(เจนีวา) – คำสัญญาของรัฐบาลไทยที่ให้ไว้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนและฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย แทบจะหมดความหมายไปแล้ว ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการทบทวนตามวาระ (Universal Periodic Review - UPR) ของคณะมนตรีเป็นครั้งที่สองที่กรุงเจนีวา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 UPR เป็นกระบวนการตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศโดยองค์การสหประชาชาติ
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ รัฐบาลไทยได้ยื่นรายงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า “ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกกลุ่ม” อย่างไรก็ตาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลทหารได้ปราบปรามอย่างรุนแรงต่อสิทธิขั้นพื้นฐานโดยไม่ต้องรับผิด เพิ่มการควบคุมด้วยกำลังทหาร และเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
“คำตอบที่รัฐบาลไทยให้ในกระบวนการตรวจสอบขององค์การสหประชาชาติ ไม่ได้แสดงให้เห็นพันธกิจอย่างจริงจังที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมอันเป็นการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิ หรือส่งเสริมเสรีภาพขั้นพื้นฐานแต่อย่างใด” จอห์น ฟิชเชอร์ (John Fisher) ผู้อำนวยการสำนักงานที่เจนีวากล่าว “ในขณะที่หลายประเทศแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทย ตัวแทนไทยกลับไม่ได้ให้ข้อมูลที่จะบรรเทาความกลัวต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเลย”
รัฐบาลคสช.ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้นโยบายและได้ปฏิบัติแบบกดขี่เพิ่มขึ้น นับแต่ยึดอำนาจจากรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ที่สำคัญคือการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลทหารอย่างไม่จำกัด ทั้งอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ และยังขัดขวางไม่ให้มีการกำกับดูแลอย่างชัดเจน รวมทั้งไม่ให้เกิดความรับผิดทางกฎหมายเนื่องจากการปฏิบัติใด ๆ ของรัฐบาลทหาร
แทนที่จะดำเนินการมุ่งหน้าฟื้นฟูระบอบปกครองโดยพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตย ตามที่สัญญาไว้ในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “โรดแม็ป” รัฐบาลทหารกลับบังคับใช้โครงสร้างการเมือง ซึ่งดูเหมือนจะถูกออกแบบมาเพื่อสืบทอดอำนาจของกองทัพ ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร อนุญาตให้กองทัพมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมืองแม้จะมีรัฐบาลใหม่เข้าดำรงตำแหน่งก็ตาม ทั้งนี้โดยไม่สามารถตรวจสอบกองทัพได้
รัฐบาลได้เซ็นเซอร์สื่อ สอดแนมด้านอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารออนไลน์ และจำกัดอย่างเข้มงวดต่อการแสดงออกอย่างเสรี ทั้งยังเพิ่มการปราบปรามบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยต่อนโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาลทหาร ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน กองทัพได้ควบคุมตัวนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรี เป็นเวลาสี่วันเนื่องจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการจัดการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม
นับแต่กองทัพยึดอำนาจ รัฐบาลยังคงเดินหน้าฟ้องร้องดำเนินคดีต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร หรือสนับสนุนรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ถูกขับไล่ออกจากตำแหน่ง โดยมีบุคคลอย่างน้อย 46 คนที่ถูกดำเนินคดี
ในข้อหายุยงปลุกปั่น เนื่องจากต่อต้านระบอบปกครองของทหาร และละเมิดคำสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะของรัฐบาลทหาร ในวันที่ 28 เมษายน มีการจับกุมและดำเนินคดีต่อบุคคลแปดคนในข้อหายุยงปลุกปั่นและความผิดทางคอมพิวเตอร์ เนื่องจากการจัดทำและโพสต์ความเห็นและรูปล้อเลียนพลเอกประยุทธ์ในเฟซบุ๊กที่จัดทำขึ้นเพื่อล้อเลียน
