รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีความร้ายแรง และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2556 รวมทั้งยังคงให้ความคุ้มครองต่อกองทัพไม่ให้ต้องรับผิดต่อความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2553
ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านมากกว่า 100,000 คนออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนนในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม เพื่อคัดค้านความพยายามของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยที่จะผ่านการนิรโทษกรรมแบบ “เหมาเข่ง” ให้กับทุกคนที่มีส่วนรับผิดชอบต่อความรุนแรงทางการเมือง และการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2556 การชุมนุมประท้วงนี้นำไปสู่การปะทะกันหลายครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน และบาดเจ็บมากกว่า 200 คน (ข้อมูลขณะที่เขียนรายงานนี้)
ถึงแม้จะอ้างจุดยืนสนับสนุนสิทธิมนุษยชน แต่รัฐบาลประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งรวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัย และแรงงานต่างด้าว
การรับผิดต่อความรุนแรงทางการเมือง
มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90คน และบาดเจ็บมากกว่า 2,000 คนในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553ความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดจากการใช้กำลังที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตโดยไม่จำเป็น และรุนแรงเกินเหตุโดยทหาร บางกลุ่มในแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “คนเสื้อแดง” มีส่วนรับผิดชอบต่อการโจมตีด้วยอาวุธจนทำให้ทหาร ตำรวจ และพลเรือนเสียชีวิต
การไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตโดยศาลพบว่า เหยื่อของความรุนแรงปี 2553 จำนวน 15 คนถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารที่ปฏิบัติตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ และมีอดีตรองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้อำนวยการ แต่ขณะที่อภิสิทธิ์ และสุเทพถูกตั้งข้อหาเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยเล็งเห็นผล โดยยึดตามความรับผิดชอบของสายการบังคับบัญชานั้น กลับยังไม่มีการตั้งข้อหาทางอาญาใดๆ กับทหาร
สถานะของการสอบสวนโดยรัฐบาลเกี่ยวกับอาชกรรมที่มีการกล่าวหาว่าเกิดจากการกระทำของกองกำลัง “คนชุดดำ” ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับ นปช. ยังคงไม่มีความชัดเจน ถึงแม้จะมีภาพถ่าย และหลักฐานอื่นๆ ชัดเจน แต่แกนนำ และผู้สนับสนุน นปช. รวมทั้งผู้ที่มีตำแหน่งในรัฐบาล และรัฐสภา ยังคงยืนยันว่า นปช. ไม่มีกองกำลังติดอาวุธในระหว่างเหตุการณ์รุนแรงปี 2553
รัฐบาลมีการดำเนินการที่น่าชื่นชม โดยได้เยียวยาทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเมื่อปี 2553 อย่างไรก็ตาม เหยื่อ และครอบครัวของเหยื่อบางคนแสดงความกังวลว่า การเยียวยาด้วยเงินกำลังถูกนำมาใช้ทดแทนการนำตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อความรุนแรงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะให้การนิรโทษกรรมอย่างสมบูรณ์ต่อผู้ชุมนุมจากทุกฝ่าย ซึ่งถูกดำเนินคดี หรือต้องโทษในคดีที่เป็นความผิดต่อรัฐ เจ้าหน้าที่ ซึ่งออกคำสั่งให้ปราบปรามผู้ชุมนุม และทหารที่เป็นผู้ดำเนินการปราบปราม ตลอดจนผู้ที่ต้องโทษในคดีทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2549 ถึงแม้ต่อมาวุฒิสภาจะปฏิเสธร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน แต่การชุมนุมประท้วงต่อต้านการนิรโทษกรรมก็ลุกลาม ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีประชาชนมากกว่า 100,000 คนออกมาเดินขบวนบนท้องถนน และร่วมเคลื่อนไหวกับแกนนำการชุมนุมประท้วงเพื่อโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และกำจัดเครือข่ายทางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
การปะทะกันเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลกับฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสนามกีฬาราชมังคลาในกรุงเทพฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บ 60 คน ผู้ชุมนุมฝ่ายคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอื่นๆ ปะทะกับตำรวจระหว่างพยายามบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล และกองบัญชาการตำรวจนครบาลเมื่อวันที่ 1 และ 3 ธันวาคม ทำให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 200 คน โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา
เสรีภาพในการแสดงออก
การวิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นความผิดทางอาญาในประเทศไทย ถึงแม้จำนวนการจับกุม และการพิพากษาลงโทษในความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัติย์จะลดลงอย่างมากภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2554 แต่หน่วยงานราชการต่างๆ ยังคงใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และดำเนินคดีกับนักวิจารณ์ ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์มักจะไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และถูกคุมขังในเรือนจำนานหลายเดือนก่อนที่จะมีการไต่สวนในชั้นศาล โดยส่วนใหญ่คำพิพากษาจะเป็นการลงโทษอย่างรุนแรง
เมื่อวันที่ 23 มกราคม ศาลอาญากรุงเทพฯ พิพากษาจำคุกสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการ และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียง 11 ปี เพราะตีพิมพ์บทความ 2 เรื่อง ซึ่งพาดพิงสถาบันกษัตริย์ในเชิงลบในนิตยสารว๊อยส์ออฟทักษิณ โดยเขาถูกปฏิเสธการขอประกันตัว 8 ครั้งระหว่างถูกคุมขังนาน 20 เดือนก่อนที่จะมีการพิจารณาคดี คณะทำงานเรื่องการคุมขังโดยพลการแห่งสหประชาชาติระบุเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ว่า การคุมขังสมยศก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีนั้นละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อนึ่ง สมยศขออุทธรณ์คำพิพากษา
เมื่อวันที่ 13กันยายน ศาลอาญากรุงเทพฯ ยกฟ้องยุทธภูมิ มาตรนอก ซึ่งถูกพี่ชายของตนเองแจ้งความฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ยุทธภูมิถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 เนื่องจากศาลเห็นว่า ข้อกล่าวหาว่าเขาดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ กรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในความขัดแย้งในครอบครัวเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า กฎหมายดังกล่าวสามารถถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ง่ายเพียงใด ตำรวจ อัยการ และศาลมักจะเกรงกลัวว่า ตนเองจะถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ ถ้าหากพวกเขาไม่ดำเนินคดีในกรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันกษัตริย์
พรรคเพื่อไทยในฝ่ายรัฐบาล แนวร่วมของรัฐบาลใน นปช. ผู้นำกองทัพ พรรคประชาธิปัตย์ในฝ่ายค้าน และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลต่างๆ ล้วนแต่แสดงจุดยืนอย่างชัดแจ้งต่อสาธารณะว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม อนึ่ง ในปี 2556 มีการพระราชทานอภัยโทษให้กับผู้ที่ถูกพิพากษาจำคุกในความผิดนี้ 3 คน
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกลุ่ม กปปส. ทำร้ายนิค นอสติทช์ ผู้สื่อข่าวอิสระชาวเยอรมัน หลังจากที่ชุมพล จุลใส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศบนเวทีว่า นิคเกี่ยวพันกับ นปช. ต่อมาภาพถ่ายของนิคถูกส่งต่อกันไปอย่างกว้างขวางบนเครือข่ายโซเชียลมีเดียของฝ่ายต่ายต้านรัฐบาล ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเขา
นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์นำผู้สนับสนุน กปปส. หลายพันคนเดินขบวนไปยังสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 5 7 9 11 และไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม เพื่อกดดันสถานีโทรทัศน์เหล่านั้นให้ออกอากาศคำปราศรัยของสุเทพ และไม่รายงานข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลเกี่ยวกับการเผชิญหน้าทางการเมือง
ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ รัฐบาลตกลงที่จะพูดคุยกับฮัสซัน ตอยิบ จากขบวนการแบ่งแยกดินแดนแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น) เพื่อที่จะแสวงหาทางยุติความขัดแย้งด้วยอาวุธในจังหวัดภาคใต้ที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 5,000 คน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะลดการกระทำที่เป็นปรปักษ์ต่อกันในช่วงเดือนถือศีลอด ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม ถึงวันที่ 18 สิงหาคม
