Skip to main content

ประเทศไทย: ยกเลิก “พรก. ฉุกเฉิน”

กฏหมายเผด็จการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่ต้องรับผิด

(นิวยอร์ค) - ฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าวว่า รัฐบาลไทยยังคงใช้อำนาจฉุกเฉินลิดรอนสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ถึงแม้จะผ่านพ้นเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐมาได้ห้าเดือนแล้วก็ตาม

เมื่อวันที่ 7 เมษายน รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ และพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย เพื่อรับมือกับความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องตั้งข้อหาได้เป็นระยะเวลานาน ในสถานที่ ซึ่งไม่ใช่ที่สำหรับควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ โดยไม่มีมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัว รวมทั้งยังสามารถปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่ถูกควบคุมตัวเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการปิดกั้นสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงออกอย่างกว้างขวางอีกด้วย ทั้งนี้ กระทำส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นระหว่างที่บังคับใช้ พรก.ฉุกเฉินนั้น เจ้าหน้าที่จะมีภูมิคุ้มกันจากการต้องรับผิดทางอาญา, ทางแพ่ง และทางวินัย

โซฟี ริชาร์ดสัน รักษาการผู้อำนวยการแผนกเอเชียของฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าวว่า "ถ้าหากรัฐบาลไทยมีเหตุผลที่ชอบธรรมในการใช้ พรก.ฉุกเฉิน รัฐบาลไทยก็ควรจะนำเอาข้อเท็จจริงที่ชัดเจนมาแสดงต่อสาธารณะ" "แต่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยใช้อำนาจเผด็จการของ พรก.ฉุกเฉิน และละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้มีการชี้แจงเหตุผลที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด"

รัฐบาลต่ออายุการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม "เพื่อป้องกันเหตุการณ์รุนแรง หรือกิจกรรมผิดกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้น" และด้วยเหตุผลที่คลุมเครือเช่นนี้ รัฐบาลได้บังคับใช้ พรก.ฉุกเฉินต่อไปในกรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, ขอนแก่น, อุดรธานี และนครราชสีมา

จนถึงขณะนี้ รัฐบาลยังไม่ได้แสดงเหตุผลที่ชัดเจนในการระงับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามพันธะของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี โดยกติกาดังกล่าวกำหนดให้สถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องมีความร้ายแรงถึงขั้นที่ "คุกคามความอยู่รอดของชาติ" และกำหนดให้มาตรการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินจะต้อง "เป็นไปตามความจำเป็นของสถานการณ์อย่างเคร่งครัด"

รัฐบาลดำเนินการอย่างเป็นระบบในการใช้ พรก.ฉุกเฉินในการควบคุมบุคคลโดยไม่ได้ตั้งข้อหาได้เป็นระยะเวลานานถึง 30 วัน โดยใช้สถานที่ ซึ่งไม่ใช่ที่สำหรับควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ ฮิวแมนไรท์วอท์ชพบว่า บุคคลที่ถูกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สอบถาม, จับกุม, และควบคุมตัวนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแกนนำ และสมาชิกของ นปช. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการชุมนุมประท้วง แต่ยังรวมไปถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า เห็นอกเห็นใจ หรือสนับสนุน นปช. ด้วย ทั้งนี้ มีนักการเมือง, อดีตข้าราชการ, นักธุรกิจ, นักกิจกรรม, นักวิชาการ และผู้จัดวิทยุชุมชนนับร้อยคนที่ถูก ศอฉ. เรียกให้มารายงานตัว โดยบางคน เช่น อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ถูกนำไปควบคุมตัวที่ค่ายทหารทันทีที่เข้ารายงานตัวต่อ ศอฉ. นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ศอฉ. เรียกให้ผู้สื่อข่าว, ช่างภาพ และอาสาสมัครกู้ชีพจำนวนหนึ่งมารายงานตัว ภายหลังจากที่พวกเขาเปิดเผยว่าเห็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างปฏิบัติสลายการชุมนุมประท้วงของ นปช.

ผู้ที่ถูกจับกุม และควบคุมตัวภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน ไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลทบทวนสาเหตุของการถูกควบคุมตัว นอกจากนี้ พรก.ฉุกเฉินยังแตกต่างจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในแง่ที่ไม่มีการรับประกันสิทธิที่ผู้ถูกควบคุมตัวจะสามารถพบทนาย หรือครอบครัวได้ในทันที รวมทั้งยังไม่มีกลไกทางศาล และฝ่ายบริหารที่จะป้องกันการปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวอย่างไม่เหมาะสมอีกด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

ถึงแม้จะมีรายงานว่า มีประชาชนนับร้อยคนถูกควบคุมตัว และสอบสวนภายใต้ พรก.ฉุกเฉินในสถานที่ ซึ่งอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แต่จนถึงขณะนี้ ศอฉ. ยังไม่เปิดเผยข้อมูลว่า จริงแล้วๆ ผู้ที่ควบคุมตัว (ทั้งที่มีการตั้งข้อหา และไม่มีการตั้งข้อหา) นั้นมีจำนวนทั้งหมดเท่าใด และถูกควบคุมตัวไว้ที่ไหน โดยไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของคนเหล่านั้น, คณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของรัฐสภา, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีอดีตอัยการสูงสุด คณิต ณ นคร เป็นประธาน ก็ล้วนแต่ไม่ได้รับข้อมูลดังกล่าวจาก ศอฉ.

