Skip to main content

ประเทศไทย: ชาวอุยกูร์ 40 คนถูกบังคับส่งตัวกลับจีน

รัฐบาลจีนควรอนุญาตให้องค์การสหประชาชาติและครอบครัวเข้าถึงผู้ทถีÉ ูกส่งกลับทันที

สถานกักตัวคนต่างด้าวในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 26 กุมภาพันธ์ 2568 © 2025 Jerry Harmer/AP Photo

(กรุงเทพฯ) – รัฐบาลไทยละเมิดกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศด้วยการบังคับส่งกลับชายชาวอุยกูร์อย่างน้อย 40 คนไปประเทศจีน ทำให้พวกเขาอาจเผชิญกับการทรมาน การกักขังโดยพลการ และการจำคุกในระยะยาว ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ก่อนหน้านี้ ชายเหล่านี้ถูกควบคุมตัวในสถานกักตัวคนต่างด้าวของไทยมานานกว่าทศวรรษ

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 02:14 น. รถบรรทุกหลายคันที่ติดเทปสีดำปิดหน้าต่าง แล่นออกจากสถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชายชาวอุยกูร์กว่า 40 คนถูกควบคุมตัวไว้ เวลา 04.48 น. เที่ยวบินพิเศษของสายการบิน China Southern Airlines ออกจากสนามบินนานาชาติดอนเมือง และลงจอดที่เมือง Kashgar ในเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ของจีนในอีก 6 ชั่วโมงต่อมา ไม่นานหลังจากนั้น สื่อของรัฐบาลจีนอย่าง China Central Television (CCTV) ได้รายงานการแถลงข่าวของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ ยืนยันว่า “ชาวจีน 40 คนที่เดินทางออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย และถูกกักขังในประเทศไทย ถูกส่งตัวกลับ [จีน] แล้ว” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย ยืนยันในการให้สัมภาษณ์สื่อในเวลาต่อมาว่า ชาวอุยกูร์ถูกส่งตัวไปยังประเทศจีนแล้ว

“ประเทศไทยเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อกฎหมายในประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยการส่งชาวอุยกูร์เหล่านี้ไปยังประเทศจีน ทำให้ต้องเผชิญกับการประหัตประหาร” อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอตช์กล่าว “หลังจากถูกกักขังอย่างไร้มนุษยธรรมในสถานกักตัวคนต่างด้าวของไทยเป็นเวลา 11 ปี มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่ชายเหล่านี้จะถูกทรมาน ถูกบังคับให้สูญหาย และถูกกักขังเป็นเวลานานโดยรัฐบาลจีน”

ในเดือนมีนาคม 2557 ตำรวจไทยที่จังหวัดสงขลา ใกล้กับพรมแดนประเทศมาเลเซีย ได้จับกุมชาวอุยกูร์ประมาณ 220 คน รวมทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก และดำเนินคดีฐานเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และต่อมาได้ส่งตัวพวกเขาไปยังสถานกักตัวคนต่างด้าวในกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน ทางการไทยยังได้จับกุมตัวชาวอุยกูร์คนอื่น ๆ อีกหลายสิบคน และนำตัวไปไว้ที่สถานกักตัวคนต่างด้าวทั่วประเทศ ในเดือนกรกฎาคม 2558 ผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์ประมาณ 170 คนซึ่งถูกกักตัวที่จังหวัดสงขลา ได้รับการปล่อยตัวและเดินทางไปประเทศตุรกีแต่อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ทางการไทยกลับบังคับส่งตัวชายชาวอุยกูร์กว่า 100 คนไปให้ทางการจีน โดยเดินทางด้วยเครื่องบินไปประเทศจีน

ชาวอุยกูร์ที่เหลือถูกปล่อยให้ทนทุกข์ทรมานอยู่ในสถานกักขังโดยไม่มีเวลากำหนด ส่วนทางการไทยก็ถูกกดดันจากรัฐบาลจีน ด้วยความกลัวว่าจะถูกส่งตัวกลับประเทศจีนในไม่ช้า ชายเหล่านี้จึงอดอาหารประท้วงเมื่อวันที่ 10 มกราคม และเริ่มกลับมากินอาหารอีกครั้งเมื่อวันที่ 29 มกราคม หลังจากทางการไทยรับรองว่าจะไม่ส่งตัวกลับจีน

