Skip to main content

ประเทศไทย: ปล่อยตัวผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่เป็นชนกลุ่มน้อย

ปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะยุติการควบคุมตัวเด็กผู้เข้าเมือง

An elderly Montagnard woman sits at the door of a “house church” in Kret Krot village in Vietnam’s Central Highlands on September 26, 2013. © 2013 AP Photo/Chris Brummitt

(กรุงเทพฯ 30 สิงหาคม 2561) ทางการไทยควรปล่อยตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่เป็นชนกลุ่มน้อย 181 คนอย่างเร่งด่วน พวกเขาได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัยจากองค์การสหประชาชาติและถูกจับกุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ามองตานญาดในเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งถูกจับตัวเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ในเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ

“ข้ออ้างของประเทศไทยที่เรามักได้ยินว่า มีการปฏิบัติด้านสิทธิของผู้ลี้ภัยดีขึ้น ฟังดูไม่น่าเชื่อถือเมื่อเจ้าหน้าที่ยังคงควบคุมตัวหลายสิบครอบครัว ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ชาวเขาเผ่ามองตานญาดเหล่านี้ต้องถูกประหัตประหาร หากมีการส่งตัวพวกเขากลับไปกัมพูชาและเวียดนาม ประเทศไทยไม่ควรดำเนินการเช่นนั้นไม่ว่าด้วยเงื่อนไขใด”

ตอนเช้ามืดของวันที่ 28 สิงหาคม นายอำเภอบางใหญ่พร้อมเจ้าหน้าที่อส.ของกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ทหาร ได้สนธิกำลังเพื่อจับกุมผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวเวียดนามและกัมพูชา 181 คน รวมทั้งที่เป็นเด็ก 50 คนจากบ้านของพวกเขาในจังหวัดนนทบุรี เจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นการปฏิบัติการตามคำร้องเรียนจากชาวบ้านที่เป็นคนไทยแถวนั้น

ชาวเขาเผ่ามองตานญาดจำนวนมากได้เดินทางจากเวียดนามเข้าสู่กัมพูชาและไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อหลบหนีการประหัตประหารด้วยเหตุผลด้านศาสนาและการเมือง ในขณะที่ชนเผ่าจาไรจากกัมพูชาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์ ถูกทางการเวนคืนที่ดิน และได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลมากขึ้น หลังจากชาวจาไรจากเวียดนามได้อพยพเข้าสู่จังหวัดรัตนคีรีของกัมพูชา

เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมดูเหมือนจะมีความเข้าใจไม่มากนักเกี่ยวกับพันธกรณีของประเทศไทย ที่จะต้องปกป้องผู้ลี้ภัย โดยผู้ลี้ภัยคนหนึ่งบอกว่า “[เจ้าหน้าที่] หลายคนมาหาผมและถามว่ามาที่นี่ทำไม มาที่นี่ได้อย่างไร และจ่ายเงินไปเท่าไร พวกเขาถามว่า ใครเป็นคนช่วยจนได้รับบัตรจาก [หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ] และจ่ายเงินไปเท่าไรถึงได้บัตรนี้ พวกเขาถามหลายคนเกี่ยวกับการเดินทางมาถึงประเทศไทย...คนไทยคนหนึ่ง [ตำรวจนอกเครื่องแบบ] บอกว่า พวกเราอยู่ที่นี่อย่างผิดกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย”

เจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยเหล่านี้ไปยังที่ทำการอำเภอบางใหญ่ และดำเนินคดีฐานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหรืออยู่อาศัยอย่างผิดกฎหมายตามมาตรา 11, 62 และ 81 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) ในประเทศไทยได้เดินทางไปยังที่ทำการอำเภอ เพื่อหาทางให้ปล่อยตัว “บุคคลภายใต้ความห่วงใย” ซึ่งได้รับสถานะจาก UNHCR แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยที่ทำการอำเภอบางใหญ่ได้สอบถามผู้ลี้ภัย ทนายความ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานผู้ลี้ภัยว่าบัตรที่ UNHCR ออกให้เป็นของจริงหรือไม่ เจ้าหน้าที่แสดงออกว่ามีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย สถานะของพวกเขา หรือพันธกรณีของรัฐบาลไทยในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ทั้งยังถามว่าเหตุใดคนที่ถูกจับกุมอ้างว่าเป็นผู้ลี้ภัย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสงครามในบ้านเกิดของตัวเองแล้ว

