รัฐบาลทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ชะลอการยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างเข้มงวดออกไป แม้จะประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมาพันธ์ 2562 มีข้อกังวลอย่างร้ายแรงว่า พรรคการเมือง สื่อมวลชน และผู้มีสิทธิออกเสียง ยังคงถูกขัดขวางไม่ให้มีโอกาสเข้าร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายังคงใช้อำนาจอย่างปราศจากการตรวจสอบ ทั้งจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ และไม่มีการรับผิดแม้เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง
เสรีภาพในการแสดงออก
หน่วยราชการซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลทหาร มักเซ็นเซอร์ข้อมูล และขู่ลงโทษและสั่งปิดสื่อมวลชน กรณีที่เผยแพร่ข้อมูลที่วิพากษ์วิจารณ์ระบอบทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือนำเสนอประเด็นที่ถูกมองว่าอ่อนไหวต่อความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์และพฤษภาคม 2561 ได้มีคำสั่งพักการดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์พีซทีวีเป็นการชั่วคราว เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเหล่านี้ ในขณะเดียวกันมีการสั่งพักการออกอากาศรายการ “Tonight Thailand” และ “Wake Up News” ของวอยซ์ทีวีเป็นเวลา 15 วันในเดือนมีนาคม และ 30 วันในเดือนกันยายน
ทางการไทยมักเข้าไปขัดขวางการสัมมนาทางวิชาการและการอภิปราย เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย ในเดือนสิงหาคม ชยันต์ วรรธนะภูติ นักวิชาการที่มีชื่อเสียงและผู้เข้าร่วมการสัมมนาคนอื่น ๆ ในการประชุมทางวิชาการไทยศึกษา ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2560 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ถูกฟ้องศาลในข้อหาละเมิดคำสั่งคสช.ที่ห้ามการชุมนุมสาธารณะของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ต่อต้านคสช. เนื่องจากมีการชูสามนิ้วและมีการถือแผ่นกระดาษ วิพากษ์วิจารณ์การเข้ามาสอดแนมอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ทหารในระหว่างการประชุม
หน่วยราชการในจังหวัดปทุมธานีสั่งให้ยกเลิกการสัมมนาที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายเพื่อสันติภาพชาวโรฮิงญาแห่งประเทศไทย ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ของเมียนมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม โดยอ้างว่ากิจกรรมนี้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา ในวันที่ 10 กันยายน คสช.สั่งให้ยกเลิกการอภิปรายรายการ “นายพลทหารเมียนมาจะต้องเข้ารับการไต่สวนจากอาชญากรรมระหว่างประเทศหรือไม่?” (“Will Myanmar's Generals Ever Face Justice for International Crimes?”) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ด้วยเหตุผลเดียวกัน
ในปี 2561 นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างน้อย 130 คนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย และบางคนถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่น จากการเรียกร้องอย่างสงบให้รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งตามที่สัญญา โดยไม่ให้มีการชะลอออกไป และให้ยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยทันที
ในเดือนตุลาคม พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกประกาศว่า มีความเป็นไปได้ที่กองทัพอาจทำรัฐประหารอีก เพื่อควบคุมความไม่สงบทางการเมือง
รัฐบาลทหารยังคงดำเนินคดีผู้วิพากษ์วิจารณ์โดยใช้ข้อหายุยงปลุกปั่น และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต่อไป นับแต่รัฐประหารปี 2557 มีบุคคลอย่างน้อย 92 คนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น ในเดือนกุมภาพันธ์ ทางการดำเนินคดีกับวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ในข้อหายุยงปลุกปั่นและละเมิดพรบ.คอมฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กให้กำลังใจนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
