(นิวยอร์ก) – รัฐบาลทหารของไทยได้เร่งการปราบปรามมากขึ้น และไม่ดำเนินการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในปี 2559 ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ในรายงานสถานการณ์สิทธิระดับโลกปี 2560 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านการรับรองในการออกเสียงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่มีการปราบปรามต่อผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ตอกย้ำระบอบทหารที่ไม่สามารถตรวจสอบได้และใช้อำนาจอย่างมิชอบที่หยั่งรากลึกมากขึ้น
ในรายงานระดับโลกฉบับที่ 27 ความยาว 687 หน้า ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ประมวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในกว่า 90 ประเทศ ในบทนำ เคนเนธ โรธ์ (Kenneth Roth) ผู้อำนวยการบริหารได้เขียนว่า ผู้นำเผด็จการประชานิยมยุคใหม่พยายามทำลายแนวคิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยปฏิบัติต่อสิทธิราวกับเป็นสิ่งที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของมหาชน สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งภายใต้ระบอบเศรษฐกิจโลก และผู้ที่มีความกลัวต่ออาชญากรรมที่รุนแรงมากขึ้น ภาคประชาสังคม สื่อมวลชนและสาธารณะ มีบทบาทสำคัญในการตอกย้ำคุณค่า ซึ่งเป็นรากฐานนำไปสู่การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิ
“วิกฤตสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเลวร้ายลงในปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลทหารได้กระชับอำนาจของตนมากขึ้น และเปลี่ยนให้ประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการที่เข้มข้นยิ่งขึ้น” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “แทนที่จะนำประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลทหารกลับยิ่งเร่งปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์และผู้เห็นต่าง สั่งห้ามการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ เซ็นเซอร์สื่อ และสั่งห้ามการแสดงความเห็นทั้งในสื่อมวลชนและในระบอบออนไลน์”
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งห้ามการจัดกิจกรรมทางการเมืองและการชุมนุมสาธารณะ มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อการแสดงความเห็น มีการเซ็นเซอร์สื่อ มีการจับกุมโดยพลการหลายร้อยครั้ง และมีการควบคุมตัวพลเรือนในค่ายทหาร คำสั่งของพลเอกประยุทธ์เมื่อวันที่ 12 กันยายน ให้ยุติการฟ้องคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร เป็นขั้นตอนที่มีผลจำกัด เนื่องจากไม่มีผลครอบคลุมไปถึงพลเรือนกว่า 1,800 คน ซึ่งอยู่ระหว่างรอการพิจารณาในศาลทหารแล้ว กองทัพยังคงมีอำนาจในการจับกุม ควบคุมตัว และสอบปากคำพลเรือน โดยไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ หรือให้มีการตรวจสอบเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
รัฐบาลทหารยังได้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามอำเภอใจและก้าวร้าวมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีต่อบุคคลที่แสดงความเห็นซึ่งถูกมองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทางการไทยได้ดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อบุคคลอย่างน้อย 68 คน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการโพสต์หรือแชร์ความเห็นในระบบออนไลน์ การปราบปรามเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งเป็นที่เคารพรัก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม
ที่ผ่านมายังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดในการปฏิบัติมิชอบที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมาลงโทษได้เลย รัฐบาลนายประยุทธ์ไม่แสดงความสนใจที่จะสอบสวนกรณีการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายกว่า 2,000 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่าง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ภายใต้รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546 ยังไม่มีผู้กำหนดนโยบาย ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ทหารรายใดถูกลงโทษ เนื่องจากการใช้กำลังอย่างมิชอบ ในระหว่างการปะทะกันทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คนและบาดเจ็บกว่า 2,000 คน ทั้งยังไม่มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงรายใดถูกดำเนินคดีอาญาฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งทางกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ได้กระทำการปฏิบัติมิชอบหลายครั้งต่อพลเรือน เป็นการละเมิดต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
การสังหารและการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ยังคงเป็นข้อกังวลร้ายแรง ทางการไทยและบริษัทเอกชนได้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามากขึ้น รวมทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อตอบโต้ต่อบุคคลที่รายงานข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ให้คำสัญญาที่ว่างเปล่าด้านสิทธิมนุษยชนกับองค์การสหประชาชาติและประเทศสมาชิก” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลทหารจะต้องถูกกดดันต่อไปเพื่อให้ยุติการปราบปราม ให้เคารพเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และให้ฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยของพลเรือนในประเทศไทย”
นักกิจกรรมชาวไทยประท้วงร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยรัฐบาลทหารก่อนการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่กรุงเทพฯ วันที่ 15 มิถุนายน 2559