(นิวยอร์ก) – หน่วยงานกำกับสื่อในประเทศไทย ควรทบทวนคำสั่งที่พักการออกอากาศของวอยซ์ทีวีโดยทันที ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ การสั่งพักการออกอากาศรายการโทรทัศน์ แม้เป็นการชั่วคราว ถือเป็นการเซ็นเซอร์สื่อที่ไม่ชอบธรรม ทำให้เกิดข้อกังขาต่อสภาพที่เป็นธรรมในการทำงานของสื่อ ก่อนจะมีการเลือกตั้งระดับชาติในวันที่ 24 มีนาคม 2562
ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศพักการออกอากาศของวอยซ์ทีวีเป็นเวลา 15 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ กสทช.กล่าวหาว่าทางสถานีให้ข้อมูลที่สับสนต่อสาธารณะ ยุยงให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ เนื่องจากทางสถานีให้พื้นที่กับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารของไทย และมีการออกอากาศคำวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นและเศรษฐกิจ
“การสั่งพักการออกอากาศของวอยซ์ทีวี เน้นให้เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ต่อรัฐบาลทหารของไทยก่อนจะมีการเลือกตั้ง เป็นเรื่องต้องห้าม” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “บิ๊กทหารของไทยกำลังแสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการผ่อนปรนการควบคุมอย่างเข้มงวดในประเทศ เพื่อประกันให้เกิดการออกคะแนนเสียงอย่างเป็นธรรมแต่อย่างใด”
นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเหตุให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจปกครองประเทศ วอยซ์ทีวีได้ตกเป็นเป้าหมายการเซ็นเซอร์และการลงโทษ มากกว่าสถานีโทรทัศน์อื่นใดในประเทศไทย ทางการเคยสั่งปิดสถานีเป็นเวลา 26 วันในปี 2557 และเจ็ดวันในปี 2560 นอกจากนั้นยังมีคำสั่งพักการออกอากาศบางรายการอีก 17 ครั้ง และให้ยกเลิกบางรายการ เพื่อแลกกับการออกอากาศอีกครั้ง กสทช.บังคับให้วอยซ์ทีวีลงนามบันทึกความเข้าใจ กำหนดให้ทางสถานีต้องไม่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลทหารหรือสถานการณ์ในประเทศไทย
ในช่วงกว่าสี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้ใช้อำนาจโดยพลการและอย่างกว้างขวาง เพื่อตีความการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ และการแสดงความเห็นต่างว่าเป็นการให้ข้อมูลที่บิดเบือน เป็นการยุยงปลุกปั่น และคุกคามต่อความมั่นแห่งชาติ ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 คสช.ยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมสาธารณะและการจัดกิจกรรมทางการเมือง เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองรณรงค์หาเสียงได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังคงไม่ยกเลิกประกาศคำสั่งของทหารที่ควบคุมการแสดงออก และให้มีการดำเนินคดีอาญาต่อผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร นโยบายและการปฏิบัติของพวกเขา และสถาบันพระมหากษัตริย์
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ซึ่งห้าม “การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ“และห้ามเผยแพร่ “ข้อมูลที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิด ความแตกแยกในราชอาณาจักร“ โดยยังเป็นการบังคับให้สำนักข่าวทุกแห่งต้องรายงานข้อมูลที่เผยแพร่โดยรัฐบาลทหาร
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 ห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ กรณีที่เป็นข้อมูลซึ่งทางการเห็นว่า “บิดเบือน และ (สร้าง) ความเข้าใจผิด อันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม” เท่ากับว่ากสทช. กลายเป็นเครื่องมือหลักในการเซ็นเซอร์สื่อของรัฐบาลทหาร โดยมีอำนาจอย่างกว้างขวางและปราศจากการตรวจสอบ สามารถสั่งพักการออกอากาศรายการโทรทัศน์และวิทยุได้ หรือสามารถสั่งปิดสถานีได้ เพียงเพราะเนื้อหาของรายการถูกทางการมองว่าเป็นการบิดเบือน สร้างความแตกแยก และคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ
“ไม่อาจบอกว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยน่าเชื่อถือได้ หากยังมีคำสั่งควบคุมสื่อมวลชน และยังคงห้ามการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของทหาร” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลควรคุ้มครองเสรีภาพสื่อโดยทันที โดยต้องยกเลิกคำสั่งพักการออกอากาศของวอยซ์ทีวี และยุติความพยายามใด ๆ ที่จะปิดปากสื่อดังกล่าวและสื่ออื่น ๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร”