Skip to main content

เกิดการปะทะกันบนท้องถนน รัฐบาลล้มเหลวในการส่งเสริมความยุติธรรม และเสรีภาพในการแสดงออก

เกิดการปะทะกันบนท้องถนน รัฐบาลล้มเหลวในการส่งเสริมความยุติธรรม และเสรีภาพในการแสดงออก

(กรุงเทพฯ) – ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุในรายงานประจำปี 2557 ว่า รัฐบาลของประเทศไทยมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในปีที่ผ่านมา
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า “คำสัญญาของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่จะสร้างความสมานฉันท์ในประเทศ และให้ความยุติธรรมกับเหยื่อของความรุนแรงปี 2553 เป็นสิ่งที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง” “รัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมความสมานฉันท์ด้วยการผลักดันการนิรโทษกรรมแบบ ‘เหมาเข่ง’ ให้กับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจากทุกฝ่ายนั้น แต่กลับทำให้ความแตกแยกทางการเมืองในประเทศไทยทวีความเข้มข้นรุนแรงมากขึ้น”

ในรายงานประจำปี 2557 ความยาว 667 หน้า ซึ่งเป็นรายงานประจำปีฉบับที่ 24 นั้น ฮิวแมนไรท์วอทช์ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในกว่า 90 ประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ถึงแม้จะมีความหวาดวิตกเกิดขึ้น แต่ผู้นำประเทศต่างๆ กลับไม่ได้ดำเนินการใดๆ มากนักเพื่อยุติการสังหารพลเรือนที่เกิดขึ้นในวงกว้างในประเทศซีเรีย หลักการ “ความรับผิดชอบในการคุ้มครอง” ที่ถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่ดูเหมือนจะช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดร้ายในบางส่วนของอัฟริกา ชนกลุ่มใหญ่ที่กุมอำนาจในประเทศอียิปต์ และประเทศอื่นๆ กดขี่ฝ่ายค้าน และชนกลุ่มน้อย การเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนเกี่ยวกับโครงการสอดแนมของประเทศสหรัฐฯสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ความล้มเหลวของรัฐบาลในการเอาผิดกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในอดีตส่งผลให้เกิดความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ครอบคลุมการกระทำความผิดอย่างกว้างขวาง ทั้งในส่วนของผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2554 ตลอดจนผู้ที่ถูกสอบสวน และดำเนินคดีในข้อหาทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2549 การชุมนุมประท้วงต่อต้านการนิรโทษกรรมในกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่นๆ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน และยังคงดำเนินต่อไปภายหลังจากที่วุฒิสภาปฏิเสธร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนการปะทะกันบนท้องถนนระหว่างผู้ชุมนุมฝ่ายคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะโค่นล้มรัฐบาล กลุ่มผู้สนุบสนุนรัฐบาล และตำรวจ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน และวันที่ 3 ตุลาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บมากกว่า 200 คน

ผู้สื่อข่าวที่ถูกมองว่าสนับสนุนรัฐบาลตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ผู้ชุมนุมทำร้ายนิค นอสติทช์ ผู้สื่อข่าวชาวต่างชาติ ภายหลังจากที่แกนนำ กปปส. ประกาศบนเวทีว่าเขาสนับสนุนรัฐบาล เมื่อวันที่ 1ธันวาคม นักการเมืองฝ่ายค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ นำมวลชนฝ่าย กปปส. นับพันคนไปกดดันสถานนีโทรทัศน์ 6 แห่งให้ถ่ายทอดสัญญาณรายการต่อต้านรัฐบาล

ถึงแม้จำนวนการจับกุม และการดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์จะลดลงนับตั้งแต่ที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2554 แต่ทางการไทยยังคงใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และดำเนินคดีกับนักวิจารณ์ ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์มักจะไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และถูกคุมขังในเรือนจำนานหลายเดือนก่อนที่จะมีการไต่สวนในชั้นศาล โดยส่วนใหญ่คำพิพากษาจะเป็นการลงโทษอย่างรุนแรง กองทัพเรือฟ้องหมิ่นประมาททางอาญาต่อผู้สื่อข่าวที่รายงานเกี่ยวกับกรณีเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือกระทำการทุจริต และใช้อำนาจโดยมิชอบนั้นอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการรายงานข่าวเชิงสืบสวนในประเทศไทย

อดัมส์ กล่าวว่า “การจำกัดเสรีภาพในการพูดจา และการคุกคามสื่อที่เกิดเพิ่มมากขึ้นแสดงให้เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้ายบางๆ”

กองทัพ และตำรวจยังคงปฏิบัติการอย่างไม่ต้องรับผิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ภายหลังจากที่การก่อความไม่สงบโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนปะทุขึ้นเมื่อปี 2547ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคนใดถูกดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กลุ่มแบ่งแยกดินแดนใช้การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลเป็นปัจจัยในการรับสมาชิกใหม่ และสร้างความชอบธรรมให้กับการก่อการร้ายต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และพลเรือน ซึ่งส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 คน

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะให้ที่พักพิงกับผู้แสวงหาการลี้ภัย และผู้ลี้ภัยจำนวนมาก แต่บางครั้งก็มีการละเมิดพันธะตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ห้ามไม่ให้ส่งตัวคนเหล่านั้นไปยังประเทศที่พวกเขาอาจจะถูกประหัตประหาร รัฐบาลไทยถือว่า ชาวโรฮิงญาทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยทางเรือเป็นบุคคลที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และมักจะสกัดกั้นชาวโรฮิงญาเหล่านั้น ชาวโรฮิงญากว่า 2,000 คนถูกคุมขังในสภาพที่เลวร้ายโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ชาวโรฮิงญาที่ต้องการเดินทางไปประเทศมาเลเชียตกเป็นเหยื่อของเครือข่ายค้ามนุษย์ในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยไม่ถูกลงโทษดำเนินคดี

อดัมส์ กล่าวว่า “นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์จำเป็นจะต้องแสดงภาวะผู้นำ และเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน” “ยิ่งลักษณ์ควรเร่งดำเนินมาตรการที่จริงจัง และเป็นระบบเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยุติการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และขจัดปัญหาการไม่รับผิด”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.