Skip to main content

ประเทศไทย

กิจกรรมในปี 2566

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนชาวไทย ชูสามนิ้วเมื่อเดินทางมาถึงศาลอาญา ก่อนที่ศาลจัดตพิพากษาให้เขามีความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และให้จำคุกเป็นเวลาสี่ปีที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย 26 กันยายน 2566

© 2023 AP Photo/Sakchai Lalit.

ประเทศไทยจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่บกพร่องและไม่เป็นธรรม ซึ่งจัดทำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เป็นรัฐบาลทหาร พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคฝ่ายปฏิรูปชนะเลือกตั้งได้สส.มากสุด แต่วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของกองทัพ ได้ขัดขวางจนทำให้พวกเขาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

เศรษฐา ทวีสินจากพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนเป็นอันดับสอง จึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่รวมถึงพรรคการเมืองที่เคยอยู่ร่วมในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามาแล้ว แม้ว่ารัฐบาลใหม่สัญญาจะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่ยังคงเกิดการลอยนวลพ้นผิด ภายหลังการปฏิบัติมิชอบต่อไป ทางการยังคงจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม และดำเนินคดีกับนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แกนนำชุมชน นักปกป้องสิ่งแวดล้อม และผู้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

การเลือกตั้งทั่วไป การโจมตีพรรคก้าวไกล และรัฐบาลใหม่

การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยเกิดขึ้นภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่จัดทำขึ้นภายใต้การควบคุมของคสช. ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารที่จัดตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหารปี 2557 เสียงส่วนใหญ่ในสภาล่างได้เสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากการออกเสียงรับรองนายกรัฐมนตรีต้องมาจากสว. 250 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกสภาล่าง 500 คน โดยต้องการเสียงอย่างน้อย 376 เสียงเพื่อให้เกินกึ่งหนึ่งของทั้งหมด 750 เสียงของทั้งสองสภา พรรคก้าวไกลมีสส. 151 คน แต่ถูกปฏิเสธจากสมาชิกส่วนใหญ่ของวุฒิสภาและสส.ที่เคยอยู่ร่วมกับรัฐบาลก่อนหน้านี้ ซึ่งอ้างว่าพรรคก้าวไกลมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทกษัตริย์) จึงถือว่ามีความพยายามที่จะโค่นล้มสถาบันกษัตริย์

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติ ในวันที่ 12 กรกฎาคม เพื่อรับพิจารณาคดีที่เป็นการกล่าวหาพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายปฏิรูปมาตรา 112 และถูกมองว่าเป็นความพยายามล้มล้างการปกครอง ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัยในปัจจุบัน แต่หากมีคำวินิจฉัยที่ไม่เป็นคุณ อาจส่งผลให้มีการยุบพรรค และมีการดำเนินคดีอาญากับแกนนำพรรค ทั้งยังอาจมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรคก้าวไกล  

ในเดือนกรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก่อนจะมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง เนื่องจากการครอบครองหุ้นในบริษัทไอทีวีซึ่งเป็นบริษัทสื่อ แม้ว่าบริษัทดังกล่าวจะหยุดการเผยแพร่สัญญาณภาพและเสียงมาแล้วเป็นเวลา 15 ปี และได้ถูกถอดออกจากรายชื่อบริษัทในตลาดหุ้นของประเทศไทยในปี 2557

ในเดือนกันยายน ศาลฎีกามีคำสั่งห้ามพรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ (ซึ่งเป็นพรรคการเมืองก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกล) และอดีตสส. จากการดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการมีตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ตลอดชีวิต เนื่องจากเธอได้โพสต์ภาพถ่ายทางออนไลน์ ขณะที่ยังเป็นนักศึกษา ซึ่งศาลมองว่าเป็นการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์

นายกรัฐมนตรีเศรษฐาได้ประกาศบ่อยครั้งถึงพันธสัญญาที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งในการแถลงต่อรัฐสภาไทยในวันที่ 11 กันยายน 2566 และต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวันที่ 22 กันยายน 2566 แต่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยระบุว่า จะไม่มีการดำเนินงานเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ของไทยที่มีบทลงโทษรุนแรง ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และจะยังคงอนุญาตให้มีการดำเนินคดีในข้อหานี้ เศรษฐายัง ประกาศ ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของรัฐบาล จะไม่รวมถึงข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม

จนถึงเดือนกันยายน 2566 มีประชาชนอย่างน้อย 1,928 คน ที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จากการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 286 คนเป็นเด็ก

ทางการไทยยังคงใช้อำนาจตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปีในแต่ละกรรม ในปี 2566 ทางการได้สั่งฟ้องบุคคลอย่างน้อย 258 คน เนื่องจากการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย หรือการแสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดีย ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ทางการไทยใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาข้อหายุยงปลุกปั่นที่มีเนื้อหาคลุมเครือและมีบทลงโทษรุนแรง เพื่อดำเนินคดีกับนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและผู้เห็นต่างจากรัฐ

