Skip to main content

ประเทศไทย: การเสื่อมถอยของสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลใหม่ไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปตามที่สัญญาไว้

(นิวยอร์ค, 22 มกราคม 2555) — องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าวในรายงานประจำปีว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเสื่อมถอยลงในปี 2554 เนื่องจากรัฐบาลล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่รับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเข้าสู่ตำแหน่งภายหลังจากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แทบจะไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่เป็นการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนตามที่สัญญาไว้

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าวว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญในประเทศไทยในปี 2554 คือ การปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกที่ดำเนินไปอย่างวงกว้างมากขึ้น ทางการไทยยกระดับการรณรงค์เพื่อลงโทษประชาชนที่แสดงความคิดเห็นในลักษณะถือว่า ละเมิดสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะด้วยการอาศัยการสอดส่องทางอินเตอร์เน็ตอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ทางการไทยยังมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการดำเนินการให้เกิดการรับผิดต่อการเสียชีวิต และการบาดเจ็บจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงทางการเมืองในปี 2553 ส่วนการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอื่นๆ จำนวนนับพันรายที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของรัฐบาลในการต่อต้านยาเสพติด และการต่อต้านการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช กล่าวว่า “ทั้งรัฐบาลเก่าของอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ  และรัฐบาลใหม่ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต่างก็ล้มเหลวในการทำตามคำสัญญาที่จะดำเนินนโยบายที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน” “สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้เสื่อมถอยลงในอัตราที่น่าตระหนก ภายใต้รัฐบาลชุดต่างๆ ที่เข้ารับตำแหน่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา”

รายงานประจำปีขององค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชประเมินสถานการณ์ และความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในกว่า 90 ประเทศ รวมถึงการลุกฮือขึ้นของประชาชนในโลกอาหรับ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคนไม่มากนักคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ โดยเมื่อพิจารณาถึงการใช้กำลังรุนแรงปราบปราม “อาหรับสปริง” แล้วจะเห็นได้ว่า ประชาคมระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิมนุษยชนขึ้นในภูมิภาคดังกล่าว

ประเทศไทยได้รับความเสียหายจากความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหญ่ในปี 2553 ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คนเสื้อแดง” โดยมีประชาชนอย่างน้อย 90 คนเสียชีวิต และอีกกว่า 2,000 คนได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งยังเกิดความเสียหายอย่างมากจากการวางเพลิงในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด การเสียชีวิต และการบาดเจ็บดังกล่าวเป็นผลมาจากการใช้กำลังถึงขั้นที่ทำให้เสียชีวิตโดยกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาล กลุ่มติดอาวุธ (“คนชุดดำ”) ที่ปฏิบัติการคู่กันไปกับ นปช. และการที่แกนนำบางคนของ นปช. ยุยงให้เกิดความรุนแรง

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช กล่าวว่า ถึงแม้จะมีการให้สัญญาต่อสาธารณะหลายครั้ง แต่รัฐบาลของยิ่งลักษณ์กลับให้การสนับสนุนเพียงเล็กน้อยกับการสอบสวนที่เป็นอิสระเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ทั้งนี้ ความพยายามของรัฐบาลนั้นมุ่งเน้นไปที่การดำเนินการให้เกิดการรับผิดเพียงด้านเดียว โดยกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงผลความคืบหน้าในการสอบสวนการเสียชีวิต 13 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของทหาร เพื่อที่จะเริ่มการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิต และการดำเนินการลงโทษเอาผิดทางอาญาต่อไป แต่แกนนำของรัฐบาลกลับแสดงความไม่สนใจกับการเสียชีวิตอีก 12 กรณีที่การสอบสวนเบื้องต้นของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรงยุติธรรม พบว่า เกี่ยวข้องกับการโจมตีโดยของกำลังติดอาวุธฝ่าย นปช.

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช กล่าวว่า แกนนำหลัก 12 คนของ นปช. ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายรัฐบาลในสังกัดพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่า บุคคลเหล่านี้จะใช้อิทธิพลทางการเมือง และภูมิคุ้มกันในฐานะสมาชิกรัฐสภาช่วยเหลือให้สามารถหลบเลี่ยงการต้องรับผิดต่อการกระทำของพวกเขาในระหว่างที่เกิดความรุนแรงทางการเมืองในปี 2553

แบรด อดัมส์ กล่าวว่า “รัฐบาลใหม่ก้าวเข้าสู่อำนาจพร้อมกับสัญญาว่า จะให้ความยุติธรรมกับเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2553” “แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ตอกย้ำความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลนี้จะทำอะไรมากกว่ารัฐบาลที่แล้วในการเอาผิดกับทุกฝ่ายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน”

ถึงแม้จะมีการตำหนิรัฐบาลที่แล้วเกี่ยวกับการปราบปรามผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่รัฐบาลใหม่ก็ไม่ได้แสดงที่ดีกว่าเกี่ยวกับการเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้บทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในประมวลกฏหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในการปราบปราม และลงโทษผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ คณะทำงานพิเศษที่นำโดยรองนายกรัฐมนตรีเฉลิม อยู่บำรุง ได้เพิ่มการสอดส่อง และปิดกั้นอินเตอร์เน็ต โดยมุ่งเป้าไปที่เว็บไซต์ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ถูกกล่าวว่าว่า ส่งเสริมความรู้สึกต่อต้านสถาบันกษัตริย์

