Skip to main content

ไทยโพสต์ แทบลอยด์ สัมภาษณ์ “สุณัย ผาสุข”: บทเรียนความรุนแรง

Published in: The Thai Post

"การใช้ข้อมูลข่าวสารที่จะจริงจะเท็จอย่างไร มันเป็นเครื่องปั่นอารมณ์คนทั้ง 2 ซีก ดูแล้วตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์ การปะทะที่รุนแรงระหว่างรัฐกับเสื้อแดง ดูจะเป็นเรื่องที่แทบหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย แถมผมยังกลัวว่าเสื้อน้ำเงินเสื้อเหลืองจะออกสู่ถนนด้วยซ้ำ เพียงแต่ที่ลุ้นในใจตอนนั้นคือมันจะเกิดช้าเกิดเร็ว มันจะเกิดขึ้นในช่วงเย็นวันอาทิตย์เลย หรือจะทอดเวลาไปถึงวันจันทร์"

"สิ่งที่แกนนำพูดปลุกปั่นบนเวที อารมณ์คนก็ถูกปั่น ผมสัมภาษณ์คนเสื้อแดงเขาบอกว่าวันนั้นความรู้สึกเขาเหมือนหมูอยู่ในคอก อีกด้านทหารก็ตีมา แกนนำบนเวทีก็ตีมา คนหน้าเวทีอารมณ์นั้นคือวิ่งวนๆๆ จะออกทางไหนดี และในใจก็คิดว่ากูตายแน่ๆ คืนนี้ทหารปราบแน่ มันกดดันไปหมด สิ่งที่เรามองคือมันหนักมาทั้งวัน กลางคืนยังมีการปลุกทางอารมณ์ ดูจาก D STATION และมีการปะทะรอบนอกระหว่างประชาชนกับประชาชนอีก ผมกลัวว่าวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 14 นองเลือดแน่ ทหารบุก ประชาชนรุมอัดเสื้อแดงซ้ำมันจะนองเลือด แต่ในที่สุดเหตุการณ์ก็พลิกไปในทางที่ดี แกนนำตัดสินใจสลายการชุมนุม"

ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย ซึ่งเพิ่งออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง สอบสวนข้อเท็จจริงต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของม็อบเสื้อแดงและการสลายการชุมนุม

"ในขณะนี้การประท้วงจบลงไปแล้ว มันเป็นเวลาที่รัฐบาลและผู้นำการประท้วงต้องสัญญาร่วมกัน เพื่อให้การกระทำความรุนแรงต่อบุคคลในลักษณะต่างๆ จบสิ้นลง และต้องทำให้มั่นใจได้ว่า ผู้กระทำความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ถูกสืบสวนสอบสวนและดำเนินการเอาผิดอย่างเหมาะสม และการบาดเจ็บล้มตาย การสูญหายต่างๆในช่วงการประท้วงไม่สามารถที่จะถูกลืม หรือถูกละเลยได้อย่างง่ายดาย" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการ Human Rights Watch ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าว

ที่จริงก็น่าจะเป็นทางออก สำหรับข้อถกเถียงกันว่ามีคนตายหรือไม่มีคนตาย ตลอดจนข้อถกเถียงอื่นๆ เพราะดูเหมือนสังคมไทยยังแยกข้างกันถกเถียงอยู่ตามเคย

รัฐไม่ทำหน้าที่

ในทัศนะของสุณัย เขาเห็นว่าการชุมนุมครั้งนี้ที่จริงก็เริ่มต้นด้วยดี

"การชุมนุมเรามองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย กรณีรัฐไทยกับเสื้อแดง ในช่วงแรกทั้ง 2 ฝ่ายก็ดูเหมือนจะแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน รัฐบาลก็เปิดโอกาสให้เสื้อแดงชุมนุมได้ ทั้งที่รู้ก็รู้ว่ากลุ่มเสื้อแดงส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากคู่ต่อสู้ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ แต่รัฐบาลก็ยังแสดงความอดทน เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ขณะเดียวกันทางเสื้อแดงก็มียุทธศาสตร์ที่น่าสนใจ ในลักษณะที่จะชูธงเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองตามกรอบรัฐธรรมนูญ-เป็นคำที่เขาใช้บ่อยมากในช่วงแรก เราเคลื่อนไหวตามกรอบรัฐธรรมนูญ เราไม่ทำความเดือดร้อนให้กับประชาชนและสังคมส่วนใหญ่... และเมื่อสามารถเคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาลได้ เขาไม่ได้บุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินหรือบุกรุกสถานที่ราชการ แค่ยึดพื้นที่บนถนนรอบๆ และเขาพยายามจะอ้างว่าเขาไม่ได้ปิดการจราจรนะ"

"วันที่เหตุการณ์ทำท่าจะกรุ่นขึ้นมากคือวันที่ตัดสินใจไปบ้าน พล.อ.เปรม เขาก็ไม่ได้บุกเข้าไปข้างใน ทั้งๆ ที่บรรยากาศบนเวที บรรยากาศของผู้ชุมนุม มีการเรียกร้องมากว่าให้บุกเข้าไป เขาก็ยังมีความระมัดระวัง ซึ่งจุดนั้นก็น่าสนใจว่าเป็นรูปแบบที่แตกต่างจากเมื่อปีที่แล้ว ความยับยั้งชั่งใจในการทำตัวให้เข้าไปอยู่ในความรุนแรง มันเห็นได้ชัด"

"แต่พอหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น เป็นสิ่งที่เราพยายามจะค้นหาคำตอบ มันเกิดอะไรถึงทำให้วิธีคิดของคนเสื้อแดงเปลี่ยนไปจากเดิม ที่พยายามจะอยู่ในกรอบกติกาของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เริ่มเปลี่ยนไปวันที่ปิดถนนที่อนุสาวรีย์ เอ๊ะ มันเกิดอะไรขึ้น หรือเป็นเพราะว่าคนในขบวนเริ่มหมดความอดทนกับการเคลื่อนไหวที่เป็นไปอย่างช้าๆ อย่างระมัดระวัง และรูปแบบการนำการขับเคลื่อนของเสื้อแดงไม่มีสายการบังคับบัญชาเหมือนอย่างพันธมิตร พันธมิตรเขาจัดโครงสร้างของเขาเหมือนเป็นทหาร มีสายการบังคับบัญชาชัดเจน ซ้ายหันขวาหัน มีการแยกส่วนบัญชาการในแต่ละพื้นที่ได้ แต่ของเสื้อแดงมันเหมือนกับกลุ่มหน้าทำเนียบก็กลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่เพิ่งมาขึ้นเวทีทีหลังก็กลุ่มหนึ่ง และที่ไม่ได้เข้าทำเนียบเลย ไปคอยเคลื่อนอยู่รอบนอกก็อีกกลุ่มหนึ่ง มันมีลักษณะอย่างนี้หรือเปล่า ซึ่งก็อาจมีการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดของแกนนำกลุ่มย่อยๆ ที่ไม่ได้สามารถตอบได้ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มทั้งหมด เพราะเมื่อเราไปสัมภาษณ์ทีหลัง ทั้งคนที่อยู่หน้าทำเนียบเองก็ดี คนที่ชุมนุมกันตามจุดอื่นๆ เช่นที่หน้ากองบัญชาการกองทัพไทยก็ดี เขาไม่รู้เรื่องเลยนะว่าจะมีการปิดถนนตรงนี้ แต่พอปิดถนนแล้วมันสามารถสร้างแรงกระเพื่อมในทางการเมืองได้อย่างมาก ทำให้รัฐบาลต้องหยุดฟังเขา ทำให้คนกรุงเทพฯทั้งกรุงเทพฯ ซึ่งเขาชุมนุมกันตั้งนาน คนกรุงเทพฯเหมือนกับไม่แยแสคนเสื้อแดงเลย พอปิดการจราจรปุ๊บคนกรุงเทพฯ ฟัง ก็อาจมีลักษณะว่า-เฮ้ย มันเข้าท่าเว้ย ก็เลยแห่กันมาหรือเปล่า นี่เป็นข้อสังเกตที่เราตั้งไว้"

"แต่จุดที่น่าเป็นห่วงก็คือ พอบรรยากาศพลิกจากเดิมเคยอยู่ในกรอบไม่สร้างความเดือดร้อนให้คน มาเริ่มปิดการจราจร ตอนนี้มันเริ่มจะก้าวข้ามสิ่งที่เราถือว่าเป็นการชุมนุมอย่างสันติแล้ว รัฐซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการรักษาความสงบให้กับสังคมส่วนใหญ่ สามารถใช้กลไกปกติในการบรรเทาความเดือดร้อนได้ ก็คือใช้ตำรวจใช้กฎหมายจราจร ให้ตำรวจมาบอกว่าคุณกำลังผิดกฎหมายนะ คุณจะออกไปไหม ถ้าไม่ออกเรายกรถนะ ซึ่งก็ทำได้ตามขั้นตอนปกติ แต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่เกิดขึ้น พอการบังคับใช้กฎหมายไม่เกิด มันเกิดสภาพในแง่ที่ก็คงจะมีคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งเกิดความรู้สึกว่า เฮ้ย ทำได้ เกิดความรู้สึกว่าตำรวจไม่กล้าหือกับเรา หรืออย่างที่คนเสื้อแดงเขาอ้างว่าตำรวจรู้เห็นเป็นใจกับเขา ซึ่งก็ไม่รู้จะเป็นทางไหน แต่ที่แน่ๆ คือกลไกตำรวจไม่ได้ทำหน้าที่ คนในสังคมส่วนใหญ่ก็เริ่มรู้สึกว่ากลไกปกติเอาเสื้อแดงไม่อยู่ ตำรวจหายไปไหน ตำรวจเอาเสื้อแดงไม่อยู่ รัฐบาลเอาเสื้อแดงไม่อยู่ รัฐบาลไม่มีน้ำยา เสียงเรียกร้องให้ใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นดุดันมากขึ้นกับเสื้อแดง เริ่มเกิดขึ้นในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากปิดการจราจร"

"ตอนนั้นสัญญาณเตือนเริ่มมาสำหรับ Human Rights Watch ที่เรามอง สัญญาณเตือนเริ่มมาจากวันนั้นว่าเริ่มมีเสียงเรียกร้องจากสังคมให้เล่นเสื้อแดง อัดกลับไปให้หนักๆ คู่ขนานกันไปกับสิ่งที่มันเริ่มพลิกจากเสื้อแดงเอง เรามีความกังวลมาตลอดว่ากลไกรักษากฎหมายปกติซึ่งรัฐควรจะใช้ ไม่ได้ทำหน้าที่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ควรจะต้องสอบสวนว่าทำไมกลไกตำรวจไม่ทำงาน คนที่เป็นผู้กำหนดนโยบายที่รับผิดชอบโดยตรงกับตำรวจไม่มีน้ำยา หรือว่าตัวตำรวจเองไม่มีน้ำยา หรือว่าเลือกที่จะไม่ทำงาน คือไม่ว่าจะเป็น หนึ่ง สอง สาม มันก็ต้องมีความรับผิดชอบทั้งสิ้น"

