Skip to main content

ประเทศไทย: เกรงว่าผู้ลี้ภัยชาวลาว “จะถูกอุ้มหาย”

แกนนำฝ่ายต่อต้านคนสำคัญอาจถูกจับกุม ถูกปฏิบัติมิชอบในลาว

Od Sayavong, a refugee from Laos and outspoken critic of the Lao government, was 'disappeared' in Bangkok on August 26, 2019. © 2019 Private
(นิวยอร์ก) – ทางการไทย ควรสอบสวนอย่างเร่งด่วนต่อกรณีซึ่งชัดเจนว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่เกิดขึ้นกับออด สะยาวง ผู้ลี้ภัยจากลาว เขาเป็นนักเคลื่อนไหวที่มักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาว ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ออดอายุ 34 ปี หายตัวไปจากบ้านที่เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562

“รัฐบาลไทยควรให้ข้อมูลโดยทันทีว่า ออด สะยาวง นักเคลื่อนไหวที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์อยู่ที่ไหน” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ถนนหนทางในกรุงเทพฯ ควรปลอดภัย ไม่ควรมีการอุ้มหายและการจับกุมอย่างมิชอบเกิดขึ้น”

เพื่อนร่วมงานของออดแจ้งความที่โรงพักของไทยเมื่อวันที่ 2 กันยายน แต่ไม่มีรายงานความคืบหน้าของการสอบสวน ในวันที่ 6 กันยายน พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมปฏิเสธว่า ไม่รู้ว่าออดอยู่ที่ไหน

ฮิวแมนไรท์วอทช์กังวลอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของออด เขาเป็นสมาชิกของกลุ่ม “ลาวเสรี” เป็นการรวมกลุ่มอย่างหลวม ๆ ของคนงานข้ามชาติและนักเคลื่อนไหวจากลาวซึ่งลี้ภัยอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง พวกเขารณรงค์กดดันอย่างสงบให้เกิดสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในลาว ออด สะยาวงและเพื่อนสมาชิกจัดการประท้วงอย่างสงบเป็นระยะ ๆ ที่ด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตลาว และที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติที่กรุงเทพฯ พวกเขายังจัดอบรมด้านสิทธิมนุษยชนให้กับคนงานข้ามชาติจากลาวที่อยู่ในประเทศไทย

รัฐบาลลาวได้จับกุมและควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวและผู้ที่ถูกมองว่าต่อต้านรัฐบาลโดยพลการ ประมวลกฎหมายอาญาให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับทางการที่จะดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง มีการลงโทษอย่างรุนแรง ตั้งแต่จำคุกไม่เกินห้าปีสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัฐบาล และไม่เกิน 15 ปีสำหรับนักข่าวซึ่ง “รายงานข่าวอย่างไม่สร้างสรรค์” หรือผู้ซึ่ง “ขัดขวาง” การดำเนินงานของรัฐบาล

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกของกลุ่ม “ลาวเสรี” แจ้งกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า พวกเขาถูกทางการไทยและลาวติดตามตัวและข่มขู่ พวกเขาเชื่อว่าเป็นมาตรการขัดขวางไม่ให้พวกเขาประท้วง หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาวระหว่างที่มีการประชุมอาเซียนภาคประชาสังคมในกรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 10-12 ก.ย.

ทางการไทยมักร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อคุกคาม จับกุมตัวโดยพลการ และบังคับส่งกลับ ผู้เห็นต่างซึ่งลี้ภัยในไทย ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้รวมถึงการส่งกลับผู้ที่ได้รับสถานะบุคคลภายใต้ความห่วงใยของหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติแล้ว มีข้อกล่าวหาว่าบางประเทศรวมทั้งลาว ได้ตอบแทนการปฏิบัติของรัฐบาลไทย โดยทำเหมือนไม่รู้เห็นกับการบังคับบุคคลให้สูญหายและการสังหารผู้เห็นต่างชาวไทย ซึ่งลี้ภัยอยู่ในลาว หรือประเทศนั้น ๆ

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ การบังคับบุคคลให้สูญหายหมายถึง การจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยเจ้าพนักงานของรัฐหรือตัวแทน แต่ปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวดังกล่าว หรือไม่เปิดเผยชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องสอบสวนและดำเนินคดีอย่างเหมาะสมต่อกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย

ยังมีข้อห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศไม่ให้ประเทศไทย ส่งบุคคลไปยังดินแดนที่เสี่ยงว่าพวกเขาจะถูกประหัตประหาร ทรมาน หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

“เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความเพิกเฉยของรัฐบาลไทยต่อการปฏิบัติมิชอบของประเทศเพื่อนบ้าน ดูเหมือนจะมีความสำคัญมากกว่าการปฏิบัติตามพันธกรณีของตน” อดัมส์กล่าว “ประเทศไทยต้องสถาปนาตนเองเป็นดินแดนที่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัย และยุติการสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านซึ่งปฏิบัติมิชอบ รวมทั้งยุติการส่งกลับผู้เห็นต่าง”

 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Most Viewed