รัฐบาลมักใช้กฎหมายที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางเพื่อต่อต้าน “การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ทางการได้ดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างน้อย 59 คดี นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ส่วนใหญ่เป็นการเอาผิดกับผู้แสดงความเห็นทางอินเตอร์เน็ต ในวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ทางการไทยได้ดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งต้องขึ้นศาลทหารกับบุคคลซึ่งเผยแพร่ภาพและความเห็นล้อเลียนทางเฟซบุ๊ก ซึ่งถูกมองว่าเป็นการล้อเลียนสุนัขทรงเลี้ยง ศาลทหารกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง ในเดือนสิงหาคม 2558 นายพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 60 ปี ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเนื่องจากการโพสต์ในเฟซบุ๊ก (มีการลดโทษเหลือ 30 ปีเนื่องจากรับสารภาพ) นับเป็นโทษจำคุกที่ยาวนานสุดสำหรับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย
นับแต่รัฐประหาร รัฐบาลทหารได้เรียกตัวนักกิจกรรม ผู้สนับสนุนพรรคการเมือง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 1,340 คน เพื่อสอบปากคำ และเข้ารับ “การปรับทัศนคติ” หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของคสช. จะกลายเป็นความผิดทางอาญาและต้องเข้ารับการพิจารณาในศาลทหาร ภายใต้คำสั่งของรัฐบาลทหาร กองทัพได้ควบคุมตัวบุคคลแบบลับโดยไม่มีการตั้งข้อหาหรือไม่มีการไต่สวนจากศาล มีการสอบปากคำพวกเขาโดยไม่ให้เข้าถึงทนายความหรือไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ รัฐบาลยังได้บอกปัดข้อกล่าวหาว่า กองทัพไม่เคยทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อผู้ถูกควบคุมตัว แต่ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นหลักฐานเพื่อปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าว
รัฐบาลได้ใช้ศาลทหารมากขึ้น ซึ่งเป็นศาลที่ขาดความเป็นอิสระและไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมระหว่างประเทศ และยังนำมาใช้กับพลเรือน ส่วนใหญ่เป็นการพุ่งเป้าไปที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 มีการดำเนินคดีต่อบุคคล 1,629 คดีในศาลทหารทั่วประเทศไทย
กองกำลังความมั่นคงของไทยยังคงกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยไม่ต้องรับผิด ที่ผ่านมาไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับบัญชา ทหาร หรือตำรวจ เนื่องจากการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเนื่องจากการใช้กำลังอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการเผชิญหน้าทางการเมืองเมื่อปี 2553 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คนและบาดเจ็บกว่า 2,000 คน ทั้งยังไม่เคยมีการฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง เนื่องจากการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในระหว่างปฏิบัติการปราบปรามการก่อความไม่สงบในภาคใต้ ในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา ซึ่งกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและแบ่งแยกดินแดนได้ปฏิบัติมิชอบในหลากหลายรูปแบบเช่นกัน รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาของไทยไม่ได้แสดงความสนใจที่จะสอบสวนการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายกว่า 2,000 ครั้งที่เกิดขึ้นในช่วง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546
ทางการไทยรวมทั้งบริษัทเอกชนยังคงใช้กฎหมายหมิ่นประมาท เพื่อตอบโต้ผู้รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทางการยังตั้งข้อหาอาญาที่กุขึ้นมาเพื่อเอาผิดกับนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นการคุกคามและตอบโต้พวกเขา ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ตำรวจที่กรุงเทพฯ ได้แจ้งข้อหาต่อ น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความสิทธิมนุษยชน โดยเป็นผลมา
จากการที่เธอเป็นทนายความให้กับนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ไม่มีความคืบหน้าในการนำตัวผู้สังหารนายใช่ บุญทองเล็ก นักกิจกรรมด้านสิทธิที่ดินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มาลงโทษ รวมทั้งการยิงสังหารนักกิจกรรมที่มีส่วนเชื่อมโยงกับสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เมื่อปี 2553 และ 2555
ในเดือนพฤศจิกายน 2558 หน่วยงานจัดอันดับระหว่างประเทศได้ลดสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลง เนื่องจากข้อกังวลเกี่ยวกับการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ การขาดความเป็นอิสระ และข้อบกพร่องในกระบวนการสรรหากรรมการ
ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหายในเดือนมกราคม 2555 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว ประมวลกฎหมายอาญาไม่มีฐานความผิดเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทางการไทยยังคงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างน่าพอใจเพื่อคลี่คลายกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้น 64 ครั้ง ตามรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ รวมทั้งการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิมคนสำคัญในเดือนมีนาคม 2547 และนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง ในเดือนเมษายน 2557
แม้ว่าประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน แต่รัฐบาลกลับไม่ออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้คำนิยามของการทรมานตามอนุสัญญานี้ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบังคับใช้ตามอนุสัญญา ทั้งยังไม่มีกฎหมายในไทยที่กำหนดค่าชดเชยให้กับผู้เสียหายจากการทรมานเป็นการเฉพาะ
ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ.2510 ทางการไทยปฏิบัติต่อผู้แสวงหาที่พักพิงราวกับเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย มีการจับกุมตัวและส่งตัวกลับ โดยไม่มีกระบวนการที่เป็นธรรมเพื่อให้พวกเขายื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือเลย รัฐบาลไทยได้บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงไปยังประเทศที่เสี่ยงจะถูกปราบปราม ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านของหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และรัฐบาลต่างประเทศหลายแห่ง ทั้งนี้รวมถึงการส่งกลับนักกิจกรรมชาวจีนสองคนไปยังประเทศจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 และผู้ลี้ภัยชาวอุยเก๋อจำนวน 109 คนไปยังจีนในเดือนกรกฎาคม 2558
ทางการไทยได้ขัดขวางอย่างต่อเนื่องไม่ให้เรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาจากพม่าเข้าสู่ชายฝั่ง มีเพียงการให้ความช่วยเหลือและอาหารในขั้นพื้นฐาน จากนั้นก็ส่งเรือเหล่านี้กลับไปในทะเลที่มีอันตราย ในเดือนพฤษภาคม 2558 มีการตรวจค้นค่ายที่พักพิงหลายแห่งตามแนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย เจ้าหน้าที่ได้พบชาวโรฮิงญาถูกเก็บซ่อนตัวไว้ในที่เลี้ยงสัตว์และกรง พวกเขาถูกปฏิบัติมิชอบ และในบางกรณีได้ถูกผู้ค้ามนุษย์สังหารโดยผู้ค้ามนุษย์เหล่านี้ดำเนินการด้วยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และระดับชาติ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้อพยพชาวโรฮิงญา ซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่กลางทะเลในเรือขนาดเล็ก แตกต่างจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประเทศไทยปฏิเสธที่จะทำงานกับ UNHCR ในกระบวนการจำแนกสถานะผู้ลี้ภัย แต่กลับนำตัวพวกเขาไปควบคุมตัวไว้ในศูนย์กักตัวโดยไม่มีเวลากำหนด
รัฐบาลไทยได้เพิ่มความเข้มงวดในการใช้มาตรการต่อต้านการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี คนงานข้ามชาติจากพม่า กัมพูชา และลาว ยังคงเสี่ยงที่จะถูกปฏิบัติมิชอบโดยผู้ค้ามนุษย์ที่นำตัวพวกเขาเข้าสู่ประเทศไทย และนายจ้างซึ่งยึดเอกสารของคนงานเอาไว้และยังบังคับให้คนงานเป็นแรงงานขัดหนี้ บัตรประจำตัวชั่วคราวแบบใหม่ที่รัฐบาลไทยออกให้กับผู้เข้าเมือง เป็นการจำกัดสิทธิอย่างรุนแรง ทั้งสิทธิในการเดินทาง ทำให้พวกเขาเสี่ยงจะถูกตำรวจรีดไถ การค้ามนุษย์เพื่อนำตัวผู้เข้าเมืองไปทำงานบริการทางเพศ แรงงานขัดหนี้ หรือทำงานในเรือประมงของไทยเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี ยังเป็นข้อกังวลเร่งด่วน
“เราไม่ควรถูกหลอกโดยคำสัญญาที่ว่างเปล่าด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทย” ฟิชเชอร์กล่าว “ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ควรกดดันประเทศไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้ยอมรับตามข้อเสนอแนะที่จะยุติสถานการณ์สิทธิที่เสื่อมโทรมลง โดยการยุติการปราบปราม เคารพเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และฟื้นฟูระบอบปกครองโดยพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตย”