Skip to main content

ประเทศไทย: กลุ่มผู้ประท้วง และรัฐบาลควรปฏิเสธความรุนแรง

การชุมนุมประท้วงยุติลงแล้ว ถึงเวลาของการรับผิด

(ลอนดอน) – องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช และองค์การแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่า การยึดสนามบิน และทำเนียบรัฐบาลยุติลงแล้ว รัฐบาลไทย กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลควรแสดงความตั้งใจที่จะยุติความรุนแรงที่ได้คร่าชีวิตคน และทำให้มีผู้บาดเจ็บไปเป็นจำนวนมาก องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช และองค์การแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนลเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระขึ้นมาเพื่อดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นกลางเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดจากการกระทำของทุกฝ่ายในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และนำตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อความรุนแรงเหล่านั้นมารับผิด

แบรด อาดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าวว่า “การยุติการชุมนุม และความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ความรุนแรงก็สามารถเกิดขึ้นได้อีกครั้ง ถ้าหากมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลชุดใหม่” “ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ทั้งแกนนำฝ่ายผู้ประท้วง และรัฐบาลจะประกาศต่อสาธารณะว่าจะยึดมั่นในแนวทางการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ และการดำเนินการของตำรวจที่ชอบด้วยกฏหมาย รวมทั้งยังถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้มีการรับผิด เพราะมีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เรื่องนี้จะถูกลืมไปง่ายๆ ไม่ได้”

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลอีกสองพรรค คือ พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในกรณีทุจริตการเลือกตั้ง โดยใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้นำกองทัพทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรเมื่อเดือนกันยายน 2549 ในการนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังห้ามนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จากพรรคพลังประชาชน และกรรมการบริหารของทั้งสามพรรคการเมืองอีก 108 คน ไม่ให้มีบทบาททางการเมืองเป็นเวลาห้าปี เนื่องจากวินิจฉัยว่า พวกเขาไม่ได้ยับยั้งสมาชิกของกรรมการบริหารพรรคของตนไม่ให้ทุจริตในการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชาชนประกาศที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อเข้าบริหารประเทศต่อไป

แกนนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อ้างว่า คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นชัยชนะของพวกตน และประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธันวาคม อย่างไรก็ตาม พันธมิตรฯ จะกลับมาชุมนุมประท้วงอีกครั้ง ถ้าหากมีตัวแทนของทักษิณคนใหม่เข้ามาแทนที่สมชายในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ และรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แซม ซาริฟิ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียแปซิฟิกขององค์การแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า “สมาชิกของพันธมิตรฯ กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่มีส่วนรับผิดชอบต่อความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องรับผิดตามกฏหมาย” “ระบบนิติธรรม และหลักการรับผิดในประเทศไทยได้ถูกบั่นทอนไปมากในยุคทักษิณ และช่วงที่ทหารเข้ายึดอำนาจ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปราะบางในขณะนี้ ทุกฝ่ายจำเป็นที่จะเพิ่มความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และยุติปัญหาการไม่รับผิด”

ระหว่างช่วงหลายเดือนที่มีความปั่นป่วนทางการเมืองนั้น ตำรวจได้ใช้ความรุนแรงเพื่อสลายผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ หลายครั้ง เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนยางในการสลายผู้ประท้วงจำนวนประมาณ 2,000 คนที่บริเวณหน้ารัฐสภา ภาพข่าว และปากคำของพยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ตำรวจยิงแก๊ซน้ำตาในระยะประชิดเป็นแนวตรงเข้าใส่ผู้ประท้วง ผู้สนับสนุนพันธมิตรฯ เสียชีวิตสองคน และได้รับบาดเจ็บอีก 443 คนในเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่มีตำรวจได้รับบาดเจ็บประมาณ 20 คน เนื่องจากถูกผู้ประท้วงฝ่ายพันธมิตรฯ ตอบโต้ด้วยการยิงปืน ยิงหนังสติ๊ก และขว้างก้อนอิฐเข้าใส่ ตำรวจบางคนถูกตีด้วยท่อนเหล็ก ถูกรถทับ หรือถูกแทงด้วยด้ามธง

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช และองค์การแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนลเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการที่ชอบด้วยกฏหมายในการคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณะ โดยเน้นว่า มาตรการใดๆ ที่ทางการนำมาใช้จะต้องเหมาะสมได้สัดส่วนต่อระดับของภัยคุกคามที่เผชิญอยู่ และเท่าที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย” หลักการพื้นฐานของสหประชาชาติเกี่ยวกับการใช้กำลัง และอาวุธปืนโดยเจ้าหน้าที่รักษากฏหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ควรที่จะใช้มาตรการที่ไม่รุนแรงเท่าที่จะสามารถเป็นไปได้ ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง และอาวุธปืนได้แล้ว เจ้าหน้าที่ควรจะมีความยับยั้งชั่งใจ และดำเนินการในขอบเขตที่เหมาะสมได้สัดส่วนกับความความร้ายแรงของการกระทำความผิด หลักการนี้ยังกำหนดให้ต้องมีการรายงาน และกระบวนการตรวจสอบ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเสียชีวิต และการได้รับบาดเจ็บสาหัส

แบรด อาดัมส์ กล่าวว่า “ถึงแม้ตำรวจจะมีสิทธิที่จะใช้กำลังเพื่อป้องกันตัวเอง และผู้อื่นจากการถูกทำร้าย แต่การสูญเสียจำนวนมากที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ทำให้จำเป็นที่จะต้องมีการสอบสวนว่า ตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่” “การสอบสวนดังกล่าวควรจะต้องเป็นมาตรการบังคับที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกรณีที่มีการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากจากการสลายการชุมนุมประท้วงเช่นนี้”

ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน (จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม) พันธมิตรฯ ประกาศ “สงครามครั้งสุดท้าย” ในการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรีสมชาย เพราะเป็นรัฐบาลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทักษิณ ฝ่ายการเมือง และนักธุรกิจที่ต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งตำรวจ และทหารบางส่วนได้ให้การสนับสนุนทางการเงิน การเมือง และด้านอื่นๆ จำนวนมากแก่พันธมิตรฯ ในการเสนอเพิ่มอำนาจแก่กองทัพ และฝ่ายที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สมาชิกจำนวนมากของพันธมิตรฯ มีอาวุธ และได้โจมตีทำร้ายตำรวจ และกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน สนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำคนอื่นๆ ของพันธมิตรฯ ได้นำผู้ประท้วงหลายพันคนออกจากทำเนียบรัฐบาล (ซึ่งถูกพันธมิตรฯ ยึดครองตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม) ไปปิดล้อมรัฐสภา และตัดกระแสไฟฟ้าจนทำให้การประชุมร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต้องยกเลิก ขณะที่ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ไปปิดล้อมกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม ตำรวจตัดสินใจที่จะไม่ใช้กำลังสลายผู้ประท้วงในเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะเกรงว่า จทำให้ความรุนแรงลุกลามไปจนเป็นเงื่อนไขให้กองทัพทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง

สมาชิกส่วนหนึ่งของพันธมิตรฯ ที่ทำหน้าที่เป็นการ์ดติดอาวุธอ้างว่า พวกตนต้องป้องกันพื้นที่การชุมนุมประท้วงบริเวณรัฐสภา และทำเนียบรัฐบาล ดังนั้นจึงได้ไปยึดรถโดยสารประจำทางมาจอดขวางถนนเพื่อปิดกั้นการจราจร และใช้รถอีกจำนวนหนึ่งไปขนย้ายผู้ประท้วงไปยังพื้นที่ต่างๆ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ รายงานว่า รถโดยสารประจำทางจำนวนหนึ่งในเส้นทางสาย 3 53 56 และ 515 ถูกการ์ดของพันธมิตรฯยึดไป ประชาชนจำนวนมากต้องติดค้างอยู่ที่ป้ายรถโดยสารประจำทาง ภายหลังจากที่มีการหยุดเดินรถ หรือเปลี่ยนเส้นทาง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ตำรวจจับกุมการ์ดของพันธมิตรฯ หกคนขณะที่กำลังพยายามยึดรถโดยสารประจำทางสาย 53 โดยใช้มีด ปืน และระเบิดมือ