โซฟีกล่าวว่า "การขาดความโปร่งใสในการบังคับใช้อำนาจฉุกเฉินเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง" "เมื่อคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสืบสวนเกี่ยวกับความรุนแรงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญๆ เช่นนี้ คำสัญญาของรัฐบาลเกี่ยวกับความยุติธรรม และการรับผิด จึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ"

ฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าวว่า สถานที่ควบคุมตัวที่ไม่เปิดเผย และการที่เจ้าหน้าที่ได้รับภูมิคุ้มกันจากการรับผิดนั้นเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐบาลควรจะเปิดเผยว่า ผู้ที่ควบคุมตัวภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน (ทั้งที่มีการตั้งข้อหา และไม่มีการตั้งข้อหา) นั้นมีจำนวนทั้งหมดเท่าใด, ชื่ออะไร และถูกควบคุมตัวไว้ที่ไหน

ฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าวว่า สิทธิเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกนั้นมีความจำเป็นต่อระบอบประชาธิปไตย และยังช่วยรับประกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานด้านอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน รัฐบาลใช้ พรก.ฉุกเฉิน ลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน และล่วงละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก โดย ศอฉ. ได้ปิดกั้นเว็บไซต์มากกว่า 1,000 เว็บไซต์ รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม, รายการโทรทัศน์ออนไลน์, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร และวิทยุชุมชน ซึ่งถูกมองว่าใกล้ชิดกับ นปช. อีกเป็นจำนวนมาก ฮิวแมนไรท์วอท์ชเรียกร้องให้ รัฐบาลยกเลิกการปิดกั้นที่ดำเนินไปอย่างกว้างขวางดังกล่าวในทันที หรือมิฉะนั้นรัฐบาลก็ต้องดำเนินคดีอาญาอย่างเฉพาะเจาะจงต่อสื่อมวลชนที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง โดยการดำเนินคดีดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศ

โซฟีกล่าวว่า "การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกที่ดำเนินไปอย่างกว้างขวาง และต่อเนื่องในประเทศไทยนั้นได้จำกัดโอกาสที่จะเกิดความปรองดองอย่างยั่งยืนทางการเมือง และการฟื้นฟูประชาธิปไตย"

ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม ซึ่งเกิดจากผู้ชุมนุมประท้วง นปช. (หรือคนเสื้อแดง), กลุ่มติดอาวุธที่เชื่อมโยงกับ นปช., กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาล และกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 89 คน และได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 1,898 คน

ในการเสนอ "โรดแมป" เพื่อความปรองดองแห่งชาตินั้น นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ยืนยันต่อสาธารณะว่า จะดำเนินการให้มีการสอบสวนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซี่งเกิดขึ้นจากการกระทำของทุกฝ่าย ฮิวแมนไรท์วอท์ชเรียกร้องให้การสอบสวบสวนดังกล่าวครอบคลุมถึงความรุนแรงที่ผู้ชุมนุมประท้วง นปช. และกลุ่มติดอาวุธที่เชื่อมโยงกับ นปช. กระทำต่อเจ้าหน้าที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาล และพลเรือน ซึ่งรวมถึงบุคคลากรทางการแพทย์ และสื่อมวลชน ตลอดจนการทำลายทรัพย์สินของราชการ และเอกชน ขณะเดียวกันการสอบสวนดังกล่าวก็จำเป็นจะต้องตรวจสอบการตัดสินใจของกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลในการใช้กระสุนจริง และข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ อย่างไรก็ตาม มาตรา 17 ของ พรก.ฉุกเฉิน ให้ภูมิคุ้มกันอย่างกว้างขวาง ทำให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้อำนาจฉุกเฉินไม่ต้องรับผิดทางอาญา, ทางแพ่ง และทางวินัย  

โซฟีกล่าวว่า "การที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์เสนอ "โรดแมป" นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่จนถึงขณะนี้ กลับมีการปฏิบัติตามแผนดังกล่าวไม่มากนัก" "สิ่งสำคัญที่จะทำให้ "โรดแมป" เป็นมากกว่าการเล่นโวหาร คือ การยกเลิกการให้ภูมิคุ้มกับแก่เจ้าหน้าที่ภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่บั่นทอนโอกาสที่จะเกิดการปรองดอง, ความยุติธรรม และการรับผิด"

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.