Skip to main content

ประเทศไทย

เหตุการณ์ในปี 2022

ผู้ประท้วงถือป้ายด้านหน้าตำรวจปราบจลาจล พร้อมกับชูสามนิ้วระหว่างการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 17 พฤศจิกายน

© 2565 Sipa via AP Images

รัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายังคงจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเสรีภาพด้านการแสดงออกและการชุมนุม และดำเนินคดีนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แกนนำชุมชน นักปกป้องสิ่งแวดล้อม และผู้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ รัฐบาลสัญญาจะปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และยุติการปฏิบัติมิชอบ แต่ส่วนใหญ่แล้วยังปฏิบัติไม่ได้จริง

การจำกัดเสรีภาพด้านการแสดงออกและการชุมนุม

จนถึงเดือนกันยายน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ประชาชนอย่างน้อย 1,860 คน ถูกดำเนินคดีตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 จากการใช้เสรีภาพด้านการแสดงออกและการชุมนุม

นับแต่รัฐบาลประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  ทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนอย่างน้อย 1,469 คนถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงนี้ ซึ่งส่วนใหญ่นำมาใช้กับผู้เข้าร่วมการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ตำรวจและอัยการดำเนินคดีในข้อหาต่าง ๆ ทั้งการละเมิดมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม การละเมิดเคอร์ฟิว และมาตรการควบคุมโรคอย่างอื่น คดีอาญาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นยังไม่ได้ถูกยกเลิก แม้หลังรัฐบาลประกาศเลิกใช้มาตรการฉุกเฉินเหล่านี้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 

ในเดือนพฤศจิกายน 2563 นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ สั่งให้ทางการ ใช้กฎหมายทุกฉบับต่อผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ส่งผลให้มีการรื้อฟื้นข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หลัง งดใช้ มาเป็นเวลาสามปี จากนั้นมาทางการได้ดำเนินคดีกับบุคคลอย่างน้อย 215 คน ตามมาตรา 112 โดยเป็นผลมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และการแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย นอกจากนั้น การวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นเชิงดูหมิ่นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ยังเป็นความผิดอาญาร้ายแรงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ทางการยังดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองบางคนด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา

ทางการได้ควบคุมตัวผู้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งทานตะวัน ตัวตุลานนท์, เนติพร เสน่ห์สังคม, ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง โดยเป็นการควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาเป็นเวลาหลายเดือนในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ นักกิจกรรมเหล่านี้จะได้รับการประกันตัวออกมา โดยต้องยอมรับเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิ รวมทั้งการกักตัวในบ้านตลอดเวลาหรือบางส่วน การสวมกำไลอีเอ็ม การถูกห้ามไม่ให้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และห้ามเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งถูกสั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกจากประเทศไทย

ทางการยังกำหนดเงื่อนไขประกันตัวที่คล้ายคลึงกันกับแกนนำและสมาชิกหลายคนของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, จตุภัทร บุญภัทรรักษา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, และชลธิชา แจ้งเร็ว จนถึงเดือนตุลาคม มีผู้เห็นต่างอย่างน้อย 10 คนที่ยังคงถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณา จากการเข้าร่วมการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย หรือกระทำการใด ๆ ซึ่งทางการมองว่าเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทต่อสถาบันกษัตริย์ ขณะที่เขียนรายงาน นักกิจกรรมบางส่วนได้ถูกควบคุมตัวมาแล้วกว่า 200 วัน

การตีความข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ของศาล มีลักษณะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละศาล ทำให้มีการตัดสินโดยพลการให้มีความผิด และบางกรณีเป็นการตีความเกินกว่าเนื้อหาที่กำหนดในกฎหมาย ในเดือนกันยายน ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกจตุพร แซ่อึ้งเป็นเวลาสามปี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากการสวมชุดไทยระหว่างการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งทางการอ้างว่ามีลักษณะเป็นการ ล้อเลียน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา

กระแสของ การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีเยาวชนเป็นแกนนำ ซึ่งรู้จักกันดีจากการชูสามนิ้ว ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากการดำเนินคดีอาญาของรัฐบาล การปราบปรามด้วยความรุนแรง และการสอดแนมข้อมูลและคุกคามอย่างกว้างขวางต่อผู้ประท้วง ได้เริ่มมีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นมาบ้างในระยะสั้น ช่วงเดือนตุลาคม โดยเป็นผลมาจาก คำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 กันยายน ซึ่งอนุญาตให้นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ดำรงตำแหน่งต่อไป โดยก่อนหน้านี้พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยว่า เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วเกินแปดปี ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ

การทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย

ในวันที่ 24 สิงหาคม สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบ และประกาศใช้ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน โดยจะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน หลังมีการประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 24 ตุลาคม

การทรมานและการบังคับบุคคลสูญหายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานในประเทศไทย หลายกรณีที่มีรายงานข่าวมักไม่ได้รับการแก้ไข และแทบไม่มีผู้ใดถูกนำตัวมาลงโทษ

ฮิวแมนไรท์วอทช์บันทึกข้อมูล หลายกรณีของปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารซ้อมทรมานชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูระหว่างการควบคุมตัว ทั้งยังมีรายงานที่น่าเชื่อถือว่ามีการใช้การทรมานเป็นส่วนหนึ่งของ การลงโทษทหารเกณฑ์ ในช่วงห้าปีของรัฐบาลทหารหลังการทำรัฐประหารปี 2557 หลายคนถูกทหารควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก พวกเขากล่าวหาว่าได้ตกเป็นเหยื่อของ การทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ระหว่างถูกควบคุมตัวและสอบสวนโดยทหาร

นอกจากนั้น หน่วยงานตำรวจและทหารมักปฏิบัติการต่อต้านยาเสพติด โดยไม่มีมาตรการอย่างเป็นผลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานและการปฏิบัติมิชอบอื่น ๆ ในเดือนสิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิต เขาเป็นผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดที่จังหวัดนครสวรรค์ ทางการได้จับกุมตำรวจระดับสูงและเจ้าหน้าที่อีกหกนาย ในเดือนมิถุนายน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษาให้ประหารชีวิต (แต่ต่อมาได้ลดเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต) ในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา

ในเดือนสิงหาคม สำนักงานอัยการสูงสุดส สั่งฟ้อง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติในข้อหาลักพาตัวและสังหารพอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” นักกิจกรรมเชื้อสายกะเหรี่ยง เมื่อเดือนเมษายน 2557 ประกอบด้วยความผิดเกี่ยวกับการควบคุมตัวอย่างผิดกฎหมาย การฆ่าคนตายโดยเจตนา และการซ่อนเร้นอำพรางศพ

นับแต่ปี 2523 คณะทำงานว่าด้วยการบังคับให้สูญหายหรือโดยไม่สมัครใจแห่งสหประชาชาติบันทึกข้อมูลการบังคับให้สูญหาย 76 กรณีในประเทศไทย รวมทั้งกรณีของ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความชาวมุสลิมที่มีชื่อเสียงในเดือนมีนาคม 2547 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้เห็นต่างอย่างน้อยเก้าคนที่หลบหนีการประหัตประหารในประเทศไทย และตกเป็นเหยื่อ การบังคับให้สูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน ในเดือนกันยายน 2564 คณะทำงานฯ ได้แสดงข้อกังวลใน รายงานประจำปี เกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายในบริบทของการส่งตัวบุคคลข้ามประเทศระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และได้ลงนามแต่ไม่ได้ให้สัตยาบันต่อ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย

นักปกป้องสิทธิมนุษยชน, พรบ.องค์กรไม่แสวงหากำไรที่กดขี่

รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะประกันให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สามารถดำเนินงานของตนในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนได้ 

ไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนของตำรวจต่อ การประทุษร้ายด้วยความรุนแรง ในปี 2562 ต่อแกนนำนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตย รวมทั้งสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และเอกชัย หงส์กังวาน

นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ให้ข้อมูลว่า พวกเขายังตกเป็นเป้าหมายการคุกคามของเจ้าหน้าที่ ซึ่งพยายามขัดขวางไม่ให้จัดกิจกรรมหรือเข้าร่วมในการประท้วง โดยเฉพาะระหว่างที่มีการเดินทางมาเยือนของคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกราชวงศ์

การพยายามปกปิดข้อมูลและการดำเนินงานที่บกพร่องของตำรวจ ยังคงขัดขวางการดำเนินงานเพื่อฟ้องคดีต่อทหารซึ่งเป็นผู้ยิง ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่จนเสียชีวิตในเดือนมีนาคม 2560 ที่จังหวัดเชียงใหม่

แม้มีการประกาศใช้ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ของไทยในปี 2562 ทางการไทยยังไม่สามารถคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจาก การตอบโต้คุกคาม และไม่สามารถยุติ การฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) โดยมิชอบ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซปี 2562 เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมหลายคนที่ถูกฟ้องคดีปิดปากเช่นนี้

