Skip to main content

ประเทศไทย

นักศึกษาที่ต่อต้านรัฐประหารถือโปสเตอร์ในโอกาสครบรอบสามปีการทำรัฐประหาร ระหว่างการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ 22 พฤษภาคม 2560

© 2017 Chaiwat Subprasom / Reuters

ในปี 2560 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของไทยไม่สามารถปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ครั้งแล้วครั้งเล่าในที่ประชุมสหประชาชาติและที่อื่น ๆ ในแง่ที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน และฟื้นฟูระบอบปกครองแบบประชาธิปไตย รัฐบาลประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติเมื่อเดือนพฤศจิกายน แต่ยังคงไม่ยุติการปราบปรามเสรีภาพของพลเรือนและเสรีภาพทางการเมือง ยังไม่ยุติการคุมขังผู้เห็นต่าง และยังปล่อยให้มีการลอยนวลพ้นผิดสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทรมานและการปฏิบัติมิชอบอื่น ๆ 
 

อำนาจอย่างกว้างขวางของกองทัพที่ปราศจากการตรวจสอบและความรับผิด

มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว อนุญาตให้นายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ โดยปราศจากการกำกับดูแลหรือความรับผิด รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคมมีข้อบทที่สนับสนุนการใช้อำนาจเช่นนี้ต่อไป เท่ากับประกันว่าทั้งคสช.และเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง จะไม่ต้องเข้ารับการไต่สวนความผิดจากการละเมิดสิทธิของตน วุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และหน่วยงานตามรัฐธรรมนูญใหม่อื่น ๆ จะเป็นพื้นฐานในการสืบทอดอำนาจควบคุมของกองทัพต่อไป แม้ว่ารัฐบาลทหารจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 
 

เสรีภาพในการแสดงออก

สื่อมวลชนต่างถูกคุกคาม ลงโทษ และถูกสั่งปิด หากเผยแพร่ความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือพูดถึงปัญหาที่คสช.มองว่ากระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งการปราบปรามสิทธิขั้นพื้นฐาน

สื่อมวลชนซึ่งขัดขืนไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นว็อยซ์ทีวี สถานีวิทยุสปริงนิวส์ พีซทีวีและ TV24 ต่างถูกสั่งให้ระงับการออกอากาศในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน สิงหาคม และพฤศจิกายนตามลำดับ ​สถานีของสื่อเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศในเวลาต่อมา หลังจากยินยอมที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง ทั้งนี้โดยการไม่ให้ผู้จัดรายการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ หรือหลีกเลี่ยงการพูดถึงประเด็นทางการเมืองโดยสิ้นเชิง

ในเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่ของรัฐได้แจ้งความดำเนินคดีต่อดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ นักวิชาการคนสำคัญ และผู้เข้าร่วมอีกสี่ท่านในงานประชุมนานาชาติไทยศึกษา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมในจังหวัดเชียงใหม่ ในข้อหาละเมิดคำสั่งของคสช.ที่ห้ามการชุมนุมสาธารณะของบุคคลกว่าห้าคน แต่ดูเหมือนว่าเหตุผลที่แท้จริงในการดำเนินคดีครั้งนี้น่าจะเป็นเพราะการอภิปรายทางวิชาการครั้งนี้ มีลักษณะที่รัฐบาลทหารมองว่าวิพากษ์วิจารณ์ต่อระบอบปกครองของทหาร และเพราะผู้เข้าร่วมบางคนได้ถ่ายภาพของตนเอง ขณะถือป้ายข้อความวิพากษ์วิจารณ์การเข้ามาแทรกแซงตรวจสอบของทหารในระหว่างการประชุมมากกว่า

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ไทยได้ใช้กำลังอย่างรุนแรง เพื่อสลายการชุมนุมประท้วงอย่างสงบในจังหวัดสงขลา เพื่อสกัดไม่ให้ผู้ประท้วงยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อพลเอกประยุทธ์ ส่งผลให้มีแกนนำผู้ประท้วงอย่างน้อย 16 คนถูกจับกุม

