(กรุงเทพฯ) –ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในรายงานที่เผยแพร่วันนี้ว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีประสบการณ์ในการให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยหลายล้านคนมานานหลายทศวรรษ แต่โยบายของประเทศไทยเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยทำให้คนเหล่านั้นเสี่ยงต่อการถูกปฏิบัติตามอำเภอใจ และการละเมิดสิทธิ์
รายงานความยาว 143 หน้า เรื่อง “เฉพาะหน้า และไม่เพียงพอ: การปฏิบัติของประเทศไทยต่อผู้ลี้ภัย และผู้ขอลี้ภัย” พบว่า นโยบายผู้ลี้ภัยของประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนกฎหมาย และทำให้ผู้ลี้ภัยทุกสัญชาติถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกคุมขังโดยปราศจากความจำเป็น และถูกเนรเทศ รายงานฉบับนี้ให้ความสำคัญกับความทุกข์ยากของผู้ลี้ภัยชาวพม่า ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน โดยได้ตรวจสอบการปฏิบัติ และเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในค่ายตามแนวชายแดนไทย-พม่า และผู้ขอลี้ภัยชาวพม่าที่อาศัยอยู่นอกค่าย ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นผู้ลี้ภัย รายงานฉบับนี้ยังศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศพม่าต่อโอกาสที่จะมีการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศ และอุปสรรคในการแก้ไขสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อ
บิล เฟรลิค ผู้อำนวยการโครงการผู้ลี้ภัยของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า “ประเทศไทยให้ทางเลือกที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ถูกจำกัดบริเวณให้อยู่แต่ในค่ายผู้ลี้ภัยในพื้นที่ห่างไกล หรือไม่ก็เลือกที่จะทำงาน และอาศัยอยู่นอกค่ายโดยปราศจากการคุ้มครองไม่ให้ถูกจับกุม และเนรเทศ” “ทางการไทยมีความอดเพียงเล็กน้อยต่อผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่นๆ และบางครั้งก็จับกุม และคุมขังคนเหล่านั้นอย่างไม่มีกำหนด”
ประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสถานะภาพผู้ลี้ภัยพ.ศ. 2494 และไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย หรือกระบวนการที่ใช้งานได้เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ขอลี้ภัยประเทศไทยถือว่า ผู้ลี้ภัยทุกสัญชาติที่อาศัยอยู่ของค่ายผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่กำหนดไว้นั้นเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศโดยผิดกฏหมาย
รัฐบาลไทยได้ขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยร้อยละ 60 ของประชากร 140,000 คนในค่ายผู้ลี้ภัยเก้าแห่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า และให้การคุ้มครองเพียงเล็กน้อยต่อผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และอาศัยอาศัยอยู่ในค่ายเหล่านั้น รัฐบาล ซึ่งทำการขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยไม่กี่กรณีนับตั้งแต่ปี 2549 ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนประชากรในค่ายที่เหลืออีกร้อยละ 40 ทำให้คนเหล่านั้นตกอยู่ในสภาวะเสี่ยง
ชาวพม่าที่อาศัยอยู่นอกค่ายจะถูกจับกุม และถูกเนรเทศทันที นอกเสียจากพวกเขาจะแสดงตัวว่าเป็นแรงงานต่างด้าว ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย และต้องเข้าสู่กระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายสูง ยุ่งยาก และมักจะมีการทุจริตเพื่อให้ได้สถานะแรงงานต่างด้าว แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการยอมรับตามกฏหมายจะได้วีซ่าสองปี ซึ่งต่ออายุได้หนึ่งครั้ง และหลังจากนั้นจะต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา ข้อกำหนดให้มีการส่งตัวกลับเช่นนี้ส่งผลทำให้ผู้ลี้ภัยไม่สามารถขอสถานะเป็นแรงงานต่างด้าวได้
