Skip to main content

Human Rights Watch letter to Prime Minister Yingluck Regarding Your Government's Human Rights Agenda

15 สิงหาคม 2554

นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ทำเนียบรัฐบาล
ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต
กรุงเทพฯ 10300 ประเทศไทย

 

เรื่อง วาระด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐบาล

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ขอแสดงความยินดีต่อชัยชนะในการเลือกตั้งของท่าน และการที่ท่านรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

ฮิวแมนไรท์วอทช์เป็นองค์การเอกชนที่ตรวจสอบ และรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก โดยเราได้รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเกือบสามทศวรรษ 

ในระหว่างที่ท่านกำลังเตรียมร่างคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภานั้น เราขอเรียกร้องในท่านระบุแนวทางแก้ไขประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญๆ ในประเทศไทย ดังต่อไปนี้

การรับผิดต่อความรุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกันกับเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง

ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 ประเทศไทยเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และต่อต้านรัฐบาลทหารเมื่อปี 2535 โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 2,000 คน การวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า ปัจจัยที่นำไปสู่การสูญเสียดังกล่าวประกอบด้วย การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลใช้กำลังในระดับที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตอย่างเกินกว่าเหตุ และปราศจากความจำเป็น, การโจมตีที่เกิดขึ้นจากกองกำลังติดอาวุธภายในแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เสื้อแดง”, และการที่แกนนำบางคนของ นปช. ปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง (ดูรายละเอียดในรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ “Descent into Chaos” (https://www.hrw.org/reports/2011/05/03/descent-chaos) อย่างไรก็ตาม ขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมประท้วง และสมาชิกระดับต่างๆ ของนปช. ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดร้ายแรง กลับปรากฏว่า มีความคืบหน้าน้อยมากในการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และตำรวจในการดำเนินคดีกับทหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

เราขอเรียกร้องให้ขั้วการเมืองฝ่ายต่างๆ ให้การสนับสนุน และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการสอบสวนที่มีความน่าเชื่อถือ, เป็นอิสระ และไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยจำเป็นจะต้องนำตัวผู้ที่รับผิดชอบมาลงโทษเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังจะช่วยยุติวงจรของความรุนแรง และวัฒนธรรมการไม่รับผิดที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในประเทศไทย 

รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่สอบสวน และนำเสนอรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2553อย่างไรก็ตาม คอป. กลับไม่มีอำนาจในการออกหมายเรียกพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการซักถามพยานที่ไม่เต็มใจที่จะร่วมมือด้วย โดยเฉพาะตำรวจ และทหาร นอกจากนี้ คอป. ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับแผนการจัดกำลัง และปฏิบัติการ, รายงานการชันสูตรศพ, ปากคำของพยาน, ภาพถ่าย และวิดีโอจากกองทัพ และ ตำรวจ

เรายินดีที่ท่านกล่าวระหว่างการรณรงค์หาเสียง และภายหลังการเลือกตั้งว่า รัฐบาลของท่านจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการสอบสวนของ คอป. ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรองดอง เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านมอบอำนาจในการออกหมายเรียกพยานหลักฐานแก่ คอป. และจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพของ คอป. พร้อมกันนั้น รัฐบาลของท่านควรรับรองว่า กองทัพบก และเหล่าทัพต่างๆ, ตำรวจ และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับ คอป. และกระบวนสอบสวนของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของรัฐสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นอกจากนี้ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านอนุญาตให้ คอป. สามารถรับการสนับสนุนด้านต่างๆ อย่างเต็มที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ของสหประชาชาติ, รัฐบาลต่างชาติ และองค์การสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย และต่างประเทศ

