Skip to main content

ประเทศไทย

กิจกรรมปี 2020

ภาพเด็กนักเรียนมัธยมชูสามนิ้วและปราศรัย ในการประท้วงที่มีเยาวชนเป็นแกนนำที่เชียงใหม่ ประเทศไทย 25สิงหาคม 2563 

© 2020 Supitcha Chailom

ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชนในปี  2563 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้มาตรการจำกัดสิทธิทางพลเรือนและการเมือง โดยเฉพาะเสรีภาพด้านการแสดงออก มีการจับกุมนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยโดยพลการ มีการวางแผนเพื่อยุบพรรคฝ่ายค้านขนาดใหญ่ โดยใช้เหตุผลที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19

การยุบพรรคอนาคตใหม่

ความพยายามที่แกว่งไปมาของประเทศไทยในการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยแบบพลเรือน ได้รับผลกระทบร้ายแรงเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ตามข้อหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง โดยกล่าวหาว่า พรรคได้รับเงินกู้อย่างผิดกฎหมายจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรค และลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปีต่อกรรมการบริหารพรรค 16 คน

ในเดือนตุลาคม คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ประกาศว่าจะ ดำเนินคดีอาญา กับธนาธรและกรรมการบริหารพรรคอีก 15 คน จากการละเมิดข้อห้ามการรับเงินบริจาคทางการเมืองเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี นอกจากนั้น ศาลยังสั่งให้ยึดเงินกู้จำนวน 181.3 ล้านบาทจากพรรค ซึ่งถือว่าเป็นการให้เงินกู้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด บรรดาอดีตสมาชิกรัฐสภาของพรรค และสมาชิกพรรคที่เหลืออยู่ ได้รวมตัวก่อตั้งพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 

การประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีเยาวชนเป็นแกนนำ

การประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีเยาวชนเป็นแกนนำ เริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนทั่วประเทศไทย ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่การระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่องในเดือนมีนาคม ส่งผลให้การประท้วงหยุดชะงักไป

ในช่วงที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ได้เกิดการประท้วงรอบใหม่ กล่าวคือกลุ่มเยาวชนปลดแอกจัดการประท้วงที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม เรียกร้องให้ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ยุติการข่มขู่และคุกคามประชาชน ที่ใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออก การประท้วงขยายตัวมากขึ้น มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสม่ำเสมอนับหมื่นคน ต่อมามีการขยายการเรียกร้องให้ครอบคลุมถึงข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ขบวนการประชาธิปไตยเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นคณะราษฎร ซึ่งได้นำข้อเรียกร้องกลุ่มต่าง ๆ มารวมกัน และมีการรวมตัวกับกลุ่มอื่น ๆ รวมทั้งกลุ่มเยาวชนที่เรียกร้องเสรีภาพในโรงเรียนและในห้องเรียน กลุ่มเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ (LGBT) ที่เรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างเพศ กลุ่มแรงงานที่เรียกร้องเงินค่าชดเชยจากผลกระทบของโรคโควิด-19 และสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้น กลุ่มชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนใต้ เรียกร้องให้ยุติการใช้กำลังทหารควบคุมพื้นที่ของตน และกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องให้มีความรับผิดต่อการละเมิดสิทธิที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

สถานการณ์ฉุกเฉิน การจำกัดเสรีภาพด้านการแสดงออก

รัฐบาลประกาศใช้ พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางทั่วประเทศในวันที่ 2 มีนาคม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้อำนาจรัฐในการประกาศเคอร์ฟิว และมาตรการจำกัดสิทธิอื่น ๆ รวมทั้งการบริหารมาตรการรับมือระหว่างหน่วยงาน

แม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่มีการแพร่ในระดับชุมชน แต่มีการขยายการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีความชอบธรรม เท่ากับใช้โคโรนาไวรัสเป็นข้ออ้างเพื่อขยายนโยบายปราบปรามมากขึ้น

