Skip to main content

ประเทศไทย: ถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อคนงานพม่า

คนงาน 14 คนถูกฟ้องหมิ่นประมาททางอาญาเนื่องจากการเปิดโปงข้อมูล


(นิวยอร์ก) – ทางการไทยควรถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อคนงานพม่า 14 คน ซึ่งกล่าวหาว่าถูกนายจ้างละเมิดสิทธิแรงงาน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ โดยการไต่สวนจะเริ่มขึ้นที่ศาลแขวงดอนเมืองที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 7 มิถุนายน 2560

“รัฐบาลไทยไม่ควรปล่อยให้นายจ้างเอาผิดทางอาญากับคนงานข้ามชาติเหล่านี้ ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการทำงานที่โหดร้ายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ควรมีการถอนฟ้องคดีต่อคนงานทั้ง 14 คน และควรยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา”

คนงาน 14 คนได้ยื่นข้อคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 กล่าวหาว่าฟาร์มธรรมเกษตร ซึ่งเป็นฟาร์มไก่ในจังหวัดลพบุรี ได้บังคับให้พวกเขาทำงานในสภาพที่เลวร้าย รวมทั้งการทำงานนานถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน ถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา และถูกบังคับให้หลับนอนตอนกลางคืนข้างโรงเลี้ยงไก่

รัฐบาลไทยไม่ควรปล่อยให้นายจ้างเอาผิดทางอาญากับคนงานข้ามชาติเหล่านี้ ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการทำงานที่โหดร้ายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ควรมีการถอนฟ้องคดีต่อคนงานทั้ง 14 คน และควรยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา
แบรด อดัมส์

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย

จากงานวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามักมีการปฏิบัติมิชอบต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของคนงานข้ามชาติจากพม่า กัมพูชา และลาวในประเทศไทย โดยผู้กระทำผิดมักไม่ได้รับการลงโทษ คนงานข้ามชาติมักไม่ได้รับการคุ้มครองหรือแทบไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานไทย แม้รัฐบาลเน้นย้ำว่าคนงานข้ามชาติที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทุกคน จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเหล่านี้ คนงานข้ามชาติที่ร้องเรียนกล่าวหานายจ้างคนไทยมักต้องเผชิญกับการตอบโต้ ทั้งยังมีการขัดขวางไม่ให้คนงานข้ามชาติรวมตัวจัดตั้ง และจดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงานอย่างถูกกฎหมาย หรือขัดขวางไม่ให้เป็นผู้นำจากการเลือกตั้งของสหภาพแรงงาน เนื่องจากมีข้อบทที่เลือกปฏิบัติต่อคนงานข้ามชาติในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งคุ้มครองเฉพาะสิทธิของคนงานที่เป็นคนไทยเท่านั้น  

กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาของไทยเปิดโอกาสให้นายจ้างสามารถตอบโต้ ทั้งคนงานข้ามชาติและคนงานไทยที่กล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน โดยเป็นการฟ้องคดีกล่าวหาว่าผู้ให้ข้อมูลให้ข้อมูลเท็จโดยมีเจตนาเพื่อสร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียงของบริษัท ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

ในวันที่ 31 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำถึงความสำคัญที่บริษัทต่าง ๆ ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนในระหว่างการดำเนินงาน และการปฏิบัติตามหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาได้กล่าวว่า “รัฐบาลมีเจตจำนงในการผลักดันให้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทย สอดคล้องอย่างเต็มที่กับหลักการสำคัญสามประการของหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติ ทั้งในแง่การคุ้มครอง (สิทธิมนุษยชน) การเคารพ (สิทธิมนุษยชน) และการเยียวยา (เมื่อเกิดความเสียหายจากการปฏิบัติมิชอบ)...รัฐบาลได้ปฏิบัติตามมาตรการ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อประกันให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อคนงาน และคุ้มครองพวกเขาจากการปฏิบัติมิชอบและการปฏิบัติที่เลวร้าย”

อย่างไรก็ดี การใช้อำนาจตามกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาไม่สอดคล้องกับพันธกิจดังกล่าว ฮิวแมนไรท์วอทช์รวมทั้งรัฐบาลและหน่วยงานระหว่างประเทศจำนวนมากขึ้นเชื่อว่า ควรมีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา เนื่องจากเป็นมาตรการตอบโต้ที่ไม่ได้สัดส่วน เมื่อเทียบกับความจำเป็นที่จะต้องปกป้องชื่อเสียง กฎหมายหมิ่นประมาททางแพ่งถือว่าเป็นมาตรการที่เพียงพอและเหมาะสมกับการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้น กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาในไทยและหลายประเทศ มักถูกใช้อย่างมิชอบ เพื่อเป็นเครื่องมือในการตอบโต้บุคคลที่เปิดโปงการปฏิบัติมิชอบ

“รัฐบาลกำลังสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศต่อความหวาดกลัว ทำให้ไม่มีการสอบสวนห่วงโซ่การผลิตของบรรษัทเหล่านี้ และยังทำลายความโปร่งใสของบรรษัท หากรัฐบาลไม่ดำเนินการเพื่อคุ้มครองคนงานข้ามชาติทั้ง 14 คนนี้จากการตอบโต้ดังกล่าว” อดัมส์กล่าว 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.