Skip to main content

พม่า: หยุดการปราบปรามพระภิกษุ

การคุกคามพระภิกษุทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงก่อนครบรอบสองปีของการสลายการชุมนุมประท้วง

(กรุงเทพฯ) - รายงานขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ที่เผยแพร่ในวันนี้ ระบุว่า พระภิกษุในพม่ายังคงถูกปราบปราม ข่มขู่ และจำคุก ภายหลังจากเหตุการณ์เมื่อสองปีที่แล้วที่รัฐบาลทหารใช้ความรุนแรงเหี้ยมโหดปราบปรามการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ

รายงานความยาว 90 หน้า เรื่อง "การขัดขืนของพระภิกษุ: พุทธศาสนา และการชุมนุมประท้วงในพม่า" (The Resistance of the Monks: Buddhism and Protest in Burma) ซึ่งเขียนโดยเบอร์ทิล ลินท์เนอร์ ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในพม่ามาอย่างยาวนาน กล่าวถึงการปราบปรามพระภิกษุในพม่า ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่พระภิกษุได้เข้าไปนำการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายน 2550 รายงานเรื่องนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระภิกษุหลายร้อยรูปที่ถูกจับกุม ทุบตี และคุมขัง พระภิกษุอีกหลายพันรูปยังคงหวาดกลัวว่าจะถูกปราบปราม จนทำให้พระภิกษุจำนวนมากหลบหนีออกจากวัด และเดินทางกลับไปยังหมูบ้านของตน หรือไปลี้ภัยในต่างประเทศ ขณะที่พระภิกษุที่ยังคงอยู่ที่วัดก็ถูกทางการจับตามมองอย่างใกล้ชิด

แบรด อาดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียขององคการฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า "เรื่องราวจากปากของพระภิกษุนั้นน่าเศร้า และสะเทือนใจ แต่ก็เป็นตัวอย่างของพฤติกรรมขงองรัฐบาลทหารพม่าที่ยึดกุมอำนาจโดยใช้ความรุนแรง ความหวาดกลัว และการกดขี่ปราบปราม" "การที่พระภิกษุมีสถานะทางศีลธรรมสูง ทำให้พวกเขากลายเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อรัฐบาลที่ไร้ศีลธรรม"

รายงานเรื่องนี้ระบุว่า ตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อปี 2550 เป็นต้นมา พระภิกษุหลายพันรูปถูกจับสึก และขัดขวางไม่ให้ทำหน้าที่เป็นคนกลางที่คอยแก้ไขความขัดแย้งในสังคม นอกจากนี้ รายงานยังแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทที่สำคัญของพระภิกษุในการให้บริการสังคมภายหลังจากที่พายุไซโคนนากริสพัดถล่มเมื่อปี 2551 ซึ่งประเด็นกลายเป็นสาเหตุทำให้พระภิกษุหลายรูปถูกปราบปราม  

รายงานขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์เมื่อปี 2550 รวบรวมข้อมูลการเสียชิวิตของพระภิกษุ และพลเรือน 21 กรณี ซึ่งเป็นผลมากจากการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยิงปืน และทุบตีผู้ชุมนุมประท้วง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระภิกษุนับพันรูป และผู้สนับสนุนถูกจับกุม

พระภิกษุในพม่าประมาณ 240 รูปถูกลงโทษอย่างรุนแรงด้วยการจำคุก ซึ่งรวมถึงอู กัมบิรา พระภิกษุอายุ 30 ปี ที่ถูกจำคุกนาน 63 ปี จากการที่มีบทบาทเป็นหนึ่งในผู้นำการชุมนุมประท้วง ในรายงานดังกล่าว อู กัมบิราพูดว่า

"พวกอาตมายึดหลักสันติวิธี สันหลังของเราแข็งเหมือนเหล็ก เราหันหลังกลับไม่ได้แล้ว มันเป็นเรื่องเล็กถ้าหากจะต้องสละชีวิตของเรา หรือของเพื่อนเราไปในการเดินทางครั้งนี้ คนอื่นจะเข้ามาสวมรองเท้าของเรา และคนอื่นๆ อีกมากจะเข้าร่วม และเดินตามแนวทางนี้"

