(นิวยอร์ก) – รัฐบาลไทยควรยุติการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับคนงานข้ามชาติฉบับใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษทางอาญาที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และส่งผลให้คนงานข้ามชาติหลายพันคนหนีออกไปจากประเทศไทย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้
นับแต่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 คนงานข้ามชาติหลายหมื่นคนจากกัมพูชา พม่า ลาว และเวียดนาม ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและยังไม่ขึ้นทะเบียน ได้หลบหนีออกจากประเทศไทย เนื่องจากกลัวการจับกุมและบทลงโทษที่รุนแรง กฎหมายใหม่นี้กำหนดบทลงโทษทางอาญาที่ไม่ได้สัดส่วนต่อคนงานข้ามชาติ ซึ่งทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท
“การขู่ที่จะใช้โทษจำคุกเป็นเวลานานและใช้ค่าปรับเป็นราคาแพงมากกับคนงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน จะยิ่งเปิดโอกาสมากขึ้นให้ข้าราชการที่ฉ้อฉลและนายจ้างที่ไร้คุณธรรม ใช้เป็นช่องทางเพื่อปฏิบัติมิชอบและแสวงหาประโยชน์จากคนงาน” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ประเทศไทยต้องมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิคนงานข้ามชาติ ไม่ใช่กฎหมายที่สร้างความหวาดกลัวและผลักดันให้คนออกนอกประเทศจำนวนมาก”
พระราชกำหนดซึ่งรัฐบาลประกาศใช้โดยมีการแจ้งล่วงหน้าเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้เกิดปัญหากับทั้งคนงานข้ามชาติและนายจ้าง เป็นเหตุให้คนงานข้ามชาติและครอบครัวของเขาหลายพันคน หลบหนีออกจากประเทศไทย นายจ้างอาจถูกปรับเป็นเงินมากถึง 400,000-800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคนที่ไม่มีเอกสาร เป็นเหตุให้นายจ้างหลายคนสนับสนุนให้คนงานข้ามชาติออกนอกประเทศไปก่อน แม้แต่ลูกจ้างมีใบอนุญาต นายจ้างก็อาจถูกปรับเป็นเงิน 400,000 บาทต่อคนงานหนึ่งคน และลูกจ้างอาจถูกปรับ 100,000 บาท กรณีที่งานที่ทำไม่ตรงกับบัตรที่ลงทะเบียนไว้กับกรมจัดหางาน
ในวันที่ 4 กรกฎาคม นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องเผชิญกับแรงต่อต้านจากนายจ้างที่มีต่อกฎหมาย และคนงานข้ามชาติจำนวนมากที่หลั่งไหลออกนอกประเทศ ส่งผลให้เขาใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเพื่อชะลอการบังคับใช้พระราชกำหนดนี้ในสี่มาตรา (เกี่ยวกับบทลงโทษที่รุนแรง) ออกไปเป็นเวลา 180 วันเพื่อรอการแก้ไข อย่างไรก็ดี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลทหาร ได้ผ่านกฎหมายนี้เป็นพระราชบัญญัติ โดยยกเว้นข้อบทดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง 177 ต่อ 0 (งดออกเสียง 11 คน) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม
นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ อ้างว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่นี้ เนื่องจากยังมีคนงานข้ามชาติที่ไม่ขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนมากถึงสามล้านคนในประเทศไทย และรัฐบาลต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อข้อกังวลระหว่างประเทศเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเขาได้อ้างถึงการจัดอันดับที่ต่ำมากของประเทศไทยตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2560 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (2017 US State Department’s Trafficking in Persons (TIP) report)
การปฏิบัติมิชอบต่อคนงานข้ามชาติในประเทศไทย เป็นข้อมูลที่ทางฮิวแมนไรท์วอทช์และหน่วยงานอื่น ๆ ได้จัดทำรายงานอย่างละเอียด รวมทั้งในรายงาน หนีเสือปะจระเข้: การปฏิบัติมิชอบต่อคนงานข้ามชาติในประเทศไทย (From the Tiger to the Crocodile: Abuse of Migrant Workers in Thailand) ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า การปฏิบัติมิชอบต่อคนงานข้ามชาติ มีทั้งการทำร้ายร่างกายและการสังหาร โดยเป็นผลงานของกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลและเอกชน การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในระหว่างการควบคุมตัวในหลายรูปแบบ การปฏิบัติมิชอบทางเพศ การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงานอย่างกว้างขวาง และการรีดไถที่เกิดขึ้นมากมาย นายจ้างหลายคนยึดหนังสือเดินทางและบัตรอนุญาตทำงานของคนงานข้ามชาติเอาไว้ คนที่ร้องเรียนเรื่องนี้มักต้องเผชิญกับการตอบโต้จากตำรวจ เจ้าหน้าที่อื่น ๆ และนายจ้าง