เฟรลิคกล่าวว่า “ประเทศไทยควรจะให้โอกาสที่เป็นธรรมแก่ผู้ขอลี้ภัยทุกคนให้สามารถขอลี้ภัย และควรจะอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยสามารถเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆ และสามารถทำงานได้” “นโยบายเช่นนี้จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยสามารถเรียนรู้ทักษะต่างๆ และลดโอกาสที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ ขณะเดียวกันก็จะเปิดทางให้พวกเขามีส่วนทำประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของไทยด้วย”
ประเทศไทยไม่อนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติทำการตรวจสอบ และกำหนดสถานะของผู้ขอลี้ภัยจากประเทศพม่า ลาว และเกาหลีเหนือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้รับอนุญาตให้ออกเอกสารรับรองว่าผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่นๆ เป็น “บุคคลที่อยู่ในความห่วงใย” แต่เอกสารรับรองดังกล่าวไม่ได้เป็นการอนุญาตให้สามารถทำงานได้ และมีผลในการคุ้มครองเพียงเล็กน้อยเมื่อผู้ถือเอกสารเผชิญหน้ากับตำรวจบนถนน หรือในบ้านของพวกเขา
ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า พัฒนาการในประเทศพม่าอาจจะมีผลต่อนโยบายผู้ลี้ภัยของประเทศไทย หลังจากความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ และการกดขี่ที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษ ความเปลี่ยนแปลงเมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงเบื้องต้นระหว่างรัฐบาลพม่า และกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธเกือบทั้งหมด เปิดโอกาสความเป็นไปได้ว่า ผู้ลี้ภัยชาวพม่าในค่ายตามแนวชายแดนไทย-พม่าจะสามารถเดินทางกลับบ้านได้ แต่อุปสรรถสำคัญยังคงมีอยู่ นั่นคือ การขาดข้อตกลงทางการเมืองที่แน่นอนชัดเจน กับระเบิด และการที่รัฐบาลพม่าปฏิเสธไม่ให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติสามารถปฏิบัติหน้าที่พื้นที่ชายแดนฝั่งประเทศพม่า
เฟรลิคกล่าวว่า “ต้องยกย่องประเทศไทยที่เฝ้ารอดูสถานการณ์ในประเทศพม่าว่าจะมีพัฒนาการอย่างไร และไม่มีท่าทีที่จะผลักดันให้ส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวพม่ากลับประเทศอย่างเร่งรีบ” “ดังนั้น ขณะนี้จึงเป็นจังหวะที่ดีสำหรับทางการไทยที่จะคิดอย่างสร้างสรรค์ และมียุทธศาสตร์ว่าจะเตรียมผู้ลี้ภัยให้มีความพร้อมต่อการส่งกลับอย่างปลอดภัย และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพม่าในที่สุด”
ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า นโยบายของประเทศไทยที่จำกัดไม่ให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆ และห้ามไม่ให้พวกเขาทำงานได้ทำให้เกิดปัญหาสังคม นโยบายนี้ทำให้มีความเป็นไปได้น้อยที่ผู้ลี้ภัยจะสามารถเตรียมตัวเพื่อกลับเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างสำเร็จเมื่อพวกเขาเดินทางกลับประเทศ
ค่ายส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาห่างไกลที่เข้าถึงได้ด้วยถนนลูกรังเท่านั้น ค่ายบางแห่งก็อยู่ในสภาพแออัดอย่างมาก และความช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร และที่พักอาศัย ก็ถูกลดปริมาณลง เพราะผู้บริจาคจากนานาชาติหันเหความสนใจไปที่โครงการภายในประเทศพม่าแทน การแยกตัวอยู่โดดเดี่ยวของค่ายผู้ลี้ภัยยังส่งผลให้เกิดภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบ และการถูกละเมิดสิทธิ์โดยจากเจ้าหน้าที่ของจากรัฐบาลไทยที่ได้รับมอบหมายมาให้คุ้มครองผู้ลี้ภัยซึ่งดำเนินไปโดยไม่ต้องรับโทษ
ความกลัวความไม่แน่นอนและความรู้สึกไร้อำนาจส่งผลให้ผู้ลี้ภัยในค่ายมีทัศนคติที่ปล่อยให้เป็นเรื่องของชะตากรรมว่าจะมีความยุติธรรมให้แก่พวกเขาหรือไม่
ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งกล่าวว่า“เราอยู่ในแผ่นดินไทยดังนั้นเราต้องจำยอม” “เราไม่สามารถแสดงความเห็นเราต้องอดทน และยอมจำนนถ้าเราพูดมากเกินไปโซ่ที่คล้องเราอยู่จะยิ่งรัดแน่นมากขึ้น”
ผู้ลี้ภัยที่มีการศึกษา และมีทักษะด้านต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งครู และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่น ทำให้ประชากรที่เหลืออยู่ในค่ายมีเครือข่ายการสนับสนุนทางสังคม และทักษะในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ลดน้อยลง ข้อจำกัดในเรื่องการเคลื่อนย้ายที่ดำเนินมาหลายปีรวมทั้งการห้ามไม่ให้มีสิทธิในการทำงานและการพึ่งพิงความช่วยเหลือจากภายนอกส่งผลทำให้ผู้ที่พำนักในค่ายจำนวนมากเผชิญกับการละเมิดสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัวความซึมเศร้าปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาสังคมอื่นๆ
นโยบายของประเทศไทยไม่ยอมรับแนวคิดที่จะให้ชาวพม่าที่อาศัยอยู่นอกค่ายมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย ทางการไทยถือว่า ผู้ลี้ภัยที่ออกจากค่ายเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย และจะต้องถูกจับกุม ตำรวจ ทหาร หรือเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนที่จับกุมผู้ลี้ภัยได้ที่นอกค่ายจะส่งตัวพวกเขากลับไปในค่ายภายหลังจากที่บังคับใช้แรงงาน หรือเรียกรับสินบนแล้ว หรือมิฉะนั้นก็จะส่งตัวพวกเขาไปยังศูนย์กักกันคนต่างด้าวของสำนักงานตัวคนเข้าเมืองก่อนที่จะเนรเทศกลับประเทศพม่า
ผู้ลี้ภัยบางคนบอกฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ถูกเจ้าหน้าที่ไทยทำร้ายร่างกายระหว่างการจับกุมนอกค่าย ชายชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยในค่ายแม่หละกล่าวว่า ตำรวจจับกุมเขาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 “พวกเขา [ตำรวจ] ขอเงิน...แต่พอผมบอกว่า ‘ผมไม่มีเงิน’ หนึ่งในนั้นก็ทุบผมที่หลัง และที่ไหล่สองครั้ง และเตะผมอีกหนึ่งครั้ง...หลังจากนั้นพวกเขาก็ค้นกระเป๋าผมเพื่อหาเงิน พวกเขาเรียกเงิน 2,000 บาท แต่ผมไม่มีเงินให้ เมื่อเขาเห็นบัตรประจำตัวที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติออกให้ผม พวกเขาก็ริบบัตรนั้นไป”
ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ประเทศไทยควรทำงานร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเพื่อสร้างระบบคัดกรอง และขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยอย่างเป็นธรรม และโปร่งใส รัฐบาลไทยควรร่วมมือกับหัวหน้าผู้ลี้ภัย องค์การพัฒนาเอกชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และผู้บริจาคความช่วยเหลือในการที่จะดำเนินการอย่างเป็นระเบียบเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบของค่ายผู้ลี้ภัยให้เป็น “ค่ายเปิด” ที่ช่วยทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถพึ่งตัวเองได้ และเตรียมความพร้อมให้กับผู้ลี้ภัยในการที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพม่าเมื่อสถานการณ์ปลอดภัยพอที่จะเดินทางกลับประเทศ
ผู้บริจาคความช่วยเหลือบางราย โดยเฉพาะจากยุโรป ได้หันเหความช่วยเหลือไปยังสิ่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์สภาพความเป็นอยู่” เพื่อพัฒนาทักษะในการดำรงชีวิต และทำงานภายนอกค่ายให้กับผู้ลี้ภัย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า แนวทางความช่วยเหลือดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อผู้ลี้ภัยได้รับอนุญาตให้ออกไปทำงานนอกค่าย
