Skip to main content

ในประเทศไทย คุณแม่ซึ่งต่อสู้มาเจ็ดปี

พะเยาว์ถูกจับจากการประท้วงกรณีที่ทหารสังหารลูกสาวของเธอ


กมนเกด อัคฮาด  หรือ “เกด” เป็นอดีตพยาบาลวัย 25 ปีซึ่งดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บในวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เป็นเหตุให้เธอถูกทหารหน่วยพิเศษ ยิงจนเสียชีวิต เธอเป็นหนึ่งในเหยื่อรายสุดท้ายของการเผชิญหน้าด้วยความรุนแรงเป็นเวลาหลายเดือนระหว่างกองกำลังของรัฐกับผู้ประท้วง “คนเสื้อแดง” ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 98 คนและบาดเจ็บกว่า 2,000 คน

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังเกดเสียชีวิตไปเจ็ดปี เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยได้จับกุมแม่ของเธอคือพะเยาว์ อัคฮาด และนักกิจกรรมอีกเจ็ดคน ซึ่งจัดการแสดงเพื่อรำลึกถึงผู้ถูกสังหารในวัดปทุมวนาราม พะเยาว์ทาหน้าด้วยสีขาวและมีกากบาทสีแดงอยู่ตรงหน้าผาก เหมือนสัญลักษณ์กาชาดบนชุดที่เกดสวมใส่ขณะที่เธอถูกสังหาร ต่อมามีการปล่อยตัวนักกิจกรรมเหล่านั้น  

พะเยาว์เป็นแกนนำรณรงค์อย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเมื่อปี 2553 และครอบครัวของพวกเขา การเสียชีวิตของลูกสาวผลักดันให้เธอทำหน้าที่เป็นแกนนำในการต่อสู้อย่างยากลำบากเพื่อแสวงหาความยุติธรรม “ชีวิตดิฉันเปลี่ยนไป จากแม่บ้านธรรมดากลายเป็นแม่ที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของลูกสาวตัวเอง” เธอกล่าว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้บันทึกข้อมูลการใช้กำลังที่รุนแรงเกินกว่าเหตุและไม่จำเป็นของทหาร ในระหว่างการปราบปรามของรัฐบาลเมื่อปี 2553 รวมทั้งการใช้พลแม่นปืนเพื่อปฏิบัติการ จากงานวิจัยของเราให้รายละเอียดว่า ทหารยิงปืนลงมาจากรางรถไฟลอยฟ้าเข้าสู่บริเวณวัด ซึ่งได้รับการประกาศเป็น “เขตอภัยทาน” ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุม รวมทั้งการยิงเข้าใส่บริเวณเต็นท์พยาบาลซึ่งเกดทำงานอยู่

แม้จะมีหลักฐานมากมายที่ชี้ถึงความรับผิดชอบของกองทัพ แต่จนถึงปัจจุบันไม่มีทหารที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการสังหารครั้งนี้เลย ความล้มเหลวในการหาตัวผู้รับผิดชอบครั้งนี้ เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการลอยนวลพ้นผิดที่มีส่วนช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยมาเป็นเวลานาน

เส้นทางเข้าสู่ความยุติธรรมยังถูกปิดกั้นมากขึ้น ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยผู้นำการทำรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ มักพูดว่าทหารไม่ควรมีส่วนรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2553 รัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศในปัจจุบัน ซึ่งปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออก และกดขี่ผู้วิพากษ์วิจารณ์ ไม่เคยแสดงความสนใจที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อทหารที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเลย

แต่แม้จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมอย่างสงบของเธอ แต่พะเยาว์ได้แสดงความเห็นอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อต้าน ร่างพรบ.นิรโทษกรรม ความพยายามที่จะขัดขวางการสอบสวน และ คำตัดสินของศาลให้ยกฟ้อง ในคดีที่มีต่ออดีตเจ้าหน้าที่พลเรือนระดับสูง

“พวกเขาจับตัวเราไป อาจเป็นเพราะกลัวว่าเราจะค้นพบความจริง" พะเยาว์กล่าวเกี่ยวกับการจับกุมตัวเธอเมื่อวันศุกร์ “ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเปิดเผยความจริงเท่านั้น”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.