รัฐบาลทหารยังคงใช้ข้อหายุยงปลุกปั่น (มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต่อไป เพื่อดำเนินคดีกับการวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านระบอบปกครองของทหารอย่างสงบ นับแต่รัฐประหารปี 2557 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นแล้วอย่างน้อย 66 คน ในเดือนสิงหาคม ทางการได้ดำเนินคดีประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโส และพิชัย นริพทะพันธุ์และวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองคนสำคัญสองคน ในข้อหายุยงปลุกปั่นและละเมิดพรบ.คอมฯ ​​จากการที่พวกเขาแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย

พรบ.คอมฯ ฉบับใหม่ของไทยเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม โดยให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับรัฐบาลในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการเซ็นเซอร์ กฎหมายนี้ถูกเขียนขึ้นอย่างกว้าง ๆ และกำหนดเหตุอย่างหลวม ๆ เพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินคดีต่อการเผยแพร่ข้อมูลใด ๆ ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งมองว่าเป็นข้อมูล “เท็จ” หรือ “บิดเบือน” รวมทั้งข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน แม้แต่การเผยแพร่เนื้อหาในอินเตอร์เน็ตที่ไม่ผิดกฎหมายตามพรบ.นี้ ก็อาจถูกสั่งห้ามได้ หากคณะกรรมการกลั่นกรองของรัฐบาลเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวจะ “ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยต่อสาธารณะ” หรือเป็นการขัดต่อ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ผู้ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา) มักจะถูกปฏิเสธอย่างเป็นระบบไม่ให้ได้รับการประกันตัว และต้องถูกคุมขังเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปีระหว่างรอการไต่สวน ในเดือนสิงหาคม หลังถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาแปดเดือน ศาลได้ตัดสินลงโทษจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่) นักกิจกรรมที่เป็นนักศึกษาคนสำคัญ โดยให้จำคุกเป็นเวลาสองปีกับหกเดือน เนื่องจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กโดยเป็นเนื้อหาจากบทความในบีบีซีไทย ซึ่งเป็นพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร กษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย

นับแต่รัฐประหาร ทางการได้จับกุมบุคคลอย่างน้อย 105 คนในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ บางคนถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดและได้รับโทษจำคุกหลายสิบปี รวมทั้งชายคนหนึ่งที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุกเมื่อเดือนมิถุนายนเป็นเวลา 35 ปี (โดยได้รับการลดหย่อนโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพ) โดยเป็นผลมาจากการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ 10 ข้อความ
 

การควบคุมตัวโดยทหารแบบลับ การทรมาน และศาลทหาร

ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 หน่วยงานทหารมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลเป็นความลับ ในฐานความผิดหลายประการด้วยกัน โดยสามารถควบคุมตัวบุคคลไว้ไม่เกินเจ็ดวันโดยไม่มีข้อหา ไม่สามารถเข้าถึงทนายความ หรือไม่ได้รับหลักประกันอื่นใดเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ รัฐบาลยังมักให้ทหารเป็นหน่วยงานควบคุมตัวบุคคล รวมทั้งผู้ต้องสงสัยในคดีก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการปฏิบัติมิชอบระหว่างการสอบปากคำ โดยผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ในปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ในปี 2560 คสช.ปฏิเสธคำร้องขอของกลุ่มสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องการให้เปิดเผยข้อมูลของบุคคลที่ถูกกองทัพควบคุมตัวแบบลับ และยังปฏิเสธอย่างรวบรัดต่อข้อกล่าวหาว่าทหารทรมานผู้ถูกควบคุมตัว รัฐบาลทหารไม่ได้ถ่ายโอนคดี 369 คดี (ซึ่งมีจำเลยเป็นพลเรือนประมาณ 1,800 คน) จากศาลทหารไปศาลพลเรือน ตามข้อกำหนดในกฎหมายระหว่างประเทศ

คสช.ยังคงเรียกตัวบุคคลต่าง ๆ เพื่อเข้ารับ “การปรับทัศนคติ” รวมทั้งสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมทั้งบุคคลอื่นใดที่ถูกกล่าวหาว่า ต่อต้านระบอบปกครองของทหาร หากผู้ถูกเรียกตัวไม่ยอมไปรายงานตัว จะถือเป็นความผิดทางอาญา
 