"แต่คู่ขนานกันไป มันเกิดปรากฏการณ์ซึ่งไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น นั่นคือการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งมวลชนขึ้นมาชนกับเสื้อแดง คือการจัดตั้งมวลชนเสื้อน้ำเงิน ซึ่งรัฐมนตรีมหาดไทยก็เพิ่งออกมายอมรับว่ากลุ่มมวลชนเสื้อน้ำเงินกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งขึ้น และก็มีเจตนาจะให้คนเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกลุ่มเสื้อแดง ก็คือเป็นมวลชนที่รัฐจัดตั้งขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่ไม่ใช่เป็นคนที่ออกมาเอง ตอนแรกวันที่เกิดเรื่องที่อาเซียน คุณอภิสิทธิ์บอกว่าคนเหล่านี้เป็นอาสาสมัคร ขณะที่คุณชวรัตน์พูด คนเหล่านี้ไม่ใช่อาสาสมัครที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นคนที่ถูกจัดตั้งโดยรัฐ มีธงอุดมการณ์ที่ถูกกำหนดโดยรัฐ มีการแจกเสื้อแจกอะไรให้ ทั้งหมดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นกลุ่มกำลังนอกกฎหมาย คือถามว่ามีกฎหมายอะไรรองรับกลุ่มเสื้อน้ำเงินไหม ก็ไม่มี ก็ถือว่าเป็นกลุ่มกำลังนอกกฎหมายที่องคาพยพส่วนหนึ่งของรัฐจัดตั้งขึ้น เมื่อคนกลุ่มนี้เกิดขึ้น มันก็ส่งสัญญาณเตือนว่าจะมีการใช้ม็อบชนม็อบหรือเปล่า นี่เป็นจุดที่เราห่วง"

หันกลับไปมองด้านเสื้อแดงบ้าง สุณัยบอกว่าก็เริ่มจะสะเปะสะปะ และก้าวข้ามไปสู่ขั้นที่จะขัดขวางการประชุม

"เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์ว่า หลังปิดการจราจรกรุงเทพฯ ธงของเสื้อแดงก็เริ่มสะเปะสะปะ ว่าจะเอายังไงกันแน่ พอสลายการปิดกั้นที่อนุสาวรีย์ชัยฯแล้ว เขาจะทำอะไรต่อ จุดนั้นผมมองว่าเขาเริ่มสะเปะสะปะ ส่วนหนึ่งก็กลับไปที่ทำเนียบ แต่กลายเป็นว่ากลับมาเพื่อจะเอากำลังคนไปที่พัทยามากกว่า และก็เริ่มมีการประกาศบนเวทีที่พัทยาว่า จากเดิมไปเพื่อจะยื่นหนังสือให้กับตัวแทนของประเทศต่างๆ ว่าเขาไม่ยอมรับรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ มันก็เริ่มมีการพูดไปในทางที่ว่าไปเพื่อจะขัดขวางไม่ให้เกิดการประชุม เราจะเห็นว่าธงมันเริ่มไม่ใช่ แสดงว่าเสื้อแดงเริ่มมีธงจะไปรุกในพื้นที่"

"ในทางกลับกันเสื้อน้ำเงินที่เรามองว่าเป็นกลุ่มนอกกฎหมายที่รัฐจัดตั้งขึ้น ก็มีการแสดงท่าทีออกมาอย่างชัดแจ้ง และก็เกิดตัวละครที่น่าสนใจขึ้นอีก ว่านอกจากกลุ่มเสื้อน้ำเงินที่มหาดไทยยอมรับว่าจัดตั้งขึ้นมาแล้ว ยังมีคนเสื้อน้ำเงินที่ได้รับการจัดตั้งโดยคนของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ชลบุรี ซึ่งก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเป็นคนนำพาคนใส่เสื้อสีน้ำเงินมาเพื่อจะขัดขวางการกระทำของเสื้อแดง ก็หมายความว่าสองกลุ่มนี่ต้องปะทะกันอย่างแน่นอน"

สุณัยตั้งคำถามอย่างน่าสนใจว่า สถานการณ์อย่างนี้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไม่ตระหนักเลยหรือ

"คำถามที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างคืนวันศุกร์กับเช้าวันเสาร์ก็คือ ข้อมูลเหล่านี้ อย่างเราซึ่งไม่ได้มีหน้าที่อะไรในการรักษาความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง เรายังสังเกตได้ คนที่มีหน้าที่ในรัฐ ในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ ทำไมถึงไม่ใส่ใจ ทำไมถึงมองไม่เห็น หรือเห็นแล้วไม่ใส่ใจ หรือเห็น ใส่ใจ อยากจะทำ แต่ทำอะไรไม่ได้ เป็นประเด็นไหนกันแน่"

"ในที่สุดบรรยากาศที่ชลบุรีเมื่อเสื้อแดงไปถึงก็มีลักษณะของม็อบชนม็อบ คือเสื้อน้ำเงินรออยู่แล้ว และที่น่ากลัวไปกว่านั้นก็คือเสื้อน้ำเงินส่วนหนึ่งมีอาวุธภาพที่ออกมาจากเทปของผู้สื่อข่าวก็ดี ปากคำของพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ นักข่าวต่างประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของหลายๆ สถานทูตที่ไปรอเตรียมการประชุมและต้องไปลาดตระเวนดูสถานการณ์เพราะมันเริ่มไม่ค่อยดีแล้ว ทุกคนก็พูดตรงกันว่าเสื้อน้ำเงินที่รอเสื้อแดงอยู่มีอาวุธ เป็นท่อนไม้เป็นท่อนเหล็ก มีด ส่วนระเบิดปิงปองเขาเพิ่งมาเห็นตอนที่ปะทะกันแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นเขาโทรศัพท์มาหาเราว่าเขาเห็นคนใส่เสื้อน้ำเงินและมีอาวุธรออยู่นะ และเจ้าหน้าที่อยู่กันเต็มเลย แต่ไม่พยายามที่จะปลดอาวุธคนเหล่านั้น"

"ถ้าจะทำให้เกิดขึ้นในลักษณะที่ว่าแยกกลุ่มเสื้อน้ำเงินชุมนุมอยู่ตรงนี้ คนเสื้อแดงมาก็อยู่อีกส่วนหนึ่ง ก็ทำได้ไม่มีปัญหา อยู่ในกรอบของกฎหมายอยู่ในกติกา แต่ถ้าลักษณะเห็นชัดแล้วว่าเสื้อน้ำเงินมีอาวุธ และเจตนาคือขวางเสื้อแดงแน่ๆ แล้วปล่อย ไม่ได้ปลดอาวุธคนเสื้อน้ำเงิน มันก็มีแต่จะทำให้ระเบิดการปะทะเกิดขึ้นมาได้จริงๆ และในที่สุดเมื่อเกิดการปะทะขึ้นก็เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ในการที่จะไม่ให้ความตึงเครียดมันลุกลามไปมากกว่านั้น ก็คือปะทะกันแล้วทางเสื้อแดงซึ่งมีอาวุธเหมือนกันก็ไม่ได้ถูกปลดอาวุธก่อน ก็ปล่อยให้คน 2 กลุ่มที่มีอาวุธและไม่ชอบหน้ากันอยู่แล้ว ธงของแต่ละฝ่ายไปด้วยกันไม่ได้อยู่แล้ว ต้องมาเผชิญหน้ากันโดยตรงและปะทะกัน"

"จุดนี้ผมมองว่านอกจากตัวผู้ชุมนุม แกนนำผู้ชุมนุมแต่ละฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบด้วย ตั้งแต่ระดับนโยบายเลย จะไปโทษผู้ปฏิบัติอย่างเดียวไม่ได้ ระดับผู้กำหนดนโยบายต้องแสดงความรับผิดชอบว่าเหตุใดจึงไม่สามารถบังคับใช้นโยบายได้ นี่เป็นจุดที่ต้องตอบ คนที่ดูแลด้านความมั่นคงของรัฐบาลต้องตอบเรื่องนี้"

"ถึงจุดนี้เสื้อแดงเขาก็มีธงของเขาซึ่งสามารถเอามาใช้ได้ทันทีคือ มีการปล่อยให้เอาม็อบเสื้อน้ำเงินมาเล่นงานเขา ธงของเขาเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่บนเวทีแล้วว่า จะต้องไปทวงถามความยุติธรรม จากเดิมที่เคยพูดว่าไม่พอใจคุณอภิสิทธิ์ ก็เปลี่ยนว่าจะขัดขวางการประชุมอาเซียน แถมด้วยจะไปทวง

ถามความยุติธรรมว่าถ้าภายในเวลาเท่าไหร่ไม่ได้ตัวคนทำร้ายคนเสื้อแดงมา จะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด ระดับของความรุนแรงในเชิงจุดยืนมันก็ยกขึ้นไปหลายขั้น"

"ส่วนอีกด้านหนึ่งกลุ่มเสื้อน้ำเงินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจุดชนวนความตึงเครียด ก็ไม่ได้ถูกห้ามปราม กลับสามารถนำคนมาในพื้นที่มากกว่าเดิมอีก ช่วงเช้าก่อนหน้าการประชุมอาเซียนกองกำลังของเสื้อน้ำเงินเพิ่มขึ้นกว่าเดิม และทีวีก็ถ่ายทอดสดให้เห็น ว่าพกอาวุธกันเต็มเลย ยังปล่อยให้มาเผชิญหน้ากันจนได้ ตรงทางขึ้นไปโรงแรม และในที่สุดก็มีการปะทะกัน และก็เห็นคนตัวแสดงเดิมๆ ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองที่อยู่ทางด้านเสื้อน้ำเงินปรากฏอยู่ในพื้นที่ด้วย มันเกิดอะไรกันขึ้นกับปรากฏการณ์นั้นๆ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำหน้าที่และเหตุการณ์ก็ลุกลามบานปลาย จนบานปลายไปถึงการประชุมอาเซียนล่ม ต้องมีการอพยพผู้นำประเทศหนี"

