Skip to main content

ประเทศไทย: สิทธิที่ถูกกดขี่

การปราบปรามการแสดงออกอย่างเสรี การประท้วงอย่างสงบ

ผู้ประท้วงถือป้ายด้านหน้าตำรวจปราบจลาจล พร้อมกับชูสามนิ้วระหว่างการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 17 พฤศจิกายน © 2565 Sipa via AP Images

(นิวยอร์ก) – รัฐบาลไทย ภายใต้นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินคดีทางการเมืองต่อนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย และบุคคลอื่นกว่า 1,500 คนในปี 2565 จากการใช้สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ใน รายงานโลกประจำปี 2566 ทางการยังไม่ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาหลายพันคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อห้ามการชุมนุมสาธารณะระหว่างที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะมีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม

“ทางการไทยคุมขังบุคคลมากขึ้น รวมทั้งผู้แสดงความเห็นต่าง มีการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมอย่างสงบ และการเซ็นเซอร์ข่าวและโซเชียลมีเดีย” อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “รัฐต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรกับประเทศไทย ไม่ควรฟื้นฟูความสัมพันธ์แบบปกติ เว้นแต่รัฐบาลประยุทธ์จะแสดงพันธกิจอย่างหนักแน่นที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักการในประเทศ”

ใน รายงานโลกประจำปี 2566 ความยาว 712 หน้า ซึ่งพิมพ์เป็นปีที่ 33 ฮิวแมนไรท์วอทช์ทบทวนการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในเกือบ 100 ประเทศ ในบทนำที่เขียนโดยรักษาการผู้อำนวยการบริหาร ทีรานา ฮัสซัน ระบุว่า ในโลกที่มีการเปลี่ยนผ่านของอำนาจ เราไม่สามารถพึ่งพารัฐบาลซึ่งแทบทั้งหมดมาจากประเทศโลกฝ่ายเหนือกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อีกต่อไป การเคลื่อนไหวระดับโลกในกรณีสงครามของรัสเซียในยูเครน ทำให้เราตระหนักถึงศักยภาพมหาศาลเมื่อรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตนในระดับโลก เป็นความรับผิดชอบของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่หรือเล็ก ที่จะต้องนำกรอบสิทธิมนุษยชนมาใช้เป็นแนวทางกำหนดนโยบายของตน และดำเนินงานร่วมกันเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลไทยมักใช้มาตรการเซ็นเซอร์ ปิดกั้น และลงโทษอย่างสม่ำเสมอ ต่อการแสดงความเห็นที่รัฐมองว่าเป็นการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์และรัฐบาล ปัจจุบันมีบุคคลกว่า 200 คนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่มีบทลงโทษรุนแรงต่อความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ทางการยังมักดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น และละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งให้อำนาจอย่างกว้างขวางในการดำเนินคดีกับการแสดงความเห็นทางออนไลน์

รัฐบาลเพิกเฉยต่อพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย มีการจับกุมและเนรเทศพวกเขาไปยังประเทศอันเป็นภูมิลำเนา รวมทั้งเมียนมา กัมพูชา จีน และเวียดนาม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิตและเสรีภาพของพวกเขา

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยังคงเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายและถูกฟ้องคดีเป็นการตอบโต้ รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการที่เป็นรูปธรรมที่จะสอบสวนเมื่อมีการทำร้ายร่างกาย การบังคับให้สูญหาย และการสังหารนักกิจกรรม ทางการยังคงผลักดันให้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมหน่วยงานภาคประชาสังคม ซึ่งจะละเมิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการสมาคมและการแสดงออก

การบังคับใช้อย่างเป็นผลยังเป็นข้อกังวล สำหรับกฎหมายที่เพิ่งมีการประกาศใช้ รวมทั้งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนตุลาคม

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.