Skip to main content

การปราบปรามที่ไม่ยุติภายใต้รัฐบาลทหารไทย

การปฏิบัติมิชอบยังเกิดขึ้นต่อไปห้าปีหลังรัฐประหาร

ทหารเข้าแถวเพื่อลงคะแนนเสียงระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปที่หน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 เกือบห้าปีหลังรัฐประหาร ประเทศไทยได้มีการออกเสียงเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ หลังมีการเลื่อนมาเป็นเวลานาน โดยเป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนกับกองทัพกับพรรคการเมืองแนวประชานิยมที่ถูกนายพลทหารยึดอำนาจไป    © 2019 AP Photo
นับแต่กองทัพไทยยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการปราบปรามสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างไม่หยุดหย่อน ห้าปีหลังรัฐประหาร ประเทศไทยยังไม่อยู่ในจุดที่ถือว่ามีการ “ฟื้นฟูระบอบปกครองประชาธิปไตยของพลเรือน” ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สัญญาว่าจะทำให้เกิดขึ้นมาตลอด

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคมได้รับการออกแบบมาให้มีการโกงผลเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อสืบทอดอำนาจของกองทัพต่อไป นอกจากยังคงบังคับใช้กฎหมายที่กดขี่จำนวนมาก รัฐบาลทหารยังสั่งยุบพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่สำคัญ ควบคุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ใช้ข้อหาที่กำกวมเพื่อดำเนินคดีกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและผุ้เห็นต่าง และยังคัดเลือกบรรดานายพลทหารและพวกพ้องของตนเองเข้าไปดำรงตำแหน่งในวุฒิสภา ซึ่งจะมีอำนาจในการออกเสียงสนับสนุนผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร

ที่ผ่านมารัฐบาลทหารทำการเซ็นเซอร์และปิดกั้นการอภิปรายสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของไทย นักกิจกรรมและผู้เห็นต่างหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีอาญา รวมทั้งในข้อหายุยงปลุกปั่น ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพียงเพราะแสดงความเห็นของตนเองอย่างสงบ

แม้แต่ผู้ซึ่งหลบหนีการประหัตประหารทางการเมืองไปยังต่างประเทศก็ยังไม่ปลอดภัย มีข้อกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับคนไทยซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยในลาว มีผู้ลี้ภัยชาวไทยอย่างน้อยสองคนที่ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย และอีกสามคนถูกลักพาตัวและสังหาร ในเดือนพฤษภาคม 2562 มีรายงานว่านักกิจกรรมไทยสามคนถูกส่งตัวกลับจากเวียดนามมายังประเทศไทย จากนั้นก็หายตัวไป เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้แสวงหาที่พักพิงชาวไทยคนหนึ่งถูกทางการมาเลเซียบังคับส่งกลับ เพื่อมาดำเนินคดีในประเทศไทยในข้อหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวขององค์การสหพันธรัฐไท 

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา กองทัพกดดันให้นักกิจกรรมหลายพันคนยุติการแสดงความเห็นทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ ทางการยังคงควบคุมตัวบุคคลแบบลับนานถึงเจ็ดวันโดยไม่มีข้อกล่าวหาต่อไป และสอบสวนพวกเขาโดยไม่ให้ติดต่อกับทนายความ หรือไม่มีมาตรการป้องกันการปฏิบัติมิชอบ

อำนาจที่นำไปสู่การปฏิบัติมิชอบเช่นนี้ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป แม้ภายหลังมีการตั้งรัฐบาลใหม่ และเจ้าหน้าที่จะยังคงได้รับการคุ้มครองไม่ให้ต้องรับผิดชอบในรูปแบบใด ๆ จากการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศได้กล่าวย้ำเสมอมาว่า จะยังไม่ฟื้นฟูความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับประเทศไทย จนกว่าจะมีการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งย่อมมีความหมายมากกว่าการกำหนดให้มีวันเลือกตั้งขึ้นมา เพราะยังหมายถึงการอำนวยให้เกิดสภาพทางการเมืองที่ส่งเสริมให้บุคคลสามารถแสดงความเห็นของตนได้อย่างเป็นอิสระ และไม่ต้องหวาดกลัว 

ประชาคมระหว่างประเทศไม่ควรเร่งรีบยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและธุรกิจ หากไม่มีการอภิปรายอย่างจริงจังถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนและการสืบทอดอำนาจของกองทัพ โดยประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ควรกดดันประเทศไทยให้ยุติการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และทำการปฏิรูปให้เกิดการเคารพต่อสิทธิอย่างแท้จริง และต้องไม่ยอมรับเงื่อนไขอื่นใดที่น้อยไปกว่านี้

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.