กรณีนี้มีหลายคนมองว่าโรงแรมรอยัลคลิฟบีช มีถนนเข้าออกทางเดียว น่าจะสกัดกั้นได้

"มันบล็อกได้ง่ายๆ ดูจากจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ไป และเป็นกำลังผสม ไม่ใช่แค่ตำรวจอย่างเดียว มีทั้งทหารบกทหารเรือ ก็พอที่จะบล็อก และมีอำนาจที่จะบล็อกด้วย เพราะนี่คือการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้นำประเทศไม่ใช่แค่ผู้นำของไทย เป็นมาตรฐานสากลที่จะบล็อกได้ กั้นถนนเลย เขตนี้คุณห้ามเข้าตามหลักรักษาความปลอดภัยสากล เท่าที่ทราบมีความพยายามจะตั้งเครื่องตรวจอาวุธ แต่พอเห็นคนเยอะๆ ก็เลิกตรวจไป ซึ่งอันนี้ก็มีปัญหาการทำงานของเจ้าหน้าที่"

สังคมตีเช็คเปล่า

"เสียงตำหนิที่เกิดขึ้นและกระแสสังคมในตอนนั้น ผมมองว่ากระแสสังคมตอนนั้นยื่นเช็คเปล่าให้รัฐบาลแล้วว่าจัดการเสื้อแดงได้ ยื่นเช็คเปล่าและแถมจะบังคับรัฐบาลกลายๆ ว่าต้องจัดการกับเสื้อแดง ภาพของเสื้อแดงกลายเป็นว่าหลังจากที่เราผ่านมา 1 ปี เรามีแต่ภาพคนเสื้อเหลืองปิดสนามบินทำความเสียหายให้กับประเทศทั้งในเรื่องของรายได้ เรื่องความน่าเชื่อถือ แต่พอการกระทำของเสื้อแดงในที่สุดทำให้การประชุมอาเซียนล่ม เสื้อแดงกลายเป็นจำเลยในลักษณะเดียวกับเสื้อเหลือง คนในสังคมให้ความชอบธรรมกับรัฐในการที่จะเล่นเสื้อแดงแรงๆ และก็เริ่มมีการกดดันด้วย เพราะก่อนหน้านี้มองว่ารัฐอ่อนเกินไปในการรับมือกับเสื้อแดง จนในที่สุดเหตุการณ์ลุกลาม ก็มีการบีบรัฐบาลกลายๆ จุดนั้นจากเดิมที่เราห่วงอยู่แล้วยิ่งห่วงมากขึ้น"

"ตัวแสดงที่หายไป-ทั้งที่บอกว่า เฮ้ย! เล่นเสื้อแดงเลย แต่ไม่มีใครถามถึงเสื้อน้ำเงิน หลังจากที่ช่วยกันจุดไม้ขีดแล้วเสื้อน้ำเงินก็หายไป นักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งเสื้อน้ำเงิน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งในรัฐบาลก็ดี คนที่ไม่ได้อยู่ในรัฐบาลแต่รู้ว่ามีบทบาทอยู่เบื้องหลังก็ดี ไม่ได้ถูกตั้งคำถามใดๆ จากสังคม ว่าคนเหล่านี้จะต้องรับผิดชอบแบบไหนบ้าง รัฐบาลเองเวลาออกมาแถลงข่าว รัฐบาลก็พูดถึงเรื่องของคนเสื้อน้ำเงินแค่ประโยคเดียว และก็ไม่ได้เจาะจงว่าคนเหล่านี้คือคนเสื้อน้ำเงิน แต่ใช้คำว่าเป็นอาสาสมัคร แล้วจบเลย ก็เป็นการละตัวแสดงหนึ่งตัว ซึ่งควรจะต้องถูกนำมาให้มีความรับผิดชอบด้วย"

"พอเป็นเรื่องของการให้เช็คเปล่า และหลังจากนั้นก็มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่พัทยา แต่คนเสื้อแดงกลับมาที่กรุงเทพฯ ในคืนนั้นเราก็รู้ว่ายังไงรัฐบาลต้องประกาศ พรก.ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ แน่ๆ เพราะกระแสสังคมอนุญาตให้รัฐบาลทำอย่างนั้นได้ บวกกับแรงกดดันอีกส่วนหนึ่งให้รัฐบาลต้องทำอย่างนั้น ก็เดาได้ว่าจะต้องประกาศ พรก.ฉุกเฉินแน่ แต่ไม่รู้ว่าจะประกาศกี่โมง ประกาศแล้วจะทำอะไรบ้าง ในที่สุดก็มีการประกาศจริงๆ โดยเอาการลุกฮือของคนเสื้อแดงมาเป็นเหตุผล นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะหาคำตอบว่า อะไรเป็นเหตุผลในการสร้างความชอบธรรมแก่รัฐในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ คือในทางการเมืองเข้าใจได้ว่ามันต้องประกาศ แต่ในทางความชอบธรรม มันต้องตอบได้มากกว่านั้นว่าเสื้อแดงก่อเหตุรุนแรงในกรุงเทพฯหรือยัง"

ตอนเช้าวันนั้นยังไม่มีเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ แต่มีการจับอริสมันต์แล้วแท็กซี่เสื้อแดงก็ฮือตามไปที่ศาล

"ไปฮือๆ อยู่ที่ศาล มันสมควรหรือไม่ ว่าจะไปถึงการใช้อำนาจที่เด็ดขาดอย่าง พรก.ฉุกเฉิน จุดนี้ก็เป็นจุดที่ไม่มีใครย้อนกลับไปตั้งคำถามแล้ว เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นที่พัทยารุนแรง มันสอดรับกับการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน แต่ที่กรุงเทพฯเป็นลักษณะที่ยังไม่ถึงขั้น มันใช้กฎหมายปกติได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีปิดกั้นการจราจรในกรุงเทพฯก็ดี หรือเพียงแค่คนไปล้อมที่หน้าศาลน้ำหนักมันไม่พอ"

สุณัยชี้ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ยกระดับความรู้สึกของม็อบ

"พอเหตุการณ์พัฒนามาจนถึงประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ตรงนี้ความกังวลพุ่งเข้ามาเลย ว่ามันมีสัญญาณที่คนเสื้อแดงเขารู้สึกได้เมื่อมีการประกาศพรก.ฉุกเฉิน เอาแล้วโดนปราบแน่ ความรู้สึกคนเสื้อแดงวันนั้นเขากระโดดไปทันที"

นั่นรวมถึงการบุกจับอริสมันต์ ที่ฝ่ายเสื้อแดงก็ไม่พอใจว่าทำไมพันธมิตรแค่ออกหมายจับ

"จับอริสมันต์เป็นสัญญาณส่งไปถึงคนเสื้อแดง เดี๋ยวต้องประกาศจับแกนนำคนอื่นอีก หลังจากเหตุการณ์จับอริสมันต์ ผมพูดกับเพื่อนว่าเหมือนดูราโชมอนภาคพิเศษเพราะมันมีความจริงหลายเวอร์ชั่นมาก ตอนนั้นผมมอนิเตอร์ที่เขาปราศรัยบนเวทีตลอดว่า เอ้าพวกเราไปดูว่าอริสมันต์อยู่ที่ไหนแน่ เอาอริสมันต์ไปที่ปทุมธานี เอาอริสมันต์ไปที่ศาล ส่งคนของเขาเคลื่อนกำลังพลไปที่โน่นที่นี่ แล้วสักพักจตุพรก็ไป จุดที่ผมว่าพลิกมากๆ คือตอนที่มีการประกาศบนเวทีว่าจตุพรถูกจับไปด้วย และก็ไม่สามารถติดต่อได้เลย จนกระทั่งเกือบเย็นจตุพรโผล่ออกมาบอกว่าสบายดี แค่ติดเฮลิคอปเตอร์ไปกับเขาด้วย แต่ความรู้สึกของคนที่อยู่หน้าเวที ที่แกนนำประกาศไปแล้วว่าจตุพรถูกจับไปด้วย อารมณ์คนมันขึ้นมาตั้งแต่จุดนั้น"

"หลังจากนั้นพอรัฐบาลประกาศ พรก.ฉุกเฉิน จุดที่เราตอบไม่ได้ว่าคืออะไรคือใคร และเหตุผลอะไร ที่ทำให้คนเสื้อแดงบุกไปที่กระทรวงมหาดไทย จุดนั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง นอกจากเหตุการณ์ที่อาเซียน และการจับอริสมันต์ คือหลังจากที่ล้อมอยู่นอกกระทรวงมหาดไทย อะไรเป็นตัวทำให้เขาตัดสินใจบุกเข้าไป อะไรที่เป็นเหตุผลให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีกำลังพอ บวกกับอาวุธที่เขามี บวกกับอำนาจทางกฎหมาย แต่กลับไม่ได้ทำหน้าที่นั้น ปล่อยให้เสื้อแดงบุกเข้ามาในมหาดไทยในลักษณะที่มีอารมณ์โกรธ พร้อมจะแสดงความก้าวร้าวด้วยกำลัง เห็นชัดเจนแล้ว ทำไมไม่มีการยกคัทเอาท์ตัดไม่ให้เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนั้นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสำคัญๆ อยู่ในบริเวณกระทรวงมหาดไทยทั้งสิ้น มันเป็นเหมือนกับช่วยกันสุมฟืนมาแต่ละก้อนๆ ให้ฟืนกองใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไฟมันก็ลุกแรงขึ้นเรื่อยๆ"

"ภาพที่เข้าไปในมหาดไทยมันวิ่งไปทั้ง 2 ทาง ทางหนึ่งสำหรับคนที่ไม่เอาด้วยกับเสื้อแดง จุดนั้นเขาก็ฟันธงแล้วว่าคนเสื้อแดงนอกจากจะล่มพัทยาแล้ว นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่พยายามจะฆ่าอภิสิทธิ์ หลังจากครั้งแรกที่ชลบุรี พอมาที่มหาดไทยมีการไล่ต้อนรถที่ขับหนีไปหนีมา คนที่ไม่เอาด้วยกับฝั่งเสื้อแดงเขาสรุปฟันธงแล้วว่ากลุ่มนี้เอาไว้ไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันระหว่างที่มีการชุลมุนก็มีเสียงปืนดังขึ้น ซึ่งก็ต้องไปไล่สอบกันว่าตกลงยิงกี่นัด ยิงอย่างไร แต่บนเวทีของเสื้อแดงก็มีการให้ข้อมูลทั้งในระหว่างที่มีการชุลมุนกันอยู่และหลังจากจบแล้วว่าคนเสื้อแดงถูกยิงเสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน และเขาต้องบุกเข้าไปในบริเวณอาคารเพื่อที่จะหาศพว่าอยู่ที่ไหน ทั้งที่ยังไม่รู้ว่ามีการยิงคนตายจริงไหม ศพอยู่ไหน มันก็ไปสุมไฟ"