ภายหลังจากที่ประกาศชัยชนะในการทำให้การประชุมรัฐสภาต้องยกเลิกไปแล้ว แกนนำพันธมิตรฯ ได้สั่งให้ผู้ประท้วงเดินทางไปยึดที่ทำการชั่วคราวของรัฐบาล ซึ่งตั้งอยู่ที่สนามบินดอนเมืองเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน และต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน ผู้ประท้วงได้เดินทางไปขัดขวางความพยายามของรัฐบาลที่จะจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีที่กองบัญชาการกองทัพไทย หลังจากนั้น ผู้สนับสนุนพันธมิตรฯ ได้เดินทางไปยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองเมื่อวันที่ 25 และ 27 พฤศจิกายน ตามลำดับ

ตรงข้ามกับคำกล่าวอ้างว่า พันธมิตรฯ เป็นกลุ่มที่ปราศจากอาวุธ และไม่ใช้ความรุนแรง แกนนำพันธมิตรฯ นั้นได้ติดอาวุธในกับผู้สนับสนุนของตน และไม่ได้มีความพยายามที่ชัดเจนใดๆ ในการปลดอาวุธคนเหล่านั้น การ์ดพันธมิตรฯ และผู้ประท้วงฝ่ายพันธมิตรฯ จำนวนมากถูกจับที่ด่านตรวจของตำรวจ เนื่องจากพกพาอาวุธต่างๆ เช่น ปืน ระเบิด มีดดาบ และมีด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ตำรวจจับการ์ดพันธมิตรได้หนึ่งคน ซึ่งมีปืนกล ปืนพกสั้น มีด ระเบิด และกระสุนจำนวนมาก เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ผู้ประท้วงฝ่ายพันธมิตรฯ 17 คนถูกจับที่ด่านตรวจของตำรวจขณะกำลังพยายามใช้รถกระบะที่มีเครื่องหมายกาชาดลักลอบขนอาวุธเข้าไปในการชุมนุมประท้วงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ภาพข่าว และปากคำของพยานที่เห็นเหตุการณ์ในบริเวณการชุมนุมประท้วงระบุว่า การ์ดของพันธมิตรฯ ซึ่งมีอาวุธได้ทำร้าย และควบคุมตัวคนจำนวนมากที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาล

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน สนธิ ซึ่งไม่ได้พักค้างคืนร่วมกับผู้ชุมนุมที่บริเวณสนามบินทั้งสองแห่ง หรือที่ทำเนียบรัฐบาลได้ประกาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ ASTV และทางอินเตอร์เนตให้การ์ดติดอาวุธของพันธมิตรฯ และผู้ประท้วงฝ่ายพันธมิตรฯ ควรที่จะเตรียมตัวเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องพื้นที่ชุมนุมประท้วง โดยกล่าวว่า “สวัสดีพ่อแม่พี่น้องที่อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล สุวรรณภูมิ และดอนเมือง...วันนี้เราต้องลุกขึ้นมาสู้เพื่อศักดิ์ศรีของเรา...เราเตรียมพร้อม พี่น้องไม่ต้องห่วง เห็นใจพี่น้องทุกจุดที่ต้องเผชิญสงคราม เราก็ต้องเผชิญสงคราม แต่เราจะรักษาฐานที่มั่นให้ถึงที่สุด ถ้าต้องตายก็จะยอมตาย พี่น้องไม่ต้องห่วง เพราะนี่คือการสู้เพื่อศักดิ์ศรีของคนไทยที่รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์...ไม่เป็นไรช่างมัน ถ้าตายแล้วชาติบ้านเมืองจะดีขึ้นก็ขอให้ตายในวันนี้ก็แล้วกัน...พี่น้องดูแลทำเนียบฯ ดูแลสุวรรณภูมิ ถ้ามันจะต้องหลั่งเลือดอีกหลายครั้งก็ให้มันหลั่งเลือดพี่น้อง การชุมนุมของพวกเราถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ...เราไม่เปิดประตูให้แน่นอน แล้วถ้าบุกเข้ามายิงเรา เราก็ยิงสวนกลับไป ถ้าต้องตายก็ต้องตาย พี่น้อง”

