Skip to main content

เวียดนาม: ยุติการโจมตีทำร้ายนักกิจกรรมและบล็อกเกอร์

เกิดรูปแบบการโจมตีเยี่ยงอันธพาลต่อผู้รณรงค์ด้านสิทธิทั่วประเทศ


(นิวยอร์ก 19 มิถุนายน 2560) – บล็อกเกอร์และนักกิจกรรมด้านสิทธิชาวเวียดนามถูกทุบตี ข่มขู่ และคุกคาม โดยไม่มีผู้ใดต้องรับโทษจากการกระทำความผิด ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในรายงานที่เผยแพร่วันนี้ รัฐบาลเวียดนามควรสั่งการให้ยุติการโจมตีใด ๆ และให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ รัฐบาลประเทศผู้ให้ทุนสนับสนุน ควรแจ้งต่อทางการเวียดนามให้ยุติการปราบปรามดังกล่าว และแจ้งให้ทราบว่าการปราบปรามเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต การแสดงความเห็นอย่างสงบ และการจัดกิจกรรมจะทำให้เกิดผลลัพธ์บางอย่างต่อเวียดนาม

ในรายงานความยาว 65 หน้า เรื่อง “ไม่มีประเทศสำหรับนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน: การโจมตีทำร้ายบล็อกเกอร์และนักรณรงค์ด้านประชาธิปไตยในเวียดนาม” (No Country for Human Rights Activists: Assaults on Bloggers and Democracy Campaigners in Vietnam) เน้นให้เห็นเหตุการณ์ 36 ครั้งซึ่งมีชายไม่ทราบชื่อในชุดพลเรือนได้ทุบตีนักรณรงค์ด้านสิทธิและบล็อกเกอร์ ระหว่างเดือนมกราคม 2558 - เมษายน 2560 โดยมักส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บสาหัส ผู้เสียหายหลายคนให้การว่า การทุบตีเกิดขึ้นในระหว่างที่มีตำรวจนอกเครื่องแบบอยู่ด้วย ซึ่งไม่ได้เข้ามาขัดขวางเลย

“เป็นเรื่องเลวร้ายอยู่แล้วที่นักกิจกรรมในเวียดนาม ต้องเสี่ยงคุกตารางเพื่อแสดงความเห็น ในบัดนี้พวกเขายังต้องเผชิญความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงเพราะการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตน” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “รัฐบาลเวียดนามต้องประกาศอย่างชัดเจนว่า จะไม่ยอมให้พฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้น และจะต้องยุติการรณรงค์ต่อต้านนักรณรงค์เพื่อสิทธิ”

 ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้จัดทำรายงานบันทึกข้อมูลยุทธศาสตร์การทุบตีบล็อกเกอร์และนักกิจกรรมด้านสิทธิทั่วประเทศ รวมทั้งที่เกิดขึ้นที่ฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ ดานัง นาตรัง และหวุงเต่า รวมทั้งบางจังหวัด เช่น กวางบินห์ เหง่อาน ฮาตินห์ บินห์ดวง ลัมดอง และบักเกียง  

ในหลายกรณี การโจมตีทำร้ายเกิดขึ้นต่อหน้าธารกำนัลในท้องถนนของเวียดนาม อย่างเช่น การรุมทำร้ายลาเวียตดุง (La Viet Dung) นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 เขาถูกทำร้ายระหว่างเดินทางกลับบ้านจากงานเลี้ยงในสโมสรฟุตบอลโน-ฮู ที่กรุงฮานอย กลุ่มผู้ชายไม่ทราบชื่อใช้อิฐทุบตีนายดุงจนกะโหลกร้าว

แหล่งทุนระหว่างประเทศและคู่เจรจาการค้ากับประเทศเวียดนาม ควรสนับสนุนการต่อสู้ของพวกเขา ด้วยการกระตุ้นรัฐบาลเวียดนามให้ยุติการทุบตีทำร้าย และให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
Brad Adams

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย

ในเดือนพฤษภาคม 2557 กลุ่มชายไม่ทราบชื่อได้ทุบตีตรันทีหง่า (Tran Thi Nga) นักกิจกรรมด้านสิทธิในถนนกรุงฮานอย โดยใช้ท่อนเหล็กตีเขาจนเข่าขวาและแขนซ้ายหัก การทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นในที่ชุมชนรวมทั้งที่ร้านกาแฟ ในเดือนมิถุนายน 2559 กลุ่มชายไม่ทราบชื่อชกต่อยที่หน้าของเหงียนวันถั่นห์ (Nguyen Van Thanh) นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยที่ร้านกาแฟในกรุงดานัง เมื่อตำรวจมาถึง แทนที่จะสอบสวนเหตุการณ์ทำร้าย ตำรวจกลับควบคุมตัวเหงียนวันถั่นห์เป็นเวลาหลายชั่วโมง และสอบปากคำเขาเนื่องจากข้อเขียนทางการเมืองของเขา