รัฐบาลมักสั่งควบคุมตัวผู้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ระหว่างการพิจารณาเป็นเวลาหลายเดือน แม้ศาลจะอนุญาตให้บางคนได้ประกันตัว แต่มีการกำหนดเงื่อนไขจำกัด เช่น การควบคุมตัวในบ้านตลอดเวลาหรือบางเวลา กำหนดให้ต้องสวมอุปกรณ์ติดตามตัว หรือถูกห้ามไม่ให้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ห้ามไม่ให้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง หรือเดินทางไปต่างประเทศ จนถึงเดือนกันยายน 2566 รัฐบาลควบคุมตัวนักกิจกรรมอย่างน้อย 35 คนระหว่างการพิจารณา เนื่องจากเข้าร่วมในการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย หรือกระทำการใด ๆ ซึ่งทางการมองว่าเป็นการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์

หลังจากรัฐบาลประยุทธ์ประกาศใช้ “พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2563 โดยอ้างว่าเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทางการได้สั่งฟ้องบุคคลอย่างน้อย 1,469 คน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเข้าร่วมการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ตำรวจและพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีในข้อหาต่าง ๆ รวมทั้งการละเมิดมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม การละเมิดเคอร์ฟิว และการละเมิดมาตรการควบคุมโรคอื่น ๆ ไม่มีการยุติการดำเนินคดีเหล่านี้ แม้ภายหลังมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 การละเมิดพรก.ฉุกเฉินฯ อาจส่งผลให้ถูกจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับให้สูญหาย

ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และยังได้ลงนาม แม้จะยังไม่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย

ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ และประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังไม่สามารถใช้กฎหมายนี้อย่างเป็นผลเพื่อคลี่คลายคดีที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

ฮิวแมนไรท์วอทช์บันทึกข้อมูล กรณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้ทรมานชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูระหว่างถูกควบคุมตัว ทั้งยังมีรายงานที่น่าเชื่อถือว่า ได้มีการใช้การทรมานเป็นส่วนหนึ่งของ การลงโทษทหารเกณฑ์ของไทย ในช่วงการปกครองของรัฐบาลทหารคสช.เป็นเวลาห้าปีภายหลังรัฐประหารปี 2557 ประชาชนจำนวนมากถูกกองทัพควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก พวกเขากล่าวหาว่าทหารได้ทำการทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อตนเองระหว่างถูกควบคุมตัวและสอบปากคำ

ในคดีที่อื้อฉาวและเป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลาย รวมทั้งมีพยานหลักฐานหนักแน่น ทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นมาบ้าง ในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษา จำคุกตลอดชีวิต พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ในข้อหาทรมานผู้ต้องสงสัยในคดีค้ายาเสพติดจนเสียชีวิตในจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564

แต่การดำเนินคดีในคดีอื่นกลับมีข้อบกพร่อง ในวันที่ 28 กันยายน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง สั่งยกฟ้องคดี ต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้สี่นายซึ่งต้องสงสัยว่า อุ้มหายหรือสังหาร พอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงเมื่อเดือนเมษายน 2557 ศาลพิพากษาจำคุกพวกเขาเพียงสามปีในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ไปแจ้งความหลังการจับกุมบิลลี่ (ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาครอบครองน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย) และไม่นำตัวเขาไปยังสถานีตำรวจ ครอบครัวของบิลลี่และภาคประชาสังคมชี้ให้เห็นการทำงานที่บกพร่องของตำรวจด้านการสอบสวน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศาลสั่งยกฟ้องในข้อหาหนัก

นับแต่ปี 2523 คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ สามารถบันทึกข้อมูล 76 กรณีของการบังคับให้สูญหายในประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างน้อยเก้าคนที่หลบหนีการประหัตประหารในประเทศไทย และต่อมา ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน ในเดือนกันยายน 2564 คณะทำงานฯ แสดงความกังวลใน รายงานประจำปี เกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายในบริบทของการส่งตัวบุคคลข้ามชาติระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

การโจมตีทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะประกันให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนได้

การพยายามปกปิดข้อมูล การทำงานที่บกพร่องอย่างชัดเจนของตำรวจ และการขาดเจตจำนงที่จะสืบหาพยานหลักฐานในคดี ส่งผลให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินคดีทหาร ซึ่งยิงปืนสังหาร ชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่จนเสียชีวิต ในช่วงกลางวันที่บริเวณด่านตรวจเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ในจังหวัดเชียงใหม่

ตำรวจไม่สามารถรายงานความคืบหน้าในการสอบสวน การใช้ความรุนแรง ทำร้ายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และเอกชัย หงส์กังวาน แกนนำนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2562 ได้

เจ้าหน้าที่มักคุกคามและข่มขู่นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อขัดขวางไม่ให้พวกเขาเป็นแกนนำ หรือเข้าร่วมการประท้วง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเดินทางมายังพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกของราชวงศ์

แม้ประเทศไทยจะประกาศใช้ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในปี 2562 แต่ทางการไทยก็ไม่สามารถคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจาก การตอบโต้ และไม่สามารถยุติการฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะที่เป็นการปฏิบัติมิชอบ (SLAPP) อังคณา นีละไพจิตรt อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมหลายคนที่ถูกตอบโต้ด้วยการฟ้องคดีลักษณะนี้

การขาดความรับผิดต่อการปฏิบัติมิชอบที่รัฐสนับสนุน

ในวันที่ 22 สิงหาคม ศาลแพ่งสั่งให้ตำรวจชดใช้เงินจำนวน 3 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายให้กับธนัตถ์ ธนากิจอำนวย นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเสียดวงตาไปข้างหนึ่งหลังถูกตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ ระหว่างการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 แต่แทบไม่มีความคืบหน้าในคดีอื่น ๆ ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าตำรวจปราบจลาจลได้ปฏิบัติมิชอบ และใช้กำลังจนเกินขอบเขต เพื่อสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยระหว่างปี 2563-2566

แม้มีพยานหลักฐานมากมายที่ยืนยันว่า ทหารเป็นผู้รับผิดชอบต่อการบาดเจ็บล้มตายส่วนใหญ่ ในระหว่าง การเผชิญหน้าทางการเมืองเมื่อปี 2553 กับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “คนเสื้อแดง” ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 99 คน และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน แต่ไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ กับเจ้าหน้าที่ทหารหรือรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้สั่งการและทำการสลายการชุมนุม

ไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนทางอาญา กรณีการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายระหว่างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะการสังหารบุคคลกว่า 2,800 คนในระหว่าง “สงครามปราบยาเสพติด” ของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรในปี 2546

ความรุนแรงและการปฏิบัติมิชอบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

การขัดกันด้วยอาวุธในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลาในประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คนนับแต่เดือนมกราคม 2547 มีแนวโน้มลดความรุนแรงลงช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ภายหลังการประกาศร่วมกันระหว่างกองทัพไทยและขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (BRN) ซึ่งสัญญาว่าจะหาแนวทางลดความรุนแรงระหว่างเดือนรอมฎอน อย่างไรก็ดี นับแต่เดือนสิงหาคม การโจมตีต่อเป้าหมายที่เป็นกองทัพและพลเรือนได้เพิ่มขึ้น แม้จะมีการเจรจาอย่างต่อเนื่องระหว่างตัวแทนของรัฐบาลกับบีอาร์เอ็น

รัฐบาลยังคงไม่สามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงที่รับผิดชอบต่อการทรมาน การสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการปฏิบัติมิชอบอื่น ๆ ต่อชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในหลายกรณี ทางการไทยได้จ่ายเงินเยียวยาให้กับเหยื่อหรือครอบครัว เพื่อแลกกับข้อตกลงที่จะไม่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ หรือไม่ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่

ประเทศไทยยังไม่ประกาศรับรอง ปฏิญญาโรงเรียนปลอดภัย ในเวลาเดียวกัน บีอาร์เอ็นยังคงคัดเลือกเด็กเพื่อเข้าร่วมในปฏิบัติการก่อความไม่สงบ

ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติ  

ประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 หรือพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 อย่างไรก็ดี หลักการไม่ส่งกลับ ที่เป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และกฎหมายต่อต้านการทรมานของประเทศไทย ห้ามไม่ให้มีการบังคับส่งกลับบุคคลไปยังสถานที่ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อการประหัตประหาร การทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้ายในรูปแบบอื่น ๆ

แม้จะไม่สามารถให้ความคุ้มครองอย่างเป็นผล ประเทศไทยต้องให้ที่พักพิงกับผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ทางการไทยยังคงปฏิบัติกับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยเหมือนเป็นผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งอาจถูกจับกุมและส่งกลับ ทางการได้อ้างว่าเป็นนโยบายอย่างเป็นทางการ และปฏิเสธไม่ให้สถานะของผู้ลี้ภัยกับชาวม้งลาว ชาวโรฮิงญา และชาวอุยกูร์ รวมทั้งคนที่หลบหนีมาจากประเทศเมียนมาและเกาหลีเหนือ ในเดือนกันยายน 2566 รัฐบาลได้ประกาศใช้กลไกคัดกรองระดับชาติใหม่ เพื่อจำแนกตัวผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และให้ความคุ้มครองกับพวกเขา แต่ขณะที่เขียนรายงานยังไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดวิธีการดำเนินงานตามกลไกใหม่นี้ 

