(นิวยอร์ก) – ทางการไทยกำลังคุกคาม และข่มขู่ผู้วิจารณ์ทางสังคมที่ล้อเลียนนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเข้าดำรงตำแหน่งใหม่อีกสมัยหนึ่ง ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้
ในสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2562 เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของไทยและหน่วยงานอื่น ๆ กดดันคนต่างชาติซึ่งสร้างเรื่องตลกเสียดสีจนเป็นที่รู้จักกันดี และนักเรียนมัธยม เพื่อให้พวกเขาลบหรือขอโทษ ต่อการโพสต์วีดิโอหรือภาพถ่ายในโซเชียลมีเดีย ซึ่งถูกมองว่าเป็นการล้อเลียนเผด็จการทหาร
“เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลทหารไทยไม่มีอารมณ์ขันเลย การล้อเลียนเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลให้ถูกข่มขู่แบบอันธพาล หรืออาจถูกดำเนินคดี” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชากำลังเริ่มการทำงานในสมัยที่สอง โดยยังคงแสดงท่าทีไม่ใส่ใจไยดีอย่างสิ้นเชิงต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ต่างจากการดำรงตำแหน่งสมัยแรก”
ในวันที่ 12 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่บ้านของยาน มาร์แชล ชาวฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ และสั่งให้เขาโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเพื่อขอโทษ ต่อการทำมิวสิกวีดิโอล้อเลียนเพลงของรัฐบาลทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) เจ้าหน้าที่บอกกับนายมาร์แชลให้เขียนคำสัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนี้อีก ด้วยความกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีและถูกส่งกลับ เขายังถูกบังคับให้ลบคลิปวีดิโอล้อเลียน ซึ่งได้กลายเป็นไวรัล โดยมีผู้ชมกว่าหนึ่งล้านวิวในโซเชียลมีเดียของเขา นอกจากนั้น ทางการยังสั่งให้เขาลงชื่อในบันทึก ซึ่งระบุว่าเขายอมรับว่าการล้อเลียนรัฐบาลทหารเป็น “การกระทำที่ไม่เหมาะสม” และสร้างความเสียหายต่อคสช.และประชาชนชาวไทย
ในวันที่ 11 มิถุนายน ทางการไทยกดดันให้ณภัทร ชุ่มจิตตรี (หรือตามชื่อที่ใช้ในการแสดงว่า คิง ก่อนบ่าย) ให้แจ้งกับแฟน ๆ ให้ลบคลิปวีดิโอ ซึ่งเขาพูดเลียนแบบการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน¬ของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ และการล้อเลียนระบอบปกครองของทหาร
ทางการยังดำเนินการกับนักเรียนมัธยมซึ่งล้อเลียนรัฐบาลทหาร โดยในวันที่ 13 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไปที่โรงเรียนชุมพลพิสัย จังหวัดหนองคาย สั่งให้นักเรียนลบรูปในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับกิจกรรมวันไหว้ครูทั้งหมด โดยในการจัดพานไหว้ครูได้มีการแสดงข้อความล้อเลียนเผด็จการทหาร และการแทรกแซงของรัฐบาลทหารต่อการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อสืบทอดอำนาจของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ คณะผู้ชำนาญการอิสระซึ่งติดตามการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรอง ระบุในความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกว่า
“การที่รูปแบบของการแสดงออกมีลักษณะดูหมิ่นบุคคลสาธารณะ ไม่ถือเป็นเหตุผลเพียงพอต่อการกำหนดบทลงโทษ....นอกจากนั้น ย่อมเป็นการชอบธรรมที่บุคคลสาธารณะทั้งปวง รวมทั้งผู้ซึ่งใช้อำนาจการปกครองสูงสุด อย่างเช่น ประมุขของรัฐและฝ่ายบริหาร ตกเป็นเป้าหมายการวิพากษ์วิจารณ์ และการต่อต้านทางการเมือง ในทำนองเดียวกัน คณะกรรมการแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายต่อกิจกรรมเหล่านี้....ซึ่งเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อผู้มีอำนาจ....และกฎหมายที่คุ้มครองชื่อเสียงของเจ้าพนักงาน [รัฐบาล] ไม่ควรห้ามการวิจารณ์สถาบันต่าง ๆ รวมทั้งกองทัพหรือรัฐบาล”
การคุกคามครั้งล่าสุดต่อผู้วิจารณ์ทางสังคม สะท้อนให้เห็นการกดขี่อย่างกว้างขวางต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ ตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทางการไทยยังคงคุกคาม ข่มขู่ และดำเนินคดีผู้เห็นต่างและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา การที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมบุคคลที่ทำร้ายผู้เห็นต่างคนสำคัญอย่างรุนแรงเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้เกิดข้อกังวลอย่างมากว่ารัฐบาลอาจมีส่วนร่วมในเหตุเหล่านี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
“นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ ควรสั่งการให้เจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงยุติการดำเนินงานใด ๆ ที่มุ่งปิดปากและลงโทษนักวิจารณ์อย่างสงบโดยทันที” อดัมส์กล่าว “มิตรประเทศของไทยไม่ควรปล่อยให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นข้ออ้างเพื่อเพิกเฉยต่อสถานการณ์ด้านสิทธิที่เสื่อมทรามลงในประเทศ”