"สิ่งที่เราห่วงคือการใช้ข้อมูลข่าวสารที่จะจริงจะเท็จอย่างไร มันเป็นเครื่องปั่นอารมณ์คนทั้ง 2 ซีก ดูแล้วตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์ การปะทะที่รุนแรงทั้ง 2 ฝ่ายระหว่างรัฐกับเสื้อแดง ดูจะเป็นเรื่องที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย แถมผมยังกลัวว่าเสื้อน้ำเงินเสื้อเหลืองจะออกสู่ถนนด้วยซ้ำ เพียงแต่ที่ลุ้นในใจตอนนั้นคือมันจะเกิดช้าเกิดเร็ว มันจะเกิดขึ้นในช่วงเย็นวันอาทิตย์เลย หรือจะทอดเวลาไปถึงวันจันทร์"

"จำได้ว่าผมเริ่มผล็อยหลับไปประมาณตี 3 บ้านผมอยู่ไม่ไกลจากสามเหลี่ยมดินแดง พอตี 4 กว่าได้ยินเสียงปืน ก็เปิดทีวีมีเสียงผู้สื่อข่าวสนามรายงานมาทางโทรศัพท์ ตอนนั้นในใจเราคิดว่าเอาแล้วมุมมองจากสิทธิมนุษยชนก็เป็นเรื่องที่ว่าทางฝั่งผู้ชุมนุมทำอะไร และทางรัฐทำอะไร แต่ละฝ่ายดำเนินการไปในลักษณะที่ถูกต้องตามกติการะหว่างประเทศแค่ไหน"

"คือการใช้กำลังของรัฐเป็นสิ่งที่หลักการระหว่างประเทศให้อำนาจรัฐทำได้ กฎหมายไทยก็ให้อำนาจรัฐทำได้ แต่ขอบเขตอำนาจนั้นมีอยู่ มันไม่ใช่เช็คเปล่า สิ่งที่เรารู้แทบจะในทันทีหลังจากที่เกิดเรื่องผมโทรเช็คกับพรรคพวกที่เป็นทหารว่าหน่วยไหนไป พกอะไรไปบ้าง เขาก็ตอบกลับมาว่าใช้เอ็ม 16 ใช้ปืนเล็กยาวที่เป็นอาวุธประจำตัวของทหาร และกระสุนจริง ผมจำได้ว่าสิ่งที่พูดกับเพื่อนก็คือ-เฮ้ย เอางั้นเลยเหรอ และก็ฟังรายงานข่าวทีวีไปด้วย ซึ่งเขาบอกว่าเข้าไปเพื่อจะเคลียร์การปิดแยกปิดการจราจรตรงนั้นแต่โดนยิงใส่ก่อน ด้วยน็อต เขาบอกมีปืนด้วย มีการขว้างระเบิดขวดระเบิดเพลิงเข้าใส่ ซึ่งอย่างที่ผมบอกมันเหมือนราโชมอน ใครทำใครก่อนและทำด้วยอะไรบ้าง"

"กติการะหว่างประเทศอนุญาตให้รัฐสามารถใช้กำลังที่ทำให้ถึงตายได้ ก็คือใช้อาวุธกระสุนจริงต่อเมื่อกระทำไปเพื่อ หนึ่ง รักษาความปลอดภัยให้กับสังคมส่วนใหญ่ การกระทำของเสื้อแดงในจังหวะที่มีการตัดสินใจใช้อาวุธจริง เป็นการกระทำที่มีลักษณะทำให้คนในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงมีอันตรายถึงแก่ชีวิตไหม และเงื่อนไขที่สองก็คือ ตัวเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ใช้อาวุธนั้นกำลังจะถูกคุกคามถึงขั้นชีวิต ซึ่งรัฐพยายามจะตอบในโจทย์ที่สอง คือมีการยิงปืนเข้าใส่เจ้าหน้าที่ มีการใช้ระเบิดขวดระเบิดเพลิง แต่จุดที่เขาไม่ได้ตอบก็คือตัวประชาชนในสามเหลี่ยมดินแดนในจุดแรกที่มีการปะทะกัน คนในพื้นที่นั้นตกอยู่ในอันตรายหรือไม่"

"แต่พอเหตุการณ์พัฒนาไปมันก็ไล่ขึ้นไป ภาพก็เริ่มส่งเข้ามา เราเริ่มเห็นแล้วว่าทหารไล่มาเป็นแนว ทางนี้ก็รุก เหมือนแมวจับหนู ยั่วกันไปยั่วกันมา ทหารก็ไม่ได้มีลักษณะประหัตประหารให้พวกนี้ตาย หรือไม่ได้เอาปืนบุกไปไล่ยิงกราด แต่มาเป็นแนวยิงปืนขึ้นฟ้าและดันคนเหล่านี้ให้ถอยไป ระหว่างนั้นก็มีการยึดรถเมล์ เผารถเมล์ เอารถแก๊สมาจอดไว้"

"ตรงนี้คนเสื้อแดงทำผิดกติการะหว่างประเทศเต็มๆ การที่เขามีอาวุธ ใช้อาวุธ มีการกระทำที่ทำให้สาธารณะ ประชาชนทั่วไปตกอยู่ในอันตรายจากการใช้อาวุธของเขา จากยุทธวิธีที่อารถแก๊สมาแล้วเปิดวาล์ว และขู่ว่าจะจุด เหล่านี้เป็นวิธีการที่มีความรุนแรงอย่างมาก ทำให้ความชอบธรรมของคนเสื้อแดงตามกติการะหว่างประเทศมันสลายหายไปหมดเลย สำหรับคนเสื้อแดงที่อยู่ในพื้นที่ตอนนั้น หมดแล้ว"

"สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐก็คือทหารในขณะนั้น จุดที่เราตั้งคำถามคือว่าทำไมถึงกระโดดไปใช้เอ็ม 16 พร้อมกระสุนจริงเลย ทำไมไม่ใช้มาตรการตั้งแต่เบาไปหาหนัก ซึ่งต่อมาเราก็ทราบว่าเขามีทหารที่ติดโล่ติดกระบอง แต่เขาบอกว่าชุดนี้โดนทำร้ายมา เลยต้องเสริมอีกชุดเข้าไป ซึ่งอันนี้ควรจะมีความจริงออกมาว่าลำดับขั้นปฏิบัติการเป็นอย่างไร แล้วรถฉีดน้ำแรงดันสูงหายไปไหน น่าจะเอามาใช้ได้ หรือว่าการปะทะที่สามเหลี่ยมดินแดงจริงๆ มันเป็นอุบัติเหตุ ไม่ได้ตั้งใจจะไปสลายปราบอะไร เลยไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ไปครบเครื่อง มีทหารอยู่แค่ 1 ชุดเล็กๆ ตอนหลังเรื่องมันใหญ่โตขึ้นมาเลยต้องเอากำลังเสริมมา"

"แต่ในขณะนั้นที่เราเห็นคือฝั่งเสื้อแดงผิดเต็มๆ ฝั่งเจ้าหน้าที่ก็มีคำถามในใจว่าเป็นการใช้กำลังอย่างเหมาะสมหรือไม่ เพราะกระสุนจริงต่อให้ยิงขึ้นฟ้ามันก็ต้องตกลงมาลงหัวใคร และก็เป็นที่รู้กันว่าถ้าหัวกระสุนตกใส่หัวใครมันถึงตาย แม้แต่กรณียิงปืนพกสั้นขึ้นฟ้า นี่กระสุนเอ็ม 16 ตกใส่หัวใครมันก็ตายนะ"

ทางโฆษกกองทัพบกแถลงว่าเป็นกระสุนปลอม

"แต่ภาพที่มีให้เห็น ของสำนักข่าวเอามาฉายซ้ำอยู่ คือทหารกำลังบรรจุกระสุนในแมกกาซีน ซึ่งกระสุนนั้นเป็นกระสุนจริง หัวกระสุนทองแดง ในช่วงเช้ารูปแบบของการใช้อาวุธ ลักษณะการยิง ภาพที่ออกมามีการบรรจุกระสุนให้เห็น นั่นเป็นกระสุนจริง"

สุณัยอธิบายว่า กระสุนปืนเอ็ม 16 ที่เป็นกระสุนปลอมหรือที่เรียกว่า blank ดังที่โฆษกกองทัพบกแถลงนั้น จะสังเกตได้ง่ายๆ ว่าไม่สามารถใช้ยิงแบบกึ่งอัตโนมัติ ต้องยิงทีละนัด แล้วดึงคันรั้งเพื่อคัดปลอกออก เพราะแรงขับไม่พอ

"ซึ่งในช่วงบ่ายเราจะเห็นทหารยิงในลักษณะนั้น ยิงปั้งแล้วก็ดึง ยิงปั้งแล้วดึง แต่ในช่วงเช้า อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงแรกของการเผชิญหน้ากัน มันยิงปังๆๆๆ ตามภาพสื่อที่ออกมาซึ่งเร็วมาก ตอบได้แน่ๆว่าไม่ใช่ลูก blank แต่จะเป็นลูกแบบไหนกันแน่ และพอมีภาพการบรรจุกระสุนให้เห็น ยิ่งตอบได้ว่ามันลูกจริงนี่หว่า"

อย่างไรก็ดีเรื่องนี้สุณัยแยกแยะว่าอย่าเอาไปปนกัน คือภาพที่ทหารยิงตรงไม่ได้ยิงขึ้นฟ้านั้น เท่าที่เห็นเป็นลูก blank เพราะยิงทีละนัด ส่วนที่ยิงรัวก็เป็นภาพยิงขึ้นฟ้า ยังไม่เห็นภาพที่มีการยิงตรงแล้วยิงรัว

เขาแนะให้คนที่อยู่ในพื้นที่ดูปลอกกระสุนปืน

"ปลอกกระสุนระหว่างกระสุนจริงกับลูก blank ไม่เหมือนกัน มันเป็นกระสุนที่ไม่มีหัว ปลอกจะต่างกัน ปลอกของลูก blank จะเป็นจีบ หัวจะเป็นสีม่วง ถ้าใครเก็บปลอกกระสุนได้แล้วเอามาให้ดูเราก็จะตอบได้ว่าลูกที่ยิงเป็นลูก blank หรือลูกจริง"