พรบ.คอมฯ กำหนดฐานความผิดที่กว้างขวาง เป็นเหตุให้ทางการสามารถดำเนินคดีกับบุคคลใด ๆ ที่โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ได้ ในเดือนมิถุนายน ทางการได้ออกหมายจับวัฒนา เอ็บเบจซึ่งอาศัยอยู่ที่กรุงลอนดอน เนื่องจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่ชื่อ KonthaiUK โดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตในโครงการจัดซื้อของกองทัพ มีบุคคลอย่างน้อย 29 คนในประเทศไทยที่ถูกจับกุมเนื่องจากได้แชร์ข้อความของวัฒนา ในเดือนกันยายน ทางการได้จับกุมผู้ใช้เฟซบุ๊ก 12 รายจากการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่ามีการข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า ทั้งยังมีการออกหมายจับซูซาน เอมเมอรี่ ชาวอังกฤษซึ่งเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Samui Times และประมุข อนันตศิริ ชาวอเมริกันเชื้อสายไทยซื่งเป็นแอดมินของเฟซบุ๊ก CSI LA เนื่องจากเผยแพร่รายงานและวิพากษ์วิจารณ์คุณภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีนี้
ในปี 2561 คสช.ยังคงเรียกตัวสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล และสมาชิกแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง รวมทั้งบุคคลใด ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านระบอบทหาร เพื่อให้เข้ารับ “การปรับทัศนคติ” ทั้งนี้เพื่อบังคับให้พวกเขายุติการแสดงความเห็นทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร หากไม่ไปรายงานตัวจะถือเป็นความผิดอาญา
ทางการได้จับกุมบุคคลกว่า 100 คนในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนับแต่รัฐประหารปี 2557 ส่วนใหญ่เนื่องจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ มีบางส่วนที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดและลงโทษจำคุกเป็นเวลาหลายทศวรรษ
การควบคุมตัวของทหารและศาลทหาร
ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 หน่วยงานทหารมีอำนาจในการควบคุมตัวบุคคลแบบลับ โดยสามารถอ้างความผิดได้หลายประการ และสามารถควบคุมตัวไว้ไม่เกินเจ็ดวันโดยไม่มีการตั้งข้อหา ไม่สามารถเข้าถึงทนายความ และไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ รัฐบาลยังใช้อำนาจควบคุมตัวโดยทหารอยู่เสมอ โดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งมักเป็นเหตุให้เกิดการปฏิบัติมิชอบระหว่างการสอบปากคำ โดยไม่มีผู้ใดต้องรับผิด เป็นกฎหมายที่นำมาใช้ระหว่างปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนใต้รวมทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
คสช.ปฏิเสธคำขอให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่อยู่ในการควบคุมตัวของทหาร และปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่าทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานหรือการปฏิบัติมิชอบต่อผู้ถูกควบคุมตัว
รัฐบาลทหารไม่ยอมโอนคดีอาญา 369 คดีต่อพลเรือนกว่า 1,800 คนในศาลทหาร ไปให้กับศาลพลเรือนตามข้อกำหนดของกฎหมายระหว่างประเทศ
การบังคับบุคคลให้สูญหายและการทรมาน
ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ในเดือนมกราคม 2555 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ประมวลกฎหมายอาญาไม่กำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหาย หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ได้ชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 รัฐบาลยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะนำร่างพรบ.ฯ นี้เข้าสู่การพิจารณาอีกครั้งเมื่อใด
กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนคดีการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งคดีที่สำคัญสองคดีต่อสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนที่เป็นมุสลิม และ บิลลี่ "พอละจี รักจงเจริญ" นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยง ในเวลาเดียวกัน คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้สูญหายของรัฐบาลแทบไม่มีอำนาจหรือไม่มีเจตจำนงทางการเมืองที่จะดำเนินงานอย่างจริงจัง