รัฐบาลใช้มาตรการฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคโควิด-19 อย่างมิชอบ เพื่อปราบปรามเสรีภาพด้านการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการรับมือกับโรคระบาดของรัฐบาล บุคคลที่เปิดโปงข้อมูลในแวดวงสาธารณสุข ตกเป็นเป้าหมายการสอบสวนทางวินัยและการถูกฟ้องคดีเพื่อตอบโต้ หลังจากที่พวกเขารายงานว่ามีการกักตุนและค้ากำไรจากหน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ในตลาดมืด มีการบังคับใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเลือกปฏิบัติ โดยพุ่งเป้าไปที่นักกิจกรรม ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม 73 คน ซึ่งเข้าร่วมในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล และการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกดำเนินคดีเนื่องจากละเมิดมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ที่ความจริงมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ในเดือนสิงหาคม รัฐบาลเพิกเฉยต่อ คำสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะรับฟังเสียงที่เห็นต่าง และได้แสดงจุดยืนที่เป็นปรปักษ์มากขึ้นกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ในวันที่ 15 ตุลาคม เพื่อตอบโต้กับการประท้วงที่ลุกลามมากยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน “ร้ายแรง” ในกรุงเทพฯ ไม่นานหลังจากนั้น ได้มีการส่งตำรวจปราบจลาจลไป ใช้กำลังสลายผู้ประท้วง ที่ค้างคืนอยู่ด้านนอกทำเนียบนรัฐบาล ในวันที่ 16 ตุลาคม ตำรวจปราบจลาจลใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสีน้ำเงินและสารเคมีจากแก๊สน้ำตา เพื่อสลายการชุมนุมประท้วงบริเวณแยกการค้าปทุมวันที่กรุงเทพฯ 

หลังยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม มีนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยอย่างน้อย 91 คน ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย และละเมิดพรก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล แกนนำบางส่วนถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่น จากข้อเรียกร้องให้การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเขา นอกจานนั้นเอกชัย หงส์กังวาน บุญเกื้อหนุน เป้าทอง และสุรนาถ แป้นประเสริฐถูกดำเนินคดีในข้อหาประทุษร้ายต่อพระราชินี แม้จะไม่มีการใช้ความรุนแรงและไม่มีการขัดขวางขบวนเสด็จแต่อย่างใด

ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ตำรวจปราบจลาจลใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสีม่วงและสารเคมีจากแก๊สน้ำตา รวมทั้งยิงกระบอกแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริก เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้ชุมนุมจากคณะราษฎรรวมตัวที่หน้ารัฐสภา ระหว่างที่มีการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้ผู้ประท้วงอย่างน้อย 55 คนได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการสูดดมแก๊สน้ำตาเข้าไป ผู้ได้รับบาดเจ็บรวมถึงผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกยิงด้วยกระสุนปืน ระหว่างการปะทะกับกลุ่มรักสถาบันที่สนับสนุนรัฐบาล บริเวณใกล้กับรัฐสภา

ในเดือนกันยายน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ตำรวจได้เข้าไปในโรงเรียนเพื่อข่มขู่นักเรียน มีการถ่ายรูปและซักถามเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมในการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ยังกดดันครอบครัวของเด็ก ผู้บริหารโรงเรียนสั่งลงโทษเด็กนักเรียนที่ผูกโบว์ขาวระหว่างอยู่ในโรงเรียน หรือมีการชูสามนิ้วระหว่างการร้องเพลงชาติ โดยมี เด็กนักเรียนมัธยมอย่างน้อยสี่คนในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ที่ถูกดำเนินคดี ในข้อหาละเมิดข้อห้ามการชุมนุมสาธารณะของพรก.ฉุกเฉินฯ ทำให้มีจำนวนรวมเหตุการณ์คุกคาม 103 ครั้ง  ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในเดือนสิงหาคม

ก่อนหน้านี้ทางการไทยได้รับ คำสั่งจากพระมหากษัตริย์ ให้หลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา แต่ในวันที่ 19 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ สั่งการให้หน่วยราชการไทย ใช้ “กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา” ต่อผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จึงมีการฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกครั้ง หลังหยุดไปสามปี นับแต่นั้นมามีนักกิจกรรมอย่างน้อย 14 คนที่ถูกดำเนินคดีตามข้อหาในมาตรา 112 จากการปราศรัยบนเวทีหรือการโพสต์ข้อความเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนั้น การวิจารณ์หรือเสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์ยังอาจเป็นความผิดอาญาร้ายแรงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ในเดือนกันยายน รัฐบาล ดำเนินคดีตามความผิดทางคอมพิวเตอร์ กับนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยสามคน จากการโพสต์ความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในเฟซบุ๊กและสื่อโซเชียลอื่น ๆ 