ขณะนี้ อู กัมบิรา ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำที่ตั้งอยู่ห่างไกลในภาคตะวันตกของพม่า ใกล้กับชายแดนด้านอินเดีย โดยมีรายงานว่า เขากำลังล้มป่วย

รัฐบาลทหารจับตามองวัดต่างๆ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น รวมทั้งยังได้ปิดการให้บริการด้านอนามัย และโครงการณ์บริการสังคมของวัดในร่างกุ้ง และส่วนอื่นๆ ของประเทศ เช่น พะโกกู และมักเว พระภิกษุที่ต้องสงสัยว่าเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจับสึก ทั้งนี้ พระภิกษุรูปหนึ่งที่องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์สัมภาษณ์ที่มัณฑะเลย์ กล่าวว่า

"มีสายลับของทหารพม่าอยู่ด้านนอก คอยจับตาดูว่ามีใครเข้าออกประตูวัดบ้าง มีผู้ชายจากหน่วยงานความมั่นคงคนหนึ่งที่มาที่วัดทุกเช้า และทุกเย็น เพื่อตรวจว่า พระภิกษุที่วัดนี้เป็นใครบ้าง"

แบรด อาดัมส์ กล่าวว่า "วิธีการที่นำมาปฏิบัติต่อพระภิกษุที่เข้าร่วมในการชุมประท้วงอย่างสันตินั้นนอกจากจะสะท้อนถึงความโหดร้ายของรัฐบาลทหารพม่าแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า บรรดานายพลของพม่าไม่สนใจว่า ประชาชนคิดอะไร และเรื่องใดมีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของประชาชน" "นี่ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจ เพราะรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมนั้นย่อมจะใช้นโยบาย และวิธีการต่างๆ ที่จะรักษาอำนาจเอาไว้ แทนที่จะสนองความต้องการของประชาชน" 

รายงานเรื่องนี้ยังได้ติดตามประวัติศาสตร์การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพระภิกษุในพม่า โดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกรณีที่พระภิกษุเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเปิดเผยในการต่อต้านการถูกกดขี่ปราบปราม ตั้งแต่สมัยที่พม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มาจนถึงการชุมนุมประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2505 ตลอดจนการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปี 2517 2531 และ 2533

นอกจากนี้ รายงานเรื่องนี้ยังได้แสดงให้เห็นว่า สภาเพื่อสันติภาพ และการพัฒนาแห่งรัฐ (เอสพีดีซี) ได้ปราบปราม และขัดขวางงานของพระภิกษุเกี่ยวกับการบริการชุมชน การอนามัย และการศึกษาอยู่เป็นประจำ โดยขณะเดียวกันเอสพีดีซีก็ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมทางการเมืองด้วยการสร้างเจดียขนาดใหญ่ และมอบของขวัญราคาแพงให้แก่พระภิกษุอาวุโสบางรูป และวัดบางแห่ง

แบรด อาดัมส์ กล่าวว่า "ผู้ที่มองความเป็นไปในพม่าแบบผ่านๆ อาจจะเข้าใจว่า จีวรสีครั่ง และการสร้างวัดในพม่านั้นแสดงให้เห็นถึงสัญญลักษณ์ของเสรีภาพทางศาสนา แต่ในความเป็นจริงนั้น พระภิกษุที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านเผด็จการด้วยสันติวิธีตกเป็นเป้าของรัฐบาลทหารมาโดยตลอด"

รายงานเรื่อง "การขัดขืนของพระภิกษุ" เป็นส่วนเสริมของกิจกรรมการการรณรงค์ขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดในพม่าก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2553 องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้บรรดาตัวแสดงงสำคัญในประชาคมระหว่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย สมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า การเลือกตั้งของพม่าจะไม่มีความน่าเชื่อถือ และขาดความชอบธรรม ถ้าหากพระภิกษุ แม่ชี นักกิจกรรม และสมาชิกฝ่ายค้านยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

แบรด อาดัมส์ กล่าวว่า "ประชาชนพม่ายังคงโกรธแค้นรัฐบาลอย่างมาก และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการชุมนุมประท้วงเหมือนกับเมื่อปี 2550 นอกจากประชาคมระหว่างประเทศจะร่วมมือกันกดดันให้รัฐบาลพม่าปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง" "ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจถ้าหากจะเห็นพระภิกษุออกมาชุมนุมประท้วงอีกครั้งหนึ่ง ถ้าหากความทุกข์ของคนในสังคมยังไม่ได้รับการแก้ไข"

