Skip to main content

ประเทศไทย: ผู้ก่อความไม่สงบพุ่งเป้าโจมตีพลเรือนในภาคใต้

การวางระเบิดอย่างเป็นระบบอาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

(นิวยอร์ก) –ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อแบ่งแยกดินในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ได้วางระเบิดหลายครั้งโดยมีเป้าหมายชัดเจนเป็นพลเรือน ซึ่งอาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้

เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุระเบิดที่โรงแรมเซาท์เทิร์น วิว จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559   © 2016 Khaosod

ผู้ก่อความไม่สงบได้จุดระเบิดสองครั้งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ภายหลังการโจมตีด้วยระเบิดและการวางเพลิงอย่างต่อเนื่องหลายครั้งในช่วงวันที่ 11 และ 12 สิงหาคม ประมาณเวลา 22.40 น. ของวันที่ 23 สิงหาคม มีการจุดระเบิดที่​โรงแรมเซาท์เทิร์น วิวใจกลางเมืองปัตตานี แรงระเบิดครั้งแรกไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย แต่ส่งผลให้ประชาชนแตกตื่นวิ่งออกไปยังลานจอดรถที่อยู่ใกล้เคียง จากนั้นประมาณห้าทุ่ม มีการกดระเบิดลูกที่สองที่มีขนาดใหญ่กว่าและถูกซ่อนไว้ในรถพยาบาล ซึ่งจอดอยู่ห่างออกไปประมาณ 40-50 เมตร ส่งผลให้น.ส.อรพรรณ ศรีเรือนหัด ซึ่งทำงานร้านอาหารหน้าโรงแรมเสียชีวิต และเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 30 คนในย่านที่มีประชากรแออัด ทางโรงแรม ร้านค้า และบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด

“การเริ่มโจมตีครั้งใหม่ด้วยการวางระเบิดของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของไทย เป็นการกระทำที่ชั่วช้าเลวทรามอย่างเหลือเชื่อต่อพลเรือน” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การโจมตีเช่นนี้ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม แต่การวางแผนอย่างชัดเจนเบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ชี้ว่าอาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

การวางระเบิดครั้งล่าสุดเป็นวิธีปฏิบัติการที่ใช้กันมายาวนานของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธ ซึ่งเกิดขึ้นแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ของไทยซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว เจ้าพนักงานสอบสวนยังพบหลักฐานที่ยืนยันค่อนข้างหนักแน่นว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนอยู่เบื้องหลังการโจมตีด้วยระเบิดหลายครั้ง และการวางเพลิงในตัวเมืองซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเจ็ดแห่ง ระหว่างวันที่ 11 และ 12 สิงหาคม ซึ่งส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตสี่คนและบาดเจ็บ 35 คน เมื่อมองในภาพรวมจะเห็นว่า การโจมตีเหล่านี้เกิดขึ้นจากการวางแผนในการโจมตีและสังหารพลเรือนอย่างจงใจ ซึ่งอาจถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

อาชญากรรมต่อมนุษยชาติครอบคลุมถึงความผิดอาญาบางประเภท ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางหรือเป็นระบบ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “การโจมตีต่อประชากรที่เป็นพลเรือน” กล่าวคือต้องเป็นการโจมตีที่เกิดขึ้นจากการวางแผนหรือการมีนโยบายให้กระทำเช่นนั้นในระดับหนึ่ง การกระทำเช่นนั้นรวมถึงการสังหารและ “การกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมที่มีพฤติการณ์แบบเดียวกัน โดยมุ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างใหญ่หลวง หรือการบาดเจ็บสาหัสต่อร่างกาย หรือต่อสุขภาพทางใจหรือทางกาย” กฎหมายระหว่างประเทศคุ้มครองประชากรที่เป็นพลเรือน “ทุกกลุ่ม” จากการโจมตีเช่นนี้ โดยไม่คำนึงว่าประชากรที่ตกเป็นเหยื่อนั้น จะมีส่วนเชื่อมโยงกับคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการขัดกันด้วยอาวุธหรือไม่ก็ตาม

การเริ่มโจมตีครั้งใหม่ด้วยการวางระเบิดของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของไทย เป็นการกระทำที่ชั่วช้าเลวทรามอย่างเหลือเชื่อต่อพลเรือน
แบรด อดัมส์

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย

ความรับผิดต่อการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะผู้ซึ่งกระทำการดังกล่าวเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงผู้สั่งการ ช่วยเหลือ หรือมีส่วนร่วมในทางใดทางหนึ่งต่อการกระทำผิดนั้น ตามหลักความรับผิดชอบของการบังคับบัญชา ผู้นำรัฐบาลหรือผู้นำกลุ่มติดอาวุธก็อาจต้องรับผิดทางอาญาต่อการกระทำที่เกิดขึ้นโดยผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา กรณีที่ผู้นำเหล่านั้นรู้ หรือควรรู้ว่าจะมีการก่อความผิดดังกล่าวขึ้น แต่กลับไม่ดำเนินมาตรการที่ชอบด้วยเหตุผลเพื่อหยุดยั้งการกระทำดังกล่าว 

นับแต่การโจมตีด้วยอาวุธได้เพิ่มขึ้นหลังเดือนมกราคม 2547 ผู้ก่อความไม่สงบจากเครือข่าย BRN-Coordinate (Barisan Revolusi Nasional-Coordinate) กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ ได้ทำการละเมิดกฎหมายสงครามหลายครั้ง ในจำนวนกว่า 6,000 ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 กว่า 90% เป็นพลเรือนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา

แม้ว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องประสบกับความเสียหายครั้งใหญ่จากการโจมตีกวาดล้างของกองกำลังฝ่ายรัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่คนกลุ่มนี้ยังคงกระจายอยู่ในหมู่บ้านชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูหลายร้อยแห่ง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมักอ้างถึงยุทธวิธีที่มิชอบและรุนแรงของกองกำลังของรัฐบาล เพื่อจูงใจให้มีบุคคลเข้าร่วมกลุ่มของตนเพิ่มขึ้น และเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่รุนแรงของตน  

อย่างไรก็ดี ไม่มีความชอบธรรมด้านกฎหมายหรือไม่มีหลักเหตุผลที่ยอมรับได้ตามข้ออ้างของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบว่า การโจมตีต่อพลเรือนมีความชอบธรรมเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยพุทธ หรือเพราะจากการตีความกฎหมายอิสลาม ทำให้พวกเขาเชื่อว่าสามารถทำการโจมตีดังกล่าวได้ กฎหมายสงครามมีผลบังคับใช้ต่อการขัดกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย โดยห้ามการโจมตีต่อพลเรือนและอาคารบ้านเรือนของพลเรือนที่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการทหาร บุคคลใดซึ่งเป็นผู้สั่งการ หรือเป็นผู้ปฏิบัติให้เกิดการโจมตีอย่างจงใจเช่นนั้น ถือว่ามีความรับผิดต่ออาชญากรรมสงคราม ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังคงกังวลอย่างลึกซึ้งต่อการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายสงคราม ที่เกิดขึ้นจากกองกำลังของรัฐบาลไทยและกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ การสังหาร การบังคับบุคคลให้สูญหายและการทรมานโดยเจ้าหน้าที่ ไม่อาจถือเป็นมาตรการที่ชอบธรรมที่ใช้ เพื่อตอบโต้กับการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรไทยพุทธและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแต่อย่างใด สถานการณ์นี้เลวร้ายยิ่งขึ้นอันเป็นผลมาจากวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบได้เลย

“รัฐบาลไทยต้องตอบโต้กับการโจมตีที่โหดร้ายนี้ด้วยการยึดมั่นตามหลักนิติธรรม ด้วยการยุติการปฏิบัติมิชอบในบรรดากองกำลังของรัฐบาลเอง และแก้ปัญหาความอึดอัดคับข้องใจที่มีมาอย่างยาวนาน ในบรรดาชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายู” อดัมส์กล่าว “หากรัฐบาลยังคงปกป้องไม่ให้กองกำลังของตนต้องรับผิดทางอาญาต่อไป ก็จะยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับความรุนแรงของกลุ่มที่สุดโต่ง”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.