ชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งลี้ภัยอยู่นอกประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของการมีเสถียรภาพทางการเมือง ภายหลังจากที่เกิดความปั่นป่วนมาหลายปี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ยังไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่จะให้ความสำคัญต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในประเทศไทย อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เมื่อเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน ในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ อีก 23 จังหวัด ทำให้ประชาชนจำนวนนับแสนคนไร้ที่อยู่อาศัย รวมทั้งยังสร้างความเสียหายรุนแรงต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศไทย
การขาดความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง
มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คนและบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คนในช่วงที่เกิดการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงทางการเมือง จากเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังถึงขั้นที่ทำให้เสียชีวิตอย่างไม่จำเป็น และเกินกว่าเหตุ การโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งรู้จักกันในนาม "เสื้อแดง" และการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงโดยแกนนำ นปช.บางคน
การแถลงผลการสอบสวนเบื้องต้นของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมเมื่อเดือนมกราคม 2554 ระบุว่า การเสียชีวิต 13 รายเกี่ยวข้องกับการกระทำของฝ่ายทหาร และอีก 12 รายเกี่ยวข้องกับการกระทำของกลุ่มติดอาวุธฝ่าย นปช. แต่การขาดความร่วมมือจากตำรวจทำให้ไม่สามารถเริ่มกระบวนการไต่สวนหาสาเหตุการเสียชีวิต และดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์สัญญาว่า จะยุติความล่าช้าดังกล่าวภายหลังจากประกาศแต่งตั้งให้ พลตำรวจเอก เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ พี่เขยของทักษิณ เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อเดือนกันยายน
ทางการไทยเปิดเผยข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการสอบสวนทางอาญาเพื่อนำตัวสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ "ชุดดำ" ฝ่าย นปช.มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บุคคลจำนวนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่า โจมตี และสังหารเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้าน นปช. ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกไป นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังปฏิเสธด้วยว่า กลุ่มติดอาวุธ "ชุดดำ" ไม่มีตัวตนอยู่จริง การที่แกนนำคนสำคัญของ นปช. 12 คนได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลในสังกัดพรรคเพื่อไทย สร้างความกังวลเป็นอย่างมากว่า บุคคลเหล่านี้จะใช้อิทธิพลทางการเมือง และภูมิคุ้มกันทางรัฐสภาหลบเลี่ยงความรับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขาเมื่อปี 2553
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ให้สัญญาว่า จะสนับสนุนการสอบสวนเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่กลับยังไม่ได้มอบอำนาจให้ คอป. สามารถเรียกพยานหลักฐาน ทำให้ คอป. ไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการของกองกำลังฝ่ายความมั่นคง รายงานการชันสูตรศพ และคำให้การของพยาน ตลอดจนภาพถ่าย และภาพวีดิทัศน์ของเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ
คอป. พบว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์กดดันให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายตั้งข้อหาความผิดทางอาญาที่ร้ายแรงอย่างเหวี่ยงแห และเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมประท้วงฝ่าย นปช. นับร้อยคน โดยได้คุมขังบุคคลเหล่านั้นไว้นานหลายเดือนเพื่อรอการไต่สวนพิจารณาคดี และยังปฏิเสธไม่ให้ได้รับการประกันตัว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศเมื่อเดือนกันยายนว่า จะทบทวนการตั้งข้อหาทางอาญาต่อกลุ่ม
ผู้ชุมนุมประท้วงดังกล่าว พร้อมทั้งสัญญาว่า จะปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นตามกระบวนการกฎหมายที่เหมาะสม และตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ คอปฺ ยังเสนอแนะให้มีกลไกพิเศษเพื่อจ่ายค่าชดเชย และจัดการเยียวยาอื่นๆ อย่างเป็นธรรมต่อผู้ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความรุนแรงทางการเมืองจากการกระทำของทุกฝ่าย