ตอนค่ำวันที่ 28 สิงหาคม รัฐบาลไทยได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย 34 คน สัญชาติกัมพูชาไปยังศูนย์กักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลูที่กรุงเทพฯ เพื่อรอการผลักดันออกนอกประเทศ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ลี้ภัยจากเวียดนาม 38 คนไปยังศาลจังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาต่อพวกเขา แต่เป็นกระบวนการที่บกพร่อง เนื่องจากทางการไทยไม่ดูแลให้มีล่ามที่สามารถแปลภาษาจาไรได้อย่างถูกต้อง เพื่อช่วยให้ผู้ลี้ภัยเข้าใจถึงเนื้อหาของสองข้อกล่าวหาต่อพวกเขาและกระบวนการในศาล

“การดำเนินคดีกับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยเหล่านี้ในข้อหาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เกิดจากความเข้าใจผิดต่อเหตุผลที่พวกเขาเดินทางมาประเทศไทย” อดัมส์กล่าว “ทำให้เกิดข้อกังวลว่าพวกเขาอาจถูกส่งตัวกลับเพื่อไปเผชิญกับการประหัตประหาร”

ประเทศไทย มีนโยบายควบคุมตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยโดยไม่มีกำหนด โดยให้อยู่ในที่ควบคุมตัวที่เลวร้ายระหว่างรอการผลักดันออกนอกประเทศ คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการกำหนดให้นำตัวผู้แสวงหาที่ลี้ภัย “มาขึ้นศาลหรือหน่วยงานที่มีอำนาจอื่นโดยพลัน” ทั้งนี้เพื่อประเมินว่าการควบคุมตัวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประเทศไทยมีหน้าที่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่ส่งกลับ ซึ่งห้ามไม่ให้รัฐส่งตัวบุคคลไปยังประเทศ กรณีที่เสี่ยงว่าอาจเผชิญกับการทรมานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่น ๆ หลักการไม่ส่งกลับเป็นข้อบัญญัติที่ปรากฏอย่างชัดเจนตามข้อ 3 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี และถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

ในปี 2559 ประเทศไทยประกาศพันธสัญญาที่จะยุติการควบคุมตัวเด็กผู้เข้าเมือง ในเดือนมกราคม 2560 รัฐบาลไทยมีมติคณะรัฐมนตรี ที่จะสนับสนุนการออกกฎหมายเพื่อจัดทำกลไกคัดกรองผู้แสวงหาที่ลี้ภัยระดับชาติ

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองเมื่อปี 2535 กำหนดว่า “การจับกุมกักขังหรือจำคุกเด็กจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย และจะใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเท่านั้น และให้มีระยะเวลาที่สั้นที่สุดอย่างเหมาะสม” อนุสัญญายังกำหนดอีกว่า “เด็กที่ร้องขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัย หรือที่ได้รับการพิจารณาเป็นผู้ลี้ภัยตามกฎหมายหรือกระบวนการภายในหรือ ระหว่างประเทศที่ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีบิดามารดาของเด็กหรือบุคคลอื่นติดตามมาด้วยหรือไม่ก็ตาม จะได้รับการคุ้มครองและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เหมาะสมในการได้รับสิทธิที่มีอยู่ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญานี้ และในตราสารระหว่างประเทศอื่นๆ อันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน....”

“ประเทศไทยกำลังละเมิดคำสัญญาที่ให้ต่อนานาชาติ ด้วยการควบคุมตัวเด็กผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกว่า 50 คน” อดัมส์กล่าว “การที่พวกเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากองค์การสหประชาชาติ ควรเป็นหลักประกันว่าครอบครัวเหล่านี้ไม่ควรถูกควบคุมตัว ทางการไทยควรปล่อยตัวพวกเขาโดยทันที”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.