แซม ซาริฟิ กล่าวว่า “การชุมนุมประท้วงของพันธมิตรฯ นั้นได้พยายามมาหลายเดือนแล้วที่จะยั่วยุให้ตำรวจตอบโต้ด้วยความรุนแรง เพื่อหวังที่จะจุดชนวนให้กองทัพทำรัฐประหาร และโค่นล้มรัฐบาล” “พันธมิตรฯ ควรจะเข้าใจว่า พวกตนไม่สามารถอ้างตัวเป็นกลุ่มที่ไม่ใช้ความรุนแรงได้ เนื่องจากมีการใช้กำลัง รวมทั้งอาวุธปืน เพื่อทำอันตรายต่อชีวิตของตำรวจ และประชาชนทั่วไป”

พันธมิตรฯ แสดงความเป็นศัตรูอย่างเปิดเผยต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน แกนนำพันธมิตรฯ สมเกียรติ บอกต่อผู้สื่อข่าวที่รายงานเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงว่า “ขณะนี้อยู่ในภาวะสงครามคงไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ และบางครั้งอาจเกิดจากความคลั่งแค้นของผู้ชุมนุม... คงไม่สามารถรับรองความปลอดภัยของทุกคนได้”

ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ NBT ของรัฐบาลมักถูกผู้ชุมนุมปร้ะวงฝ่ายพันธมิตรฯ ข่มขู่คุกคาม และขับไล่ออกจากบริเวณพื้นที่การชุมนุมประท้วง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน รถออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ TNN ถูกยิงด้วยปืนขณะที่กำลังรายงานข่าวการชุมนุมประท้วงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผู้ประท้วงฝ่ายพันธมิตรฯ ยังบังคับให้ผู้สื่อข่าวต้องถอดเสื้อที่มีข้อความรณรงค์ยุติการใช้ความรุนแรงออก ระหว่างที่เข้าไปในพื้นที่การชุมนุมประท้วง โดยเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ

พันธมิตรฯ ยังสนับสนุนให้มีการใช้ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นความคิดเห็นของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล โดยเฉพาะการแสดงความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งทำให้มีเว็บไซต์มากกว่า 400 แห่งถูกสั่งปิด หรือตัดสินใจปิดตัวเองลงเพราะความกลัว

แบรด อาดัมส์ กล่าวว่า “เสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง” “พันธมิตรฯ ไม่ได้แสดงความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐานเหล่านี้มากนัก”

กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน สมาชิกของกลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คอยดักโจมตีขบวนผู้ประท้วงฝ่ายพันธมิตรฯ ด้วยก้อนอิฐ ขวดน้ำ และหนังสติ๊ก สถานที่ชุมนุมประท้วงของพันธมิตร รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ ASTV ถูกโจมตีด้วยระเบิด และถูกปืนยิงใส่เกือบทุกคืน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วสี่คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 50 คน แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวหากลุ่มสนับสนุนรัฐบาล รวมทั้งกลุ่มของพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ว่า เป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานของตำรวจถูกปิดกั้นขัดขวางจากพันธมิตรฯ ไม่ให้สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว และยังมีการเคลื่อนย้ายวัตถุพยานต่างๆ ด้วย

ในช่วงเจ็ดเดือนที่ผ่านมา กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลได้บุกโจมตีการชุมนุมของพันธมิตรฯ ในจังหวัดต่างๆ ประมาณ 12 ครั้ง เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวหลายครั้งนั้นมีรายงานว่า สมาชิกพลังประชาชนของนายกรัฐมนตรีสมชายให้การสนับสนุนทางการเงิน และการประสานงาน เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม สมาชิกกลุ่มคนรักอุดร ซึ่งเป็นฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล มากกว่า 1,000 คนได้ใช้กำลังบุกเข้าทำร้าย และสลายผู้ประท้วงฝ่ายพันธมิตรประมาณ 200 คนที่อุดรธานี เหตุการณ์แบบเดียวกันยังเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ สกลนคร เชียงใหม่ ศรีษะเกษ เชียงราย มหาสารคาม และบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม มีการยิงระเบิดเข้าไปในสนามบินดอนเมือง ซึ่งทำให้มีผู้ประท้วงฝ่ายพันธมิตรเสียชีวิตหนึ่งคน และได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 20 คน อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการนำตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้มาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้สำเร็จเลย