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเมินว่า มีคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์มากกว่า 400 คดีที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมระหว่างปี 2553 ถึง 2554 โดยประชาชนที่ถูกตั้งข้อหาว่า กระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์มักจะถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการประกันตัว และถูกคุมขังในเรือนจำนานหลายเดือนเพื่อรอการพิจารณาคดี ทั้งนี้ ส่วนใหญ่การพิพากษาความผิดมักจะมีการลงโทษอย่างรุนแรง เช่น เมื่อเดือนพฤจิกายนที่ผ่านมา อำพล ตั้งนพกุล ถูกพิพากษาให้จำคุกนาน 20 ปี เนื่องจากส่งเอสเอ็มเอส จำนวนสี่ข้อความ ซึ่งมีเนื้อหาที่ถือว่า ดูหมิ่นพระราชินี และสถาบันกษัตริย์ในปี 2553

แบรด อดัมส์ กล่าวว่า “ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ใช้อินเตอร์เน็ตตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกจับกุม และถูกคุมขังเป็นเวลานาน เนื่องจากรัฐบาลใช้กฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ และกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ไปในทางที่ผิด”

กองทัพปฏิบัติการในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีภูมิคุ้มกันไม่ให้ต้องรับผิดมาตั้งแต่ที่รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตรเริ่มต่อสู้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในปี 2547 โดยยังไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงถูกลงโทษทางอาญาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเครือข่ายของขบวนการบีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนตก็ใช้การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเงื่อนไขในการรับสมาชิกใหม่ และสนับสนุนการใช้ความรุนแรงของพวกตน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 5,000 คน

แบรด อดัมส์ กล่าวว่า “รัฐบาลไม่มีความสามารถ และขาดความตั้งใจที่จะทำให้มีการควบคุมของฝ่ายพลเรือนเหนือกองทัพอย่างมีประสิทธิภาพ และยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบ” “การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโจมตีพลเรือนทำให้เกิดสถานการณ์ที่อันตรายในจังหวัดชายแดนภาคใต้”

ความล้มเหลวในการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐยังรวมไปถึงการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถึงแม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะแถลงนโยบายคัดค้านแนวทางการใช้ความรุนแรงปราบปรามยาเสพติดของทักษิณ แต่รัฐบาลนี้กลับไม่เต็มใจที่จะลงโทษตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมกว่า 2,500 กรณี และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอื่นๆ ทั้งที่เกิดขึ้นระหว่าง “สงครามยาเสพติด” ในปี 2546 และปฏิบัติการต่อต้านยาเสพติดที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะเปิดรับผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาการลี้ภัยจำนวนมากเข้ามาพักอาศัย แต่ก็มีหลายครั้งที่รัฐบาลได้ละเมิดพันธะตามกฏหมายระหว่างประเทศที่ห้ามไม่ให้ส่งตัวบุคคลกลับไปยังประเทศที่เขาอาจจะถูกลงโทษ

นูร์ มูฮัมหมัด ซึ่งเป็นชาวอุยกูร์ หายตัวไป ภายหลังจากที่ถูกจับกุมเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และถูกส่งตัวไปอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีน ทั้งนี้ ประวัติของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการใช้อำนาจคุมขังโดยพลการ และการทรมานชาวอุยกูร์ ทำให้ นูร์ อยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก ทางการไทยทำการ “ผลักดัน” เรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาจากประเทศพม่า และประเทศบังคลาเทศอย่างน้อยสองครั้งในปี 2554 ถึงแม้จะมีการกล่าวหาอย่างน่าเชื่อถือว่า การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวนำไปสู่การเสียชีวิตของชาวโรฮิงญานับร้อยคนในปี 2551 และ 2552นอกจากนี้ ทางการไทยบังคับส่งกลับชาวลาวม้งหนึ่งคนที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยกลับไปประเทศลาว เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ถึงแม้จะมาการคัดค้านจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติก็ตาม

ประเทศไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ปี 2494 และไม่มีกฎหมายที่ให้การยอมรับสถานะของผู้ลี้ภัย ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาการลี้ภัยที่ถูกจับกุมมักจะถูกคุมขังเป็นระยะเวลานาน จนกว่าพวกเขาจะได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐาน หรือจะยอมถูกส่งตัวกลับประเทศ

กฎหมายแรงงานของประเทศไทยให้การคุ้มครองเพียงเล็กน้อยกับแรงงานย้ายถิ่นจากประเทศพม่า ประเทศกัมพูชา และประเทศลาวที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นายจ้าง และขบวนการอาชญากรรมละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ องค์กรเอกชน และสื่อมวลชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม รีดไถ และละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานย้ายถิ่นที่อพยพหนีอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

แบรด อดัมส์ กล่าวว่า “นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ควรจะใช้ชัยชนะในการเลือกตั้ง และการที่คุมเสียงข้างมากในรัฐสภาให้เป็นประโยชน์ในการนำประเทศไทยออกจากความรุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี” “รัฐบาลควรดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรม และเป็นระบบเพื่อที่จะยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปิดกั้นความคิดเห็น และการไม่ต้องรับผิด”  

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Region / Country