Skip to main content

ประเทศไทย: นักวิชาการท่านสำคัญอาจได้รับโทษจำคุก 15 ปี

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการริเคราะห์ทางประวัติศาสตร์

(นิวยอร์ก) – อัยการทหารไทย ควรถอนฟ้องข้อกล่าวหาต่อนักวิชาการท่านสำคัญ ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การทำยุทธหัตถีเมื่อศตวรรษที่ 16 ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 อัยการทหารจะแจ้งผลการพิจารณาว่าจะมีการสั่งฟ้องสุลักษณ์ ศิวรักษ์ อายุ 85 ปี ฐานละเมิดมาตรา 112 ว่าด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปีหรือไม่

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการริเคราะห์ทางประวัติศาสตร์  © 2017 Sulak Sivaraksa

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลทหารได้แจ้งความดำเนินคดีต่อสุลักษณ์ โดยเป็นผลมาจากการอภิปรายของเขาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2557 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กรุงเทพฯ สุลักษณ์ตั้งคำถามกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในสงครามยุทธหัตถีในศตวรรษที่ 16 ระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวันกองทัพไทยที่มีการจัดงานรำลึกทุกปี มีรายงานว่าสุลักษณ์กล่าวในที่สัมมนาว่า “อย่าหลงเชื่ออะไรง่ายเกินไป ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อ”

“การนำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้อย่างมิชอบของรัฐบาลทหาร ได้รุนแรงถึงขั้นที่เป็นความเหลวไหล เมื่อนักวิชาการท่านสำคัญถูกดำเนินคดีอาญา เนื่องจากการตั้งคำถามต่อสงครมมยุทธหัตถีซึ่งเกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 16” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “เสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความเห็นในประเทศไทย จะได้รับผลกระทบใหญ่หลวง หากมีการไต่สวนคดีต่อสุลักษณ์เกิดขึ้นจริง”

มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ไม่มีเนื้อความใดในกฎหมายบ่งบอกว่ามาตรานี้ครอบคลุมถึงบุคคลอื่น ๆ อย่างพระมหากษัตริย์ในอดีตหรือคำอธิบายทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรัชกาลในอดีต แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการไทยได้ตีความกฎหมายนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาตามกฎหมาย

ในเดือนพฤษภาคม 2556 ศาลฎีกาพิพากษาว่า ณัชชากฤต จึงเรืองฤทธิ์มีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งครองราชระหว่างปี 2394 ถึง 2411 โดยศาลให้ความเห็นว่า “การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่และระบุว่า “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน”

เสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความเห็นในประเทศไทย จะได้รับผลกระทบใหญ่หลวง หากมีการไต่สวนคดีต่อสุลักษณ์เกิดขึ้นจริง
Brad Adams

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย

ในเดือนธันวาคม 2558 ทางการไทย ได้จับกุมฐนกร ศิริไพบูลย์ คนงานในโรงงาน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากการโพสต์ความเห็นล้อเลียนสุนัขทรงเลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในเฟซบุ๊ก คดีของเขาอยู่ระหว่างการไต่สวนในศาลทหารกรุงเทพ

นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ในประเทศไทย มีบุคคลอย่างน้อย 105 คนที่ถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการโพสต์หรือแชร์ความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ศาลทหารได้กำหนดโทษรุนแรงขึ้นต่อความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อเทียบกับศาลพลเรือนในช่วงก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร จำเลยบางส่วนถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกกำหนดโทษจำคุกหลายสิบปี ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนสิงหาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพลงโทษจำคุกพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง เป็นเวลา 60 ปี เนื่องจากการโพสต์ความเห็นหลายชิ้นในเฟซบุ๊ก ซึ่งศาลมองว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยนับเป็นโทษจำคุกสูงสุดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย แต่ตามมาตรฐานการกำหนดโทษของไทย ศาลได้ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 30 ปีเมื่อพงษ์ศักดิ์รับสารภาพความผิดตามข้อกล่าวหา

รัฐบาลทหารยังเพิ่มความเข้มงวดต่อการแสดงความเห็นอย่างเสรี โดยอ้างความจำเป็นที่จะต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ทั้งนี้แม้ว่านายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ จะให้สัญญาหลายครั้ง รวมทั้งในที่ประชุมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)

แฟรงค์ ลา รู (Frank La Rue) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกกล่าวไว้ในเดือนตุลาคม 2554 ว่า “การข่มขู่โดยการกำหนดโทษจำคุกเป็นเวลานาน และความคลุมเครือเกี่ยวกับการวินิจฉัยว่าคำพูดแบบใดจะถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กระตุ้นให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองและปิดกั้นการอภิปรายโต้เถียงที่สำคัญในประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและแสดงออก”

การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากขึ้นของรัฐบาลทหาร ทำให้เกิดความยากลำบากต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้พิพากษาและหน่วยงานอื่น ๆ ในการวินิจฉัยความน่าเชื่อถือของข้อกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ว่าข้อกล่าวหานั้นจะมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับเนื้อหาตามกฎหมายก็ตาม ฝ่ายเจ้าหน้าที่มีความกังวลว่า หากไม่สั่งฟ้องก็จะถูกกล่าวหาว่าแสดงความไม่จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์เสียเอง

“รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควรประกาศให้รัฐบาลทหารไทยทราบอย่างชัดเจนว่า การดำเนินคดีต่อนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเนื่องมาจากการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ของเขา จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเสรีภาพทางวิชาการ” อดัมส์ กล่าว “จึงควรมีการถอนฟ้องคดีต่อสุลักษณ์ ศิวรักษ์โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Topic