ในเดือนสิงหาคม เฟซบุ๊กบล็อกการเข้าถึงกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่ม พูดคุยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากตัวแทนของบริษัทได้รับคำร้องขอจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่เฟซบุ๊กประกาศจะคัดค้านคำขอดังกล่าวตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยระบุว่าเป็นคำร้องขอที่ “ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”

ในเดือนกันยายน พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แจ้งความ กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  (บก.ปอท.) กล่าวหาเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูป เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งลบข้อมูลของศาลอย่างเต็มที่ นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่บริษัทโซเชียลมีเดีย ถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์

ในวันที่ 21 ตุลาคม ศาลอาญากรุงเทพฯ ได้ยกเลิกคำสั่งของรัฐบาลที่ห้ามการดำเนินงานของ Voice TV, The Reporters, The Standard และ ประชาไท ศาลมีคำสั่งว่าเสรีภาพสื่อได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและมาตรการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และการไลฟ์สดของสื่อเหล่านี้เพื่อรายงานเหตุการณ์ที่ตำรวจสลายการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมเป็นการกระทำโดยสุจริต

การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

การทรมานเป็นปัญหาที่เรื้อรังในประเทศไทย แต่ถึงปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญายังไม่กำหนดฐานความผิดให้กับการทรมาน แม้กองทัพและตำรวจจะให้สัญญาอย่างเปิดเผยตลอดมา แต่ที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้าในการฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบกับการทรมานและสังหารยุทธนา ซ้ายซา ซึ่งถูกจับในระหว่างการปราบปรามยาเสพติด และถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารในจังหวัดนครพนมเมื่อวันที่ 17 เมษายน

ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายเมื่อปี 2555 แต่ไม่ได้ให้สัตยาบันรับรอง ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้กำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหาย เป็นความผิดทางอาญา

คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับให้สูญหายหรือโดยไม่สมัครใจแห่งสหประชาชาติมีข้อมูล การบังคับบุคคลให้สูญหาย 82 กรณี ในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2523 และ 2558 รวมทั้งที่เกิดขึ้นกับสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิมที่มีชื่อเสียง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเก้าคนซึ่งหลบหนีการดำเนินคดีในประเทศไทย ตกเป็นเหยื่อการบังคับให้สูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีอย่างน้อยสองคน ได้แก่ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ และไกรเดช ลือเลิศ ซึ่งถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมและทิ้งศพไว้ในแม่น้ำโขง หลังถูกลักพาตัวในประเทศลาวเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ในวันที่ 4 มิถุนายน วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยที่ลี้ภัยตกเป็นเหยื่อการบังคับให้สูญหายที่กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา

ทางการไทยมีส่วนร่วมกับการปฏิบัติที่สนับสนุนการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งการควบคุมตัวบุคคลอย่างเป็นความลับของหน่วยงานปราบปรามยาเสพติด การควบคุมตัวบุคคลอย่างเป็นความลับของกองทัพ กรณีผู้ต้องสงสัยความผิดด้านความมั่นคง และผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้

การขาดความรับผิดต่อการละเมิดสิทธิที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

แม้จะมีพยานหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ทหาร มีส่วนรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บล้มตายมากสุดในระหว่าง การเผชิญหน้าทางการเมืองในปี 2553 รวมทั้งการปราบปรามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (“คนเสื้อแดง”) ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 99 คน และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในข้อหาฆ่าคนตายหรือทำให้ผู้ประท้วงหรือประชาชนทั่วไปได้รับบาดเจ็บเลย

รัฐบาลได้ละเลยไม่สอบสวนทางอาญา เมื่อเกิดการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายในระหว่างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะการสังหารบุคคลกว่า 2,800 คนในระหว่าง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเมื่อปี 2546 