ประเทศไทยไม่มีกฎหมายเอาผิดทางอาญาต่อการทรมาน ตามที่กำหนดในอนุสัญญาสหประชาชาติต่อต้านการทรมาน ซึ่งไทยให้สัตยาบันรับรองเมื่อปี 2550 ในปี 2561 ทางการยังคงไม่ดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจังและน่าเชื่อถือเมื่อมีข้อกล่าวหาว่าเกิดการทรมานขึ้น เมื่อมีการกล่าวหาว่าหน่วยงานของรัฐเกี่ยวข้องกับการทรมาน พวกเขามักตอบโต้โดยการฟ้องหมิ่นประมาทและใช้พรบ.ฯ คอมฟ้องผู้กล่าวหา โดยอ้างว่าเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เสียชื่อเสียงและเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน) ได้ฟ้องคดีหมิ่นประมาททั้งทางอาญาและทางแพ่งต่ออิสมาแอ เต๊ะ ซึ่งได้ระบุในการให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า เขาถูกทรมานระหว่างการควบคุมตัวของทหารในจังหวัดปัตตานีเมื่อปี 2551 กองทัพยังได้ดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาและเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาทจากแมนเนเจอร์ออนไลน์ จากการเผยแพร่รายงานข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานอิสมาแอและชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูคนอื่น ๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ชองไทย
การขาดความรับผิดต่อความรุนแรงที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง
แม้จะมีพยานหลักฐานชี้ว่า ทหารมีส่วนรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บล้มตายส่วนใหญ่ในระหว่างการเผชิญหน้าทางการเมืองกับกลุ่มนปช.หรือคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คนและได้รับบาดเจ็บกว่า 2,000 คน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการสังหารและการทำให้พลเรือนบาดเจ็บครั้งนี้ ในเวลาเดียวกัน แกนนำนปช.และผู้สนับสนุนจำนวนมากได้ถูกดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553
นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
จนกระทั่งปี 2561 คำสัญญาของรัฐบาลที่จะจัดทำมาตรการเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังไม่เป็นผล การสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมภาคประชาสังคมกว่า 30 คนตั้งแต่ปี 2544 ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย การปกปิดข้อมูลของกองทัพและการปฏิบัติงานย่อหย่อนของตำรวจ เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินคดีกับทหารซึ่งเป็นผู้ยิงชัยภูมิ ป่าแส นักเคลื่อนไหวชาวลาหู่จนเสียชีวิตในเดือนมีนาคม 2560 ที่จังหวัดเชียงใหม่
หน่วยราชการและบริษัทเอกชนฟ้องคดีหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและอาญา เพื่อตอบโต้บุคคลที่รายงานข้อมูลการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน ในเดือนมีนาคม 2561 ศาลจังหวัดพระโขนงสั่งให้อานดี้ ฮอลล์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 10 ล้านบาท รวมทั้งค่าทนายความและค่าธรรมเนียมศาล ให้กับบริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด จากการที่เขาให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีราในเดือนเมษายน 2556 กล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบต่อแรงงานชาวพม่าในโรงงานสับปะรดกระป๋องของบริษัท ทางบริษัทยังคงเดินหน้าเพื่อให้มีการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาและความผิดทางคอมพิวเตอร์ต่ออานดี้ ฮอลล์ เนื่องจากเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงาน “สินค้าถูก แต่มีราคาสูง” “Cheap Has a High Price” ในปี 2556 ของกลุ่ม FinnWatch
ทางการยังคงดำเนินคดีอาญาต่อศิริกาญจน์ เจริญศิริ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในข้อหายุยงปลุกปั่นและข้อหาร้ายแรงอื่น ๆ เนื่องจากการปฏิบัติตามวิชาชีพทางกฎหมายเพื่อเป็นทนายความให้กับนักศึกษา 14 คน ที่ถูกจับกุมในเดือนมิถุนายน 2558 หลังจากการชุมนุมประท้วงอย่างสงบที่กรุงเทพฯ
ในเดือนพฤษภาคม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติหกคน เรียกร้องให้ประเทศไทยแก้ไขกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกัน “การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทอย่างมิชอบโดยบริษัท” เนื่องจากที่ผ่านมามักมีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาท เพื่อตอบโต้ผู้ที่ออกมาเปิดโปงข้อมูล หรือรายงานว่ามีการปฏิบัติมิชอบด้านแรงงาน
ในรายงานประจำปีที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งใน 38 ประเทศซึ่งบุคคลที่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน เสี่ยงจะถูกคุกคามหรือตอบโต้
จากการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ส่งผลให้หน่วยงานอ่อนแอลงอย่างมาก รัฐบาลยังสั่งให้กสม.เผยแพร่ข้อมูลตอบโต้ข้อมูลในรายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งระบุถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
ความรุนแรงและการปฏิบัติมิชอบในจังหวัดชายแดนใต้
นับแต่เดือนมกราคม 2547 สมาชิกขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (BRN) ได้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายสงครามหลายครั้ง โดยกว่า 90% ของผู้ที่ถูกสังหารจำนวน 6,800 คนในระหว่างการขัดกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนใต้เป็นพลเรือน รวมทั้งเด็ก ซึ่งมาจากทั้งชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูและไทยพุทธ
ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ชาวไทยพุทธอย่างน้อยห้าคนได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกับระเบิดซึ่งวางไว้โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นในสวนยางของจังหวัดยะลา
ที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่มีส่วนรับผิดชอบกับการทรมาน และการสังหารชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ดี หน่วยราชการได้ให้เงินช่วยเหลือกับผู้เสียหายหรือครอบครัว เพื่อแลกกับการที่พวกเขาไม่ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่หรือออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติ
ประเทศไทยไม่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 ทางการไทยยังคงปฏิบัติกับผู้แสวงหาที่ลี้ภัย รวมทั้งบุคคลที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากองค์การสหประชาชาติเหมือนเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง โดยเสี่ยงจะถูกจับกุมและส่งกลับ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมกราคม 2560 ให้มีกลไกคัดกรองผู้แสวงหาที่ลี้ภัยระดับชาติ
ตั้งแต่เดือนสิงหาคม รัฐบาลเริ่มกวาดล้างระดับชาติต่อผู้หลบหนีเข้าเมือง มีการจับกุมผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกว่า 200 คนจากเวียดนาม กัมพูชา และปากีสถาน พวกเขาถูกควบคุมตัวในห้องขังของตม.ที่มีสภาพเลวร้าย มีการแยกเด็กกว่า 50 คนออกจากพ่อแม่ของพวกเขาด้วย
รัฐบาลปฏิเสธไม่ให้หน่วยงานแห่งสหประชาชาติดำเนินการจำแนกสถานะผู้ลี้ภัยของผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และกักตัวพวกเขาอย่างน้อย 105 คนโดยไม่มีเวลากำหนดในสถานกักตัวคนต่างด้าว มีรายงานว่า ชาวอุยกูร์กว่า 60 คนจากประเทศจีนยังคงถูกกักตัวโดยไม่มีเวลากำหนดในสถานกักตัวคนต่างด้าวขณะที่เขียนรายงานนี้ หลังถูกจับกุมเมื่อเดือนมีนาคม 2557
แรงงานข้ามชาติจากเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เสี่ยงจะถูกปฏิบัติมิชอบทางกาย ถูกกักตัวโดยไม่มีเวลากำหนด ถูกเจ้าหน้าที่รีดไถ ถูกปฏิบัติมิชอบอย่างรุนแรงด้านสิทธิแรงงาน ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยนายจ้าง ถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรง และตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ของกลุ่มอาชญากร ซึ่งมักร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่ฉ้อฉล สถานการณ์เลวร้ายลงเนื่องจากบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานได้ทันตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งกำหนดให้ขึ้นทะเบียนภายในเดือนมิถุนายน แรงงานข้ามชาติยังคงเกรงกลัวไม่กล้ารายงานข้อมูลต่อหน่วยราชการ เมื่อมีการปฏิบัติมิชอบ เนื่องจากกลัวจะถูกตอบโต้ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ แรงงานข้ามชาติถูกห้ามไม่ให้รวมตัวหรือเป็นกรรมการของสหภาพแรงงาน
