เป็นอีกครั้งหนึ่งที่วันผู้ลี้ภัยโลกเวียนมาบรรจบ โดยยังไม่มีการปรับปรุงด้านการปฏิบัติที่เลวร้ายของประเทศไทยต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง
แม้จะมีประสบการณ์หลายทศวรรษในการรองรับผู้ลี้ภัยหลายล้านคน แต่ประเทศไทยยังคงไม่มีกฎหมายว่าด้วยผู้ลี้ภัย หรือไม่มีขั้นตอนปฏิบัติระดับชาติที่น่าเชื่อถือในการคัดกรองเพื่อให้ที่พักพิงแก่พวกเขา ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงอยู่ในสภาพที่เปราะบาง เสี่ยงจะถูกปฏิบัติมิชอบ
ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ของไทยปฏิบัติต่อผู้แสวงหาที่พักพิงที่อาศัยอยู่นอกค่ายที่พักพิงชั่วคราวตามพรมแดนไทย-พม่า รวมทั้งผู้ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) ราวกับเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งต้องถูกจับกุมและส่งกลับ ส่งอำนวยความสะดวกให้ประเทศไทยส่งกลับบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายการตามล่าของรัฐบาลต่างชาติ
รัฐบาลไทยชุดที่ผ่าน ๆ มารวมทั้งปัจจุบันได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ฟังเสียงคัดค้านจากทั้งองค์การสหประชาชาติและหลายประเทศ โดยมีการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงไปยังประเทศที่เสี่ยงจะถูกปราบปรามหรือทรมาน สถานการณ์เลวร้ายลงนับแต่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
ในกรณีที่ถือว่าสำคัญมากสุด รัฐบาลไทยได้ส่งกลับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนกระบวนการเกอเลน (Gülen movement) ไปยังประเทศตุรกีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ส่งกลับนักกิจกรรมชาวจีนไปยังประเทศจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 และส่งกลับชาวอุยเก๋อ 109 คนไปยังประเทศจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558
ทางการไทยยังคงขัดขวางไม่ให้เรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญา ซึ่งหลบหนีจากพม่าเข้าสู่ชายฝั่งของไทย โดยเจ้าหน้าที่ไทยเพียงแต่ให้ความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานกับบุคคลเหล่านั้น ก่อนจะส่งเรือกลับเข้าไปในทะเลที่เต็มไปด้วยอันตราย รัฐบาลไทยยังปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือกับ UNHCR ในกระบวนการคัดกรองเพื่อจำแนกสถานะผู้ลี้ภัยของชาวโรฮิงญา ส่งผลให้พวกเขาหลายคนต้องถูกควบคุมตัวในฐานะคนต่างด้าวอย่างไม่มีกำหนด
สถานกักตัวคนต่างด้าวของประเทศไทยมีสภาพแออัดอย่างยิ่ง ขาดแคลนอาหาร การระบายอากาศไม่ดี และไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และบริการที่จำเป็นอื่น ๆ จึงไม่น่าประหลาดใจที่มีผู้ถูกควบคุมตัวหลายคนเสียชีวิตในสถานที่เหล่านั้น ทั้งยังมีการควบคุมตัวผู้เยาว์อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย และด้วยสาเหตุมาจากสถานการณ์เป็นผู้เข้าเมืองของพวกเขา เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี
ประเทศไทยควรให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 และพิธีสาร พ.ศ.2510 และควรบัญญัติกฎหมายว่าด้วยผู้ลี้ภัยให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว ในแง่ความร่วมมือกับ UNHCR รัฐบาลไทยควรกำหนดให้มีขั้นตอนการตรวจสอบคำขอที่พักพิงที่เป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อประกันว่า บุคคลจากทุกสัญชาติจะมีสิทธิในการขอรับสถานะผู้ลี้ภัยภายใต้เงื่อนไขอย่างเดียวกัน สุดท้าย ประเทศไทยควรปล่อยตัวผู้ลี้ภัยซึ่งได้รับสถานะและขึ้นทะเบียนกับ UNHCR แล้วโดยทันที และให้ยกเลิกนโยบายการควบคุมตัวผู้แสวงหาที่พักพิงอย่างไม่มีเวลากำหนด