การบังคับบุคคลให้สูญหาย

นับแต่ปี 2523 คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ได้รับพิจารณาข้อร้องเรียนว่าด้วยการสูญหายของบุคคลในประเทศไทย 82 กรณี โดยหลายกรณีมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นกับสมชาย นีละไพจิตร ทนายมุสลิมคนสำคัญเมื่อเดือนมีนาคม 2547 และการหายตัวไปของพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงเมื่อเดือนเมษายน 2557 โดยในขณะที่เขียนรายงานนี้ยังไม่มีการคลี่คลายทั้งสองคดีที่เกิดขึ้น

ในเดือนกรกฎาคม มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ไทยได้เกี่ยวข้องกับการลักพาตัววุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ นักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศลาว ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อกรณีการหายตัวไปของเด่น คำหล้า นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในที่ดิน ซึ่งคาดว่าเป็นเหยื่ออีกคนหนึ่งของการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยเขาหายตัวไปใกล้กับบ้านของตัวเองที่จังหวัดชัยภูมิ เมื่อเดือนเมษายน 2559

ประเทศไทยลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหายทุกคน (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) เมื่อเดือนมกราคม 2555 แต่ยังไม่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญานี้ ประมวลกฎหมายอาญายังไม่กำหนดฐานความผิดสำหรับการบังคับบุคคลให้สูญหาย ในเดือนกุมภาพันธ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ได้ระงับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยทันที ​​​และรัฐบาลยังไม่ได้ชี้แจงว่าจะมีการบรรจุร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาอีกหรือไม่

คณะกรรมการรับข้อร้องเรียนและสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาล เป็นหน่วยงานของฝ่ายบริหารซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือมีเจตจำนงทางการเมืองไม่มากนัก จึงไม่สามารถดำเนินการกับกรณีเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง ถือว่าเป็นกลไกที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติมากเพียงพอ และไม่สามารถทดแทนการออกกฎหมายในประเทศเพื่อเอาผิดกับการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายและการบังคับบุคคลให้สูญหายได้
 

การขาดความรับผิดต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง

แม้มีพยานหลักฐานชี้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารมีส่วนรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บล้มตายส่วนใหญ่ในระหว่างการปะทะกันทางการเมืองกับกลุ่มนปช.หรือ “เสื้อแดง” เมื่อปี 2553 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คนและบาดเจ็บกว่า 2,000 คน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากการสังหารและการทำให้พลเรือนบาดเจ็บในช่วงเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน แกนนำนปช.และผู้สนับสนุนจำนวนมากกลับถูกดำเนินคดีร้ายแรงเนื่องจากการประท้วงในปี 2553 

ในเดือนสิงหาคม ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองยกฟ้องคดีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ เนื่องจากบทบาทในการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ประท้วงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อเดือนตุลาคม 2551 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสองคนและบาดเจ็บกว่า 400 คน

ไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนในปีนี้ ในการสอบสวนและดำเนินคดีต่อข้อกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบและความผิดทางอาญาของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมืองที่กรุงเทพฯ เมื่อปี่ 2556 และ 2557
 

นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

กรณีการสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมกว่า 30 คน ตั้งแต่ปี 2544 ยังไม่ได้รับการคลี่คลายแต่อย่างใด

คำสัญญาของรัฐบาลที่จะกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังไม่เป็นความจริง ในเวลาเดียวกันทางการไทยและบริษัทเอกชนยังคงดำเนินคดีหมิ่นประมาทและข้อหาอาญาอื่น ๆ เพื่อตอบโต้กับบุคคลที่รายงานข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เจ้าหน้าที่ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อศิริกาญจน์ เจริญศิริ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในข้อหายุยงปลุกปั่นและความผิดอาญาอื่น ๆ โดยอาจทำให้เธอได้รับโทษจำคุกอย่างน้อย 10 ปี รัฐบาลทหารได้ดำเนินคดีเหล่านี้เพื่อตอบโต้กับการปฏิบัติหน้าที่ทนายความของเธอ เพื่อปกป้องลูกความที่เป็นนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรม 14 คนเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 หลังการชุมนุมประท้วงอย่างสงบที่กรุงเทพฯ 