ในกรณีอื่น ๆ กลุ่มชายไม่ทราบชื่อได้บังคับให้นักกิจกรรมเข้าไปในรถยนต์หรือรถตู้ ทุบตีพวกเขา และนำตัวไปทิ้งในที่ห่างไกล ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน 2560 กลุ่มผู้ชายในชุดพลเรือนที่สวมหน้ากากได้ลักพาตัวฮุยถั่นพัต (Huynh Thanh Phat) และตรันฮวงฟุก (Tran Hoang Phuc) ที่กรุงเบาดอน (มณฑลกวางบินห์) โดยนำตัวพวกเขาใส่รถตู้และขับหนีไป กลุ่มผู้ชายเหล่านั้นได้ใช้เข็มขัดและไม้กระบองเฆี่ยนตีนายพัตและนายฟุกระหว่างอยู่ในรถตู้ จากนั้นนำตัวไปทิ้งในป่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 กลุ่มผู้ชายในชุดพลเรือนได้ลักพาตัวเหงียนตรังตอน (Nguyen Trung Ton) นักกิจกรรมด้านสิทธิและเพื่อนของเขาคือเหงียนเวียดตู (Nguyen Viet Tu) ซึ่งอยู่ที่เมืองบาดอนเช่นกัน ลากตัวพวกเขาไปในรถตู้และขับหนีไป กลุ่มผู้ชายเหล่านั้นได้เปลื้องเสื้อผ้าของนายตอนและนายตู เอาเสื้อคลุมมาคลุมศีรษะพวกเขาไว้ จากนั้นใช้ท่อเหล็กทุบตีพวกเขา ก่อนจะนำตัวไปทิ้งไว้ในป่า เหงียนตรังตอนได้รับบาดเจ็บหลายแห่ง และต่อมาต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล

“การที่อันธพาลเหล่านี้สามารถลักพาตัวนักกิจกรรมเวลากลางวันแสก ๆ จับตัวใส่รถตู้ และทุบตีพวกเขา แสดงให้เห็นถึงปัญหาการลอยนวลพ้นผิด ซึ่งเป็นเหตุให้นักกิจกรรมต้องถูกคุกคามต่อไป” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลเวียดนามควรตระหนักว่าการปล่อยให้เหตุโจมตีที่ร้ายแรงเช่นนี้เกิดขึ้น จะนำไปสู่สภาพอนารยะ และความปั่นป่วน แทนที่จะเป็นการรักษาระเบียบและความมั่นคงของสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลประกาศจะปกปักรักษา”

นักกิจกรรมยังถูกซ้อมหลังเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ รวมทั้งการชุมนุมประท้วงด้านสิ่งแวดล้อม การเดินขบวนเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนนักกิจกรรม หรือเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ในเดือนธันวาคม 2558 เหงียนวันได (Nguyen Van Dai) ได้กล่าวถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญในที่ตำบลแห่งหนึ่งในเขตนามดาน (เหง่อาน) ในขณะที่เหงียนวันไดและเพื่อนนักกิจกรรมอีกสามคนกำลังจะกลับ กลุ่มผู้ชายที่สวมหน้ากากได้เรียกแท็กซี่ของเขาให้หยุด ลากตัวพวกเขาออกมาจากรถและทุบตี

แม้แต่การไปเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจที่บ้านของอดีตนักโทษการเมือง หรือการต้อนรับนักโทษการเมืองกลับบ้าน ก็อาจส่งผลให้นักกิจกรรมต้องเผชิญกับความรุนแรง ในเดือนสิงหาคม 2558 กลุ่มบล็อกเกอร์และนักกิจกรรมประกอบด้วย ตรันทีหง่า (Tran Thi Nga) ชูมันห์ซอน (Chu Manh Son) เตรืองมินห์ตัม (Truong Minh Tam) เลทิฮวง (Le Thi Huong) ฟานวันคานห์ (Phan Van Khanh) และเลดินห์ลวง (Le Dinh Luong) เดินทางไปเยี่ยมตรันมินห์นัต (Tran Minh Nhat) อดีตนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งได้รับการปล่อยตัวหลังใช้โทษจำคุกสี่ปี เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองในต่างประเทศซึ่งเป็นพรรคต้องห้ามตามกฎหมาย ในขณะที่นักกิจกรรมจะเดินทางกลับ โดยการโดยสารรถบัสหลายคัน ได้มีกลุ่มชายไม่ทราบชื่อในชุดพลเรือนบุกเข้ามาในรถ ลากพวกเขาออกไปและทุบตีต่อหน้าประชาชน

