Skip to main content

ประเทศไทย: ห้าปีผ่านไป องค์กรระหว่างประเทศเรียกร้องอีกครั้งให้ปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข

ในโอกาสก่อนจะถึงวันครบรอบห้าปีการจับกุมนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข องค์กรระหว่างประเทศตามรายชื่อแนบท้ายขอประณามการควบคุมตัวอย่างต่อเนื่องและโดยพลการที่กระทำต่อนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัวเขาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข

ปัจจุบัน นายสมยศ อายุ 54 ปี ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยอยู่ระหว่างโทษจำคุก 10 ปีภายหลังศาลตัดสินว่า เขามีความผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของไทยที่บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึง 15 ปี” ทั้งนี้โดยรวมถึงโทษจำคุกอีกหนึ่งปีในข้อหาหมิ่นประมาท แต่ก่อนหน้านี้มีการรอลงอาญาไว้

หน่วยงานกำกับดูแลด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายแห่งได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการควบคุมตัวนายสมยศ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention - WGAD) ยืนยันในความเห็นที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555 ว่า การควบคุมตัวนายสมยศเป็นการกระทำโดยพลการ คณะทำงานฯ ยังเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวและให้ชดเชยค่าเสียหายแก่นายสมยศด้วย

นายสมยศเป็นอดีตนักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานและบรรณาธิการนิตยสาร เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ห้าวันหลังจากที่เขาเริ่มการรณรงค์เพื่อรวบรวม 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อมาในวันที่ 23 มกราคม 2556 ศาลอาญากรุงเทพพิพากษาลงโทษให้จำคุกเขาเป็นระยะเวลา 10 ปีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยแยกเป็นสองกระทง ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่นายสมยศอนุญาตให้ตีพิมพ์บทความล้อเลียนสองชิ้นในนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งเขาเป็นบรรณาธิการในขณะนั้น แต่บุคคลอื่นเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าว ซึ่งทางการไทยเห็นว่าเป็นการหมิ่นพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพให้ลงโทษนายสมยศในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยก่อนหน้านั้นศาลอุทธรณ์ไม่ได้แจ้งให้นายสมยศ ทนายความและครอบครัวทราบถึงกำหนดนัดหมายว่าจะมีการอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 นายสมยศยื่นคำร้องขออุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกา

การตัดสินลงโทษและการควบคุมตัวนายสมยศ ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทยซึ่งเป็นรัฐภาคี ในข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ได้กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้รวมถึงสิทธิที่จะมี “เสรีภาพที่จะแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท”

ในความเห็นอย่างเป็นทางการต่อกติกาข้อ 19 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อบทของกติกา ICCPR ของรัฐภาคีต่างๆ ยืนยันว่า “บุคคลสาธารณะทั้งปวง รวมทั้งบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดอย่างเช่นประมุขของรัฐและผู้นำรัฐบาล ต่างเป็นบุคคลที่ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกค้านทางการเมืองได้อย่างชอบธรรม” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยังแสดงความกังวลเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และระบุว่า “การคุมขังไม่ใช่โทษที่เหมาะสม” สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท

ในวันที่ 23 กันยายน 2557 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Office of the High Commissioner for Human Rights - OHCHR) แสดงความผิดหวังต่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษายืนให้นายสมยศมีความผิด ต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม 2558 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้กระตุ้นให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีเนื้อหา “กำกวมและกว้างเกินไป" เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกโดยทันที

ทางองค์กรที่ร่วมลงชื่อแนบท้ายยังประณามข้อบกพร่องและความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อนายสมยศ และการที่ศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวเขา ที่ผ่านมานายสมยศยื่นคำร้องขอประกันตัวถึง 16 ครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึงการยื่นขอประกันตัวครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557

นายสมยศเป็นหนึ่งในจำเลยเพียงไม่กี่คนในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งตัดสินใจอุทธรณ์คำตัดสินจนถึงศาลฎีกา นายสมยศยืนยันว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่รับสารภาพตามข้อกล่าวหา ทั้งนี้เนื่องจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยมีอัตราโทษสูงมาก จำเลยส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะรับสารภาพเพื่อให้ได้รับโทษจำคุกลดลง และเพื่อให้สามารถยื่นคำร้องขอพระราชทานอภัยโทษได้

องค์กรที่ร่วมลงชื่อในที่นี้เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยุติการคุกคามนายสมยศโดยทันที และให้ปล่อยตัวเขากลับไปอยู่กับภรรยาและครอบครัว นอกจากนี้ ทางองค์กรในที่นี้ยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้จ่ายค่าชดเชยอย่างเหมาะสมให้กับนายสมยศ และให้เขาได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผลเนื่องจากการควบคุมตัวโดยพลการครั้งนี้

ลงนามโดย:

1.             Amnesty International

2.             Article 19

3.             ASEAN Parliamentarians for Human Rights

4.             Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)

5.             Civil Rights Defenders

6.             Clean Clothes Campaign

7.             Committee to Protect Journalists

8.             FIDH - International Federation for Human Rights

9.             Fortify Rights

10.          Front Line Defenders

11.          Human Rights Watch

12.          International Commission of Jurists (ICJ)

13.          Lawyers’ Rights Watch Canada

14.          PEN International

15.          Reporters Sans Frontières / Reporters Without Borders

16.          World Organization Against Torture (OMCT)

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.