สุณัยบอกว่าหลังเกิดเหตุเขาก็ไปเดินดู แล้วก็ประหลาดใจ

"ไม่มีใครเก็บหัวกระสุนได้ ยิงเป็นร้อยๆ นัด หัวกระสุนหายไปไหนหมด วันก่อนผมก็ไปเดิน พยายามจะหาหัวกระสุน ปลอกนี่เจอเยอะเลย"

แต่ปลอกที่เจอก็ไม่ใช่ลูก blank เขายืนยันได้ "ปลอกกระสุนจริง แต่หัวมันไปไหนนี่คือคำถาม"

ถ้ามีความเป็นไปได้อีกอย่างคือลูกซ้อมยิงที่เรียกว่าลูกดัมมี่ ซึ่งมีหัว ลูกดัมมี่ถ้าถูกในระยะใกล้ก็เป็นอันตรายได้ แต่ที่โฆษกกองทัพบกแถลงไม่ได้บอกว่าเป็นลูกดัมมี่ ใช้ศัพท์ทางทหารชัดเจนว่าลูก blank

กระนั้นภาพข่าวที่เห็นทหารบรรจุกระสุน เป็นหัวทองแดงนั้นคือลูกจริง ไม่ใช่ทั้งลูกดัมมี่และลูก blank

"ตอนบ่ายเห็นชัดว่ามีทั้งลูก blank และลูกจริงที่ยิงแบบ semi auto ได้ ลักษณะการยิงก็น่าสนใจ ส่วนหนึ่งเล็งเป็นแนวตรง ลั่นไกเสร็จแล้วดึงคันรั้งปลอก ซึ่งสอดคล้องกับคำแถลงของ ทบ.ที่บอกว่าใช้ลูก blank เพราะต้องดึงคันรั้งปลอกออกมา กับอีกส่วนหนึ่งที่ยังยิงขึ้นฟ้า ฉะนั้นมีการใช้กระสุน 2 แบบผสมกันอยู่"

อย่างไรก็ดี สุณัยเห็นว่าถ้าจะมีการสอบสวนให้เคลียร์ ก็ต้องดูด้วยว่าอาวุธประจำกายของทหารในวันนั้นไม่ใช่มีแค่เอ็ม 16 "เพราะทหารหลายคนมีปืนพกสั้น มีภาพนายทหารบางคนใช้ปืนที่เป็น submachine gun จำพวกอูซี่ กระสุนพวกนี้ก็คือกระสุน 9 มม. มันไม่ใช่อาวุธปืนสงครามอย่างที่คนทั่วไปคุ้น มีทหารหลายคนที่ใช้อาวุธลักษณะนั้น ฉะนั้นถ้าเกิดการบาดเจ็บหรืออะไรก็ตามต้องพิจารณาถึงอาวุธอื่นๆ ที่ทหารพกไปในวันนั้นด้วย สิ่งที่กองทัพออกมาแถลงยังแถลงแค่ภาพใหญ่ สื่อมวลชนน่าจะทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้ ทั้งที่เป็นเจ้าของภาพเหล่านั้นว่ามีนายทหารชักปืนพกสั้นออกมา สื่อมวลชนควรจะถามโฆษก ทบ.ว่ามีภาพทหารถือปืนพกสั้น นายทหารบางคนมีปืนอูซี่ ไม่ทราบว่าได้ยิงไปบ้างหรือเปล่า ต้องเข้าใจว่าของหลวงใช้อะไรไปเท่าไหร่ต้องทำรายการ กระสุนแต่ละนัดที่ยิงไปต้องรู้ว่าเบิกมาเท่าไหร่ใช้ไปเท่าไหร่ นอกจากเอ็ม 16 แล้วได้มีการยิงกระสุนอื่นออกไปหรือไม่ มีการขอนำปืนของคนเหล่านั้นมาตรวจสอบไหม หากรัฐบาลและ ทบ.ต้องการคลายความหวาดระแวงของสังคมก็ควรจะทำมากกว่านี้"

"คือตอนนี้ผมก็มองว่ามีความพยายามที่จะแสดงความโปร่งใสอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ที่ออกมาแถลงว่าใช้อาวุธอย่างนี้ รักษาตัวที่ไหน เอาหมอมานั่งอธิบาย แต่ถ้าจะทำให้ดีกว่านี้ก็คือต้องพูดให้หมดว่าวันนั้นนอกจากเอ็ม 16 แล้วยังมีอาวุธประเภทอื่น และต้องตรวจสอบว่าได้ใช้ไปหรือไม่"

ที่ปรึกษา Human Rights Watch ยังชี้ว่า มีคนอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์แต่ไม่ได้รับการพูดถึง "นอกจากมีการเผชิญหน้าใช้กำลังของเสื้อแดงกับทหาร ยังมีการเกิดขึ้นของคนอีกกลุ่มซึ่งอยู่บนแถวทหาร ไม่ใส่เครื่องแบบแต่มีอาวุธสงคราม ในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงนี่เห็นเยอะเลย พื้นที่อื่นๆ ก็เห็นประปราย แต่งชุดพลเรือนสะพายอาวุธปืนทั้งเอ็ม 16 และเอชเค 33 คนเหล่านี้เป็นใคร และคนเหล่านี้ได้ใช้อาวุธไปบ้างหรือไม่ อันนี้ภาพข่าวชัดเจน ทางกองทัพก็ออกมาบอกว่าทหารที่ออกมามีคำสั่งชัดเจนว่าต้องใส่ชุดฝึก เป็นเครื่องแบบลายพราง แต่คนพวกนี้คือใคร ใส่ชุดพลเรือนสะพายเอ็ม 16 และเอชเค 33 บางคนสะพาย 2 กระบอกไขว้เลย และมี ว.สื่อสารด้วย"

"ถัดมาก็คือการเกิดของกลุ่มคนที่บอกว่าป้องกันชุมชนตนเอง ซึ่งเข้าใจได้ว่าอารมณ์ความรู้สึกจากการกระทำของเสื้อแดงที่เอารถแก๊สเข้ามา เขาก็ต้องออกมาป้องกันชุมชนตนเอง เรื่องนี้กลับมาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ คือทหารถูกนำมาใช้ในการเผชิญหน้ากับเสื้อแดง แต่ตำรวจหายไปไหน ในการที่จะออกมาบอกกับคนในชุมชนว่าชุมชนของคุณพวกเราดูแลให้ได้ รับปากหนักแน่น ตำรวจไม่ได้ออกมา หรือออกมาแล้วไม่ได้ทำหน้าที่ จนในที่สุดมันก็เกิดการปะทะซ้อนขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง กลุ่มเสื้อแดงปะทะกับชุมชนเหล่านั้นและก็มีการใช้อาวุธที่ทำให้ถึงตายเข้าใส่กัน ยิงเข้าใส่ ปาระเบิดเข้าใส่ กรณีนางเลิ้งเห็นชัดจากคลิปที่ถ่ายกันมาว่าเจ้าหน้าตำรวจอยู่ในจุดเกิดเหตุด้วย แต่ไม่ได้ห้ามปรามหรือป้องกันการปะทะกันด้วยอาวุธ มันจึงนำไปสู่การรุนแรงซ้อนขึ้นมาอีก จากรัฐกับประชาชนคือทหารกับเสื้อแดง ประชาชนกับประชาชนคือเสื้อแดงกับชาวบ้านในชุมชนต่างๆ เลยเกิดความรุนแรงซ้ำซ้อน"

"สิ่งที่เรากลัวมากในคืนนั้น หลังจากเสื้อแดงโดนกดดันจนในที่สุดต้องถอนกำลังกลับไปที่ทำเนียบทั้งหมด เรากลัวว่าสิ่งที่แกนนำพูดปลุกปั่นบนเวที อารมณ์คนก็ถูกปั่น ผมสัมภาษณ์คนเสื้อแดงเขาบอกว่าวันนั้นความรู้สึกเขาเหมือนหมูอยู่ในคอก อีกด้านทหารก็ตีมา แกนนำบนเวทีก็ตีมา คนหน้าเวทีอารมณ์นั้นคือวิ่งวนๆๆ จะออกทางไหนดี และในใจก็คิดว่ากูตายแน่ๆ คืนนี้ทหารปราบแน่ มันกดดันไปหมด สิ่งที่เรามองจากการเป็นคนสังเกตการณ์คือว่าเฮ้ย มันหนักมาทั้งวัน กลางคืนยังมีการปลุกทางอารมณ์ ดูจาก D STATION และมีการปะทะรอบนอกระหว่างประชาชนกับประชาชนอีก ผมกลัวว่าวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 14 นองเลือดแน่ ทหารบุก ประชาชนรุมอัดเสื้อแดงซ้ำ มันจะนองเลือด แต่ในที่สุดเหตุการณ์ก็พลิกไปในทางที่ดี แกนนำตัดสินใจสลายการชุมนุมชั่วคราว แต่ก่อนหน้านั้นเราก็มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นว่ามีคนใส่เสื้อแดงกลุ่มหนึ่งไปก่อเหตุที่ยมราช เอารถเมล์มาเผา เอาถังแก๊สมาวาง ซึ่งก็ทำให้คนแถวนั้นอกสั่นขวัญแขวน แต่ในที่สุดพอแกนนำประกาศสลายที่เวทีใหญ่ กลุ่มนี้ก็สลายไป"

ทำความจริงให้ปรากฏ

"สิ่งที่เราพูดได้ชัดเจนคือต้องทำความจริงให้ปรากฏ คือไหนๆ รัฐบาลนี้ต้องการสร้างบรรทัดฐานว่า นอกจากจะบอกว่าเป็นรัฐบาลที่มีความยับยั้งชั่งใจอย่างมากในการเคารพสิทธิการแสดงออกของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลได้อย่างค่อนข้างนาน จนในที่สุดตัดสินใจปราบ ถ้าจะให้ดีกว่านี้ต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลที่เต็มใจจะทำความจริงให้ปรากฏ แม้ว่าความจริงนั้นจะทำให้ใครเจ็บปวดบ้างก็ตาม สิ่งที่ควรจะต้องทำตามมาคือไม่ใช่มาแถลงลักษณะหมัดต่อหมัด ถ้าเสื้อแดงหรือคุณทักษิณกล่าวหาอะไรมาทางรัฐบาลเอาข้อเท็จจริงมาตอบโต้กลับไป แต่ควรจะให้เป็นความจริงทั้งกระบิเลย นั่นคือตั้งให้มีคณะกรรมการสอบสวนอิสระขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้น"