กฎหมายใหม่นี้ช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญเพียงอย่างเดียวตามความเห็นของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวคือปัญหาที่เกิดจากการที่นายจ้างยึดบัตรประจำตัวคนงานไว้อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างเปลี่ยนไปทำงานกับคนอื่นหรือย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยกฎหมายใหม่นี้กำหนดบทลงโทษทางอาญาต่อการยึด "ใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าว” โดยกำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สืบเนื่องจากความซับซ้อนของกระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ และเนื่องจากรัฐบาลไทยไม่มีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาด้านภาษากับคนงานข้ามชาติ เป็นเหตุให้คนงานเหล่านี้ต้องจ่ายเงินจำนวนมากให้กับนายหน้า ซึ่งจะเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานบริหารจัดการแรงงานทั้งสองประเทศ ระยะเวลาที่เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนในแต่ละปีก็สั้นมาก ส่งผลให้คนงานข้ามชาติซึ่งไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ทันเวลา เสี่ยงจะถูกจับกุมหรือรีดไถโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย
คนงานข้ามชาติยังคงถูกห้ามไม่ให้เปลี่ยนงานและนายจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้กำหนดระยะเวลาที่จะต้องเปลี่ยนนายจ้างหลังจากได้รับอนุญาตแล้วภายใน 15 วันซึ่งถือว่าสั้นเกินไป การเปลี่ยนนายจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจะส่งผลให้คนงานถูกจับกุม ควบคุมตัว ถูกปรับ และถูกส่งออกนอกราชอาณาจักร การจำกัดโอกาสที่คนงานจะเปลี่ยนนายจ้าง เป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิด้านแรงงาน อีกมาตราหนึ่งของกฎหมายนี้ ให้อำนาจรัฐมนตรีมหาดไทยกำหนดพื้นที่ซึ่งอนุญาตให้คนงานข้ามชาติอาศัยอยู่ได้ เท่ากับเป็นการคุกคามสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเดินทาง
กฎหมายใหม่นี้ยังไม่แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิของคนงานข้ามชาติในประเทศไทย ที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม รวมทั้งสิทธิในการรวมตัวและเป็นแกนนำสหภาพแรงงาน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ห้ามไม่ให้คนต่างด้าวจดทะเบียนตั้งสหภาพแรงงานกับทางการไทย (ซึ่งจำเป็นต้องมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย) หรือไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหภาพซึ่งจะเป็นคณะกรรมการที่คัดเลือกประธานสหภาพแรงงานได้
เพื่อยุติการหลั่งไหลของคนงานข้ามชาติออกจากประเทศไทย รัฐบาลไทยควรใช้มาตรการโดยทันทีเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนงานข้ามชาติ รัฐบาลควรยุติการจำกัดสิทธิของคนงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนในการเปลี่ยนนายจ้าง ยกเลิกระเบียบที่ละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเดินทางของคนงานข้ามชาติ และแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์เพื่ออนุญาตให้คนงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานและใช้สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมได้
ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานระดับชาติเพื่อรับคำร้อง และสอบสวนอย่างไม่ลำเอียงและอย่างเร่งด่วนกรณีที่เกิดการปฏิบัติมิชอบต่อสิทธิของคนงานข้ามชาติ โดยให้สอบสวนและดำเนินคดีอย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจซึ่งรีดไถและปฏิบัติมิชอบต่อคนงานข้ามชาติและครอบครัว และให้ปฏิรูปกระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ซึ่งในปัจจุบันมีลักษณะเป็นระบบราชการ ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายมากโดยไม่จำเป็น
“ชีวิตของคนงานข้ามชาติในประเทศไทยมักมีความเสี่ยงและไม่แน่นอนอยู่แล้ว” อดัมส์กล่าว “กฎหมายที่เลือกปฏิบัติของรัฐบาล มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง แทนที่จะผลักดันกฎหมายใหม่ที่ละเมิดสิทธิของคนงานข้ามชาติ ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเอาจริงกับการดำเนินคดีกับผู้ที่ปฏิบัติมิชอบต่อคนงานข้ามชาติ”