐบาลประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก รวมทั้งกลุ่มประเทศ G7 รัฐบาลประเทศประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศ G20 และสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทย

รัฐบาลประเทศที่เกี่ยวข้องควรประกาศอย่างชัดเจนต่อทางการไทยก่อนจะถึงการเลือกตั้งว่า พวกเขาจะติดตามกระบวนการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว พวกเขาควรประกาศอย่างชัดเจนว่า ความพยายามที่จะทำลายผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมทั้งการสั่งการให้วุฒิสมาชิกออกเสียงเลือกบุคคลบางคน หรือออกเสียงในลักษณะที่ตรงข้ามกับผลการเลือกตั้ง ย่อมจะส่งผลกระทบด้านลบต่อความสัมพันธ์ระดับพหุภาคีและทวิภาคี 

นอกเหนือจากข้อบกพร่องเชิงโครงสร้างของรัฐสภาไทยแล้ว บรรยากาศทางการเมืองในประเทศไทยยังคงมุ่งจำกัดอย่างรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชน นับแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ทางการไทยได้ดำเนินคดีอาญาต่อนักกิจกรรมผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน และผู้วิจารณ์รัฐบาลกว่า 1,800 คน เนื่องจากการแสดงความเห็นหรือเข้าร่วมในการชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบ ในบรรดาผู้ถูกดำเนินคดีประกอบด้วย เด็กกว่า 280 คน รวมทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจำนวน 41 คน 

ทางการมองว่าข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง และได้ใช้กฎหมายอาญาที่รุนแรงและมีโทษจำคุกสูง เพื่อดำเนินคดีกับนักศึกษาและนักกิจกรรมผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเช่นนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งห้ามไม่ให้พูดพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง และขู่จะยุบพรรคและดำเนินคดีกับผู้บริหารและผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคใด ๆ ซึ่งละเมิดข้อห้ามดังกล่าว ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า การวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ อาจถือว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง  

รัฐบาลประเทศที่เกี่ยวข้องควรกระตุ้นทางการไทย ให้ปล่อยตัวและยุติการดำเนินคดีต่อสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคการเมือง นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว และนักกิจกรรมผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งถูกควบคุมตัวจากการใช้สิทธิทางพลเรือนและการเมืองของตนอย่างสงบ ทางการยังควรยุติการเซ็นเซอร์สื่อ และอนุญาตให้มีการแสดงความเห็นอย่างเสรี รวมทั้งการยกเลิกหรือทำความตกลงเป็นการชั่วคราวเพื่อยุติการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่ละเมิดสิทธิ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และกฎหมายยุยงปลุกปั่น

“รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกย่อมจะไม่ยอมรับว่ารัฐบาลไทยชุดใหม่ มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย จนกว่ารัฐบาลปัจจุบันจะแก้ไขข้อบกพร่องในขั้นพื้นฐานของกระบวนการเลือกตั้งของไทย” ซิฟตัน กล่าว “การรื้อฟื้นระบอบปกครองของพลเรือน จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการรื้อฟื้นสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศไทย”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.