เฟรลิคกล่าวว่า “ทางการไทยควรรับประกันว่าผู้ลี้ภัยทุกคน รวมทั้งที่อาศัยอยู่ในค่าย จะสามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมของไทยได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งตำรวจ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ขูดรีด และละเมิดสิทธิ์ของผู้ลี้ภัยจะต้องถูกลงโทษ หรือดำเนินคดีอย่างเหมาะสม” “นโยบายที่ให้ผ็ลี้ภัยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขา และการพัฒนาทักษะต่างๆ จะไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะสั้น แต่ยังจะช่วยปูทางไปสู่การเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ และยั่งยืน โดยผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจะความรู้สึกที่ดีต่อประเทศไทยหลังจากที่พวกเขากลับบ้านไปแล้ว”
ชาวพม่าที่ถูกจับกุมนอกค่ายมักจะถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์กักกันคนต่างด้าวของสำนักงานตัวคนเข้าเมืองเป็นระยะเวลาตั้งแต่ไม่กี่วันจนถึงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่จะถูกเนรเทศ หรือปล่อยตัว แต่ทางการไทยไม่ค่อยใช้งบประมาณของรัฐบาลในการเนรเทศผู้ที่มาจากประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย โดยจะคุมขังคนเหล่านั้นไว้ไปเรื่อยๆ จนกว่าญาติของพวกเขาจะหาตั๋วเครื่องบินมาให้ได้ คนต่างด้าวที่ไม่มีเงิน หรือผู้ลี้ภัยที่ไม่เต็มใจจะกลับประเทศ เพราะกลัวการประหัตประหารอาจต้องถูกกักขังเป็นระยะเวลานาน บางครั้งก็หลายปี ที่ศูนย์กักกันคนต่างด้าวของสำนักงานตัวคนเข้าเมือง ถึงแม้ศูนย์ดังกล่าวจะไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการคุมขังระยะยาวก็ตาม
ผู้ลี้ภัยชาวเนปาลคนหนึ่งในศูนย์กักกันคนต่างด้าวของสำนักงานตัวคนเข้าเมืองบอกฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ถึงแม้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติจะรับรองสถานะผู้ลี้ภัยของเขา แต่เขาก็ยังถูกคุมขังมานานสามปีเก้าเดือนแล้ว
คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงนรก นี่เป็นส่วนหนึ่งของนรก...ผมอยู่รวมกับคนอีก 80 คนในห้อง บางครั้งก็มีคนมากถึง 150 คน แต่มีส้วมแค่สามห้อง ที่นี่มีปัญหาตลอดเวลา...ถ้าคุณไม่ทำตามกฎ คุณจะถูกใส่กุญแจมือนานหนึ่งสัปดาห์ สองสัปดาห์...เราไม่มีโทรศัพท์...ที่จะได้รับข้อมูลจากข้างนอก
รัฐบาลไทยควรให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสถานะภาพผู้ลี้ภัย2494 หรือพิธีสารเกี่ยวกับสถานะภาพผู้ลี้ภัย2510และออกกฏหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเพื่อปฏิบัติตามพันธะภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว รวมทั้งจัดตั้งระบบการพิจารณารับลี้ภัยอย่างเป็นธรรม ประเทศไทยควรเกณฑ์การพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัยที่เหมือนกันแก่คนทุกสัญชาติ และมีความสอดคล้องกันกับคำนิยามระหว่างประเทศเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ซึ่งรวมถึงผู้ที่รบหนีภัยจากการสู้รบ ประเทศไทยควรปล่อยตัวผู้ลี้ภัยที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติรับรองออกจากที่คุมขังโดยทันที และยุติวิธีการการควบคุมตัวอย่างไม่มีการกำหนดเพื่อจะกดดันให้ครอบครัวของผู้ต้องขังชำระค่าใช้จ่ายในการเนรเทศ
ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า องค์การระหว่างประเทศ และผู้บริจาคควรให้อาหาร และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ แก่ผู้ลี้ภัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง หรือผู้ที่ยังต้องการความช่วยเหลือระหว่างการเตรียมความพร้อมที่จะพึ่งพาตัวเอง ทางการไทยควรรับรองโดยทันทีว่า ผู้ลี้ภัยทุกคน รวมทั้งที่อาศัยอยู่ในค่าย จะสามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมของไทยได้อย่างเต็มที่ และตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ ที่ขูดรีด และละเมิดสิทธิ์ของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และคนต่างด้าวจะต้องถูกลงโทษ หรือดำเนินคดี