ในทุกกรณี ยกเว้นกรณีเดียวในรายงานฉบับนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า ทางการไม่สามารถระบุตัวและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้เลย แม้ว่า ผู้เสียหายมักจะแจ้งความต่อตำรวจ ในทางตรงข้าม ผู้เสียหายบางคนรวมทั้งเหงียนวันไดและตรันทีหง่า ยังถูกจับกุมและดำเนินคดีในภายหลังในข้อหา “โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัฐ” ตามมาตรา 88 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าทางการมีความสัมพันธ์กับคนร้ายในคดีเหล่านี้อย่างไร โดยอาจมีตั้งแต่การเพิกเฉยยอมให้เกิดการทำร้ายขึ้น ไปจนถึงการที่รัฐมีส่วนร่วมมือในการกระทำความผิด

รายงานฉบับนี้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีการรายงานข่าวในสื่อต่างประเทศ รวมทั้ง Radio Free Asia, Voice of America, BBC, Saigon Broadcasting Television Network, โซเชียลมีเดีย รวมทั้ง Facebook และ YouTube เว็บไซต์ที่เป็นอิสระทางการเมืองรวมทั้ง Dan Lam Bao (สื่อภาคพลเรือน), Dan Luan (การอภิปรายของพลเรือน), Viet Nam Thoi Bao (เวียดนามไทมส์), Tin Mung Cho Nguoi Ngheo (ข่าวดีสำหรับคนจน), Defend the Defenders (ปกป้องนักปกป้อง) และบล็อกที่บุคคลต่าง ๆ เขียน การโจมตีทำร้ายหลายกรณีที่กล่าวถึงในรายงานนี้ ไม่เคยมีการรายงานข่าวเป็นภาษาอังกฤษมาก่อน รวมทั้งไม่มีการรายงานข่าวในสื่อของรัฐที่เป็นภาษาเวียดนาม

“การเซ็นเซอร์สื่อของรัฐกดดันให้นักวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบในเวียดนามจำนวนมาก ต้องไปแสดงความกังวลผ่านสื่อออนไลน์” อดัมส์กล่าว “ชัดเจนว่าแบบแผนการทำร้ายบล็อกเกอร์และนักกิจกรรมเช่นนี้มุ่งปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งในหลายกรณีไม่มีช่องทางอื่นที่จะแสดงข้อกังวลที่ชอบธรรมได้”

การเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเร็ว ๆ นี้ของรายงานการโจมตีทำร้ายที่บันทึกได้ สอดคล้องกับการลดลงชั่วคราวของการจับกุมในข้อหาการเมือง ในช่วงเวลาที่รัฐบาลเวียดนามเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับการเข้าร่วมในความตกลงการค้าแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership trade agreement) โดยสถิติด้านสิทธิมนุษยชนของเวียดนามกลายเป็นจุดเน้นสำคัญของการเจรจาครั้งนี้ และมีการอภิปรายในรัฐสภาสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลเวียดนามต้องการแสดงให้เห็นว่ามีการจับกุมด้วยข้อหาการเมืองและการไต่สวนคดีการเมืองลดน้อยลง แต่ยังคงมุ่งใช้มาตรการเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าขันที่ผู้เสียหายจากการทุบตีหลายคน เป็นอดีตนักโทษการเมือง รวมทั้งตรันมินห์นัต (Tran Minh Nhat) เหงียนดินห์ควง (Nguyen Dinh Cuong) ชูมันห์ซอน (Chu Manh Son) และไมทีดุง (Mai Thi Dung) อย่างไรก็ดี หลักฐานล่าสุดชี้ว่ามีการจับกุมครั้งใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก พร้อม ๆ กับการรุมซ้อมนักกิจกรรมที่ยังเกิดขึ้นต่อไป

“นักกิจกรรมและบล็อกเกอร์ที่กล้าหาญเหล่านี้ ต้องเผชิญกับการปราบปรามทุกเมื่อเชื่อวัน แต่พวกเขาไม่เคยละทิ้งอุดมการณ์” อดัมส์กล่าว “แหล่งทุนระหว่างประเทศและคู่เจรจาการค้ากับประเทศเวียดนาม ควรสนับสนุนการต่อสู้ของพวกเขา ด้วยการกระตุ้นรัฐบาลเวียดนามให้ยุติการทุบตีทำร้าย และให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Region / Country