แซม ซาริฟิ กล่าวว่า “กองกำลังฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงฝ่ายพันธมิตรฯ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้โดยที่ไม่ต้องรับผิด” “ระบบกฏหมายของไทยจำเป็นจะต้องนำตัวอาชญากรเหล่านี้มาลงโทษตามความผิดที่เกิดขึ้น มิฉะนั้นแล้ว วงจรของความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นต่อไป”

โรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงกันกับการชุมนุมประท้วงของพันธมิตรฯ มักจะถูกปิดบ่อยครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียน และครูได้รับอันตรายจากความรุนแรง การปะทะกันระหว่างพันธมิตรฯ กับกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลหลายครั้งถูกบันทึกภาพไว้ รวมทั้งเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่บริเวณปากซอยวิภาวดี 3 ซึ่งคนขับแท๊กซีที่สนับสนุนรัฐบาลได้ดักขว้างขวดน้ำ และก้อนอิฐใส่ขบวนรถของพันธมิตรฯ ผู้ประท้วงฝ่ายพันธมิตรฯ ตอบโต้ด้วยการยิงปืน และหนังสติ๊กเข้าใส่กลุ่มคนขับแท๊กซี หลังจากนั้น ก็ได้ไล่ทำร้ายกลุ่มคนขับแท๊กซีด้วยมีดดาบ ท่อนไม้ และด้ามธง ก่อนที่จะหลบหนีไป ผู้ประท้วงฝ่ายพันธมิตรฯ ได้จุดไฟเผารถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ในบริเวณนั้น และยังพยายามบังคับให้ผู้สื่อข่าวลบภาพเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ได้อีกด้วย เหตุการณ์ปะทะครั้งนี้ทำให้กลุ่มคนขับแท๊กซีอย่างน้อย 11 คนได้รับบาดเจ็บ โดยส่วนใหญ่มีบาดแผลจากกระสุนปืน

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช และองค์การแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนลมีความกังวลอย่างมากกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นนอกกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ได้เกิดการปะทะระหว่างกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 กับพันธมิตรฯ ที่ร้ายแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิต กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ซึ่งนำโดยเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุลนั้น ได้จัดตั้งหน่วยติดอาวุธขึ้นเพื่อคุ้มกันนายกรัฐมนตรีสมชายที่ย้ายไปตั้งที่ทำการชั่วคราวอยู่ที่เชียงใหม่ กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ทำร้ายเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญสองคนที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประท้วงฝ่ายพันธมิตรฯ ที่บริเวณสนามบินเชียงใหม่ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังจากนั้น กลุ่มเชียงใหม่ 51 ที่มีเสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ได้ออก “ไล่ล่า” ฝ่ายพันธมิตรฯ ที่มีเสื้อสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรวมตัวกันไปชุมนุมประท้วงต่อต้านนายกรัฐมนตรีสมชาย โดยเพชรวรรตนำสมาชิกกลุ่มรักเชียงใหม่ประมาณ 100 คนที่มีปืน ระเบิด หนังสติ๊ก มีดดาบ มีด ท่อนเหล็ก ท่อนไม้ และก้อนอิฐเป็นอาวุธบุกโจมตีสถานีวิทยุชุมชนวิหคเรดิโอของฝ่ายพันธมิตรฯ ภาพข่าว และปากคำของพยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ตำรวจไม่ได้พยายามยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซี่งทำให้ฝ่ายพันธมิตรฯ เสียชีวิตหนึ่งคน