อนึ่ง มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกระทำความผิดทางอาญาโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่เรียกกันว่า "เสื้อเหลือง" ในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงเมื่อปี 2551 ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนักการเมืองที่ถูกระบุว่า เป็นผู้รับผิดชอบต่อการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังรุนแรงเกินกว่าเหตุเข้าสลายผู้ชุมนุมประท้วงฝ่าย พธม. ที่บริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก็ยังคงลอยนวลไม่ถูกนำตัวมาลงโทษแต่อย่างใด
การริดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ในช่วงระหว่างปีี 2551 ถึงปี 2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ปิดเว็บไซต์มากกว่า 1,000 เว็บไซต์ รวมทั้งสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหนึ่งช่อง สถานีโทรทัศน์ทางอินเตอร์เน็ตหลายช่อง สิ่งพิมพ์ และวิทยุชุมชนมากกว่า 40 สถานี โดยกล่าวหาว่า กระทำการคุกคามความมั่นคงของชาติ หรือเผยแพร่ข้อมูลที่ลบหลู่สถาบันกษัตริย์
ทางการไทยยังคงใช้พระราชบัญญัติการก่ออาชญากรรมด้วยคอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาบังคับปิดกั้นความคิดเห็น และดำเนินคดีลงโทษผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเมินว่า มีการสั่งฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากกว่า 400 คดีในปี 2553 และ 2554 ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพส่วนใหญ่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และถูกจองจำอยู่นานหลายเดือนเพื่อรอการไต่สวน โดยทีี่การไต่สวนคดีเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งศาลได้ตัดสินลงโทษอย่างรุนแรงในหลายกรณี เมื่อเดือนมีนาคม ศาลตัดสินจำคุกธันย์ฐวุฒิ ทวีโวรดมกุล เป็นเวลา 13 ปี เนื่องจากนำข้อมูลที่ถือว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปใส่ไว้ในเว็บไซต์ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ของ นปช. ยูเอสเอ นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับเว็บมาสเตอร ์และบรรณาธิการ เช่น จิรนุช เปรมชัยพร เว็บมาสเตอร์ของประชาไท และสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเรดพาวเวอร์
รองนายกรัฐมนตรีเฉลิม อยู่บำรุง แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมว่า รัฐบาลจะไม่อดทนต่อการกระทำความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยได้มีการได้มีการจัดตั้ง "วอร์รูม" ขึ้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบ และปิดเว็บไซต์ที่พิจารณาแล้วว่า มีเนื้อหาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมนายสุรภัค ภูชัยแสง ที่กรุงเทพฯ โดยกล่าวหาว่า นำรูปภาพ คลิปเสียง และข้อความที่เป็นการหมิ่นพระราชวงศ์มาเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ค ซึ่งกรณีนี้เป็นการจับกุมผู้กระทำผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพครั้งแรกในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ ์และพรรคเพื่อไทย เช่น เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และกลุ่มที-นิวส์ถูกยกเลิกสัญญาการดำเนินรายการวิเคราะห์ข่าวที่แพร่ภาพ และกระจายเสียงไปทั่วประเทศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ของรัฐบาล
ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเครือข่ายของขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตยังคงโจมตีพลเรือนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์โจมตีด้วยระเบิดในรถยนต์ และจักรยานยนต์ที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 16 กันยายน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คนและบาดเจ็บอีก 118 คน ผู้ก่อความไม่สงบลอบวางทุ่นระเบิดไว้ในสวนยางพาราเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และบีบบังคับให้คนเหล่านี้ยอมสละกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของสวนยางพารา
กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังคงทำการโจมตีอย่างเป็นระบบต่อครูโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งถูกมองว่า เป็นสัญลักษณ์ของความพยายามของรัฐบาลในการบั่นทอนเอกลักษณ์ของชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ เมื่อวันที่ 6 กันยายน ผู้ก่อความไม่สงบใช้ยิงอาจารย์คณิต ลำนุ้ย เสียชีวิต ที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา แล้วใช้น้ำมันราดศพ และจุดไฟเผา นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ผู้ก่อความไม่สงบสังหารครู และบุคคลากรทางการศึกษาไปแล้วอย่างน้อย 148 คน
กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลมักเข้าไปตั้งค่ายพัก และฐานปฏิบัติการในโรงเรียน ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อนักเรียน และครู รวมทั้งยังเป็นการขัดขวางการเรียนการสอนอีกด้วย
ถึงแม้ว่าแม่ทัพภาคที่สี่ พลโท อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ จะสัญญาว่า จะดำเนินการเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เจ้าหน้าที่ในกองกำลังฝ่ายความมั่นคงยังไม่ถูกลงโทษในกรณีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การกระทำซ้อมทรมาน การบังคับให้สูญหาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เกิดการบังคับให้สูญหายขึ้นอีกในปี 2554 ภายหลังจากที่ลดลงอย่างมากนับแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
นโยบายต่อต้านยาเสพติด
ขณะที่รัฐบาลประกาศเมื่อเดือนกันยายนว่า จะเคารพสิทธิมนุษยชน และกระบวนการที่ถูกต้องตามกรอบของกฏหมายในการดำเนินนโยบายต่อต้านยาเสพติด แต่รองนายกรัฐมนตรีเฉลิม อยู่บำรุง ปฏิเสธว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมจำนวนมากกว่า 2,800 ราย ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำ "สงครามยาเสพติด" ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี 2546
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งเป้าหมายที่จะ "บำบัด" ผู้ใช้ยาเสพติดจำนวน 400,000 รายภายในระยะเวลาหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในการจับกุม และควบคุมตัวผู้ใช้ยาเสพติดไว้ในโครงการบังคับบำบัดการติดยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยกองทัพ และกระทรวงมหาดไทย โดยวิธีบำบัดรักษาเน้นการออกกำลังตามแบบทหาร และมีการช่วยเหลือทางการแพทย์แค่เพียงเล็กน้อยในกรณีที่เกิดอาการลงแดง
นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
ทองนาก เสวกจินดา นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถูกมือปืนสังหารในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ต่อต้านการสร้างมลภาวะของอุตสาหกรรมถ่านหินในท้องที่ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา มีนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกสังหารไปแล้วมากกว่า 20 ราย การสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมเหล่านี้มักจะเผชิญอุปสรรคจากการทำงานที่ไม่คงเส้นคงวา และการสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการที่กระทรวงยุติธรรมไม่สามารถให้การคุ้มครองต่อพยานได้เพียงพอ และการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฏหมายไม่สามารถรับมือกับอิทธิพลทางการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวได้
ผู้อพยพ ผู้แสวงหาการลี้ภัย และแรงงานย้ายถิ่น
ทางการไทยยังคงละเมิดหลักการระหว่างประเทศที่ห้ามบังคับส่งตัวผู้อพยพ และผู้แสวงหาการลี้ภัยกลับไปยังประเทศที่บุคคลเหล่านั้นอาจจะถูกลงโทษ นูร์ มูฮัมหมัด ชาวอุยกูร์ ถูกจับเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม และถูกนำตัวมาที่ห้องกักขังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการเข้าเมือง แต่แทนที่เขาจะถูกนำตัวไปส่งฟ้องศาลตามบทบัญญัติของกฎหมายไทย เขากลับถูกนำตัวไปมอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีน และได้หายตัวไปนับจากนั้นเป็นต้นมา ทั้งนี้ ประวัติของรัฐบาลจีนในการใช้อำนาจกักขัง และการกระทำทารุณกรรมต่อชนเผ่าอุยกูร์ ทำให้เชื่อว่า มูฮัมหมัดเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่ง
ทางการไทย "ผลักดันกลับ" เรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาจากพม่า และบังคลาเทศอย่างน้อยสองครั้งในปี 2554 ทั้งๆ ที่มีการกล่าวหาว่า การกระทำลักษณะดังกล่าวได้นำไปสู่การเสียชีวิตของบุคคลหลายร้อยคนเมื่อปี 2541 และ 2542ทั้งนี้ หลังจากได้จัดหาเสบียงอาหารที่จำเป็น และน้ำให้แก่เรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาแล้ว ทางการไทยก็ลากเรือเหล่านั้นออกไปปล่อยให้ลอยลำในน่านน้ำสากล โดยมีเหตุการณ์ที่เรือลำหนึ่ง ซึ่งบรรทุกชาวโรฮิงญา 911 คนถูกจับที่จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 22 มกราคม และภายหลังจากที่มีการจัดฉากการส่งตัวชาวโรงฮิงญาเหล