"แต่ไม่ใช่กรรมการที่มุ่งจะสอบสวนเพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียว ต้องสอบสวนว่าใครมีส่วนรับผิดชอบต่อความรุนแรงในแต่ละช่วงเหตุการณ์บ้าง เพราะอย่างตอนนี้โจทย์ที่คนมองอยู่คือทางเสื้อแดงก็จะจ้องจับผิดว่าทหารทำอะไรไปบ้าง ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็พยายามจะชี้ให้เห็นว่าคนเสื้อแดงทำอะไรไปบ้าง แต่คนที่หายไปคือเสื้อน้ำเงินหายไปไหน ควรจะต้องถูกจับมาขึ้นเวทีพิพากษาด้วยว่าได้ทำอะไรไปบ้าง คนที่อยู่เบื้องหลังเสื้อน้ำเงินยิ่งควรจะต้องรับผิดชอบใหญ่เลยเพราะมีส่วนอย่างมากในการจุดชนวนให้เกิดการลุกลามบานปลาย"

การสลายม็อบที่ดินแดงมันข้ามขั้นไหมและทำให้อารมณ์ของม็อบข้ามขั้นไหม เพราะถ้าเป็นตำรวจถือโล่กระบองเข้ามาแทนที่จะเป็นทหารสะพายปืนเข้ามา แม้จะใช้กระสุนปลอมก็เถอะ

"อารมณ์มันต่าง เราต้องเข้าใจว่าสังคมไทยยังมีความทรงจำจากพฤษภาทมิฬ ยังมีความทรงจำสดๆ จาก 7 ตุลาปีที่แล้ว คือเห็นกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธเดินเข้ามา ในใจคนเสื้อแดงเขาต้องคิดว่ากูตายแน่ โดนปราบแน่ จุดที่ต้องตั้งคำถามในวันนั้น ถ้าเราเอาช่วงเหตุการณ์ที่ดินแดงเป็นกุญแจสำคัญก็คือ ไก่กับไข่อะไรมาก่อน การตัดสินใจปิดการจราจรที่สามเหลี่ยมดินแดงเกิดขึ้นตอนไหน อันนี้ยังหาไม่เจอ ลำดับขั้นเวลาเป็นอย่างไร กำลังคนเท่าไหร่ ปิดในลักษณะไหน ข้อมูลยังไม่มี ทหารชุดแรกที่เข้าไป เขาอ้างว่าพยายามจะไปเจรจาให้เปิดสามเหลี่ยมดินแดง เข้าไปในลักษณะไหน ไปไม่กี่คนในลักษณะชุดเจรจา มีกำลังเสริมอยู่ไกลๆ หรือว่าไปในลักษณะอาวุธครบมือตั้งแต่ต้น เสื้อแดงก็เลยสติแตก การที่คนตัดสินใจใช้กำลังต่อเจ้าหน้าที่รัฐมันไม่ใช่เหตุผลที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เจ้าหน้าที่บอกว่าเขาถูกยิงเข้าใส่ด้วยอาวุธปืน ปาระเบิดขวดใส่ อะไรจุดชนวนให้คนเสื้อแดงทำอย่างนั้น หรือว่าเสื้อแดงเส้นกระตุกสักคนหนึ่งแล้วที่เหลือก็ตกกระไดพลอยโจน หรืออะไรกันแน่ ตรงนี้มันเป็นไคลแม็กซ์ที่จะให้คำตอบของเหตุการณ์ได้"

การประกาศภาวะฉุกเฉิน ในทางการเมืองบางคนก็เห็นว่าเพราะรัฐบาลเสียหน้าที่พัทยา

"ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมันเจ๊งไปตั้งแต่เหตุการณ์ที่พัทยา ก็มองได้ว่าเป็นความพยายามที่จะกู้ภาพความน่าเชื่อถือ แสดงให้เห็นถึงความเฉียบขาด เป็นเกมทางการเมือง สำหรับในใจของคนเสื้อแดงตอนนั้น ตอนกลับมาจากพัทยาผมว่าเขามี 2 อารมณ์ อารมณ์หนึ่งคือความฮึกเหิม ว่าเล่นรัฐบาลได้ย่อยยับ รัฐบาลหน้าแตก แต่อีกอารมณ์หนึ่งซึ่งคนไม่พูดถึงกัน แต่เรารู้สึกได้เมื่อคนเสื้อแดงมาพูดกับเรา เขารู้สึกว่าคนสีน้ำเงินเป็นการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปราบคนเสื้อแดง เขาเลยคิดว่าโดนเอาคืนแน่ แล้วพอรัฐบาลจับอริสมันต์ตามมาด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน อารมณ์คนเสื้อแดงเปลี่ยนเลยนะ จากฮึกเหิม 80 เปอร์เซ็นต์ กังวล 20 มันเปลี่ยนเป็น 50:50 ฮึกเหิมก็ยังฮึกเหิมอยู่ รู้สึกว่าตัวเองสู้ได้ สู้ตาย กับความกลัวว่าเฮ้ยโดนแน่ มันเลยผลักดันให้สู้ตายสำหรับคนที่ตัดสินใจสู้แบบถวายหัว ซึ่งผมไม่ได้เห็นภาพอย่างนี้มานานแล้วหลังจากพฤษภาทมิฬ เราอาจจะมีกรณีพันธมิตรฮาร์ดคอร์ที่วิ่งลุยใส่เจ้าหน้าที่ เหตุการณ์ที่เกิดวันสงกรานต์ก็มีคนเสื้อแดงวิ่งตะลุยเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ในมือมีไม้ท่อนเดียวเจ้าหน้าที่ยืนเป็นแผง ปืนเพียบเลย มันมีลักษณะของคนแบบ-เอาโว้ยลุยแล้ว แน่นอนว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินและการจับกุมเป็นตัวหนึ่งที่จุดอารมณ์ให้คนเหล่านี้"

รอบหน้ากีฬาสี

"คนที่แดงอยู่แล้วจะแดงมากกว่าเดิม แต่กระแสสังคมที่ไม่ใช่แดงจะปฏิเสธแดงอย่างมาก เหลืองจะโตขึ้นมีความเข้มแข็งมากขึ้น และถ้ามีการปะทุขึ้นมาเป็นความรุนแรงอีกรอบ ตัวแสดงจะมีมากขึ้น ความซับซ้อนจะมากขึ้น จะมีทั้งฝั่งแดงที่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ฝั่งรัฐที่ต้องปราบปรามฝั่งแดง เหลืองอาจจะมีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มกำลังนอกกฎหมายที่รัฐบาลมีส่วนจัดตั้ง เสื้อน้ำเงิน...ต้องตอบตรงนี้ให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นรอบหน้าเป็นกีฬาสีจริงๆ คือสารพัดสี"

มุมมองของสุณัยเห็นว่าความแตกแยกในสังคมไม่ได้ยุติ มีแต่จะกดดันและอาจจะรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งอาจจะมีหลายหลากสีมากขึ้น

"ในความเห็นผมเสื้อแดงไม่ได้แพ้นะ แค่ถอย มันเริ่มจากการกระทำของเขาเองบวกกับกระแสสื่ออัดเข้าไปทั้งจากในและนอกประเทศ มันทำให้ทุนทางสังคมที่ทางเสื้อแดงพอจะมีอยู่จนถึงก่อนหน้าวันประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ความอดทนมันก็หาย มันหมดไปเลย มันเริ่มจากการบุกการประชุมอาเซียน ทุบรถที่กระทรวงมหาดไทย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันสงกรานต์มันทำลายความชอบธรรม ทุนทางสังคมของเขา ซึ่งตอนแรกคนยังพอจะอดทนต่อการกระทำของเขาอยู่บ้าง"

"แต่เขาก็ฉลาดที่ประกาศสลายการชุมนุมชั่วคราว ในตัวก็ตอบอยู่แล้วว่าเดี๋ยวกลับมา และก็เอาจุดที่เคยเป็นจุดอ่อนของสีเหลืองมาเป็นจุดแข็งของตัวเองว่าหลีกเลี่ยงการสูญเสียครั้งใหญ่ และมอบตัวโดยเร็ว อย่างน้อยระดับแกนนำหลักเข้ามอบตัว มันก็เป็นการโยนโจทย์กลับไปทางรัฐว่าถ้าในกรณีของทางเสื้อแดงยอมมอบตัว และก็ถูกดำเนินคดีอย่างรวดเร็วมาก และก็ไม่ได้รับการให้ประกันตัว เทียบกับของเสื้อเหลือง การปฏิบัติมันต่างกันไหม ก็ทำให้ทางฝั่งเสื้อแดงสามารถกลับไปหาธงที่เขาตั้งมาแต่ต้น เรื่องสองมาตรฐานในการรักษากฎหมาย ในการอำนวยความยุติธรรม เขากลับไปหาธงเดิมเขาได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ธงที่เขาจะมาโบกอยู่กลางถนนแล้ว เป็นการเคลื่อนในลักษณะแทรกซึมกลับไปยังฐานมวลชนอีกครั้งหนึ่ง"

"เมื่อวันพฤหัสผมไปอยู่ที่สนามหลวงเกือบ 2 ชั่งโมง ก็คือคนเสื้อแดงกลุ่มเดิมที่เราเคยสัมภาษณ์ เพียงแต่ตอนนี้ไม่ใส่เสื้อแดงแล้ว ใส่เสื้อปกติ ผมก็แซวเขาเนี่ยมันผิด พรก.หรือเปล่า เขาบอกไม่ผิดเขาไม่ได้มาชุมนุมกัน เขามาเดินแล้วมาเจอกันก็คุยกันเฉยๆ และก็อยู่แยกเป็นกลุ่ม เป็นลักษณะของการหลบเลี่ยงที่จะถูกกดดันปราบปรามจากเจ้าหน้าที่ และเขายอมรับว่าตอนนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันทำให้เขามีปัญหาเรื่องช่องทางในการส่งเสียงต่อสังคม มันก็ต้องหาทางฟื้นกลับมา อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่เขายอมรับ"