การสอบสวนของ คอป. พบว่า มีคนนับร้อยที่ถูกควบคุมตัวเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงทางการเมืองเมื่อปีที่แล้วนั้น โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงอย่างเหวี่ยงแห และปราศจากหลักฐานสนับสนุนที่เพียงพอ อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทางการเมืองของรัฐบาลชุดที่แล้ว บุคคลเหล่านั้นจำนวนไม่ได้รับการประกันตัว รัฐบาลของท่านควรเร่งดำเนินการตรวจสอบสถานของบรรดาผู้ที่ถูกควบคุมตัวดังกล่าว และรับรองว่า พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม และมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิในการมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย และสิทธิในการได้รับการประกันตัว และการปล่อยตัวชั่วคราวในกรณีที่ไม่เหตุผลที่เชื่อได้ว่า บุคคลเหล่านนั้นจะหลบหนี, แทรกแซงพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายต่างๆ

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความสำเร็จในการสอบสวนอย่างจริงจังเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกระทำความผิดทางอาญาของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เสื้อเหลือง” ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อปี  2551 การดำเนินคดีกับแกนนำ และสมาชิกของ พธม. มีความล่าช้า โดยหลายคดียังไม่มีการไต่สวนในศาล เช่นเดียวกันกับความล่าช้าในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมประท้วงของ พธม. ขณะเดียวกันรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีความคืบหน้าในการเอาผิดกับนักการเมืองที่ถูกระบุว่า เป็นผู้รับผิดชอบสั่งการให้ตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการสลายผู้ชุมนุมประท้วง พธม. ที่บริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้ท่านจัดให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ, โปร่งใส และไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกี่ยวกับความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นระหว่างความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปี 2551 ด้วย

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการส่งเสริมความยุติธรรม และความปรองดองทางการเมือง รัฐบาลไทยควรจัดให้มีการชดเชย และเยียวยาอย่างรวดเร็ว, เป็นธรรม และเพียงพอแก่เหยื่อ และครอบครัวของพวกเขาจากกรณีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง, การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกระทำความผิดอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะเดียวกันก็ควรจะต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เสียชีวิต, ได้รับบาดเจ็บ หรือสูญเสียทรัพย์สินเนื่องจากการชุมนุมประท้วงด้วย         

ประการสุดท้าย เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการปฏิรูปหน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถรับมือกับการชุมนุมประท้วงได้อย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลัง และอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ การปฏิรูปดังกล่าวควรจะต้องครอบคลุมถึงการจัดการฝึกอบรม และการฝึกทบทวนเป็นระยะๆ เพื่อให้ตำรวจสามารถรับผิดชอบสถานการณ์ความมั่นคงภายในประเทศ เช่น การควบคุมเหตุการณ์จลาจล และการชุมนุมประท้วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันก็จะต้องดำเนินการเอาผิดกับให้เจ้าหน้าที่คนใดก็ตามที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างปฏิบัติการสลายการชุมนุมประท้วง      

ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จังหวัดปัตตานี, ยะลา และนราธิวาสที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยกลายเป็นฉากของความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธอย่างเหี้ยมโหด ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 4,000 คน โดยประมาณร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือน ทั้งไทยพุทธ และมลายูมุสลิม กลุ่มนักรบเพื่อเอกราชปัตตานี (Pejuang Kemerdekaan Patani) ในเครือข่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional-Coordinate) ก่อเหตุโจมตี และสังหารพลเรือนเป็นประจำ จนสร้างความหวาดกลัวแผ่ไปในวงกว้าง รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เรื่อง “No One Is Safe” (https://www.hrw.org/en/reports/2007/08/27/no-one-safe)ระบุว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือขับไล่ชาวไทยพุทธ, ควบคุมชาวมลายูมุสลิม และบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของทางการไทย

ขณะเดียวกัน ปฏิบัติการของรัฐบาลในการต่อต้านกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก  เช่น การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม, การบังคับให้สูญหาย, การคุมขังโดยพลการ และการทรมาน รวมทั้งการที่บุคลากรบางส่วนในกองกำลังฝ่ายความมั่นคง และหน่วยอาสาสมัครของรัฐบาลปฏิบัติการแบบตาต่อตา-ฟันต่อฟันเพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่กลับยังไม่มีนำตัวเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาดำเนินคดีลงโทษได้สำเร็จแม้แต่รายเดียว จนถึงขณะนี้ รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาล้มเหลวในการแก้ไขคดีเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุไว้ในรายงานเรื่อง “It Was Like Suddenly My Son No Longer Existed” (https://www.hrw.org/reports/2007/03/19/it-was-suddenly-my-son-no-longer-e...)

พระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีการบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2548 ปกป้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่งคง และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของรัฐไม่ให้ถูกลงโทษจากการกระทำส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจฉุกเฉิน ปัญหาที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ขอรัฐยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และปราศจากการรับผิดนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนำมาใช้อ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุโจมตีต่างๆ  และการรับสมาชิกใหม่เข้าร่วมขบวนการ

เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลของท่านควรจัดทำยุทธศาสตร์ความมั่นคงอย่างรอบด้านที่สอดคล้องกับกฏหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และด้านมนุษยธรรม ขณะเดียวกันก็จำเป็นที่รัฐบาลของท่านจะต้องสถาปนาอำนาจที่ชอบธรรมของฝ่ายพลเรือนในการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพ และหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการต้องมีการสอบสวนอย่างรวดเร็ว, เป็นอิสระ และไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเมื่อพบตัวผู้กระทำความผิดก็จะต้องดำเนินการลงโทษ ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะมียศ หรือตำแหน่งอะไรก็ตาม

เพื่อตอบสนองต่อข้อร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัว รัฐบาลของท่านควรจะรับรองว่า บุคคลทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวโดยตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนั้นจะถูกนำตัวไปไว้ในสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ และจะต้องไม่ถูกซ้อมทรมาน หรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายปราศจากมนุษยธรรม หรือถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวควรจะได้รับอนุญาตให้สามารถติดต่อกับครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ และสามารถติดต่อกับทนายความได้อย่างไม่มีอุปสรรคขัดขวางใดๆ นอกจากนี้ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านเร่งลงนาม และให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย และพิธีสารรับเลือกของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน รวมทั้งควรจะต้องดำเนินการให้กฎหมาย และมาตรการปฏิบัติต่างๆ ของประเทศไทยมีความสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศดังกล่าวด้วย   

ขณะที่ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินไปเช่นนี้ รัฐบาลของท่านควรจัดให้มีการเยียวยาอย่างรวดเร็ว, เป็นธรรม และเพียงพอแก่เหยื่อ และครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลของท่านยังควรจะให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบด้วย

นโยบายปราบปรามสิทธิมนุษยชนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

เราเห็นด้วยว่า การเสพ และการค้ายาเสพติดเป็นปัญหาร้ายแรงในประเทศไทย แต่เราร้องขอให้ท่านอย่านำเอานโยบายที่ไร้มนุษยธรรมของรัฐบาลชุดก่อนๆ มาใช้ เราขอแนะนำให้ท่าน และรัฐบาลของท่านหลีกเลี่ยงที่จะกำหนดเป้าหมายในการ “กำจัด” ยาเสพติดให้หมดสิ้นไปภายในหนึ่งปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดในโลกก็ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง การกดดันเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นต้องตอบสนองต่อเส้นตายที่ไม่สมเหตุสมผลดังกล่าวจะนำไปสู่การฆาตกรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ดังที่ฮิวแมนไรท์วอทช์บันทึกไว้ในรายงานเกี่ยวกับนโยบาย “สงครามต่อต้านยาเสพติด ปี 2546” เรื่อง “Not Enough Graves” (https://www.hrw.org/reports/2004/07/07/not-enough-graves)  