เนื้อหาบางส่วนของรายงาน

"สำหรับพวกอาตมาแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องศาสนา พวกอาตมาแค่ออกมาสวดมนต์แผ่เมตตา เมตตาสูตร ตามท้องถนนเท่านั้น พวกอาตมาไม่ได้เรียกร้องให้มีการใช้ความรุนแรงโค่นล้มรัฐบาล...พวกอาตมาต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายที่ดีกว่านี้ต่อประชาชน ดังนั้น พวกอาตมาจึงตัดสินใจคว่ำบาตรผู้นำทหารพม่า ไม่รับบิณฑบาตรอาหาร ยารักษาโรค หรือสิ่งใดๆ จากทางการ นี่เป็นวิธีเดียวที่พวกอาตมาสามารถนำมาใช้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย"

- คำสัมภาษณ์เมื่อปี 2551 ของ อู วิชิตา พูดถึงบทบาทในการชุมนุมประท้วงอย่างสันติเมื่อปี 2550

"การกวาดจับ การฆาตกรรม การทรมาน และการคุมขังที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นเครื่องมือนั้นไม่สามารถกำจัดความปรารถนาของพวกอาตมาที่ต้องการให้มีเสรีภาพ เสรีภาพซึ่งถูกขโมยไป พวกอาตมาถูกเล่นงานอย่างหนัก แต่ตอนนี้บรรดานายพลทั้งหลายกลับเป็นฝ่ายที่จะต้องหวาดกลัวผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของพวกตน พวกอาตมายึดหลักสันติวิธี สันหลังของเราแข็งเหมือนเหล็ก เราหันหลังกลับไม่ได้แล้ว มันเป็นเรื่องเล็กถ้าหากจะต้องสละชีวิตของเรา หรือของเพื่อนเราไปในการเดินทางครั้งนี้ คนอื่นจะเข้ามาสวมรองเท้าของเรา และคนอื่นๆ อีกมากจะเข้าร่วม และเดินตามแนวทางนี้"

- คำสัมภาษณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ของ อู กัมบิรา พระภิกษุที่เป็นแกนนำการชุมนุมประท้วง

"อาตมาถูกจับตามองตลอดเวลา เนื่องจากถูกหาว่า เป็นคนจัดการชุมนุมประท้วง ระหว่างเวลาเที่ยงถึงบ่ายสองโมง อาตมาได้รับอนุญาตให้ออกไปนอกวัดได้ แต่ก็จะมีคนคอยติดตามอาตมา วันนี้อาตมาต้องหาทางสลัดคนพวกนั้นให้หลุด เพื่อที่จะมาประชุมที่นี่ได้ อาตมาไม่กลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอาตมา อาตมาไม่กลัวที่จะพูดกับนักข่าวต่างชาติว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง อาตมาพร้อมที่จะเดินขบวนอีกครั้งหนึ่งถ้ามีโอกาส พวกอาตมาทุกคนที่วัดมีความคิดเหมือนกันว่า พวกเราไม่ต้องการเผด็จการทหาร" 

- คำสัมภาษณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม ของ อู มานิตา

"บางอย่างบรรลุผลในเหตุการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2550 เมื่อพระภิกษุรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง พวกอาตมาให้การศึกษาแก่พระภิกษุเหล่านั้น พวกเรายังคงคว่ำบาตรทหาร ไม่รับสิ่งของใดๆ จากทหาร สาเหตุหนึ่งที่จะทำให้รัฐบาลล่มสลาย คือ กระแสโลกาภิวัตร ไม่มีประเทศใดที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้อีกแล้ว ดูอย่างการล่มสลายของเผด็จการในอินโดนีเซีย พวกอาตมาต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรับเรื่องพม่าไปพิจารณา และมีการสอบสวนว่า จริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้างในพม่า...แต่จีน และรัสเซียใช้สิทธิยับยั้งไม่ให้มีการดำเนินการดังกล่าว ช่วยบอกชาวโลกด้วยว่า เกิดอะไรขึ้นในประเทศของพวกอาตมา"  

- คำสัมภาษณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ของ อู อิการา

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Region / Country