"ของเขาก็มี 2 กลุ่ม กลุ่มที่ผมเคยคุยด้วยจะเป็นกลุ่มที่อยู่หน้าทำเนียบตลอด จะไม่ออกมาท้องถนนเลย ต้องบอกว่าอย่างน้อยคนในเสื้อแดงไม่ได้มีลักษณะเหมือนกันทุกคน มันมีเสื้อแดงที่ไปหาเรื่อง มีเสื้อแดงที่กล้ารบ กล้าไปชนกับคน กับเสื้อแดงที่เข้ามาเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองจริงๆ ไม่ได้คิดจะไปตีรันฟันแทงกับใคร ปัญหาก็คือว่าตอนนี้มีการไล่ปิดช่องทางสื่อสารของเขาซ้ำไปอีก มันเลยทำให้รูปแบบของการติดต่อระหว่างคนเสื้อแดงด้วยกัน การฟื้นความเชื่อมั่น การกระจายฐานอุดมการณ์ของเขา มันจะกลายเป็นลักษณะการสัมมนากลุ่มย่อย ตัวต่อตัว ลักษณะปากต่อปากมากกว่า ซึ่งรัฐบาลคงไปหาช่องอะไรห้ามเขาไม่ได้ ยิ่งไปห้ามไปปราบในลักษณะพูดคุยกันกลุ่มเล็กๆ คนสองคน ภาพจะพลิกว่ารัฐบาลล่าแม่มด ตอนนี้ก็เป็นเหมือนค่อยๆ วางแผนเอาคืนระยะยาวของคนเสื้อแดงมากกว่า"

แสดงว่าเหตุการณ์จากนี้ไป โอกาสที่จะปะทะกันยังมีอีก

"ผมมองว่ายังมีอยู่สูงด้วยซ้ำ จากสิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับคนเสื้อแดง ผมดูจากอารมณ์เขา การพูดคุยกับเขา กลุ่มที่เป็นพวกฮาร์ดคอร์ที่มองว่าการใช้กำลังสามารถทำได้ เขามองว่าเขามีความชอบธรรมใหญ่เลยว่ามันต้องใช้กำลังแล้ว เพราะมันไม่มีทางเลือกอื่น ไปดีๆ ก็โดนปราบ กลุ่มนี้ฟันธงแล้วว่าต้องลุกฮือ ลงใต้ดิน แอบตีหัวเข้าบ้าน ถ้ามีโอกาสลุกฮือขนานใหญ่ กับอีกกลุ่มหนึ่งคือน้อยเนื้อต่ำใจ ประเทศนี้ไม่มีความเป็นธรรมสำหรับพวกเขาแล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องทำประเทศนี้ให้เปลี่ยนไปเลย แต่ไม่ว่าจะเป็นทางที่หนึ่งหรือทางที่สอง มันเป็นลักษณะของการเผชิญหน้ากันแบบแตกหักทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น คำประกาศของแกนนำในวันที่ 14 นี่คือพักยกเท่านั้นเอง ยกใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่"

"นี่คือสิ่งที่สังคมต้องมองแล้วว่านี่ไม่ใช่จบนะ มันแค่พักยก แล้วจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และในระหว่างนั้นเราจะซื้อเวลาไปได้นานแค่ไหน เราจะทำให้มวยยกถัดไปไม่เกิดได้ไหม ดำเนินคดีก็ต้องทำไป แต่ชนวนที่คนเสื้อแดงเขาพูดมาตลอดว่ายุติธรรม 2 มาตรฐาน มันต้องแสดงให้เห็นว่าไม่มี ก็คงจะช่วยปะทะปะทังไปได้ คือจะบอกว่าไปอภิปรายในสภา ผมเห็นว่าอภิปรายก็คืออภิปราย แต่ถ้ามันไม่นำมาสู่การตอบโจทย์ที่มีความชอบธรรมมากๆ ของคนเสื้อแดง คือโจทย์เรื่องความยุติธรรม มันก็ไม่ทำให้ชนวนในใจของคนเสื้อแดงหายไปไหน และพร้อมจะถูกจุดติดได้ทุกเมื่อ"

"ความกังวลของคนเสื้อแดงอีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะได้รับการตอบอย่างเป็นกิจจะลักษณะก็คือต่อไปนี้มันจะต้องไม่มีโอกาสอีกแล้วที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะถูกโค่นล้มด้วยการรัฐประหาร เรื่องนี้จะต้องกำหนดให้เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ กระบวนการอภัยโทษตัวเองหลังรัฐประหารไม่ควรทำ และคนที่อยู่ในอำนาจจะต้องออกมาพูดชัดเจนว่าไม่รับความชอบธรรมไม่รับผลพวงใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร ถ้ามองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นผลพวงของการรัฐประหาร เราก็ต้องแสดงความกล้าหาญเพื่อที่จะถอดชนวนทางการเมืองหรือระเบิดเวลาทางการเมืองลูกใหญ่ ทุกคนก็ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ห่วย มันเป็นผลผลิตที่มีปัญหามากๆ ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ก็ควรจะประกาศเลยว่าเราจะรื้อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ไม่ใช่รื้อเพื่อจะประนีประนอมอย่างที่มีข้อกล่าวหาจากพันธมิตรว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นการเปิดทางให้ทักษิณกลับมา ต้องบอกว่าไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อโจทย์นั้น แก้เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันไม่ชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น เป็นรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะการบั่นทอนอำนาจของฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยมีความเข้มแข็ง ต้องตอบโจทย์ในลักษณะนี้ซึ่งจะทำให้คนในสังคมที่มีความคลางแคลงใจกับเงาทะมึนที่อยู่ในการเมือง จากทางกองทัพ จากกลุ่มที่เราเรียกว่าอำมาตยาธิปไตย ได้รับการบรรเทาเบาบางไป"

"เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าอภิปราย ตั้งกรรมการเพื่อปฏิรูปการเมือง มันก็ไม่มีความหมายอะไร ถ้าคุณไม่ได้แสดงความมุ่งมั่นว่าจะแก้ในสิ่งที่จุดชนวนให้คนเสื้อแดงออกมาสู่ถนน คืออย่าไปหมิ่นประมาทคนเสื้อแดง ตอนนี้สังคมหมิ่นประมาทคนเสื้อแดง มองว่าคนเหล่านี้เป็นสาวกของทักษิณอย่างเดียวมันจะแก้ปัญหาผิดไปหมด เที่ยวไปไล่บี้ไล่ปราบทักษิณ ไปตัดตอนเครือข่ายกลไกของพรรคการเมือง มันต้องยอมรับว่าคนเสื้อแดงเขามีเหตุผลมีความชอบธรรมในการขับเคลื่อนของเขาเองด้วยส่วนหนึ่ง เหมือนกับการที่หลายฝ่ายไปหมิ่นประมาทพันธมิตรว่าเป็นสาวกของสนธิของจำลอง ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยในเสื้อเหลืองที่มีเหตุผลทางอุดมการณ์ของเขา เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เขามีอุดมการณ์ไหม มี ไม่ได้ติดยึดอยู่กับตัวบุคคลอย่างเดียว อย่างคนเสื้อเหลืองเขามีส่วนหนึ่งมองว่าระบบการเมืองจากการเลือกตั้งไม่ได้นำไปสู่อะไรนอกจากผลิตผลอย่างทักษิณหรือนอมินีของทักษิณ ซึ่งเขาก็มีเหตุผล ถ้าจะตอบโจทย์ของคนเสื้อเหลืองก็ต้องทำให้กระบวนการเลือกตั้งสามารถคัดกรองนักการเมืองสกปรก ระบบการซื้อเสียงออกไปได้ ต้องให้หลักประกันว่าเมื่อรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งเข้าสู่การบริหารแล้วจะต้องมีกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจบริหารทั้งในและนอกสภาได้ ส่วนของเสื้อแดงมันเป็นโจทย์ว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกปฏิวัติไม่ได้ ฉะนั้นทั้ง 2 โจทย์นี้สามารถตอบได้ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ บวกกับการทำให้เกิด good governance อย่างจริงจัง"

ถ้ามองมุมกว้างกระแสคนเสื้อแดงตกไหม

"ผมว่าตกนะ แต่คนที่เป็นแดงอยู่แล้วจะแดงมากกว่าเดิม คนที่อยู่ในเครือข่ายครอบครัวของคนที่แดงก็จะแดง จากเดิมเฉียดๆ แดงก็จะเริ่มแดง คนที่แดงอยู่แล้วจะแดงมากกว่าเดิม แต่กระแสสังคมที่ไม่ใช่แดงจะปฏิเสธแดงอย่างมาก และตอนนี้จะมีปรากฏการณ์ที่เหลืองจะโตขึ้น สีเหลืองที่พักไปจากปีที่แล้ว ตอนนี้ก็มีการเคลื่อนไหวของเขาหลังจากที่พักการชุมนุมไปแล้ว เขาจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น และถ้ามีการปะทุขึ้นมาเป็นความรุนแรงอีกรอบ ตัวแสดงจะมีมากขึ้น ความซับซ้อนจะมากขึ้น จะมีทั้งฝั่งแดงที่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ฝั่งรัฐที่ต้องปราบปรามฝั่งแดง เหลืองอาจจะมีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งจากเหตุการณ์ล่าสุดซึ่งเราตอบไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากการลอบยิงคุณสนธิ อีกส่วนหนึ่งที่ผมไม่เคยวางใจเลยคือกลุ่มกำลังนอกกฎหมายที่รัฐบาลมีส่วนจัดตั้ง เสื้อน้ำเงิน เรามีประสบการณ์ที่เจ็บปวดมากจากเหตุการณ์เดือนตุลา การเกิดนวพล กระทิงแดง สร้างความเจ็บปวดให้คนในสังคมอย่างมาก เรากำลังจะให้โอกาสประสบการณ์เหล่านั้นเกิดซ้ำขึ้นอีกครั้งจากการทำให้กลุ่มเสื้อน้ำเงินหลุดรอดจากการรับผิดไปหรือ ให้เขาเอาตัวรอดจากการถูกตรวจสอบไปเหรอ ก็ต้องตอบตรงนี้ให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นรอบหน้าเป็นกีฬาสีจริงๆ คือสารพัดสี เหลืองแดงเขียวน้ำเงิน ขาวก็อาจจะมาโบกธงเย้วๆ อยู่ (หัวเราะ) โบกธงไปโบกธงมาก็เท่านั้นแหละ บอกว่าให้โบกธงชาติหน้าบ้าน ผมมองไม่เห็นว่าจะโบกไปทำไม ตอนนั้นบอกว่าให้ขับรถเปิดไฟหน้า ผมว่าไร้สาระมากแล้วนะ"