Global Alliance of National Human Rights Institutions คืนสถานะ A ให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเดือนมีนาคม กรรมการชุดปัจจุบันเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในประเด็นสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไปจนถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการต่อ ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ที่อื้อฉาว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และถูก ต่อต้าน อย่างหนักทั้งจากองค์กรภายในและระหว่างประเทศ เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดการควบคุมและบังคับต่อองค์กรภาคประชาสังคมทั้งหมด กฎหมายดังกล่าวยังครอบคลุมถึงมาตรการจำกัดต่อการรับทุนจากต่างชาติขององค์กรพัฒนาเอกชน หลังมีเสียงวิจารณ์จากสากลและการรณรงค์ต่อต้านในประเทศอย่างกว้างขวางต่อร่างกฎหมายนี้ รัฐบาลได้ส่งร่างกลับคืนไปให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แก้ไข โดยยังไม่มีกรอบเวลาชัดเจน

การขาดความรับผิดต่อการปฏิบัติมิชอบที่รัฐเป็นผู้สนับสนุน

แม้มีหลักฐานอย่างกว้างขวางว่าทหารมีส่วนรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บล้มตายส่วนใหญ่ในระหว่าง การเผชิญหน้าทางการเมืองเมื่อปี 2553 กับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “คนเสื้อแดง” ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 99 คนและบาดเจ็บกว่า 2,000 คน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแต่อย่างใด

รัฐบาลล้มเหลวในการสอบสวนคดีอาญาเกี่ยวกับการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติการต่อต้านยาเสพติด โดยเฉพาะการสังหารบุคคลกว่า 2,800 คนในระหว่าง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรในปี 2546

ความรุนแรงและการปฏิบัติมิชอบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

การขัดกันด้วยอาวุธในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาของประเทศไทย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คนนับแต่เดือนมกราคม 2547 ซึ่งมีความรุนแรงลดน้อยลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคำประกาศของกองทัพไทยและขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (BRN) ที่จะลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ในเวลาต่อมาแกนนำ BRN วิจารณ์ รัฐบาลว่าขาดความจริงใจ และใช้ความได้เปรียบของสถานการณ์นี้ เพื่อบุกตรวจค้นที่มั่นของฝ่ายก่อความไม่สงบ 

นับแต่เดือนสิงหาคม การบุกโจมตีเป้าหมายทางทหารและพลเรือนได้เพิ่มขึ้น แม้จะมีการเจรจาอย่างต่อเนื่องระหว่างตัวแทนของรัฐบาล และ BRN

รัฐบาลไม่สามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการทรมาน การสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการปฏิบัติโดยมิชอบอย่างอื่นต่อชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ในหลายกรณี ทางการได้จ่ายค่าเยียวยาให้กับผู้เป็นเหยื่อและครอบครัว เพื่อแลกกับข้อตกลงที่จะไม่ออกมาวิจารณ์กองกำลังความมั่นคง และไม่ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่

ประเทศไทยยังไม่ประกาศรับรองปฏิญญาโรงเรียนปลอดภัย ซึ่งกำหนดชุดพันธกิจที่จะส่งเสริมการคุ้มครองนักเรียน ครู โรงเรียน และสถาบันอุดมศึกษา ให้ปลอดจากผลกระทบร้ายแรงสุดของการขัดกันด้วยอาวุธ

ในเวลาเดียวกัน BRN ยังคงคัดเลือก เด็ก เพื่อเข้าร่วมในปฏิบัติการก่อความไม่สงบในปี 2565

ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติ

ประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 ทางการยังคงปฏิบัติต่อผู้แสวงหาที่ลี้ภัยเหมือนเป็นผู้เข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย ซึ่งต้องถูกจับกุมและเนรเทศ

ในเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่อนุญาตให้ทอ นันดาร์ อ่อง หรือ 'ฮาน เลย์’ นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยและอดีตผู้ชนะการประกวดนางงามเมียนมา เดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่กรุงเทพฯ ทำให้เกิดข้อกังวลว่า เธออาจถูกส่งตัวกลับไปเมียนมา และอาจถูกลงโทษอย่างรุนแรงจากการทำงานต่อต้านรัฐบาลทหาร ภายหลังแรงกดดันอย่างหนักจากนานาชาติ รัฐบาลอนุญาตให้เธอได้ไป ตั้งถิ่นฐานใหม่ ในแคนาดาในฐานะผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ดี เนื่องจากนักกิจกรรมฝ่ายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย และฝ่ายค้านจากเมียนมา มักถูกจับกุมและถูกขู่จะเนรเทศบ่อยครั้งที่พรมแดนไทย-เมียนมา ทำให้มีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องว่าจะมีการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย

ไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนของทางการ ต่อกรณีที่ชัดเจนว่าเป็นการบังคับให้สูญหายที่เกิดขึ้นกับผู้เห็นต่างจาก เวียดนาม และ ลาว ซึ่งลี้ภัยอยู่ในกรุงเทพฯ

รัฐบาลปฏิเสธไม่ให้หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เข้าไปจำแนกสถานะของชาวม้งลาว ชาวโรฮิงญา และชาวอุยกูร์ และผู้ที่เดินทางมาจากเมียนมาและเกาหลีเหนือ ส่งผลให้มีชาวอุยกูร์กว่า 50 คนและชาวโรฮิงญาอีกหลายร้อยคนที่ยังถูกกักตัวโดยไม่มีเวลากำหนด ในสถานกักตัวคนต่างด้าวที่มีสภาพเลวร้าย

แม้รัฐบาลประกาศมาตรการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมง แต่แรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังตกเป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงาน และตกเป็นแรงงานขัดหนี้สำหรับบริษัทจัดหางาน พวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้าง และได้รับค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งยังมีการจ่ายค่าแรงล่าช้าหลายเดือน 

รัฐบาลไม่ดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาสภาพการจ้างงาน ยังคงมีการปราบปรามกิจกรรมของสหภาพแรงงานในเขตอุตสาหกรรมต่าง ๆ แกนนำสหภาพถูกคุกคามและถูกไล่ออกโดยนายจ้างที่เป็นฝ่ายตรงข้าม แรงงานข้ามชาติจากทุกสัญชาติต่างถูกกีดกันจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ทำให้ไม่มีสิทธิในการรวมตัว และจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานที่จดทะเบียนกับรัฐได้

ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ

ในขณะที่ประเทศไทยประกาศใช้ พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ในปี 2558 แต่การดำเนินงานที่ผ่านมายังมีปัญหา หลายคดีที่มีการฟ้องตามกฎหมายนี้ เป็นผลมาจากการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคต่อการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ การศึกษา และการจ้างงาน เนื่องจากประเทศไทย ไม่มีขั้นตอนปฏิบัติเพื่อรับรองสถานะทางเพศตามกฎหมาย มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการพิจารณาของรัฐสภาต่อ พระราชบัญญัติคู่ชีวิตl และ พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ซึ่งหากมีการประกาศใช้ ร่างกฎหมายเหล่านี้จะนำไปสู่การรับรองศักดิ์ศรีในขั้นพื้นฐานของคู่สมรสเพศเดียวกัน และกำหนดความคุ้มครองตามกฎหมายที่สำคัญให้กับพวกเขา

หน่วยงานระหว่างประเทศที่สำคัญ

สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและรัฐภาคี และประเทศอื่นที่มีแนวคิดคล้ายกัน ต่างแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับแผนของรัฐบาลที่จะผลักดันกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไร รวมทั้งปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอย่างอื่น ประเทศเหล่านี้ต่างมีบทบาทสำคัญในการให้ความคุ้มครองต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งมักถูกทางการจับกุม และเสี่ยงต่อการถูกส่งกลับ

ในเดือนกันยายน สหภาพยุโรปและไทย จัดทำร่างฉบับสมบูรณ์ ของความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน ซึ่งการเจรจาได้ชะงักไปเมื่อปี 2557 หลังการยึดอำนาจของทหาร และเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในปี 2564

แม้จะยังมีข้อกังวลที่ไม่ได้รับการแก้ไข ตามที่ระบุถึงโดยรัฐภาคีและกลุ่มสิทธิในระหว่างกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนตามวาระรอบสาม (UPR) ของประเทศไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2565 รวมทั้งปัญหาการซ้อมทรมาน การบังคับให้สูญหาย เสรีภาพด้านการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมโดยสงบ ผู้ลี้ภัย โทษประหาร และการลอยนวลพ้นผิดของการละเมิดสิทธิที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และสถิติที่เลวร้ายด้านสิทธิที่กล่าวถึงในเวทีภูมิภาคและระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลได้ประกาศในเดือนกันยายนถึง เจตจำนง ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในวาระปี 2568-2570