นักปกป้องสิทธิมนุษชน

รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีเพื่อประกันว่า นักปกป้องสิทธิมนุษชนจะสามารถปฏิบัติงานของตนในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนได้ ที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนของตำรวจต่อ การทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม ในปี 2562 ที่เกิดขึ้นกับสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์  และเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย

การสอบสวนของตำรวจในลักษณะที่ปกปิดผู้กระทำความผิดและบกพร่อง เป็นอุปสรรคต่อความพยายามที่จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งได้ยิงสังหารชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารพอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงเมื่อเดือนเมษายน 2557 ที่จังหวัดเพชรบุรี

แม้จะมีการประกาศใช้ แผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ของไทยในเดือน ตุลาคม 2562 แต่ทางการไทยกลับไม่สามารถคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษชนจาก การตอบโต้ และไม่สามารถยุติ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชน (SLAPP) อย่างมิชอบได้ แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ที่ผ่านมาทั้งอัยการและศาลยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากกฎหมายใหม่นั้น 

ในเดือนธันวาคม 2562 ศาลจังหวัดลพบุรี พิพากษาจำคุกสองปี สุชาณี  คลัวเทรอ นักข่าว จากการทวิตข้อความเกี่ยวกับบริษัทธรรมเกษตรที่มีฟาร์มไก่ และถูกกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงาน ต่อมาศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ในเดือนมีนาคม คณะผู้ชำนาญการแห่งสหประชาชาติ ประณามการใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างมิชอบอย่างต่อเนื่อง ของบริษัทแห่งนี้ ซึ่งมีลักษณะคุกคามและปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษชน ซึ่งออกมาวิจารณ์การปฏิบัติมิชอบและการเอารัดเอาเปรียบด้านแรงงานของบริษัท อังคณา นีละไพจิตร ผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตกเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมหลายคนที่ถูกฟ้องโดยบริษัท เพื่อเป็นการตอบโต้

รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการเพื่อปฏิรูปคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งถูก ลดอันดับ โดยพันธมิตรโลกของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อปี 2559 เนื่องจากกระบวนการสรรหาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และการขาดความเป็นอิสระทางการเมือง

ความรุนแรงและการปฏิบัติมิชอบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

ในเดือนมกราคม 2563 แกนนำ Barisan Revolusi Nasional (BRN) ลงนาม แถลงการณ์แสดงพันธกิจที่จะปกป้องเด็กจากผลกระทบของการขัดกันด้วยอาวุธ โดยสัญญาว่าจะคุ้มครองเด็กและการศึกษาในระหว่างที่เกิดการขัดกันด้วยอาวุธ ทั้งนี้รวมถึงพันธกิจที่จะไม่คัดเลือกเด็กหรือใช้เด็กเป็นส่วนหนึ่งในปฏิบัติการทางทหาร แต่ที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการปฏิบัติตามคำสัญญาดังกล่าว

การขัดกันด้วยอาวุธในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน นับแต่เดือนมกราคม 2547 ได้ลดทอนความรุนแรงลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก การประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว ของกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 3 เมษายน ทั้งนี้เป็นไปตาม คำร้องขอจากเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ที่มีต่อคู่ขัดแย้งในสงครามทั่วโลก ให้ประกาศหยุดยิงเพื่อสนับสนุนการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 การหยุดยิงยุติลงในวันที่ 30 เมษายน เมื่อกองกำลังของรัฐบาลไทยสังหารสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็นสามคนใน ปฏิบัติการที่จังหวัดปัตตานี

รัฐบาลไม่เคยฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ที่มีส่วนรับผิดชอบกับการทรมานและการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ในหลายกรณี ทางการเลือกที่จะให้เงินตอบแทนกับเหยื่อหรือครอบครัว เพื่อแลกเปลี่ยนกับข้อตกลงที่จะไม่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ และไม่ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ ประเทศไทยยังไม่ได้ให้การรับรองปฏิญญาโรงเรียนปลอดภัย 

ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และคนงานข้ามชาติ

ประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 หรือพิธีสาร พ.ศ. 2510 ทางการไทยยังคงปฏิบัติกับผู้แสวงหาที่ลี้ภัย รวมทั้งผู้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในฐานะเป็นผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งต้องถูกจับกุมและส่งกลับ