ในเดือนมีนาคม 2560 หลังการกดดันจากในประเทศและระหว่างประเทศ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รมน.) ได้ยุติการดำเนินคดีต่อสมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ ซึ่งกล่าวหาว่าทางกองทัพได้ทรมานผู้ต้องสงสัยในคดีก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ในวันที่ 24 ตุลาคม พนักงานอัยการแจ้งต่อเจ้าพนักงานสอบสวนจะสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ 

ในเดือนสิงหาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งจะทำให้หน่วยงานอ่อนแอลงอย่างมาก และขาดความเป็นอิสระ เปลี่ยนให้หน่วยงานนี้เป็นเพียงกระบอกเสียงของรัฐบาล 
 

ความรุนแรงและการปฏิบัติมิชอบในจังหวัดชายแดนใต้

นับแต่เดือนมกราคม 2547 ผู้ก่อความไม่สงบของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional - BRN) ได้ปฏิบัติการหลายครั้งซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายสงคราม โดยกว่า 90% ของผู้ซึ่งเสียชีวิตจำนวน 6,800 คน ในระหว่างการขัดกันด้วยอาวุธอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนใต้ ล้วนแต่เป็นพลเรือน

ในเดือนเมษายน บีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านการเจรจาสันติภาพที่มีมาเลเซียเป็นตัวกลาง ระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รวมตัวกันหลวม ๆ ในชื่อ กลุ่มมารา ปาตานี ( Majlis Syura Patani) ผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มบีอาร์เอ็นได้อ้างยุทธวิธีที่เป็นการปฏิบัติมิชอบและรุนแรงของกองกำลังของรัฐบาล เพื่อเป็นเหตุในการชักชวนสมาชิกรายใหม่ให้มาเข้าร่วมกับกลุ่ม และสร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการที่รุนแรงของตน ในเดือนพฤษภาคม คาดว่าผู้ก่อความไม่สงบเป็นผู้จุดระเบิดสองลูกที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีในจังหวัดปัตตานี ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 61 คน รวมทั้งเด็ก

ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหารและการทรมานอย่างผิดกฎหมายโดยมีเหยื่อเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ในหลายกรณี ทางการไทยได้จ่ายค่าตอบแทนให้กับเหยื่อหรือครอบครัวของเหยื่อ โดยแลกกับข้อตกลงที่จะไม่ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
 

ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิงและคนงานข้ามชาติ

ประเทศไทยยังไม่ได้ให้ภาคยานุวัติต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารเลือกรับพ.ศ. 2510 ทางการไทยยังคงปฏิบัติต่อผู้แสวงหาที่พักพิง รวมทั้งบุคคลซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากองค์การสหประชาชาติ ในฐานะเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายซึ่งจะถูกจับกุมและส่งตัวออกนอกราชอาณาจักร

ในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลได้ส่งตัวมูฮัมเหม็ด ฟุรกาน เซิกเม็นให้กับทางการตุรกี แม้ทางองค์การสหประชาชาติจะเตือนว่าเขาอาจถูกคุกคามและอาจถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงหากถูกส่งตัวกลับไปตุรกี มูฮัมเหม็ด ฟุรกาน เซิกเม็นเป็นผู้ทำงานด้านการศึกษาชาวตุรกีและถูกกล่าวหาว่าเชื่อมโยงกับขบวนการกูเลน ซึ่งรัฐบาลตุรกีกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปี 2559  

ในเดือนกันยายน กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รมน.) ประกาศนโยบายผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่พยายามเข้าสู่ประเทศไทยโดยทางเรือ รัฐบาลยังปฏิเสธไม่อนุญาตให้หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (UNHCR) ทำการสำรวจและจำแนกสถานะผู้ลี้ภัยของผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญา ทั้งยังมีแผนควบคุมตัวผู้ที่เดินทางเข้าสู่ชายฝั่งอย่างไม่มีกำหนด โดยต้องถูกคุมขังในเรือนจำของตม.ที่มีสภาพเลวร้าย มีชาวอุยกูร์กว่า 60 คนจากประเทศจีนที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเวลากำหนดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557