ในเดือนกรกฎาคม ศาลแขวงที่กรุงเทพฯ ยกฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา 14 คน ที่ถูกนายจ้างฟ้อง นายจ้างของพวกเขาคือบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งมีฟาร์มเลี้ยงไก่ในจังหวัดลพบุรี หลังจากพวกเขาร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศาลมีความเห็นว่าคนงานเหล่านี้ได้ดำเนินการร้องเรียนอย่างสุจริตใจเพื่อปกป้องสิทธิของตนตามที่รับรองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและอนุสัญญาระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ทางบริษัทยังคงฟ้องคดีหมิ่นประมาท เพื่อตอบโต้กับคนงานและนักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ต่อไป
การปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงของรัฐบาล ยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาการปฏิบัติมิชอบอย่างร้ายแรงด้านสิทธิแรงงาน แรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังคงตกเป็นเหยื่อแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมง อยู่ในสภาพที่เป็นแรงงานขัดหนี้ให้กับนายหน้า ไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ ไม่ได้รับค่าแรงตามเวลา และได้รับค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย
สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย (NFAT) ซึ่งมีอิทธิพล ได้รณรงค์ต่อต้านการให้สัตยาบันและการดำเนินงานตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ซึ่งจะให้ความคุ้มครองอย่างเพียงพอกับคนงานประมงที่เสี่ยงภัย แรงต่อต้านจากสมาคมประมงไม่ให้มีการออกกฎหมายเพื่อเอาผิดทางอาญากับแรงงานบังคับเป็นการเฉพาะ ยังเป็นอุปสรรคทำให้ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกิจ หลังจากให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2557 ของอนุสัญญาแรงงานบังคับในเดือนมิถุนายนได้
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จัดให้ประเทศไทยอยู่ใน Tier 2 (จากสามอันดับ) ในรายงานประจำปีว่าด้วยการค้ามนุษย์ คณะมนตรียุโรปได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับในเรือประมงไทย และได้ให้ใบเหลืองกับประเทศไทย เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจมีการคว่ำบาตรทางการค้าเนื่องจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (IUU fishing)
ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
แม้ว่าประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 แต่ยังไม่มีการบังคับใช้อย่างเป็นผล ยกตัวอย่างเช่น คำสัญญาของรัฐบาลตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW) ในแง่การปรับปรุงความเท่าเทียมระหว่างเพศ ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้งมติในเดือนกันยายนที่ยกเลิกการอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้
นโยบายปราบปรามยาเสพติด
รัฐบาลไม่สามารถสอบสวน เพื่อคลี่คลายคดีการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย ในระหว่างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดได้ โดยเฉพาะการสังหารที่เกิดขึ้นกว่า 2,800 ครั้ง อันเป็นผลมาจากสงครามปราบปรามยาเสพติดของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2546
กระทรวงมหาดไทยและกองทัพยังคงใช้วิธีบำบัดผู้เสพยาแบบเดียวกับการฝึกในค่ายทหารต่อไป
หน่วยงานระหว่างประเทศที่สำคัญ
องค์การสหประชาชาติและประเทศพันธมิตรที่สำคัญของไทย ยังคงแสดงข้อกังวลต่อไปเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังรัฐประหารปี 2557 สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศอื่น ๆ ต่างยืนยันว่าจะฟื้นฟูความสัมพันธ์เป็นปรกติ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลทหารคืนระบอบประชาธิปไตยแบบพลเรือนให้ประเทศ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ในเดือนธันวาคม 2560 รัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศ มีมติให้ฟื้นฟูการติดต่อทางการเมืองในทุกระดับกับประเทศไทย และแสดงความพร้อมที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์และความร่วมมือด้วย เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย
สหภาพยุโรปตำหนิประเทศไทยหลังมีการประหารชีวิตบุคคลเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี เมื่อเดือนมิถุนายน และกระตุ้นให้รัฐบาลไทยงดเว้นจากการประหารชีวิต และให้เดินหน้าไปสู่ความตกลงชั่วคราวที่จะยุติการประหารชีวิต และการยกเลิกโทษประหารในที่สุด