Skip to main content

ประเทศไทย: เริ่มนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง

ยกเลิกการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

Thai Prime Minister Prayut Chan-ocha attends a news conference as the junta marked the third anniversary of a military coup in Bangkok, Thailand May 23, 2017.  © 2017 Reuters/Jorge Silva
(นิวยอร์ก) – รัฐบาลทหารไทยควรยกเลิกการจำกัดสิทธิทางพลเรือนและทางการเมืองโดยทันที ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่เสรีและเป็นธรรม ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2561 ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2562

แต่กฎหมาย นโยบายและแนวปฏิบัติในปัจจุบันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งได้ยึดอำนาจมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ยังไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองจัดตั้งมวลชน แสดงความเห็น หรือรณรงค์หาเสียงอย่างเสรี ส่งผลให้ในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีสภาพแวดล้อมที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

“ในขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง หลังการปกครองของระบอบทหารเป็นเวลาสี่ปี รัฐบาลทหารไทยจำเป็นต้องฟื้นฟูเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนคนไทยและพรรคการเมืองเข้าร่วมในกระบวนการนี้อย่างเต็มที่” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “รัฐบาลควรยกเลิกคำสั่งที่จำกัดสิทธิ และฟื้นฟูเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ”

รัฐบาลทหารไทยยังคงใช้อำนาจอย่างปราศจากการตรวจสอบและลอยนวลพ้นผิด เพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ทางการใช้การเซ็นเซอร์แบบบังคับ และปิดกั้นการอภิปรายในที่สาธารณะ ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยอย่างสม่ำเสมอ รัฐบาลยังได้ดำเนินคดีกับนักกิจกรรมและผู้เห็นต่างที่แสดงความเห็นของตนอย่างสงบ ด้วยข้อหาอาญาร้ายแรง เช่น ยุยงปลุกปั่น ความผิดทางคอมพิวเตอร์ และ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  

ยังคงมีข้อห้ามต่อการชุมนุมของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป ทางการได้เรียกตัวบุคคลหลายพันคน และกดดันเพื่อให้พวกเขาหยุดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร กองทัพได้จับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่าต่อต้านรัฐบาลทหารโดยพลการ ควบคุมตัวพวกเขาไว้นานถึงเจ็ดวัน โดยไม่ให้ติดต่อกับทนายความ หรือไม่มีหลักประกันเพื่อห้ามการปฏิบัติที่มิชอบ

นับแต่ต้นปี 2561 ผู้รณรงค์เพื่อประชาธิปไตยกว่า 100 คนถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย และในบางกรณีมีการใช้ข้อหายุยงปลุกปั่น โดยเป็นผลมาจากการรณรงค์กดดันรัฐบาลทหารอย่างสงบ เพื่อให้จัดการเลือกตั้งตามที่สัญญาโดยไม่ให้เลื่อนออกไปอีก และให้ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

นักกิจกรรมในประเทศแสดงข้อกังวลกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า การสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างอิสระไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขแบบปัจจุบัน เพราะทางการไทยมักตอบโต้ด้วยการแจ้งข้อหาทางอาญา รวมทั้งข้อหาหมิ่นประมาทและความผิดทางคอมพิวเตอร์ ต่อบุคคลที่รายงานข้อมูลว่ารัฐสนับสนุนการปฏิบัติมิชอบ และเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติมิชอบเสียเอง รัฐบาลทหาร ยังขัดขวางการดำเนินงานเพื่อตรวจสอบการออกเสียงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 และได้ดำเนินคดีกับหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเหล่านั้น

ภายหลังรัฐประหารปี 2557 สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ ต่างประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีอย่างเต็มที่กับประเทศไทย จนกว่าจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เพื่อจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตย และเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพื่อประกันว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นสอดคล้องกับกระบวนการด้านประชาธิปไตยอย่างแท้จริง องค์การสหประชาชาติและประเทศที่เป็นมิตรกับไทยควรกดดันรัฐบาลทหารให้

  • ยุติการใช้อำนาจที่มิชอบและปราศจากการตรวจสอบตามมาตรา 44 และ 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557
  • ยุติการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ
  • ยุติการห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง
  • ปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวเนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างสงบ
  • ยกเลิกการดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นและคดีอาญาอื่น ๆ อันเป็นผลมาจากการต่อต้านระบอบทหารอย่างสงบ
  • ให้โอนคดีที่มีการไต่สวนกับพลเรือนในศาลทหารไปยังศาลพลเรือน ซึ่งมีกระบวนการที่สอดคล้องกับมาตรฐานการพิจารณาที่เป็นธรรม
  • ดูแลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและหนุนเสริมการดำเนินงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยกเลิกการดำเนินคดีการเมืองกับพวกเขา และ

อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งที่เป็นอิสระและไม่ลำเอียง สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการรณรงค์ระหว่างการเลือกตั้งและการจัดเลือกตั้งได้อย่างเป็นอิสระ และสามารถเผยแพร่รายงานต่อสาธารณะได้

“องค์การสหประชาชาติและพันธมิตรของประเทศไทย ควรประกาศอย่างเปิดเผยว่า จะยอมรับการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเท่านั้น” อดัมส์กล่าว “การออกเสียงย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเสรีและเป็นธรรม ตราบที่ยังคงมีการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานด้านประชาธิปไตยของคนไทย”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.