Skip to main content

ประเทศไทย: ศาลฎีกาปกป้องการลอยนวลพ้นผิดจากเหตุการณ์รุนแรงในปี 2553

ยังไม่มีเจ้าหน้าที่หรือทหารรายใดต้องรับผิดจากเหตุการณ์ปราบปรามที่นองเลือด


(นิวยอร์ก) –การที่ศาลฎีกาของไทยยกฟ้องคดีอาญาต่ออดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ต่อบทบาทที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามที่รุนแรงต่อผู้ประท้วงกลุ่ม “คนเสื้อแดง” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 นับเป็นการก้าวถอยหลังครั้งสำคัญของความยุติธรรมในประเทศไทย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกำหนดอย่างชัดเจนว่า ไม่อาจอ้างตำแหน่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นเหตุผลช่วยให้บุคคลเหล่านั้น ลอยนวลพ้นผิดจากความรับผิดชอบอาญาต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้

ในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ศาลอาญาไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศาลมีความเห็นว่าคดีนี้จะต้องเริ่มจากการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลคดีเกี่ยวกับการปฏิบัติมิชอบของข้าราชการ เป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลทั้งสองคนได้

“การปล่อยให้ทั้งอภิสิทธิ์และสุเทพหลุดจากข้อหาเนื่องจากการปฏิบัติมิชอบอย่างร้ายแรง เพียงเพราะพวกเขามีตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาล ถือเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของความยุติธรรมและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “แม้จะมีพยานหลักฐานมากมายว่าทหารเป็นผู้สังหารผู้ประท้วง เจ้าหน้าที่พยาบาล ผู้สื่อข่าว และผู้มามุงดูระหว่างการลุกฮือของประชาชนเมื่อปี 2553 แต่สถาบันต่าง ๆ ของไทยกลับไม่สามารถประกันให้มีการดำเนินคดีต่อผู้มีส่วนรับผิดชอบกับการปราบปรามที่นองเลือดได้”

การเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์กับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่มักรู้จักกันในชื่อกลุ่ม “คนเสื้อแดง” เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 7 เมษายนถึง 19 พฤษภาคม 2553 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 98 คนและบาดเจ็บกว่า 2,000 คน กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เปิดเผยผลการสอบสวนในเดือนกันยายน 2555 โดยระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 36 รายเนื่องจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อภิสิทธิ์เป็นผู้ก่อตั้งศอฉ.และมอบหมายให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสุเทพ

การที่ศาลฎีกาให้ส่งเรื่องไปยังปปช. เท่ากับเป็นการเปลี่ยนกระบวนการสอบสวนทางอาญาอย่างสำคัญ ให้กลายเป็นการไต่สวนทางปกครอง เกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานอย่างมิชอบ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว คำสั่งศาลเช่นนี้ขัดกับพันธกรณีของไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) และสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ซึ่งจะต้องประกันให้เกิดสิทธิที่จะเข้าถึงการเยียวยาอย่างเป็นผลสำหรับผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมทั้งการสังหารอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย สิทธิของผู้เสียหายที่จะได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผล กำหนดให้รัฐบาลต้องดำเนินการที่จำเป็นเพื่อการสอบสวน การดำเนินคดี และการชดเชย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเยียวยาต่อการละเมิดที่เกิดขึ้นและแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้เสียหาย ในแง่ของการเข้าถึง

ข้อมูล ความยุติธรรม และการชดเชย รัฐบาลมีพันธกรณีอย่างต่อเนื่องที่จะต้องให้การเยียวยาอย่างเป็นผล โดยไม่มีกำหนดเวลาต่อมาตรการทางกฎหมาย และสิทธิดังกล่าวไม่อาจถูกระงับได้แม้ในขณะที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

