Skip to main content

ประเทศไทย: รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้อำนาจอย่างกว้างขวาง

ผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับความคุ้มครองจากการรับผิด

(นิวยอร์ก) – ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองของไทยควรแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศใช้ และให้อำนาจกับพวกตนอย่างกว้างขวาง โดยปราศจากการต้องรับผิด หรือมาตรการสำหรับป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน  

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งมี 48 มาตรา และได้รับการลงพระปรมาภิไธยโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อนึ่ง คณะที่ปรึกษาของคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ขึ้นโดยปราศจากการหารือใดๆ กับสาธารณะ  

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า "รัฐธรรมนูญชั่วคราวพยายามให้ความชอบธรรมทางกฎหมายกับอำนาจที่กว้างขวาง และปราศจากการต้องรับผิดของคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครอง" "แทนที่จะปูทางไปสู้การฟื้นฟูประชาธิปไตย คณะทหารกลับให้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบแก่พวกตนในการที่แทบจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่างตามต้องการ ซึ่งรวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ต้องรับผิด"  

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีเนื้อหาที่อ่อนมากเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และยังอนุญาตให้ คสช. สามารถดำเนินนโยบาย และมาตรการต่างๆ โดยปราศจากการตรวจสอบควบคุมที่มีประสิทธิภาพเพือป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นก็ไม่ต้องมีการรับผิดใดๆ ทั้งนี้ ถึงแม้มาตรา 4 จะให้การยอมรับอย่างกว้างๆ ต่อสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพตามประเพณีประชาธิปไตย และพันธะกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย แต่ คสช.มีอำนาจตามมาตรา 44 และ 47 ในการจำกัด ระงับ หรือยับยั้งการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 

มาตรา 44 ให้อำนาจอย่างกว้างขวางต่อ คสช.ในการออกคำสั่ง และดำเนินการต่างๆ ตามที่เห็นสมควรได้ ไม่ว่าจะมีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไรก็ตาม กล่าวคือ "ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคี และความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายใน หรือภายนอกราชอาณาจักร" ให้หัวหน้า คสช. มีอํานาจ "สั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่ง หรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว ... ชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด" อย่างไรก็ตาม อำนาจที่กว้างขวางเช่นนี้ไม่มีการตรวจสอบควบคุมจากฝ่ายตุลาการ หรือสถาบันอื่นใด หัวหน้า คสช. เพียงแค่ต้องรายงานการดําเนินการดังกล่าวให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีทราบหลังจากนั้นเท่านั้น  

มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้การกระทำทั้งหลายของสมาชิก คสช. และผู้ที่กระทำการในนาม คสช. ซึ่งรวมถึงการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม "พ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง" ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าววว่า ถึงแม้จะมีบทบัญญัติตามมาตรานี้ แต่กฏหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรับรองสิทธิในการได้รับการเยียวยาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกำหนดให้รัฐบาลต้องสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 6, 30 และ 32 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้สร้างระบบการเมืองแบบปิด และไม่เป็นประชาธิปไตย โดย คสช.เป็นผู้คัดเลือกบุคคลเป็นเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีข้อกำหนดให้ต้องทำการหารือใดๆ กับสาธารณะ หรือต้องผ่านการทำประชามติ ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้นมีหน้าที่ศึกษา และเสนอแนะเพื่อให้เกิดการสร้างความเป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่เสรี และเป็นธรรม และการปฏิรูปในด้านต่างๆ 

มาตรา 8 และ 33 กำหนดข้อห้ามอย่างกว้างๆ ไม่ให้ผู้ที่ดํารงตําแหน่ง หรือเคยดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมาสามารถเป็นมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีข้อห้ามไม่ให้สมาชิก คสช. ทหาร ตำรวจ และข้าราชการอื่นๆ ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ข้อกำหนดเช่นนี้เปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์จะรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะที่ยังคงมีฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ถ้าหากเขาประสงค์ที่จะทำเช่นนั้น 

ตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เก็บบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากที่เกิดขึ้นโดยคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครอง คสช. ซึ่งประกอบด้วยเหล่าทัพต่างๆ และตำรวจได้ปิดกั้นการแสดงออกอย่างกว้างขวาง ควบคุมตัวบุคคลต่างๆ มากกว่า 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการตั้งข้อหาความผิด ห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ และออกคำสั่งที่มีลักษณะกดขี่ข่มเหงต่อนักกิจกรรม และกลุ่มรากหญ้า มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย โดยระบุว่า ประกาศ หรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติทั้งหมดของ คสช. ตั้งแต่ที่มีการยึด และควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดิน "ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด"

แบรด อดัมส์ กล่าวว่า "คำกล่าวอ้างของ คสช.ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง และการปกครองโดยพลเรือนนั้นเป็นฉากบังหน้าให้คณะทหารควบคุมอำนาจต่อไป" "โดยการกระชับอำนาจการควบคุมมากขึ้น บรรดานายพลกำลังทำผิดคำสัญญาที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อเผด็จการ"

 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.