Skip to main content

ประเทศไทย:ให้สอบสวนกรณีที่ทหารสังหารเยาวชนที่เป็นนักกิจกรรม

นักทำหนังชาติพันธุ์ชาวลาหู่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด

(นิวยอร์ก) – ทางการไทยควรดำเนินการสอบสวนโดยทันทีและอย่างโปร่งใส กรณีการยิงสังหารเยาวชนที่เป็นนักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ หลังจากถูกควบคุมตัวโดยทหาร ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ นายชัยภูมิ ป่าแส อายุ 17 ปีถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 หลังจากทหารควบคุมตัวเขาไว้ฐานมียาเสพติดในครอบครองที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทางภาคเหนือของไทย

© 2017 Private

เจ้าหน้าที่ทหารจากกองร้อย  ม.2 บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม 5 ร่วมกับชสท.ที่ 9 กองกำลังผาเมือง แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ว่า ได้เรียกรถยนต์ให้หยุดตรวจที่ด่านบ้านรินหลวง เป็นรถที่ชัยภูมิโดยสารมาด้วย ทหารอ้างว่าระหว่างการตรวจค้นได้พบยาบ้าจำนวน 2,800 เม็ดซ่อนอยู่ในหม้อกรองอากาศของรถยนต์ จึงมีการควบคุมตัวนายชัยภูมิและนายพงศนัย แสงตะหล้า ซึ่งเป็นคนขับเอาไว้ ระหว่างที่ยังตรวจค้นรถยนต์ต่อไป ทหารระบุว่าชัยภูมิได้หลบหนีจากการจับกุม โดยนำมีดออกมาจากที่ท้ายรถ ทำการต่อสู้และวิ่งหลบหนีเข้าไปในป่าข้างทาง ทหารอ้างว่าได้ติดตามเขาไปและในระหว่างนั้นชัยภูมิได้ทำท่าจะโยนระเบิดมือใส่ เป็นเหตุให้ต้องยิงเขาเพื่อป้องกันตัว ทหารไม่ได้อธิบายว่าบุคคลที่ถูกควบคุมตัวสามารถเดินไปหยิบมีดหรือระเบิดได้อย่างไร ผู้ชันสูตรพลิกศพยืนยันว่า ชัยภูมิถูกยิงด้วยกระสุนจากปืนเอ็ม 16 หนึ่งนัดทะลุเข้าที่แขนด้านซ้าย เข้าไปที่หัวใจ

“ข้ออ้างที่ว่าทหารสังหารเยาวชนที่เป็นนักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ และอ้างว่าเป็นการป้องกันตัวหลังจากที่เขาถูกควบคุมตัวโดยทหาร เป็นเรื่องที่น่าตกใจ” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “แทนที่จะยอมรับคำกล่าวอ้างของทหารที่ยิงชัยภูมิโดยทันที ทางการจำเป็นต้องดำเนินการสอบสวนอย่างรอบด้านและอย่างไม่ลำเอียงในกรณีนี้ และให้เปิดเผยผลสอบสวนต่อสาธารณะ”

ชัยภูมิเป็นนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงจากเครือข่ายต้นกล้าเยาวชนพื้นเมืองที่อำเภอเชียงดาว เขามีส่วนเกี่ยวข้องในการรณรงค์หลายครั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิของชาวลาหู่และชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่เสียเปรียบในภาคเหนือของไทย เพื่อให้พวกเขาได้รับสัญชาติ เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และได้รับการศึกษา เขายังได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติมิชอบของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่กระทำต่อชุมชนของเขาในระหว่างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด นอกจากนั้น ชัยภูมิยังเป็นนักทำสารคดีและเป็นนักแต่งเพลง หนังสั้นของเขาหลายเรื่องได้รับการออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส รวมทั้งเรื่อง “เข็มขัดกับหวี”

ชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยของไทยจะยังไม่ได้รับความเท่าเทียมอย่างเต็มที่ ตราบที่ผู้ซึ่งทำงานปกป้องพวกเขายังต้องปฏิบัติงานด้วยความเสี่ยงทุกวัน และตราบที่ยังไม่มีการสอบสวนการสังหารที่เกิดขึ้นเช่นนี้อย่างเหมาะสม
Brad Adams

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย
 

ตามหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (United Nations Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ซึ่งมีผลบังคับใช้ต่อเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติงานในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายระบุว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงต้องพยายามใช้วิธีการที่ปราศจากความรุนแรงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนจะเลือกใช้กำลัง กรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอันชอบด้วยกฎหมายได้ ทางการควรใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการอย่างได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของความผิดนั้น การใช้กำลังถึงขั้นชีวิตอาจใช้ได้เฉพาะเท่าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในกรณีที่ต้องป้องกันชีวิตเท่านั้น กรณีที่เป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตหรืออาการบาดเจ็บร้ายแรง ควรมีการจัดทำรายงานอย่างละเอียดและส่งมอบให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจซึ่งรับผิดชอบต่อการตรวจสอบของฝ่ายบริหารและการควบคุมดูแลของฝ่ายตุลาการ

นอกจากนั้น รัฐบาลไทยมีพันธกรณีตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) ที่จะต้องประกันว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งทำงานปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ต้องสามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน

เป็นเวลานานมาแล้วที่กองทัพไทยมักบอกปัดข้อกล่าวหาว่า มีการปฏิบัติมิชอบอย่างร้ายแรงโดยเจ้าหน้าที่ทหารของตน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อร้องเรียนหลายครั้งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ทหารและกองกำลังที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพในระหว่างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด แต่กองทัพบกมักไม่ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ทหารสำหรับความผิดเหล่านั้น

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้จัดทำข้อมูลวิสามัญฆาตกรรมและการละเมิด​สิทธิมนุษยชนที่รุนแรงหลายกรณี ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่าง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ในยุคนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ระหว่างปี 2546 และ 2547 ปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดซึ่งเป็นการปฏิบัติมิชอบของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจยังคงเกิดขึ้นต่อไปในประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลอื่น ๆ ภายหลังรัฐบาลของทักษิณซึ่งถูกยึดอำนาจโดยการทำรัฐประหารของกองทัพเมื่อปี 2549 ผู้ถูกสังหารหลายคนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งมักมีข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เป็นเหตุให้พวกเขาถูกขึ้นบัญชีดำว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีค้ายาเสพติด หลายคนถูกสังหารที่ด่านตรวจ หรือถูกสังหารไม่นานหลังจากกลับจากการถูกเรียกตัวให้ไปรายงานตัวที่ฐานทัพหรือโรงพักในพื้นที่เพื่อสอบปากคำ

ข้อค้นพบของฮิวแมนไรท์วอทช์สอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.)ซึ่งมีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดเป็นประธาน และรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

รัฐบาลควรสั่งการโดยทันทีให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนการเสียชีวิตของชัยภูมิ และร้องขอให้กสม.เข้ามาสอบสวนกรณีนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังกระตุ้นรัฐบาลให้ประกันความปลอดภัยของพยานในคดีนี้ รวมทั้งความปลอดภัยของพงศนัย ซึ่งเป็นคนขับรถ และปัจจุบันถูกควบคุมตัวที่เรือนจำแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

“เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติมิชอบมักจะอ้างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด เพื่อปกปิดการทำร้ายนักกิจกรรมที่เปิดโปงการทำผิดของเจ้าหน้าที่ หรือนักกิจกรรมที่ปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อย” อดัมส์กล่าว “ชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยของไทยจะยังไม่ได้รับความเท่าเทียมอย่างเต็มที่ ตราบที่ผู้ซึ่งทำงานปกป้องพวกเขายังต้องปฏิบัติงานด้วยความเสี่ยงทุกวัน และตราบที่ยังไม่มีการสอบสวนการสังหารที่เกิดขึ้นเช่นนี้อย่างเหมาะสม” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Region / Country