ถ้ามองภายในของเสื้อแดงเองจะเป็นอย่างไร จะสลัดหลุดจากทักษิณและนอมินีได้ไหม

"เราต้องดูว่าวิวัฒนาการของเสื้อแดงจะเป็นอย่างไร ผมว่าคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งเกิดอาการบาดเจ็บในใจอย่างมากจากทักษิณนะ มีความรู้สึกว่าเฮ้ยโดนหลอกใช้ คือทักษิณจะพูดเป็นระยะๆ ว่าจะกลับมานำ แล้วทักษิณก็ไปซื้อรองเท้า ชอปปิ้งอยู่ที่ดูไบ ครอบครัวลูกเมียก็ไม่ได้มาเผชิญความเสี่ยงอะไรด้วยเลย ก็เป็นสิ่งที่คนเสื้อแดงอาจจะใช้เงื่อนไขนี้ทำให้ตัวเขาเองพัฒนาขึ้นมาเป็นกลุ่มการเมืองที่ไม่ได้ยึดอยู่กับตัวคุณทักษิณ และยิ่งเวลาผ่านไป บรรดาคนที่เป็นนอมินีของทักษิณ และคนในพรรคเพื่อไทย ยิ่งพูดก็ยิ่งไม่มีสาระ ยิ่งพูดยิ่งกลายเป็นว่านำความเท็จมากระจาย ความน่าเชื่อถือของคนเหล่านี้ก็หมดไปเรื่อยๆ ก็อาจจะนำไปสู่วิวัฒนาการคนเสื้อแดงที่ในที่สุดจะเป็นพลังทางการเมืองที่ไม่ได้ยึดโยงกับทักษิณและเครือข่ายของพรรคไทยรักไทยหรือเพื่อไทย หรือในฐานะเป็นเหมือนปีกมวลชนของพรรคการเมืองอีกต่อไป แต่เป็นพลังมวลชนของเขาเองเลยก็ได้"

"มันก็มีความเป็นไปได้สูง ถ้าถามผมวันนี้เป็นไปได้สูงมาก เพราะการรวมตัวของเขาในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วง มันมีลักษณะผสมกันอยู่ระหว่างคนที่มาเองโดยไม่ใช่จัดตั้ง กับคนที่จัดตั้งมาผ่านเครือข่ายหัวคะแนน แต่ละกลุ่มที่เขามาเป็นซุ้มและปิดป้ายหน้าซุ้มก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าหัวคะแนนคนนี้ในสังกัดพรรคนี้ นำคนมาได้จำนวนเท่าไหร่ แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีซุ้ม ผมไปยืนถามว่าพวกซุ้มกับไม่มีซุ้มมันต่างกันยังไง เขาก็อธิบายให้เราฟังอย่างนี้ พวกที่ไม่มีซุ้มก็บอกว่าพี่-ผมมาเอง แต่เวลาเขาแจกของกินก็ไปกินกับเขาด้วย ก็อยู่กันได้ ถามว่ามายังไง กลางวันก็ไปทำงาน เย็นๆ ก็มา บางคนทำงาน 3 วัน ช่วงนี้มีหลายโรงงานให้คนงานทำงานบางวันหยุดบางวัน ก็มีคนกลุ่มนี้มาด้วย เพราะฉะนั้นมีโอกาสที่คนกลุ่มนี้จะวิวัฒนาการขึ้นมาได้ และยิ่งเขาเห็นว่าถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเท่าไหร่กลุ่มนี้ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นวิวัฒนาการของพลังทางการเมืองที่น่าสนใจ บวกกับน่ากังวลไปในตัว คือถ้ามันวิวัฒนาการเป็นพลังทางการเมืองที่ในใจรู้สึกว่ากลไกต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่พึ่งไม่ได้ มันลำเอียง อันนี้น่าห่วงเพราะจะกลายเป็นกลุ่มที่โค่นระบบเพื่อจะสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ ซึ่งมันน่ากลัวเพราะจะมีแต่ความรุนแรงเป็นทางออกเท่านั้น"

แต่อีกมุมหนึ่งของสังคมก็ดูเหมือนจะเริ่มตระหนักว่าเสื้อแดงมีอยู่จริง ไม่ใช่แค่ม็อบรับจ้าง เช่น ภาคเอกชนที่ออกมาเสนอว่าอย่าปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐาน

"คนที่เป็นพลังขับเคลื่อนของการเมือง เศรษฐกิจ เมื่อก่อนมองว่าเสื้อแดงมันม็อบรายวัน วันนี้เขามองว่าเฮ้ยมันต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ แต่ที่น่าแปลกคือคนที่หันมาให้ความสนใจคนเสื้อแดงคือคนที่ไม่ใช่รัฐบาล คนที่พยายามจะตอบโจทย์ที่เป็นโจทย์ในเชิงอุดมการณ์ ว่าอะไรเป็นปัจจัยเชิงอุดมการณ์ที่ขับเคลื่อนคนเสื้อแดง คนที่มาตอบโจทย์คือภาคธุรกิจ กรอ.ก็ดี กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวก็ดี เขาบอกว่าเสื้อแดงไม่ใช่ม็อบรับจ้างอย่างเดียว มันมีเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม ความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างทางการเมือง แต่ขณะที่รัฐบาลยังไม่ได้ตอบโจทย์นี้ อันนี้ก็น่าห่วงว่ารัฐบาลจะตอบโจทย์นี้ไหม หรือยังจะดูแคลนคนเสื้อแดงต่อไป ในความฮึกเหิมจากชัยชนะที่ตัวเองได้จากการปราบคนเสื้อแดง"

"ถ้าสังคมจะขยายผลจากความตื่นตัวที่เริ่มมีมาจากภาคธุรกิจต่างๆ และสื่อมวลชนช่วยขยายต่อว่าคนเสื้อแดงกับเหตุผลของเขาคืออะไร จะต้องตอบโจทย์ตัวนี้ให้ได้และขยายให้สังคมส่วนใหญ่รู้ ผมมองว่าตอนนี้สังคมส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกผสมๆ กันอยู่ หนึ่งคือความสะใจ แต่หลังจากอารมณ์นี้ซาไปมันควรจะต้องให้การศึกษาอย่างมากกับสังคมว่า ถ้าคุณปล่อยให้เกิดความอยุติธรรมไม่ว่าจะในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โอกาสที่ปะทุเป็นความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้ เราจะขจัดความยุติธรรมอันนี้ให้หมดไปอย่างไร มันจะถอดชนวนไม่ใช่แค่การลุกฮือของเสื้อแดง แต่เป็นการถอดชนวนของสีอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคตด้วย"

ตอนนี้รัฐบาลไล่ปิดสื่อเสื้อแดงซึ่งก็จะถูกระบุว่าสองมาตรฐาน เช่นการปิดวิทยุชุมชนในต่างจังหวัด พวกเสื้อแดงก็ไม่พอใจว่าไม่ปิดอีกฝ่ายหนึ่ง

"ในกรุงเทพฯเรายังพอเข้าใจว่าการเข้าไปปิดใช้อำนาจตาม พรก.ได้ กรณีที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดเขาใช้ฐานกฎหมายอะไรไปทำ ถ้าบอกว่าออกกระจายเสียงโดยผิดกฎหมาย มันก็ผิดหมด แต่ถ้าจะใช้เรื่องความมั่นคง มันก็ไม่มีกฎหมายความมั่นคงประกาศใช้ในพื้นที่เหล่านั้น คุณใช้ข้ออ้างความมั่นคงไม่ได้ คุณใช้ข้ออ้างได้อย่างเดียวว่ากระจายเสียงผิดกฎหมาย ก็กลับมาที่สองมาตรฐานอีก แล้วอื่นๆ ที่ผิดกฎหมายในพื้นที่คุณไปยุ่งกับเขาไหม ก็ไม่ได้ยุ่งอีก และให้สัมภาษณ์ก็ออกมาเชิงความมั่นคงหมดเลยว่ามีลักษณะยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ ทั้งที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองเรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นอยู่"

มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าบทบาทของสื่อสำคัญมากในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยรวมทั้งสองด้าน

"โครงสร้างของสื่อในเมืองไทยยังเป็นสื่อที่อิงกับสัมปทานจากรัฐ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะพูดอย่างไรก็ยังสามารถพูดได้ว่ามีธงจากกองบรรณาธิการที่กำหนดว่าคุณต้องเสนอข่าวในโทนอย่างนี้ ทำนองอย่างนี้ แม้แต่สื่อที่บอกว่าตัวเองเป็นสื่อสาธารณะ แต่ธงและแนวทางการนำเสนอข่าวก็ยังเห็นได้ชัดว่าเอียง สิ่งที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของคนเสื้อแดงเขามีความรู้สึกว่าสื่อทั้งหมดรุมกระทืบเขา สื่อไม่ได้เสนอข้อเท็จจริง และบทบาทในการนำเสนอข่าวอย่างวิเคราะห์เจาะลึกสอบสวนความเป็นมาเป็นไปที่จะช่วยบรรเทาความหวาดระแวงได้ สื่อก็ไม่ได้ทำหน้าที่นั้น เป็นการเสนอแบบเอาให้สะใจ เสนอภาพว่ามันชั่วอย่างไร ไม่ได้เสนอว่าอะไรเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความรุนแรง"

"แต่สิ่งที่จะต้องรับผิดชอบพอกัน ผมไปดูลักษณะการชุมนุมหน้าเวทีมันกลายเป็นว่าการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงหลังจากกลับจากพัทยา เป็นการเคลื่อนไหวบนพื้นฐานของข่าวลือทั้งสิ้น ซึ่งเขาก็พยายามอ้างว่าเขาเชื่อสื่อกระแสหลักไม่ได้เลย แต่ผมมองว่ายิ่งเป็นอย่างนั้นคนที่เป็นแกนนำบนเวทีจะต้องแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการไม่กระพือข่าวลือหรือเอาความเท็จมาปลุกปั่นให้ผู้ชุมนุมลุกฮือ ความรับผิดชอบต้องมาจากทั้ง 2 ทาง คือสื่อกระแสหลักและคนที่เป็นแกนนำบนเวทีของเสื้อแดง บวกกับสื่อเสื้อแดง มันมีอะไรที่คนบนเวทีเสื้อแดงต้องรับผิดชอบเยอะมาก ในการปลุกอารมณ์คน"

"ผมอยากจะเห็นการบังคับใช้กติกาภายในของสมาคมวิชาชีพของสื่อกระแสหลัก สื่ออินเตอร์เน็ต ควรจะมีบทบาทมากกว่านี้ เช่น การแซงชั่นกลายๆ หรือถ้าจะเป็นสื่อเหลือง หรือสื่อแดงก็ประกาศให้ชัด ก็แล้วแต่ประชาชนจะเลือกรับ ตัวเองเป็นเหลืองเป็นแดงก็ออกมารับเลย แต่ที่เป็นปัญหาคือสื่อที่เรียกตัวเองว่าเป็นสื่อสาธารณะต้องแสดงความเป็นสื่อสาธารณะได้ดีกว่านี้ จุดนี้น่าเป็นห่วง เพราะมันเป็นช่องทางที่ให้ความหวังกับสังคมได้ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่"

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.