แบรด อาดัมส์ กล่าวว่า “ตำรวจไม่สามารถเลือกข้างที่จะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการต่อสู้ระหว่างกลุ่มติดอาวุธ” “ตำรวจมีหน้าที่จะต้องเข้าแทรกแซงอย่างเป็นกลางในเหตุการณ์รุนแรง และจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงใจเพื่อรักษากฏหมาย”

ความปลอดภัยของเด็กตกอยู่ในความเสี่ยงระหว่างที่มีการชุมนุมประท้วง ถึงแม้ผู้ประท้วงฝ่ายพันธมิตรฯ จำนวนมากจะมีอาวุธ และพื้นที่ชุมนุมประท้วงมักจะถูกโจมตีด้วยระเบิด และปืน แต่ก็ยังมีการนำเอาเด็กจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมประท้วง แทนที่จะพยายามเอาเด็กออกห่างจากอันตราย แกนนำพันธมิตรฯ กลับนำเด็กขึ้นบนเวทีปราศัยในทำเนียบรัฐบาลเป็นประจำ ทั้งๆ ที่บริเวณดังกล่าวมักจะถูกโจมตีด้วยระเบิดจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายครั้ง ถ้าหากจะมีการชุมนุมประท้วงครั้งใหม่ แกนนำพันธมิตรฯ ผู้ประท้วง และตำรวจควรดำเนินการที่จะป้องกันไม่ให้เด็กอยู่ใกล้สถานที่ที่มีอันตราย โดยเฉพาะบริเวณที่มีแนวโน้มจะมีการปะทะกัน ตำรวจ และกองกำลังอื่นๆ ของรัฐบาลจะต้องรับประกันว่า การดำเนินการของพวกตนจะไม่ทำให้เด็กได้รับอันตราย

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช และองค์การแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนลมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้อำนาจอย่างมิชอบ จากการที่นายกรัฐมนตรีสมชายมอบอำนาจอย่างกว้างขวางภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้แก่ตำรวจเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน เพื่อที่จะยุติการยึดครองสนามบินทั้งสองแห่ง ปัจจุบัน อำนาจฉุกเฉินดังต่อไปนี้ยังคงมีผลอยู่ และตำรวจสามารถบังคับใช้ได้ทุกขณะ

  1. ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น
  2. ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
  3. ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือทั่วราชอาณาจักร
  4. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ
  5. ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
  6. ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

อนึ่ง มาตรา 5 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้กำหนดว่าสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นจะมีการต่ออายุได้กี่ครั้ง ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะมีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และไม่ได้สัดส่วนต่อความจำเป็นไปจำกัดสิทธิ และเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญ และกฏหมายระหว่างประเทศอย่างไม่มีกำหนด

องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช และองค์การแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนลมีความกังวลเกี่ยวกับการที่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้คุ้มครองไม่ให้มีการรับผิด โดยมาตรา 17 ได้มอบภูมิคุ้มกันต่อเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฉบับนี้ ซึ่งจะไม่ต้องรับผิดในทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย ถ้าหากได้กระทำการไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ภูมิคุ้มกันนี้รวมถึงการใช้อำนาจของตำรวจที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กติการะหว่างประเทศคุ้มครองไว้ไม่ให้มีการละเมิดในทุกกรณี ได้แก่ สิทธิในการมีชีวิต และเสรีภาพจากการถูกทรมาน และการปฏิบัติที่เลวร้ายอื่นๆ ดังนั้น มาตรา 17 จึงขัดต่อพันธะของประเทศไทยภายใต้กฏหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิการเมือง และสิทธิพลเมืองคุ้มครองที่กำหนดให้สอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงดังกล่าวในทุกกรณี และให้นำตัวผู้ที่กระทำความผิดมาลงโทษ

เนื่องจากการชุมนุมประท้วงได้ยุติลงแล้ว องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช และองค์การแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนลเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิทันที

แซม ซาริฟิ กล่าวว่า “ไม่ควรจะมีใครที่อยู่เหนือกฏหมาย” “เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และรับผิดต่อสิ่งพวกเขากระทำลงไป”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.