ในชั้นต้น รัฐบาลของท่านควรจะรับรองว่า นโยบายด้านการปราบปรามยาเสพติดจะต้องไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คณะกรรมการอิสระตรวจสอบศึกษาวิเคราะห์การกำหนดนโยบาย และปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด (คตน.) ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 พบว่า การกำหนดนโยบาย และการประเมินผล “สงครามยาเสพติด” ถูกผลักดันจากเป้าหมายทางการเมืองมากกว่าที่จะยึดกรอบการเคารพสิทธิมนุษยชน และกระบวนการนิติรัฐ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านดำเนินการตามคำแนะนำของ คตน. ด้วยการจัดให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการที่มีคนถูกฆาตกรรมไปมากถึง 2,819 คนในระหว่างการทำ “สงครามต่อต้านยาเสพติด” เมื่อปี 2546 เพื่อที่จะนำตัวคนผิดมาลงโทษ และยุติวงจรของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการไม่รับผิดที่ดำรงอยู่ในปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด นอกจากนี้ รัฐบาลของท่านยังควรที่จะมีนโยบายเกี่ยวกับการชดเชยอย่างรวดเร็ว, เป็นธรรม และเพียงพอแก่เหยื่อ และครอบครัวของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในบริบทของปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด

นอกจากนี้ เรายังมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้วเกี่ยวกับการบังคับให้ผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดในศูนย์ที่ควบคุมโดยกองทัพ และกระทรวงมหาดไทย โดยแต่ละปีมีคนประมาณ 10,000 ถึง 15,000คนถูกส่งตัวเข้าไปรับการบำบัดการเสพยาเสพติดในศูนย์ที่ใช้วิธีการออกกำลังแบบการฝึกทหารเป็นหลัก คนจำนวนมากที่มีอาการลงแดงระหว่างอยู่ที่ศูนย์บำบัดดังกล่าวไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ และคนจำนวนมากหวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่ถูกปล่อยตัวออกจากศูนย์บำบัด เราขอแนะนำให้รัฐบาลของท่านดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการลดความหวาดกลัวของผู้ใช้ยาเสพติดในการที่จะเข้ารับบริการสาธารณสุขด้วยการประกาศว่า ผู้ใช้ยาเสพติดที่ไปแสดงตัวขอรับบริการดังกล่าวจะไม่ถูกดำเนินคดีลงโทษ หรือบังคับให้เข้ารับการบำบัดโดยไม่สมัครใจ นอกจากนี้ รัฐบาลของท่านยังควรจะยกเลิกนโยบายใดๆ ที่มีผลในทางที่กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นจับกุมผู้ที่ต้องสงสัยว่าใช้ยาเสพติดเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก

เสรีภาพในการแสดงเป็นสิ่งจำเป็นต่อกระบวนการส่งเสริมประชาธิปไตย และการปรองดองทางการเมืองในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ได้มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ และคัดค้านรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ  นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา และเพื่อตอบโต้ต่อการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลโดย นปช. เมื่อปีที่แล้ว ทางการไทยได้ยังคับใช้อำนาจฉุกเฉินปิดเว็บไซต์มากกว่า 1,000 เว็บไซต์, สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม, สถานีโทรทัศน์ออนไลน์, สิ่งพิมพ์ และสถานีวิทยุชุมชนมากกว่า 40 สถานี ถึงแม้จะมีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินไปเมื่อเดือนธันวาคม 2553 รัฐบาลชุดที่แล้วก็ยังคงมุ่งปิดกั้นสื่อต่างๆ ของ นปช. ต่อไป ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ตำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการวิทยุโทรทัศน์ (กสทช.) บุกปิดสถานีวิทยุชุมชนในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง 13 สถานี เนื่องจากกองทัพบกร้องเรียนว่า สถานวิทยุชุมชนเหล่านั้นเผยแพร่รายการที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

ทางการไทยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา (ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์) เป็นเครื่องมือเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ต และดำเนินคดีกับผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับ นปช.  โดยกล่าวหาว่า บุคคลเหล่านั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเมินว่า มีคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่า 400 คดีในปี 2553 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้านั้นมากกว่าสามเท่า (164 คดี)

ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาว่า กระทำความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มักจะไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และจะถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำนานเป็นเวลานานหลายเดือนระหว่างที่รอการพิจารณาคดี โดยมีหลายกรณีที่การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างปิดลับ และมีการพิพากษาลงโทษอย่างรุนแรงในหลายกรณี เช่น ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ถูกตัดสินจำคุก 18 ปี และธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี

รัฐบาลของท่านควรยุติมาตรการปิดกั้นสื่อทั้งหมดที่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทันที และดำเนินการแก้ไขพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ เรายังขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อกำหนดให้ทั้งการฟ้องร้อง และการดำเนินคดีจะสามารถกระทำได้โดยภาครัฐเท่านั้น เพราะการปล่อยให้ประชาชนทั่วไปสามารถกล่าวหาบุคคลอื่นว่า กระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้นั้นเปิดโอกาสให้มีการนำเอากฏหมายมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และยังเป็นเรื่องยากที่เจ้าหน้าที่จะปฏิเสธไม่รับดำเนินการ เนื่องจากกลัวว่า ตนเองจะกลายเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาไปเสียเองว่า ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์   

การคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน  

การสังหารผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมในภาคส่วนต่างๆ ของประชาสังคมเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของประเทศไทย โดยตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา มีผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมถูกฆาตกรรมไปแล้วมากกว่า 20 คน แต่การสอบสวนคดีส่วนใหญ่กลับเผชิญอุปสรรคจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ต่อเนื่อง และไม่มีประสิทธิภาพของตำรวจ, ความล้มเหลวในการคุ้มครองพยาน  และความล้มเหลวในการเอาชนะอิทธิพลทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับคดีเหล่านี้ แม้แต่คดีร้ายแรงที่ถูกมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ไม่มีความคืบหน้าในการนำตัวคนร้ายมาดำเนินคดีลงโทษ เช่น คดีพระสุพจน์ สุวโจ นักอนุรักษ์ป่าที่ถูกแทงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548  และคดีทนายสมชาย นีละไพจิตรที่บังคับให้สูญหายโดยตำรวจกลุ่มหนึ่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ภายหลังจากที่เขาเปิดโปงการซ้อมทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ โดยตำรวจในปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

รัฐบาลของท่านควรปฏิบัติตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนด้วยการแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนต่อสาธารณะว่า จะคุ้มครองประชาชนที่อุทิศตนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน  

การคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย และการป้องกันไม่ให้มีการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย

ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ปี 2494และพิธีสาร ปี 2510 รวมทั้งยังไม่มีกฏหมายภายในประเทศเกี่ยวผู้ลี้ภัย ทางการไทยละเมิดข้อห้ามระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย และผู้ที่แสวงหาการคุ้มครองไปยังประเทศที่พวกเขาอาจจะเผชิญกับการถูกประหัตประหาร ดังเช่นกรณีที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุไว้ในรายงานเรื่อง “Out of Sight, Out of Mind” (https://www.hrw.org/reports/2004/02/24/out-sight-out-mind)

ถึงแม้จะมีการประท้วงอย่างรุนแรงจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ และเลขาธิการสหประชาชาติ แต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 กองทัพบกก็บังคับส่งตัวชาวลาวม้ง 4,689 คน ซึ่งรวมถึงผู้ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติกำหนดให้เป็น “บุคคลในความห่วงใย” จำนวน 158 คน กลับไปยังประเทศลาว นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2553 ทางการไทยก็ส่งชาวพม่านับพันคนที่หลบหนีภัยจากการสู้รบที่บริเวณพื้นที่ชายแดนกลับไปยังประเทศพม่าก่อนที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติจะสามารถตรวจสอบ และประเมินว่า บุคคลเหล้านั้นต้องการเดินทางกลับอย่างสมัครใจหรือไม่

ในสมัยรัฐบาลของอภิสิทธิ์ ทางการไทยไม่ได้ปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะจัดให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อปี 2551, 2552 และ 2554 ซึ่งกองทัพเรือผลักดันเรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาจากประเทศพม่า และประเทศบังคลาเทศกลับออกไปยังน่านน้ำสากล จนเกิดข้อกล่าวหาว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ประเทศไทยไม่อนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติสามารถดำเนินการตรวจสอบสถานะของชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์กักกันของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองว่า บุคคลเหล่านั้นควรจะได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยหรือไม่ และในขณะเดียวกัน ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ก็ถูกควบคุมตัวอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากรัฐบาลพม่าปฏิเสธไม่ยอมรับว่า พวกเขาเป็นพลเมืองของประเทศพม่า (ดังนั้น ทางการไทยจึงไม่สามารถส่งชาวโรฮิงญาตัวกลับไปยังประเทศพม่า)