คนงานข้ามชาติจากพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เสี่ยงจะถูกปฏิบัติมิชอบทางร่างกาย ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเวลากำหนด และถูกรีดไถโดยทางการไทย รวมทั้งอาจถูกปฏิบัติมิชอบอย่างร้ายแรงด้านสิทธิแรงงานและถูกแสวงหาประโยชน์โดยนายจ้าง เสี่ยงที่จะได้รับความรุนแรงและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ของกลุ่มอาชญากรรม ซึ่งในบางกรณีมีความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริต

คนงานข้ามชาติยังคงกลัวและไม่กล้าแจ้งความเมื่อถูกปฏิบัติมิชอบ เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นผล ในวันที่ 14 มิถุนายน คนงานข้ามชาติจากพม่าถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญา หลังจากพวกเขาได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าถูกละเมิดสิทธิโดยบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างและเปิดฟาร์มเลี้ยงไก่ในจังหวัดลพบุรี  

ในเดือนมิถุนายน ช่วงที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว ได้ส่งผลให้คนงานข้ามชาติทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียนจากกัมพูชา พม่า ลาว และเวียดนาม หลบหนีออกจากประเทศไทย เพราะกลัวว่าจะถูกจับกุมและถูกลงโทษอย่างรุนแรง

รัฐบาลประกาศให้การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นเรื่องเร่งด่วนระดับชาติ รวมทั้งการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในเดือนกรกฎาคม ศาลอาญากรุงเทพฯ ลงโทษจำเลย 62 คนรวมทั้งพล.ท. มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ให้ได้รับโทษจำคุกสูงสุด 94 ปี ในข้อหาค้ามนุษย์และปฏิบัติมิชอบต่อผู้เข้าเมืองชาวโรฮิงญา อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมงยังมีอยู่จำกัด

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังคงจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 2 (Watch List) ในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี (Trafficking in Persons (TIP) Report) คณะมนตรียุโรปได้แสดงข้อกังวลปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับในเรือประมงของไทย และได้ยื่นจดหมายอย่างเป็นทางการประกาศให้ประเทศไทยทราบว่าอาจมีมาตรการลงโทษทางการค้า อันเนื่องมาจากปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและขาดการควบคุม (illegal, unreported, and unregulated fishing)
 

นโยบายต่อต้านยาเสพติด

รัฐบาลไม่ได้สอบสวนทางอาญาต่อกรณีการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายระหว่างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะการสังหารบุคคลกว่า 2,800 คนที่เกิดขึ้นระหว่าง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546

ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนของรัฐบาลที่จะยกเลิกสถานะของยาบ้าที่เป็นยาเสพติดประเภทที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นยาที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดสุด ทั้งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาประชากรล้นคุก และเอื้ออำนวยให้ผู้ใช้ยาเข้าถึงการบำบัด กระทรวงมหาดไทยและกองทัพยังคงกำหนดให้ผู้ใช้ยาเข้ารับการบังคับบำบัดแบบทหาร
 

หน่วยงานระหว่างประเทศที่สำคัญ

องค์การสหประชาชาติและพันธมิตรที่สำคัญของประเทศไทย ต่างกระตุ้นให้รัฐบาลทหารเคารพสิทธิมนุษยชนลื้นฟูระบอบปกครองที่เป็นประชาธิปไตยของพลเรือน โดยจัดให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ในการประชุมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อทบทวนพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่อกติกา ICCPR เมื่อเดือนมีนาคม ทางสำนักข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (OHCHR) รวมทั้งรัฐบาลจากหลายประเทศและหน่วยงานสิทธิมนุษยชนได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานนับแต่เกิดรัฐประหาร

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้รับรองการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม แต่ไม่ได้แสดงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเปิดเผย กองทัพสหรัฐฯ ยังได้หาทางฟื้นฟูความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกองทัพไทย

รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของออสเตรเลีย ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยต่างกรรมต่างวาระกันในเดือนสิงหาคม โดยทั้งคู่ไม่ได้แสดงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเปิดเผย