Skip to main content

ประเทศไทย: ความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนยังไม่ได้รับการแก้ไข

รัฐบาลล้มเหลวในการแสวงหาความยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก และการปฏิรูปทางการเมือง

 

(กรุงเทพฯ) – รายงานประจำปีของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า รัฐบาลไทยล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงหลายเรื่องในปี 2555

รายงานความยาว 665 หน้าของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในรอบปีที่ผ่านมาในมากกว่า 90 ประเทศ ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ผลพวงของปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง”

ในประเทศไทย รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรใช้การเมืองแทรกแซงความพยายามที่จะเอาผิดกับผู้ที่รับผิดชอบต่อความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 รัฐบาลได้ปราบปราบการแสดงความคิดเห็นของผู้ที่ถูกถือว่าวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ และยังไม่ได้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ใช้วิธีการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตอบโต้ความรุนแรงของผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลผลักดันเรือของชาวโรฮิงญากลับออกสู่ทะเล และไม่ได้ให้ความคุ้มครองต่อชาวพม่าจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า “รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ตอบสนองต่อเหตุรุนแรงเมื่อปี 2553 ในลักษณะที่ซ้ำรอยเดียวกันกับรัฐบาลที่แล้ว นั่นคือ การแสวงหา ‘ความยุติธรรมของผู้ชนะ’” “การที่ประเทศไทยจะกอบกู้ความน่าเชื่อถือกลับมานั้น ผู้นำประเทศจำเป็นต้องแสดงความมุ่งมั่นที่จะจัดการกับปัญหาที่ร้ายแรงเรื่องนี้อย่างไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องเคารพหลักนิติธรรม”

ประเทศไทยเผชิญกับความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหญ่จากการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เสื้อแดง” โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 2,000 คน

ทั้งรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และรัฐบาลชุดปัจจุบันของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ไม่ได้พยายามดำเนินการด้วยความเป็นกลางในการจัดการกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งข้อหาความผิดทางอาญาที่ร้ายแรงกับแกนนำ และแนวร่วมของ นปช. หลายร้อยคน แต่ไม่ได้ตั้งข้อหาใดๆ กับเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรง ส่วนรัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ซึ่งมี นปช. หนุนหลังนั้นก็ใช้วิธีการที่เข้าข้างคู่กรณีฝ่ายหนึ่ง โดยมุ่งการสอบสวนทางอาญาไปที่การดำเนินคดีกับอภิสิทธิ์ และรองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เทือกสุบรรณ จากกรณีที่อนุญาตให้ทหารใช้กระสุนจริง และใช้กำลังถึงขั้นที่ทำให้เสียชีวิต แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของ “ชายชุดดำ” ที่มีความเชื่อมโยงกับ นปช.

ร่างพระราชบัญญัติความปรองดองแห่งชาติที่เสนอต่อรัฐสภาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 โดยสมาชิกพรรคเพื่อไทยของนายกรัฐตรียิ่งลักษณ์ และสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ จะส่งผลทำให้ไม่สามารถเอาผิดกับทุกฝ่ายที่มีส่วนรับผิดชอบความรุนแรงทางการเมือง

ถึงแม้จำนวนการดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์จะลดลงภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่ง แต่ทางการไทยยังคงใช้บทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งรวมถึงเสรีภาพบนอินเตอร์เน็ต โดยมีเว็บไซต์นับพันที่ถูกปิดกั้น เพราะถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบันกษัตริย์” ประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์มักถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการประกันตัว และถูกคุมขังเป็นระยะเวลานานหลายเดือนระหว่างรอการพิจารณาคดีชั้นศาล ซึ่งมักมีคำพิพากษาลงโทษอย่างรุนแรง อำพล ตั้งนพคุณเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในเรือนจำเมื่อเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เขาถูกศาลตัดสินเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ให้ต้องโทษจำคก 20 ปีจากกรณีส่งข้อความเอสเอ็มเอสที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์สี่ข้อความเมื่อปี 2553

แบรด อดัมส์กล่าวว่า “กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์ และพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในประเทศไทย” “รัฐบาลจำเป็นจะต้องดำเนินการป้องกันไม่ให้พื้นที่ของเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยลดน้อยลงไปมากกว่านี้”

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเพื่อแบ่งแยกดินแดนชาวมลายูมุสลิมในเครือข่ายของขบวนการบีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนตยังคงพุ่งเป้าโจมตีพลเรือนในการวางระเบิด การซุ่มโจมตีจากข้างทาง การกราดยิงจากบนรถ และการลอบสังหาร ทั้งนี้มีพลเรือนกว่าร้อยละ 90 ในจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 คนนับตั้งแต่ปี 2547 ผู้ก่อความไม่สงบเผาโรงเรียนรัฐบาล และสังหารครู ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวแทนอุดมการณ์ของรัฐไทยพุทธ กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐได้ใช้วิธีสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การบังคับให้สูญหาย และการทรมานต่อผู้ที่ต้องสงสัยว่าสนับสนุนการก่อความไม่สงบ แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าฝ่ายมั่นคงถูกดำเนินคดีลงโทษจากกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในปี 2555 ประเทศไทยยังคงปฏิเสธไม่ให้หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติสามารถเข้าถึง และตรวจสอบคำขอลี้ภัยของชาวโรฮิงญามุสลิมที่เดินทางมากจากประเทศพม่า ทางการไทยใช้นโยบายสกัดกั้น และผลักดันเรือของชาวโรฮิงญามุสลิม แต่ถ้าหากเรือลำใดมาเกยฝั่ง หรือไม่อยู่ในสภาพที่จะเดินทางต่อไปได้ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไทยจะบังคับส่งกลับชาวโรฮิงญาผ่านช่องทางทางบก กระบวนการเนรเทศลักษณะนี้ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีความรุนแรงมาต้องถูกส่งกลับข้ามพรมแดนไทย-พม่า ซึ่งหลังจากนั้นพวกเขาจะพยายามออกเดินทางด้วยเรืออีกครั้ง

นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ยืนยันต่อสาธารณะว่าจะไม่มีการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยมากกว่า 140,000 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายตามแนวชายแดนไทย-พม่า ไม่ว่าสถานการณ๋ในประเทศพม่าจะดูเหมือนมีพัฒนาการในทางบวกเพียงใดก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันชาวพม่าที่อาศัยอยู่อย่างเต็มไปด้วยความเสี่ยงในเขตเมืองยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบ และถูกละเมิดสิทธิโดยทางการไทย และโดยนายจ้างของพวกเขา

แบรด อดัมส์กล่าวว่า “ทางการไทยปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาเหมือนเป็นคนเถื่อนที่จะต้องถูกผลักดันกลับออกสู่ทะเล หรือถูกส่งตัวกลับไปเผชิญการประหัตประหารในประเทศพม่า” “ประเทศไทยจำเป็นจะต้องปฏิรูปกฏหมายให้การปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยสอดคล้องกับพันธะตามกฏหมายระหว่างประเทศ”

กฏหมายแรงงานของไทยให้ความคุ้มครองเพียงเล็กน้อยแก่แรงงานต่างด้าว เมื่อกระบวนการขึ้นทะเบียน และตรวจสอบสัญชาติแรงงานต่างด้าวสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2555 แรงงานต่างด้าวหลายแสนคนจากประเทศพม่า ประเทศลาว และประเทศกัมพูชาตกอยู่ในสภาวะปั่นป่วน และโดนข่มขู่ว่าจะถูกจับกุม และเนรเทศ นายจ้างไทยยังคงยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานต่างด้าว และรัฐบาลไทยยังคงบังคับใช้นโยบายที่สร้างข้อจำกัดอย่างมากต่อการที่แรงงานต่างด้าวจะเปลี่ยนนายจ้าง

แบรด อดัมส์กล่าวว่า “หลังจากดำรงตำแหน่งมาแล้วเกือบสองปี นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ยังคงล้มเหลวในการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างจริงจังในการยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน คุ้มครองแรงงาน และจำกัดปัญหาการไม่ต้องรับผิด” “ถ้าหากประเทศไทยต้องการจะมีฐานะเป็นผู้นำประชาธิปไตยในภูมิภาค และเป็นสมาชิกที่มีอิทธิพลในสหประชาชาติ ประเทศไทยก็จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการด้านความยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก และการปฏิรูปการเมือง”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.