Skip to main content

แรงงานข้ามชาติจากเอเชียตกเป็นเหยื่อจากการโจมตีของกลุ่มฮามาส

ถ้าไม่นับตัวประกันที่เป็นพลเรือนชาวอิสราเอล คนไทยถูกจับเป็นตัวประกันมากสุด

ธวัชชัยและทองคูณ อ่อนแก้ว พ่อแม่ของณัฐพร อ่อนแก้ว ถือภาพของลูกที่ด้านนอกบ้านพักในจังหวัดนครพนม ประเทศไทย วันที่ 10 ตุลาคม 2566 ณัฐพรทำงานในอิสราเอล ในขณะที่สมาชิกกลุ่มติดอาวุธจากปาเลสไตน์ได้จับเขาเป็นตัวประกันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 © 2023 Thomas Suen/Reuters

การโจมตีของกลุ่มฮามาสทางตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม มีเป้าหมายเป็นชาวอิสราเอล แต่แรงงานข้ามชาติในอิสราเอลก็ได้ถูกสังหารและถูกจับเป็นตัวประกันเช่นกัน ครอบครัวของพวกเขาต่างเศร้าโศกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเขาในอีกซีกโลกหนึ่ง ทั้งในประเทศไทย เนปาล ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา

มีผู้ถูกจับเป็นตัวประกันกว่า 240 คนในวันที่ 7 ตุลาคม รัฐบาลอิสราเอล รายงานว่า ถ้าไม่นับตัวประกันที่เป็นชาวอิสราเอล ผู้ที่ถูกกลุ่มติดอาวุธจากปาเลสไตน์จับตัวไปมากสุดได้แก่คนไทย ตามข้อมูลของ กระทรวงการต่างประเทศของไทย พลเมืองไทย 22 คนถูกจับเป็นตัวประกัน 32 คนถูกสังหาร และอีก 19 คนได้รับบาดเจ็บ ทั้งมีรายงานว่านักศึกษาชาวเนปาล สิบคน ถูกสังหารเช่นกัน รวมทั้งคนทำงานดูแลผู้ป่วยชาวฟิลิปปินส์ สี่คน และนักศึกษาชาวกัมพูชา หนึ่งคน 

การจงใจสังหารพลเรือนและการจับบุคคลเป็นตัวประกัน ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม ไม่ควรมีการใช้บุคคลเป็นเครื่องมือเพื่อต่อรอง และกลุ่มฮามาสและกลุ่มอิสลามญีฮัดควรปล่อยตัวประกันที่เป็นพลเรือนทุกคนทันทีและอย่างปลอดภัย รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มฮามาส ควรใช้อิทธิพลของตนเพื่อกดดันให้มีการปฏิบัติกับตัวประกันทุกคนอย่างมีมนุษยธรรม และให้ปล่อยพวกเขาโดยไม่มีเงื่อนไข  

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานข้ามชาติมากสุดไปยังอิสราเอล โดยมีคนไทยประมาณ 30,000 คนที่ทำงานในอิสราเอล ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและทำงานในภาคเกษตรกรรม คนไทยหลายพันคนทำงานในสวนที่อยู่ตามแนวพรมแดนติดกับฉนวนกาซา ขณะที่เกิดการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 

รัฐบาลไทยได้จัดส่งเครื่องบินเพื่อไปขนย้ายพลเรือนของตนกลับมา และมีการขนส่งคนไทยกลับมาแล้ว 7,415 คน จนถึงวันที่ 30 ตุลาคม แต่หลายคนก็ไม่อยากกลับจากอิสราเอล เพราะมีหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการไปงานทำที่นั่น คนงานไทยในอิสราเอลได้รับค่าจ้างต่ำ ต้องทำงานเป็นเวลานาน และต้องทำงานที่เสี่ยงอันตรายในอิสราเอล ทั้งนี้ตาม การเก็บข้อมูล ของฮิวแมนไรท์วอทช์ก่อนหน้านี้

คณะรัฐมนตรีไทย เสนอ เงินช่วยเหลือ 50,000 บาท และเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับมา รัฐบาลอิสราเอลก็ได้ เสนอ เงินเพื่อจูงใจให้อยู่ต่อ และสัญญาว่าจะรักษาความปลอดภัยให้คนงานมากขึ้น

ในเวลาเดียวกัน ประเทศไทยได้ส่งตัวปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปเยือนกาตาร์และอียิปต์ เพื่อกดดันให้มีการปล่อยตัวประกันชาวไทย

พ่อของมณี จิรชาติ พนักงานทำความสะอาดสำนักงานชาวไทยวัย 29 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวประกันบอกกับ CNN ว่า “ผมไม่รู้จะพูดอะไร ผมเพียงแต่อยากได้ลูกชายกลับมา”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.