ทางการไทยได้ละเมิดข้อห้ามไม่ให้ส่งกลับตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ โดยมีการส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงว่าอาจต้องเผชิญกับการประหัตประหาร โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม, เมียนมา และจีน

ทางการไทยไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนกรณีอุ้มหายอย่างชัดเจน และบางกรณีเป็นการสังหารผู้เห็นต่างจากรัฐจาก กัมพูชา, เวียดนาม และลาว ที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย ระหว่างปี 2557-2566 ในวันที่ 13 เมษายน 2566 ไถ่วันด่อง ผู้ลี้ภัยจากเวียดนามได้ถูกอุ้มหายจากในถนนในจังหวัดปทุมธานี โดยน่าจะเกิดจากการสั่งการของเวียดนาม และถูกบังคับส่งกลับไปเวียดนาม ทำให้ปัจจุบันเขาถูกควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างถูกดำเนินคดีในกรุงฮานอย ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 บุคคลไม่ทราบฝ่ายได้ยิงปืนสังหาร บุนสวน กิตติยาโน แกนนำกลุ่มลาวเสรีและผู้ลี้ภัยในจังหวัดอุบลราชธานี

ประเทศไทยควบคุมตัวชาวอุยกูร์ประมาณ 50 คน และชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนโดยไม่มีเวลากำหนด ในสถานกักตัวคนต่างด้าวที่มีสภาพเลวร้าย ไม่มีอาหารอย่างเพียงพอ ไม่สามารถเข้าถึงยารักษาโรคได้ ส่งผลให้บางคนเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว ซึ่งบางคนถูกควบคุมตัวนานนับทศวรรษ มัทโทที มัททูซันและอาซิซ  อับดุลเลาะห์ ชาวอุยกูร์สองคนเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยเมื่อปี 2566 ระหว่างอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลูในกรุงเทพฯ

แม้รัฐบาลจะประกาศปฏิรูปอุตสาหกรรมประมง แต่แรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังตกเป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงาน ยังคงตกเป็นแรงงานขัดหนี้ให้กับนายหน้า ไม่สามารถขอเปลี่ยนนายจ้างได้ และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยมีการจ่ายเงินล่าช้าไปหลายเดือน เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลให้ สัญญา กับเจ้าของเรือประมง ซึ่งจะยิ่งบั่นทอนมาตรการคุ้มครองแรงงานสำหรับแรงงานในอุตสาหกรรมนี้

ทางการไทยไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของคนงานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม ยังคงมีการทำลายสหภาพแรงงานต่อไปในย่านอุตสาหกรรม ในขณะที่แกนนำสหภาพแรงงานถูกคุกคามและถูกปลดโดยนายจ้างที่เป็นปรปักษ์กับตน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มีข้อห้ามไม่ให้แรงงานที่ไม่ใช่คนไทยเป็นแกนนำและจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานที่จดทะเบียนกับรัฐบาล

ความไม่เท่าเทียมทางเพศ

แม้ประเทศไทยได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ในปี 2558 แต่การบังคับใช้ยังไม่เข้มแข็ง แม้จะมีการฟ้องคดีต่อศาลหลายคดีโดยคนข้ามเพศ

รสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

ในแง่สิทธิของเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการต่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และระบุว่าจะเสนอร่างนี้เพื่อการพิจารณาของรัฐสภาในเดือนธันวาคม แม้ในขณะเขียนรายงานจะไม่มีการเผยแพร่ร่างกฎหมายนี้ แต่คาดว่าจะเป็นส่วนผสมกันระหว่างร่างกฎหมายสองฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต และ ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมที่ผ่านการพิจารณาของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา หากมีการประกาศใช้ กฎหมายนี้จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองการสมรสของเพศเดียวกันตามกฎหมาย

หน่วยงานระหว่างประเทศที่สำคัญ

ประเทศไทยและสหภาพยุโรปเริ่มต้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีเมื่อเดือนมีนาคม โดยมีเป้าหมายจะบรรลุข้อตกลงในปี 2568 โดยภาคประชาสังคมของไทยและระหว่างประเทศเน้นให้เห็นความสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ในระหว่างการเจรจาตามข้อตกลงนี้

สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และรัฐภาคี รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ได้ยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศไทย หลังรัฐบาลเศรษฐาเข้าดำรงตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายกรัฐมนตรีเศรษฐา แถลง ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า ประเทศไทยจะส่งตัวแทนลงเลือกตั้งเป็นกรรมการคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) เพื่อดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2568-2570 แม้จะมีการแสดงความกังวลอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีการแก้ไขโดยรัฐต่าง ๆ และกลุ่มสิทธิ ในระหว่างกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนตามวาระรอบสาม (UPR) ของประเทศไทย ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนในเดือนพฤศจิกายน 2565