(นิวยอร์ก) – รัฐบาลทหารของไทยควรยุติการดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ การออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญจะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559
ผู้วิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ถูกควบคุมตัวโดยทหาร ในข้อหาการเมืองเกี่ยวกับการยุยงปลุกปั่นหรือฐานความผิดอย่างอื่น บุคคลเหล่านี้ควรได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและให้ยุติการดำเนินคดีกับพวกเขา
“การใช้กฎหมายยุยงปลุกปั่นที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางต่อรัฐบาลทหารต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวก่อนจะถึงการออกเสียงประชามติ” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การปราบปรามของกองทัพกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในประเทศไทย และยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อใกล้ถึงวันที่ 7 สิงหาคม”
ในวันที่ 27 กรกฎาคม ที่กรุงเทพฯ หน่วยงานทหารได้จับกุม น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และอดีตสส.ของพรรคเพื่อไทยที่ถูกโค่นล้มจากอำนาจ โดยถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่จดหมาย ซึ่งคสช.อ้างว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่าจดหมายประชามติ หนึ่งวันก่อนหน้านั้น ทหารได้จับกุมน.ส.ธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ น้องสาวของทัศนีย์ ที่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ในข้อกล่าวหาเดียวกัน ทัศนีย์และน้องสาวเป็นหนึ่งใน 11 คนที่รัฐบาลทหารกล่าวหาว่าได้กระทำการยุยงปลุกปั่นเนื่องจากจดหมายประชามติ หากศาลทหารตัดสินว่ามีความผิด บุคคลเหล่านี้อาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
มาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยกำหนดความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ว่าหมายถึงการกระทำทั้งทางวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด โดยมีเจตนา “เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย;… เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”
ผู้ต้องหาในคดีคนอื่น ๆ ได้แก่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ลุงของทัศนีย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายคเชน เจียกขจร นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก เชียงใหม่ นายวิศรุต คุณะนิติสาร นายอติพงษ์ คำมูล และนายกฤตกร ไพทะยะ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลช้างเผือก รวมทั้งนางสาวเอมอร ดับโศรก นางสุภาวดี งามเมือง นายเทวรัตน์ อินต้า และนางกอบกาญจน์ สุตีคา
รัฐบาลทหารได้เพิกเฉยต่อข้อร้องเรียนด้วยความกังวลขององค์การสหประชาชาติและรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งต้องการให้ทางการไทยเคารพสิทธิของประชาชนในการแสดงความเห็นอย่างเสรีต่อร่างรัฐธรรมนูญ คสช.ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดเงื่อนไขของการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีลักษณะปิดกั้นมากขึ้นต่อการอภิปรายอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ นอกจากกฎหมายยุยงปลุกปั่นแล้ว มาตรา 61 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 กำหนดว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ
โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง” โดยผู้ฝ่าฝืนอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับเป็นเงินไม่เกิน 200,000 บาท
รัฐบาลทหารมองว่าการวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเป็น “ข้อมูลเท็จ” และคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ ส่งผลให้ผู้ออกเสียงหลายคนได้รับข่าวสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญจากแหล่งข่าวเดียวซึ่งมาจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งล้วนแต่แสดงจุดยืนว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะให้ประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทย
“การใช้ทั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและการควบคุมตัวโดยทหารชี้ว่า รัฐบาลทหารต้องการปกปิดข้อมูลและกดดันผู้ออกเสียงชาวไทย เพื่อให้ยอมรับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการสืบทอดอำนาจของทหาร” อดัมส์กล่าว
ตามคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 ที่ประกาศใช้โดยพลเอกประยุทธ์ รัฐบาลทหารยังคงละเมิดความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้โดยการควบคุมตัวและสอบปากคำผู้เห็นต่างจากรัฐในค่ายทหาร ไม่เปิดโอกาสให้เข้าถึงทนายความหรือไม่มีมาตรการป้องกันการปฏิบัติมิชอบอย่างเป็นผล โดยเป็นการควบคุมตัวไม่เกินเจ็ดวัน ในวันที่ 27 มิถุนายน หน่วยงานทหารได้นำตัวทัศนีย์ ธารทิพย์ คเชน สุภาวดี กอบกาญจน์ อติพงษ์และเอมอรไปควบคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ
ตามข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี บุคคลจะต้องไม่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวโดยพลการ นอกจากนั้น รัฐบาลจะต้องไม่ใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนพลเรือน กรณีที่ศาลพลเรือนยังปฏิบัติหน้าที่ได้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ระบุในความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมว่า “การไต่สวนพลเรือนในศาลทหารหรือศาลพิเศษ อาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรง ในแง่ของการบริหารงานยุติธรรมอย่างเท่าเทียม อย่างไม่ลำเอียง และอย่างเป็นอิสระ”
ที่ผ่านมาฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เรียกร้องรัฐบาลทหารไทยอย่างต่อเนื่อง ให้นำตัวพลเรือนที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 ไปควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัวพลเรือนอย่างเป็นทางการ อย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และเพื่อประกันว่าในอนาคตจะไม่มีการนำตัวบุคคลที่ไม่ใช่ทหารมาควบคุมตัวในสถานที่แห่งนี้ หรือสถานที่ใกล้เคียงอื่น ๆ ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ยื่นจดหมายต่อรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ระบุถึงข้อกังวลอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับสภาพในมณฑลทหารบกที่ 11 หลังการเสียชีวิตของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หมอดู และพันตำรวจตรี ปรากรม วารุณประภา ระหว่างถูกควบคุมตัวที่นั่น ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 นายบินลา มูหัมหมัด(Bilal Mohammad) (หรือ อาเดม คาราดัก - Adem Karadag) ร้องเรียนว่า เขาถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวในมณฑลทหารบกที่ 11 เพื่อบังคับให้รับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุวางระเบิดศาลพระพรมที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2558
“โลกได้เห็นการละเมิดคำสัญญาของรัฐบาลทหารที่จะฟื้นฟูระบอบปกครองที่เป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิของไทย” อดัมส์กล่าว “การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เสรีและเป็นธรรม ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากยังมีการปราบปรามสิทธิของประชาชนที่จะแสดงและแลกเปลี่ยนความเห็นของตนเอง”