Thai authorities suspend broadcasting of the outspoken Voice TV for criticizing the ruling military junta.
ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศพักการออกอากาศของวอยซ์ทีวีเป็นเวลา 15 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ กสทช.กล่าวหาว่าทางสถานีให้ข้อมูลที่สับสนต่อสาธารณะ ยุยงให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ เนื่องจากทางสถานีให้พื้นที่กับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารของไทย และมีการออกอากาศคำวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นและเศรษฐกิจ
“การสั่งพักการออกอากาศของวอยซ์ทีวี เน้นให้เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ต่อรัฐบาลทหารของไทยก่อนจะมีการเลือกตั้ง เป็นเรื่องต้องห้าม” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “บิ๊กทหารของไทยกำลังแสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการผ่อนปรนการควบคุมอย่างเข้มงวดในประเทศ เพื่อประกันให้เกิดการออกคะแนนเสียงอย่างเป็นธรรมแต่อย่างใด”
นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเหตุให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจปกครองประเทศ วอยซ์ทีวีได้ตกเป็นเป้าหมายการเซ็นเซอร์และการลงโทษ มากกว่าสถานีโทรทัศน์อื่นใดในประเทศไทย ทางการเคยสั่งปิดสถานีเป็นเวลา 26 วันในปี 2557 และเจ็ดวันในปี 2560 นอกจากนั้นยังมีคำสั่งพักการออกอากาศบางรายการอีก 17 ครั้ง และให้ยกเลิกบางรายการ เพื่อแลกกับการออกอากาศอีกครั้ง กสทช.บังคับให้วอยซ์ทีวีลงนามบันทึกความเข้าใจ กำหนดให้ทางสถานีต้องไม่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลทหารหรือสถานการณ์ในประเทศไทย
ในช่วงกว่าสี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้ใช้อำนาจโดยพลการและอย่างกว้างขวาง เพื่อตีความการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ และการแสดงความเห็นต่างว่าเป็นการให้ข้อมูลที่บิดเบือน เป็นการยุยงปลุกปั่น และคุกคามต่อความมั่นแห่งชาติ ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 คสช.ยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมสาธารณะและการจัดกิจกรรมทางการเมือง เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองรณรงค์หาเสียงได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังคงไม่ยกเลิกประกาศคำสั่งของทหารที่ควบคุมการแสดงออก และให้มีการดำเนินคดีอาญาต่อผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร นโยบายและการปฏิบัติของพวกเขา และสถาบันพระมหากษัตริย์
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ซึ่งห้าม “การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ“และห้ามเผยแพร่ “ข้อมูลที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิด ความแตกแยกในราชอาณาจักร“ โดยยังเป็นการบังคับให้สำนักข่าวทุกแห่งต้องรายงานข้อมูลที่เผยแพร่โดยรัฐบาลทหาร
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 ห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ กรณีที่เป็นข้อมูลซึ่งทางการเห็นว่า “บิดเบือน และ (สร้าง) ความเข้าใจผิด อันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม” เท่ากับว่ากสทช. กลายเป็นเครื่องมือหลักในการเซ็นเซอร์สื่อของรัฐบาลทหาร โดยมีอำนาจอย่างกว้างขวางและปราศจากการตรวจสอบ สามารถสั่งพักการออกอากาศรายการโทรทัศน์และวิทยุได้ หรือสามารถสั่งปิดสถานีได้ เพียงเพราะเนื้อหาของรายการถูกทางการมองว่าเป็นการบิดเบือน สร้างความแตกแยก และคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ
“ไม่อาจบอกว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยน่าเชื่อถือได้ หากยังมีคำสั่งควบคุมสื่อมวลชน และยังคงห้ามการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของทหาร” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลควรคุ้มครองเสรีภาพสื่อโดยทันที โดยต้องยกเลิกคำสั่งพักการออกอากาศของวอยซ์ทีวี และยุติความพยายามใด ๆ ที่จะปิดปากสื่อดังกล่าวและสื่ออื่น ๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร”