Skip to main content

ประเทศไทย: ถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อนักกิจกรรม

อนุญาตให้มีสิทธิอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบสถานการณ์ในภาคใต้

(นิวยอร์ก) – การที่กองทัพไทยถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่ดูเหมือนเป็นการกลั่นแกล้งต่อนักกิจกรรมสำคัญสามท่าน ควรถือเป็นก้าวย่างแรกที่นำไปสู่การยุติการข่มขู่ การเซ็นเซอร์ และการตอบโต้ของรัฐบาลต่อ​ผู้พิทักษ์​​​สิทธิมนุษยชนในภาคใต้ของไทย​ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นายสมชาย หอมลออ และน.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ   © 2016 Amnesty International Thailand

ในวันที่ 7 มีนาคม 2560 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งดูแลปฏิบัติการด้านความมั่นคงในประเทศในจังหวัดชายแดนใต้ติดกับมาเลเซีย ประกาศจะยุติการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมซึ่งกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทย ทำการทรมานผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบซึ่งมีเชื้อสายมาลายูและเป็นชาวมุสลิม ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

“การตัดสินใจถอนฟ้องคดีต่อนักกิจกรรมสามคนเป็นเรื่องน่ายินดี แต่จะถูกลืมไปอย่างรวดเร็วหากกองทัพยังคงแทรกแซงการทำงานเพื่อตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การแสดงความจริงใจของกองทัพที่จะถูกตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระ จะเป็นตัวชี้วัดว่าการถอนฟ้องคดีนี้ เป็นเพียงการกระทำเพื่อสร้างภาพ หรือเป็นการแสดงพันธกิจอย่างจริงใจเพื่อให้เกิดความรับผิด”

ในเดือนพฤษภาคม 2559 เจ้าหน้าที่กอ.รมน. ภาคสี่ ส่วนหน้าได้แจ้งความอาญาต่อนายสมชาย หอมลออ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และน.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ กล่าวหาว่าพวกเขาทำการหมิ่นประมาททางอาญาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จทางอินเตอร์เน็ต เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ โดยเป็นผลมาจากรายงานที่จัดทำโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.) กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนแห่งปัตตานี ซึ่งรวบรวมกรณีการซ้อมทรมานและการปฏิบัติมิชอบระหว่างการควบคุมตัวของทหาร 54 กรณีที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2547-2558 หากศาลเห็นว่ามีความผิด นักกิจกรรมเหล่านี้อาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับ 100,000 บาท  

การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีเป็นข้อห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานซึ่งไทยให้สัตยาบันรับรองเมื่อปี 2550 กำหนดเป็นพันธกรณีให้รัฐบาลต่าง ๆ ต้องสอบสวน และดำเนินคดีเมื่อเกิดการกระทำที่เป็นการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ โดยเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมารัฐบาลไทยยังไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติโดยมิชอบต่อชาวมุสลิมเชื้อสายมาลายู ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีก่อความไม่สงบได้สำเร็จเลย

ในเดือนมิถุนายน 2557 คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทย “ดำเนินมาตรการทั้งปวงที่จำเป็นเพื่อ (ก) ยุติการคุกคามและการโจมตีทำร้ายโดยทันทีต่อผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว และแกนนำชุมชน และ (ข) ให้สอบสวนอย่างเป็นระบบต่อรายงานว่ามีการข่มขู่ คุกคาม และการทำร้าย ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิด และประกันให้ผู้เสียหายและครอบครัวได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผล”

รัฐบาลไทยมีพันธกรณีต้องประกันให้บุคคลทุกคนและหน่วยงานทุกแห่ง ที่มีส่วนร่วมในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สามารถดำเนินงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว สิทธิที่จะร้องเรียนเมื่อเกิดการทรมานและการปฏิบัติมิชอบ และสิทธิที่จะให้มีการสอบสวนตามข้อร้องเรียนโดยพลันและอย่างไม่ลำเอียง เป็นสิทธิที่รับรองตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีด้วย นอกจากนั้น ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) เน้นย้ำถึงข้อห้ามต่อการตอบโต้ การข่มขู่และการคุกคามบุคคลใด ๆ ซึ่งดำเนินการอย่างสงบเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในระหว่างการปฏิบัติตามหน้าที่และนอกเหนือจากนั้น 

การแสดงความจริงใจของกองทัพที่จะถูกตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระ จะเป็นตัวชี้วัดว่าการถอนฟ้องคดีนี้ เป็นเพียงการกระทำเพื่อสร้างภาพ หรือเป็นการแสดงพันธกิจอย่างจริงใจเพื่อให้เกิดความรับผิด
Brad Adams

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย

ตรงข้ามกับคำสัญญาของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะกำหนดความผิดทางอาญาให้กับการทรมาน เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย ที่ผ่านมากองทัพมักบอกปัดข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานและการปฏิบัติมิชอบที่ร้ายแรงอื่น ๆ โดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งหน่วยงานของกองทัพยังได้ตอบโต้นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน โดยการแจ้งความดำเนินคดีกล่าวหาว่าผู้วิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จโดยมีเจตนาทำลายชื่อเสียงของกองทัพ จำนวนการฟ้องคดีต่อนักกิจกรรมอันเป็นผลมาจากการายงานข้อมูลและการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพิ่มขึ้นทั่วประเทศไทย ที่ผ่านมาฮิวแมนไรท์วอทช์ได้แสดงข้อกังวลอย่างต่อเนื่องว่าทางการไทย บริษัทเอกชน และบุคคลอื่น ๆ มักตอบโต้ผู้ที่รายงานข้อมูลการปฏิบัติมิชอบ โดยการแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาท กล่าวหาว่านักกิจกรรมและผู้เสียหายเหล่านี้เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ

นอกจากนั้น พระราชบัญญัติการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ของไทย ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับรัฐบาล ในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการเซ็นเซอร์ มาตรา 14(1) และ (2) ของกฎหมายดังกล่าวกำหนดเหตุผลให้รัฐสามารถดำเนินคดีต่อข้อมูลใด ๆ ที่เห็นว่าเป็น “ความเท็จ” และในกรณีของมาตรา 14(1) คำว่าข้อมูลที่ “บิดเบือน” เป็นคำที่กว้างเกินไป การฟ้องร้องดำเนินคดีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าข้อบัญญัติทางกฎหมายเหล่านี้เปิดโอกาสอย่างชัดเจนให้มีการปฏิบัติมิชอบ

“ในเมื่อกองทัพยอมรับแล้วว่าข้อกล่าวหาต่อพวกเขาไม่ใช่ถ้อยคำที่หมิ่นประมาท กองทัพก็ควรประกันให้มีการสอบสวนอย่างไม่ลำเอียงต่อข้อกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบนอกเหนือจากการปฏิบัติตามคำสั่งของกองทัพ” อดัมส์กล่าว “การอนุญาตให้มีการตรวจสอบนับเป็นขั้นตอนแรก ในตอนนี้ ทางการจำเป็นต้องฟ้องร้องคดีอย่างเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนรับผิดชอบ และให้เริ่มฟื้นฟูชื่อเสียงของตนเองในจังหวัดชายแดนใต้” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Region / Country