คำสั่งศาลครั้งนี้เป็นการเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริง ซึ่งทางปปช.ได้มีคำวินิจฉัยแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ให้ยุติการสอบสวนต่ออภิสิทธิ์และสุเทพ ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการไม่กำกับดูแลการใช้กำลังทหาร ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียของชีวิตและการทำลายทรัพย์สิน โดยในขณะนั้นปปช.มีความเห็นว่า เนื่องจากการประท้วงของ “คนเสื้อแดง” ไม่เป็นไปโดยสงบและสันติ และผู้ประท้วงบางส่วนมีอาวุธ คำสั่งของอภิสิทธิ์และสุเทพให้ใช้กำลังเพื่อขอคืนพื้นที่ จึงสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติของเจ้าพนักงาน คำวินิจฉัยของปปช. ปิดกั้นโอกาสที่จะดำเนินคดีต่ออภิสิทธิ์และสุเทพในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง

ตรงข้ามกับข้อสรุปของปปช.ว่าการใช้กำลังของศอฉ.มีความชอบธรรมและเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติ ฮิวแมนไรท์วอทช์มีความเห็นว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้กระสุนจริงเริ่มตั้งแต่ตอนบ่ายวันที่ 10 เมษายน 2553 เพื่อสังหารและทำร้ายผู้ประท้วง ผู้สื่อข่าว และคนที่อยู่ในบริเวณนั้น หลายชั่วโมงก่อนที่จะมีกลุ่มติดอาวุธ “เสื้อดำ” ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้ประท้วง และได้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหาร

รายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ของฮิวแมนไรท์วอทช์เรื่อง “Descent into Chaos: Thailand’s 2010 Red Shirt Protests and the Government Crackdown,” บันทึกข้อมูลการใช้กำลังที่รุนแรงเกินกว่าเหตุและไม่จำเป็นของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากระหว่างการเผชิญหน้าทางการเมืองเมื่อปี 2553 อัตราการบาดเจ็บล้มตายที่สูงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการประกาศ “พื้นที่ใช้กระสุนจริง” รอบบริเวณพื้นที่การประท้วงของ “คนเสื้อแดง” ในกรุงเทพฯ โดยทางศอฉ.ได้ส่งพลแม่นปืนมาดักซุ่มยิงในบริเวณนั้น ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเก็บข้อมูลสมาชิกบางส่วนของนปช. รวมทั้งกลุ่มติดอาวุธ “คนเสื้อดำ” ซึ่งได้โจมตีและสังหารเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และพลเรือน ในขณะที่แกนนำนปช.บางส่วนยุยงให้เกิดความรุนแรงด้วยการพูดสนับสนุนผู้ชุมนุมให้ก่อจลาจล จุดไฟเผา โจมตีทำร้าย และปล้นสะดม

คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้นำเสนอผลการสอบสวนที่คล้ายคลึงกันเมื่อเดือนกันยายน 2555 และมีข้อเสนอแนะให้ทางการ “แก้ไขปัญหาการละเมิดกฎหมายของฝ่ายต่าง ๆ โดยผ่านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องมีความเป็นธรรมและไม่ลำเอียง”

โอกาสที่จะแสวงหาความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายจากความรุนแรงในปี 2553 ซึ่งที่ผ่านมาเป็นความหวังที่ริบหรี่มานาน ดูเหมือนจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงไปแล้ว ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ในช่วงกว่าเจ็ดปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดต่าง ๆ ไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อดำเนินคดีต่อผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหารครั้งนี้ ทั้งในเวลาเดียวกัน รัฐบาลยังเดินหน้าดำเนินคดีต่อแกนนำนปช.และผู้สนับสนุน โดยตั้งข้อหาอาญาที่รุนแรง

“การลอยนวลพ้นผิดสำหรับความรุนแรงที่รัฐอยู่เบื้องหลัง ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในประเทศไทย” อดัมส์กล่าว “เป็นเรื่องที่น่าโกรธอย่างยิ่งที่จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้บังคับบัญชาของทหาร หรือเจ้าหน้าที่ทหารรายใดที่ถูกลงโทษเนื่องจากการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจำนวนมากที่พวกเขาก่อขึ้นในปี 2553”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.