ชาวอุยกูร์เป็นชาวมุสลิมที่พูดภาษาเตอร์กิก ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน รัฐบาลจีน มีท่าทีต่อต้านมาเป็นเวลานาน ต่อการแสดงออกตามอัตลักษณ์ของชาวอุยกูร์ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การปราบปรามของจีนต่อชาวอุยกูร์ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยทางการได้ปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนต่อพวกเขาอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ ถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ทางการจีนได้กักขังโดยพลการและคุมขังชาวอุยกูร์อย่างไม่เป็นธรรม ข่มเหงพวกเขาเนื่องจากการปฏิบัติตามวัฒนธรรมของพวกเขา และทำให้พวกเขาถูกสอดแนมข้อมูล และถูกบังคับใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ชาวอุยกูร์ประมาณครึ่งล้านคนยังคงถูกคุมขัง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง โดยทางการมักกล่าวหาว่าการปฏิบัติอย่างสงบในชีวิตประจำวันของพวกเขา รวมทั้งการทำละหมาดหรือการติดต่อกับญาติที่อยู่ในต่างประเทศ เป็นการก่อการร้ายและแสดงถึงความคิดที่สุดโต่ง

ชาวอุยกูร์ถูกกล่าวหาว่าหลบหนีออกจากจีนอย่างผิดกฎหมาย หากถูกส่งตัวกลับมา จะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยและเสี่ยงที่จะถูกควบคุมตัว ถูกสอบปากคำ ตกเป็นเหยื่อของการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีอื่น ๆ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว นอกจากนี้ ทางการยังได้กระทำการละเมิดต่อครอบครัวชาวอุยกูร์ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่า

รายงานปี 2565 ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติบันทึกข้อมูลการปฏิบัติมิชอบที่เข้มข้นมากขึ้น และสรุปว่าการปฏิบัติของจีนอาจถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และไม่มีกลไกระดับชาติที่เป็นผลเพื่อประเมินคำร้องขอที่ลี้ภัย หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยมักปฏิเสธไม่ให้หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้าถึงกลุ่มผู้ชายเหล่านี้ ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้สิทธิที่จะได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยของตนเอง

UNHCR ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ระบุว่า “หน่วยงานได้พยายามเข้าถึงตัวกลุ่มคนเหล่านี้หลายครั้ง และขอคำมั่นจากทางการไทยว่า บุคคลเหล่านี้จะไม่ถูกเนรเทศหากพวกเขาแสดงความกลัวว่าจะถูกส่งกลับ แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงตัวพวกเขาได้ และเมื่อติดต่อขอคำชี้แจง ทางการไทยแจ้งว่า ยังไม่มีการตัดสินใจใด ๆ ที่จะเนรเทศคนกลุ่มนี้”

รัฐบาลไทยมีพันธกรณีต้องเคารพหลักการไม่ส่งกลับตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งห้ามไม่ให้ประเทศต่าง ๆ ส่งตัวบุคคลกลับไปยังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการถูกประหัตประหาร ถูกทรมาน หรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายอื่น ๆ หรือถูกคุกคามชีวิต หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่คล้ายคลึงกัน การส่งกลับเป็นข้อห้ามตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี และถือเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

การห้ามส่งกลับนั้นยังเป็นไปตามข้อบทในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย พ.ศ. 2566 ของไทย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร กล่าวในการให้สัมภาษณ์สื่อว่า การส่งกลับชาวอุยกูร์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กระบวนการระหว่างประเทศ และหลักการสิทธิมนุษยชน

“รัฐบาลที่เกี่ยวข้องควรกดดันรัฐบาลจีนอย่างจริงจัง เพื่ออนุญาตให้ผู้ที่ถูกส่งกลับสามารถพบกับครอบครัวของตนเองได้ รวมทั้งการพบกับผู้สังเกตการณ์อิสระและกลไกที่เกี่ยวข้องขององค์การสหประชาชาติ” เพียร์สันกล่าว “ประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายของจีนต่อชาวอุยกูร์ และแรงกดดันให้ไทยควบคุมตัวชายเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่น่ากังวลอย่างยิ่งต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Tags