กลุ่มนักรบเพื่อเอกราชปาตานี ซึ่งเป็นกองกำลังในเครือข่ายหลวมๆ ของบีอาร์เอ็น ยังคงมุ่งเป้าทำร้ายพลเรือนอย่างต่อเนื่องด้วยการวางระเบิด ซุ่มโจมตี ยิง และลอบสังหาร การโจมตีโดยกองกำลังติดอาวุธชาวมลายูมุสลิมดูเหมือนมุ่งเป้าที่จะข่มขู่ และขับไล่ประชากรชาวไทยพุทธออกจากจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ควบคุมประชากรชาวมลายูมุสลิม และทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่ไม่สามารถคุ้มครองพลเมืองได้ ในอีกด้านหนึ่ง หน่วยงานด้านความมั่นคงมีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหาร และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวมลายูมุสลิม
รัฐบาลจัดให้มีการจ่ายเงินเยียวยาแก่ชาวมลายูมุสลิมหลายร้อยคนที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังคงปฏิบัติการโดยไม่ต้องรับผิด โดยยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดถูกลงโทษทางอาญาจากการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การทรมาน การบังคับให้สูญหาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ระเบิดโจมตีโรงเรียนรัฐบาล และยังมีการทำร้ายครู โดยกล่าวหาว่าเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ของรัฐไทยพุทธ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 มีครู164 คนถูกสังหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้
กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเกณฑ์เด็กจากโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเข้าร่วมโดยตรงในการต่อสู้ด้วยอาวุธ และการทำหน้าที่สนับสนุนต่างๆ เช่น การวางใบปลิว กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบบางส่วนใช้โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเป็นสถานที่ประกอบระเบิดแสวงเครื่อง
การบังคับให้สูญหาย
รัฐบาลลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ เมื่อเดือนมกราคม 2555 แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรอง ประมวลกฎหมายอาญายังไม่รวมการหายสาบสูญโดยถูกบังคับเป็นความผิดทางอาญา หน่วยงานของรัฐยังคงล้มเหลวอย่างต่อเนื่องในการให้ความสำคัญกับการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ 63 กรณีที่มีการายงานไว้
ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ประจบ เนาวโอภาส แกนนำต่อต้านการลักลอบทิ้งขยะสารพิษในจังหวัดฉะเชิงเทรา ถูกมือปืนยิงเสียชีวิต ตั้งแต่ปี 2544 มีนักสิ่งแวดล้อม และผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนมากกว่า 20 คนถูกสังหาร การสอบสวนคดีเหล่านี้มักประสบปัญหาจากความไม่ต่อเนื่อง และความไม่มีประสิทธิภาพของตำรวจ รวมทั้งยังถูกแทรกแซงทางการเมือง ขณะที่โครงการคุ้มครองพยานของกระทรวงยุติธรรมก็ไม่มีผลเพียงพอ
พัฒนาการที่น่ากังวลต่อการวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ บริษัทเนเชอรัลฟรุต จำกัด ฟ้องหมิ่นประมาททางอาญาต่อแอนดี ฮอลล์ นักกิจกรรมด้านแรงงาน เกี่ยวกับข้อกล่าวหาในรายงานที่สืบสวนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรงในโรงงานของบริษัทดังกล่าว
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานด้านความมั่นคงขึ้นบัญชีผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิม ตลอดจนผู้ช่วยทนายความ และนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนว่าเป็น “ผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ” โดยมีการสอดแนม จับกุม และคุมขังบุคคลเหล่านั้น
ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาการลี้ภัย และแรงงานต่างด้าว
รัฐบาลให้คำรับรองต่อสาธารณะว่า ผู้ลี้ภัยชาวพม่าจำนวน 140,000 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-พม่าจะไม่ถูกบังคับส่งกลับโดยไม่สมัครใจ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อาศัยในค่ายลี้ภัยประมาณร้อยละ 40 โดยไม่ได้ลงทะเบียน และประเทศไทยจำกัดไม่ให้ผู้ลี้ภัยมีเสรีภาพในการเดินทาง และห้ามไม่ให้ทำงาน
ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุุสัญญาผูู้ลี้ภัยปี 2494 และไม่มีกฎหมายที่รับรองสถานะของผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาการลี้ภัย และผู้ลี้ภัยที่ถูกจับกุมมักจะต้องเผชิญกับการควบคุมตัวเป็นระยะเวลานานจนกว่าจะได้รับเลือกให้ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่น หรือยอมถูกส่งกลับโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง
หน่วยงานรัฐมักจะสกัดกั้น และผลักดันเรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญามาจากประเทศพม่า รัฐบาลไทยถือว่า ชาวโรฮิงญาทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยทางเรือเป็นบุคคลที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และมักจะสกัดกั้นชาวโรฮิงญาเหล่านั้น ระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนตุลาคม ชาวโรฮิงญามากกว่า 2,000 คนถูกควบคุมตัว โดยผู้ชายชาวโรฮิงญาถูกนำตัวไปไว้ในห้องขังขนาดเล็กที่มีสภาพย่ำแย่ และแออัดอย่างมาก ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8คนระหว่างถูกควบคุมตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ผู้ชายชาวโรฮิงญาที่กลัวว่าจะถูกส่งตัวกลับไปเผชิญการประหัตประหารในประเทศพม่า หรือถูกควบคุมตัวอย่างไม่สิ้นสุดในประเทศไทยได้ทำการประท้วงขึ้นที่ห้องควบคุมตัวของด่านตรวจคนเข้าเมืองหลายแห่งในจังหวัดภาคใต้ อนึ่ง พวกค้ามนุษย์สามารถเข้าถึง และพยายามล่อลวงผู้หญิง และเด็กชาวโรฮิงญาออกมาจากที่พักพิงที่รัฐบาลจัดไว้
กฎหมายแรงงานของประเทศไทยให้ความคุ้มครองเพียงเล็กน้อยต่อแรงงานต่างด้าว การขึ้นทะเบียน และพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวช่วยให้แรงงานต่างด้าวมีเอกสารทางกฎหมาย แต่แทบไม่สามารถป้องกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวถูกนายจ้างละเมิดสิทธิได้เลย แรงงานตามบ้านยังคงไม่ได้รับมาตรการคุ้มครองสำคัญๆ เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ การจำกัดชั่วโมงทำงาน และการลาคลอดบุตร แรงงานต่างด้าวยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ แรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้หญิงเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ และการค้าแรงงาน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้ชายเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงการถูกค้าเป็นแรงงานบนเรือประมง
นโยบายต่อต้านยาเสพติด
รัฐบาลยังคงปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐในการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมมากกว่า 2,800กรณีที่เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณทำ “สงครามต่อต้านยาเสพติด” การสอบสวนคดีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับตำรวจหน่วยปราบปรามยาเสพติดคืบหน้าไปอย่างล่าช้า
รัฐบาลยังคงส่งตัวผู้ใช้ยาเสพติดไปยัง “ศูนย์บำบัด” ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยกองทัพ และกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง “การรักษา” ประกอบด้วยการออกกำลังแบบฝึกทหาร ผู้ใช้ยา ซึ่งส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำก่อนการบังคับบำบัดนั้นมักจะไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ในกรณีที่มีอาการลงแดง
ตัวแสดงระหว่างประเทศที่สำคัญ
เมื่อเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม เลขาธิการสหประชาชาติ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเผชิญหน้าทางการเมืองในประเทศไทย โดยได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิเสธความรุนแรง เคารพสิทธิมนุษยชน และแสวงหาหนทางแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ
ในปี 2556 ประเทศไทยเริ่มการรณรงค์เพื่อสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2560 ถึง 2561 และการเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2558 ถึง 2560 ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เสนอคำเชิญให้ผู้ชำนาญการพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเดินทางมาเยือน เมื่อวันที่ 9 กันยายน นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เป็นผู้ทำไทยคนแรกที่ไปปราศรัย ณ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติ แต่สาระคำปราศรัยดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างชัดแจ้ง