รัฐบาลขัดขวางไม่ให้หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ทำการพิสูจน์สถานะของชาวม้งลาว ชาวโรฮิงญา และชาวอุยกูร์ รวมทั้งบุคคลอื่น ๆ ที่เดินทางมาจากเมียนมาและเกาหลีเหนือ และถูกควบคุมตัวไว้อย่างไม่มีเวลากำหนดโดยหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง 

คนงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ถูกกีดกันหรือประสบปัญหาในการเข้าถึงความช่วยเหลือของรัฐบาลต่อคนงานที่ตกงานเนื่องจากโรคโควิด-19 คนงานเหล่านี้มักมีหนี้สินอยู่แล้ว เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายจากการสมัครเข้ามาทำงาน พวกเขายังประสบปัญหาในการร้องเรียนเมื่อเกิดการปฏิบัติมิชอบของโรงงาน และปัญหาในการเข้าถึงการเยียวยา รวมทั้งการรายงานข้อมูลการถูกตอบโต้จากนายจ้าง ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ๆ เมื่อคนงานข้ามชาติเหล่านี้ออกมาให้ข้อมูลว่ามีการปฏิบัติมิชอบ

แม้ว่ารัฐบาลจัดให้มีการปฏิรูปอย่างเป็นระบบในอุตสาหกรรมประมง แต่คนงานข้ามชาติจำนวนมาก ยังคงตกเป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงาน ตกเป็นแรงงานขัดหนี้สำหรับนายหน้า ไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ และได้รับค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และมักจ่ายช้าเป็นเวลาหลายเดือน รัฐบาลสหรัฐฯ จัดอันดับให้อุตสาหกรรมประมงไทยอยู่ใน “บัญชีสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ” สำหรับปี 2563

ในเดือนเมษายน สหรัฐฯ ระงับสิทธิพิเศษทางการค้ามูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญ สำหรับประเทศไทย เนื่องจากไม่สามารถคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการคุ้มครองเสรีภาพในการสมาคมและการต่อรองสภาพการจ้างงาน 

ความเท่าเทียมระหว่างเพศ

แม้ประเทศไทยประกาศใช้ พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ในปี 2558 แต่ยังมีปัญหาในการบังคับใช้ ที่ผ่านมามีความคืบหน้าน้อยมากของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ของกระทรวงยุติธรรมในรัฐสภา ซึ่งหากมีการประกาศใช้ ร่างกฎหมายนี้จะถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่นำไปสู่การรับรองศักดิ์ศรีในขั้นพื้นฐานของคู่สมรสเพศเดียวกัน และให้ความคุ้มครองทางกฎหมายที่สำคัญกับพวกเขา อย่างไรก็ดี ร่างฉบับปัจจุบัน ยังต้องได้รับการปรับปรุงให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ว่าด้วยความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ ในระหว่างที่เขียนรายงานนี้ รัฐสภามีกำหนดพิจารณาร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพ 

ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาร้ายแรงในประเทศไทย แม้จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งกำหนดโทษอาญาสำหรับผู้ก่อความรุนแรงในครอบครัว แต่ยังคงมีช่องว่างระหว่างกฎหมายกับการคุ้มครอง

หน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์เป็นปรกติกับไทย โดยประเทศเหล่านี้ไม่ได้แสดงความเห็นอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความบกพร่องร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น

สหภาพยุโรปหาทางขยายความสัมพันธ์กับประเทศไทยนับแต่เดือนตุลาคม 2562 และทางคณะกรรมาธิการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินงาน เพื่อรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับประเทศไทย ซึ่งได้ถูกระงับไปตั้งแต่ปี 2557 การฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของกองทัพสหรัฐฯ และไทย ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ มักไม่แสดงท่าทีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของกองทัพไทย 

ในเดือนสิงหาคม กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์ กระตุ้นให้ทุกหน่วยงาน รวมทั้งโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในประเทศไทย คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกของเด็กและเยาวชน และคุ้มครองให้พวกเขาปลอดจากความรุนแรงและการข่มขู่ในทุกรูปแบบ

วันที่ 18 พฤศจิกายน โฆษกของนายอังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แสดงความกังวล เกี่ยวกับการใช้กำลังของรัฐบาลไทยต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