นั้นกลับไปพม่าผ่านทางจังหวัดระนองก็ปรากฏว่า เรือลำดังกล่าวถูกผลักดันกลับออกสู่ทะเล และลอยไปเกยฝั่งที่หมู่เกาะนิโคบาร์ของอินเดีย หลังจากนั้น เรือลำอีกลำหนึ่งที่บรรทุกชาวโรฮิงญา 129 คนก็ถูกผลักดันกลับสู่ทะเล และลอยลำไปจนถึงจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ กล่าวเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ว่า "...ทุกประเทศมีสิทธิ์ที่จะผลักดันบุคคลออกไป เราปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรฐานเพื่อให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาจะมีอาหาร และน้ำในปริมาณที่เพียงพอ"
ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ปีิ 2494 และไม่มีกฎหมายรับรองสถานภาพของผู้อพยพ และผู้แสวงหาลี้ภัย ในกรณีที่บุคคลเหล่านั้นถูกจับกุม พวกเขามักจะถูกคุมขังเป็นระยะเวลานานกว่าจะได้รับการยินยอมให้สามารถเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย หรือถูกส่งกลับไปยังประเทศของตน ในบางกรณี ผู้อพยพจากศรีลังกา และเนปาล รวมทั้งชาวโรฮิงญาถูกคุมขังอยู่เป็นระยะเวลานานกว่าสองปี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ผู้อพยพ 94 คน และผู้แสวงหาการลี้ภัยสองคนจากชุมชนอาห์มาดิยาห์ในปากีสถาน ได้รับการประกันตัวออกไป ภายหลังจากที่บางคนถูกคุมขังอยู่เป็นระยะเวลานานเกือบหกเดือน
กฎหมายไทยให้การคุ้มครองต่อแรงงานย้ายถิ่นจากพม่า กัมพูชา และลาวน้อยมาก บุคคลเหล่านี้มักถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน นายจ้าง และพวกอันธพาล โครงการณ์ขึ้นทะเบียน และ "พิสูจน์สัญชาติ" ทำให้นายจ้างยังคงมีอำนาจอย่างมากมายในการควบคุมแรงงานย้ายถิ่น และปกป้องไม่ให้นายจ้างถูกดำเนินคดีในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานย้ายถิ่น สถานการณ์เช่นนี้ทำให้แรงงานย้ายถิ่นตกอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ แรงงานสตรีมีความเสี่ยงต่อการกระทำรุนแรงทางเพศ และการค้ามนุษย์ ในขณะที่แรงงานชายถูกนำไปขายเป็นลูกเรือประมง เมื่อเดือนตุลาคม องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชนรายงานว่า แรงงานย้ายถิ่นที่อพยพหนีอุทกภัยครั้งใหญ่ออกจากประเทศไทย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม รีดทรัพย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชน
ตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญระหว่างประเทศ
สหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป สวิสเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ แสดงความสนับสนุนอย่างแข็งขัน ให้เกิดความปรองดองทางการเมือง และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในปี 2554 โดยเรียกร้องให้รัฐบาล และฝ่ายต่างๆ ที่ี่ขัดแย้งกันทางการเมืองหันหน้ามาเจรจากัน และยุติการใช้ความรุนแรง สวิสเซอร์แลนด์เข้ามาให้การฝึกอบรม และความช่วยเหลือทางเทคนิคต่อ คอป. เพื่อให้สามารถนำตัวผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อความรุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม
ประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาหลายข้อในเรื่องสิทธิมนุษยชนในระหว่างที่ดำเนินการรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จเมื่อปี 2553 เพื่อเข้าร่วมในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่คำสัญญาดังกล่าวกลับมีการนำไปปฏิบัติเพียงไม่กี่ข้อ เท่านั้น เมื่อเดือนกันยายน รัฐมนตรีต่างประเทศ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล กล่าวว่า ประเทศไทยจะรักษาที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติต่อไปอีกหนึ่งสมัย และจะพยายามเสนอตัวเข้าชิงที่นั่งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย
ประเทศไทยถูกกลุ่มพันธมิตรเพื่อต่อต้านการใช้ระเบิดพวงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกรณีที่ใช้อาวุธชนิดนี้ในเหตุการณ์พิพาทชายแดนกับกัมพูชา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัคราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้แจ้งต่อที่ประชุมคู่ขนานครั้งแรกของอนุสัญญาว่าด้วยการใช้ระเบิดพวงว่า ประเทศไทยหวังจะให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับนี้ใน "อนาคตอันใกล้"