Skip to main content

ประเทศไทย: กรรมการสิทธิที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์กำลังถูกคุกคาม

การสอบสวนที่ปราศจากข้อเท็จจริงจะยิ่งทำลายหน่วยงานคุ้มครองสิทธิแห่งชาติ

Angkhana Neelapaijit  © Prachatai
 

(นิวยอร์ก) – คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย ควรยุติการสอบสวนที่ปราศจากข้อเท็จจริงต่อกรรมการสิทธิที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์โดยทันที ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกมาวิจารณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนร้ายแรงของไทยภายใต้รัฐบาลทหารอย่างต่อเนื่อง

ในวันที่ 30 เมษายน 2562 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเริ่มการสอบสวนทางวินัยต่ออังคณา กล่าวหาว่ามีความลำเอียงทางการเมือง การไต่สวนครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการแสดงความเห็นของตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจากคสช. และเป็นข้อร้องเรียนต่อกรรมการของสุรวัชร สังขฤกษ์ นักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร โดยการไต่สวนให้ความสำคัญกับกรณีที่อังคณาเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการยุติธรรม และการเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิต่อนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และผู้วิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งหมดอาจนำไปสู่การถูกถอดถอนจากตำแหน่ง

“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยตกต่ำหนักยิ่งขึ้น จากการพยายามลงโทษอังคณาซึ่งปฏิบัติหน้าที่เปิดโปงการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิ และเรียกร้องให้มีความรับผิด” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “แกนนำของคณะกรรมการล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถกดดันให้รัฐบาลทหารปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตน และในตอนนี้ดูเหมือนจะทำหน้าที่รับใช้รัฐบาลทหาร”

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย เคยได้รับการพิจารณาว่าเป็นต้นแบบสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ที่ผ่านมาได้ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลไทยชุดต่าง ๆ ตั้งแต่คณะกรรมการชุดแรกครบวาระในปี 2552 ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

Global Alliance of National Human Rights Institutions และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ลดอันดับกสม.ของไทยในการจัดอันดับระดับโลก จาก “A” เป็น “B” เมื่อปี 2558 เป็นเหตุให้กสม.สูญเสียสิทธิที่จะสามารถแสดงความเห็นในที่ประชุมของคณะมนตรี และการเสนอความเห็นต่อคณะมนตรีระหว่างการประชุม การลดอันดับครั้งนั้น เป็นผลมาจากการแทรกแซงของรัฐบาลต่อกระบวนการสรรหากรรมการ และการถูกตั้งคำถามอย่างรุนแรงต่อท่าทีทางการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลของกสม.

นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารยิ่งดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อทำให้กสม.อ่อนแอ โดยมีการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตัดความเป็นอิสระของหน่วยงานและเปลี่ยนให้หน่วยงานกลายเป็นเพียงกระบอกเสียงของรัฐ ซึ่งตรงข้ามกับ หลักการสหประชาชาติว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติ (หลักการกรุงปารีส)

ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยืนยันข้อห้ามไม่ให้มีการตอบโต้ ข่มขู่และคุกคามบุคคลใด ๆ ซึ่งดำเนินการอย่างสงบเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกรณีที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามอาชีพของตน รัฐบาลไทยมีพันธกรณีต้องประกันว่า บุคคลทุกคนและหน่วยงานทุกแห่งที่มีส่วนร่วมในการปกป้องและสิ่งเสริมสิทธิมนุษยชน จะสามารถดำเนินการในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนได้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

“สำคัญอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องมีหน่วยงานด้านสิทธิระดับชาติที่น่าเชื่อถือ มีกรรมการสิทธิที่อุทิศทุ่มเทเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตด้านสิทธิที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง” อดัมส์กล่าว “กสม.ควรยุติการไต่สวนต่ออังคณา และประกันว่าเธอจะสามารถดำเนินการได้ในสภาพแวดล้อมที่มั่นคงโดยไม่ต้องหวาดกลัวการตอบโต้”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Topic