เหตุการณ์ข้างต้นเหล่านั้นทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักกันว่า เป็นประเทศที่คุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัย เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านเคารพพันธะระหว่างประเทศเกี่ยวกับการไม่บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย โดยในเรื่องนี้ เรามีข้อเรียกร้องที่เฉพาะเจาะจงที่ขอให้รัฐบาลของท่านประกาศต่อสาธารณะว่า จะไม่บังคับผู้ลี้ภัยชาวพม่ามากกว่า 140,000 คนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนประเทศไทย-ประเทศพม่าให้ต้องเดินทางกลับไปยังประเทศพม่าอย่างไม่สมัครใจ นอกจากนี้ รัฐบาลของท่านยังควรที่จะรับรองว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติจะสามารถดำเนินการตรวจสอบสถานะของผู้ที่ขอความคุ้มครอง ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์กักกันของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ก่อนที่จะเนรเทศ หรือส่งตัวบุคคลเหล่านั้นกลับประเทศ นอกจากนี้ ในขณะที่ยังไม่มีกลไกของรัฐที่จะตรวจสอบประเมินคำขอลี้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลของท่านควรจะอนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติกลับเข้าทำหน้าที่ดังกล่าวตามอาณัติเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ลี้ภัย

ท้ายที่สุด เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ปี 2494และพิธีสาร ปี 2510ในทันที เพื่อให้เป็นการสอดรับกับภาระความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงของประเทศไทยในการคุ้มครองผู้ลี้ภัย

การส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว

แรงงานต่างด้าวจากประเทศพม่า, ประเทศกัมพูชา และประเทศลาวยังคงถูกละเมิดสิทธิโดยนายจ้าง, ตำรวจ และ เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีการนำตัวคนผิดมาลงโทษ ดังที่ปรากฏในรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เรื่อง “From the Tiger to the Crocodile” (https://www.hrw.org/en/reports/2010/02/23/tiger-crocodile)  ส่วนระบบการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวนั้นก็ถูกออกแบบมาไม่ดี และมีปัญหาในการนำไปปฏิบัติ จนทำให้แรงงานต่างด้านหลายแสนคนสูญเสียสถานะทางกฏหมาย นอกจากนี้ แรงงานต่างด้านที่เป็นผู้หญิงยังมีความเสี่ยงต่อความรุนแรงทางเพศ และการค้ามนุษย์ด้วย 

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านจัดให้มีการสอบสวนอย่างโปร่งใส, เป็นอิสระ และไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้น เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าวโดยตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ดังกล่าวควรที่จะมีอำนาจในการเรียกพยานหลักฐาน และรายงานผลการสอบสวนต่อสาธารณะ รวมทั้งยังควรจะสามารถเสนอแนะให้มีการดำเนินคดีอาญากับผู้ที่กระทำความผิด และเสนอแนะให้มีการแก้ไขกฎหมาย, ระเบียบ และนโยบายต่างๆ ที่ลิดรอน และละเมิดสิทธิของแรงงานต่างด้าว

เราขอเรียกร้องรัฐบาลของท่านให้ดำเนินมาตรการทุกอย่างที่จำเป็นต่อการยุติการซ้อมทรมาน และการเละมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ของแรงงานต่างด้านที่เกิดขึ้นระหว่างที่บุคคลเหล่านั้นถูกควบคุมตัว รวมทั้งรับรองว่าจะมีการสอบสวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีลงโทษ

รัฐบาลไทยควรแก้ไขมาตรา 88 และมาตรา 100 ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 เพื่ออนุญาตให้บุคคลทุกสัญชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน และสามารถได้รับการยอมรับทางกฎหมายว่าพวกเขามีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงาน  นอกจากนี้ยังควรจะมีการรับรองว่า การแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์นั้นจะเป็นไปอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หมายเลข 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม

การสนับสนุนคณะกรรมการของสหประชาชาติที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายในประเทศพม่าทำให้ผู้ลี้ภัย และแรงงานต่างด้าวจำนวนมากทะลักเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่รัฐบาลใหม่ของประเทศพม่าเข้าสู่ตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้ คือ การเคารพเสรีภาพในการแสดงออก, เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการชุมนุม, สถานการณ์เกี่ยวกับนักโทษการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาล และกองกำลังของชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่มีการสู้รบ รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เรื่อง “Dead Men Walking” (https://www.hrw.org/news/2011/07/12/burma-war-crimes-against-convict-porters)กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลพม่าบีบบังคับให้นักโทษคดีอาญาจำนวนหลายร้อยคนทำงานเป็นลูกหาบในหน่วยทหารในพื้นที่สู้รบในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ ยังมีการใช้ลูกหาบที่เป็นนักโทษเหล่านั้นให้ทำหน้าที่เป็น “โล่มนุษย์” ด้วยการบังคับให้เดินฝ่าเข้าไปบริเวณที่มีกับระเบิดฝังไว้อย่างหนาแน่น และเป็นเกราะป้องกันไม่ให้กองกำลังฝ่ายรัฐบาลพม่าถูกซุ่มโจมตี ลูกหาบเล่านี้ตกเป็นเหยื่อของการสังหารนอกเหนือกระบวนการยุติธรรม, การซ้อมทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในฐานะที่ที่ประเทศไทยเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดของประเทศพม่า และร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งยึดหลักการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ประเทสไทยจึงไม่สามารถนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ที่กำลังเลวร้ายลงในประเทศพม่าได้

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านแสดงท่าที่ที่แข็งขัน และชัดแจ้งในการสนับสนุนให้มีคณะกรรมการระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า เพื่อให้เกิดการรับผิดขึ้นในที่สุด โดยคณะกรรมการดังกล่าวควรสอบสวนรายงานเกี่ยวกับการละเมิดกฏหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และด้านมนุษยธรรมโดยทุกฝ่ายตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งหลายกรณีเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เราเชื่อว่า นอกจากการสอบสวนเช่นนี้จะช่วยสนับสนุน และคุ้มครองเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และยุติวงจรของการไม่รับผิดที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในประเทศพม่าแล้ว ยังจะเป็นการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน และการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในประเทศพม่าด้วย

จากประเด็นต่างๆ ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น รัฐบาลของท่านควรเร่งดำเนินการในเรื่องต่อไปนี่โดยด่วน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

 

  • ออกคำสั่งอย่างชัดเจน และเปิดเผยให้กองทัพ, ตำรวจ และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลรวมมืออย่างเต็มที่กับการสอบสวนรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

  • ผ่านมติคณะรัฐมนตรีที่มอบอำนาจในการออกหมายเรียกพยานหลักฐานแก่ คอป. และมอบทรัพยากรที่จำเป็นต่อการที่ คอป. จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพ

 

  • ประเมินสถานะของผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงของ นปช. และคดีที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับรองว่า บุคคลเหล่านั้นได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมตามหลักนิติรัฐ และมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยประกันตัว

 

  • ยุติมาตรการปิดกั้นสื่อทั้งหมดที่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทันที และประกาศนโยบายที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

 

เราเชื่อมั่นว่า ท่านจะพิจารณาข้อเสนอข้างต้น และให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาล โดยเรายินดีที่จะหารือกับท่านโดยตรง รวมทั้งให้คำปรึกษา และความช่วยเหลือต่างๆ เท่าที่จะสามารถทำได้ เราขอขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจพิจารณาความเห็นของเรา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการตอบสนองด้วยดีจากท่าน

ขอแสดงความนับถือ
แบรด อดัมส์
ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย
ฮิวแมนไรท์วอทช์

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.