Skip to main content

ประเทศไทย: การปฏิบัติมิชอบด้านแรงงานยังเกิดขึ้นต่อไปในเรือประมง

การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาแรงงานบังคับยังไม่สามารถตอบสนองข้อกังวลของสหภาพยุโรป

© 2016 Daniel Murphy for Human Rights Watch
(กรุงเทพฯ) – รัฐบาลไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในเรือประมงของไทย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ในจดหมายถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป

ฮิวแมนไรท์วอทช์กระตุ้นสหภาพยุโรปให้ตรวจสอบการดำเนินงานปฏิรูปอย่างจริงจังทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติของไทย เพื่อแก้ปัญหาแรงงานบังคับและการปฏิบัติมิชอบอย่างอื่นที่เกิดขึ้นกับแรงงานประมงข้ามชาติอย่างเป็นผล

“การปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงของรัฐบาลไทย ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรงได้” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “สหภาพยุโรปควรใช้อิทธิพลที่มีอยู่ในฐานะเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของแรงงานประมงข้ามชาติในเรือประมงของไทย”

ผลจากแรงกดดันของสหภาพยุโรปและรัฐบาลประเทศอื่น ๆ รัฐบาลไทยได้ดำเนินการปฏิรูปหลายด้านเพื่อส่งเสริมสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมง แต่นับตั้งแต่มีการปรึกษาหารือที่มีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างกว้างขวาง ระหว่างอธิบดีกรมการจัดหางานของคณะกรรมาธิการยุโรป (Directorate-General for Employment) กับกระทรวงแรงงานของไทย ระหว่างวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2561 ที่กรุงบรัสเซลส์ ที่ผ่านมายังไม่มีการปรับปรุงมากนัก

แรงงานข้ามชาติในภาคประมงยังคงถูกจ้างงานในรูปแบบแรงงานขัดหนี้ พวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ ไม่ได้รับค่าแรงตามเวลาที่กำหนด และได้รับค่าแรงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้จากการศึกษาในรายงานปี พ.ศ.2561 ของฮิวแมนไรท์วอทช์เรื่อง  “Hidden Chains: Forced Labor and Rights Abuses in Thailand’s Fishing Industry (“โซ่ที่ซ่อนไว้: การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย”)

ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่าไต้ก๋งยังคงบังคับแรงงานประมงส่วนใหญ่ที่มาจากพม่าและกัมพูชา ให้ต้องทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กำหนดในกฎหมาย เจ้าของเรือและไต้ก๋งละเมิดข้อกำหนดด้านกฎหมายที่ต้องจ่ายค่าแรงอย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยมักจ่ายค่าแรงทุกหกเดือน หรือในบางกรณีทุกหนึ่งปี โดยจ่ายในอัตราต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ การปฏิรูปซึ่งกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าแรงรายเดือนโดยโอนเงินผ่านธนาคาร กลับใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากไต้ก๋งที่ขาดจริยธรรมได้ยึดบัตรเอทีเอ็มและสมุดธนาคารของแรงงานประมงเอาไว้ 

เจ้าของเรือยังคงไม่ให้คนงานได้รับสัญญาหรือสำเนาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งไม่มีการอธิบายรายละเอียดของสัญญาให้กับคนงาน ไต้ก๋งยังคงยึดเอกสารส่วนตัวของแรงงานข้ามชาติเอาไว้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และยังคงมีรายงานว่าไต้ก๋ง เจ้าหน้าที่ และเจ้าของเรือใช้การข่มขู่ คุกคาม และการใช้ความรุนแรงทางกายต่อแรงงาน 

การปฏิรูปของรัฐบาลไทยทั้งไม่เป็นผล หรือไม่เพียงพอในแง่การปรับปรุงกระบวนการร้องเรียน และการตรวจสอบเพื่อให้แรงงานประมงสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้โดยไม่มีอุปสรรค ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว การตรวจแรงงานทั้งที่จุดตรวจศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าหรือออกเรือประมง มุ่งเน้นเฉพาะการตรวจเอกสารแบบพอเป็นพิธี ในทำนองเดียวกัน การตรวจแรงงานระหว่างเรืออยู่ในทะเล มักไม่เป็นไปตามขั้นตอนปฏิบัติขั้นต่ำที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองคนงาน ระหว่างการให้ข้อมูลที่อาจบ่งชี้ถึงการปฏิบัติมิชอบในเรือ

แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงของไทย ยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเพียงพอ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ห้ามไม่ให้คนงานที่ไม่มีสัญชาติไทยจดทะเบียนสหภาพแรงงาน หรือเข้าเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน หากไม่สามารถรวมตัวและเป็นแกนนำสหภาพ แรงงานประมงข้ามชาติย่อมมีช่องทางไม่มากนัก ในการเรียกร้องสิทธิของตน และเสี่ยงที่จะถูกตอบโต้จากไต้ก๋งเรือ เจ้าของเรือ และเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต  

ในเดือนมิถุนายน รัฐบาลไทยปฏิบัติตามคำสัญญาที่สำคัญ โดยได้ให้สัตยาบันรับรองพิธีสารว่าด้วยแรงงานบังคับของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 รัฐบาลควรดำเนินมาตรการที่จำเป็นทั้งปวงเพื่อประกันให้มีการดำเนินงานตามพิธีสารอย่างเป็นผล รัฐบาลไทยยังควรให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 (เสรีภาพในการสมาคม) และฉบับที่ 98 (สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม) ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

“เพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงานในเรือประมงของไทย ประเทศไทยต้องดำเนินการให้เกิดความคืบหน้าอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การปฏิรูปในกระดาษ” อดัมส์กล่าว “สหภาพยุโรปควรกดดันประเทศไทยต่อไปให้คุ้มครองสิทธิ สุขภาพ และความปลอดภัยของแรงงานประมงข้ามชาติ ผู้บริโภคในยุโรปควรมั่นใจได้ว่า อาหารทะเลที่มาจากประเทศไทย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือการใช้แรงงานบังคับ” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.