Skip to main content

แถลงการณ์กรณีรัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจระงับสิทธิพิเศษทางการค้าของไทย เนื่องจากปัญหาด้านสิทธิแรงงาน

วันที่ 25 ตุลาคม 2562 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกาประกาศว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะตัดสิทธิพิเศษทางการค้ามูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญของไทย ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ Generalized System of Preferences (GSP) เนื่องจาก “ไทยไม่สามารถคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากลได้...รวมทั้งการคุ้มครองเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม” ซึ่งจะส่งผลให้มีการยกเลิก สิทธิ GSP สำหรับสินค้า 573 รายการในอีกหกเดือนข้างหน้า จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะทำการปฏิรูปและหาทางแก้ไขให้มีการคืนสิทธิทางการค้าดังกล่าว

เป็นเวลาสองทศวรรษที่หลายหน่วยงาน ซึ่งในปัจจุบันดำเนินการอย่างเข้มแข็งโดยเป็นส่วนหนึ่งของ Seafood Working Group ได้เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยุติการปฏิบัติมิชอบด้านแรงงานที่เลวร้าย และยุติการจำกัดสิทธิคนงานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดังนั้นกลุ่มองต์กรต่าง ๆ ที่มีรายชื่อด้านท้ายขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปเงื่อนไขด้านกฎหมายที่สำคัญที่นำไปสู่สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและงานที่มีคุณค่า

ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการ GSP ของสหรัฐฯ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจของไทยได้รับประโยชน์ทางการเงินมหาศาลจากโครงการนี้ แต่รัฐบาลไทยไม่สามารถปฏิบัติตามข้อบังคับด้านสิทธิแรงงานที่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นจากการได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว หลักเกณฑ์ภาคบังคับกำหนดให้ประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP ต้องดำเนินงานเพื่อให้คนงานทุกคนได้รับสิทธิแรงงานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้ติดตามความก้าวหน้าของไทยมาตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากได้รับ ข้อร้องเรียน จาก American Federation of Labor and Congress of Industrial Organizations (AFL-CIO) และในปี 2558 ประเทศไทยยังถูกตักเตือน เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของสิทธิทางการค้า ทั้งในแง่เสรีภาพการสมาคม การเจรจาต่อรองร่วม สภาพการทำงานอันเป็นที่ยอมรับได้ และปัญหาการใช้แรงงานบังคับ เนื่องจากประเทศไทยไม่ดำเนินการให้เกิดความก้าวหน้าอย่างเพียงพอในช่วงหกปีที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จึงตัดสินใจยกปัญหาด้านสิทธิแรงงานเป็นเงื่อนไขเพื่อตัดการให้สิทธิ GSP  

การตัดสินใจของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เพื่อตัดสิทธิทางการค้า โดยเน้นประเด็นการกดขี่และปฏิเสธสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานของคนงานทุกคน ในประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะปัญหาการปฏิบัติมิชอบต่อคนงานข้ามชาติ กล่าวคือ ประมาณ 80% ของแรงงาน 39 ล้านคนในไทย ยังไม่ได้รับการคุ้มครองให้มีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมอย่างเต็มที่ตามกฎหมาย เนื่องจากคนงานในภาคราชการ แรงงานนอกระบบ แรงงานชั่วคราว แรงงานในภาคเกษตร และแรงงานเหมาค่าแรง ต่างไม่ได้รับอนุญาตให้รวมตัว หรือเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานได้เลย โดยประเทศไทยมีสัดส่วนคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพียง 1.6% ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อร้องเรียนที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้รับในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า นักกิจกรรมด้านสหภาพแรงงานของไทยต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และเสี่ยงที่จะถูกตอบโต้ จากนายจ้างหากไปเข้าร่วมงานกับสหภาพแรงงาน คนงานมักถูกเลิกจ้าง หากมีความพยายามจดทะเบียนสหภาพแรงงาน หรือยื่นข้อเรียกร้องให้มีการเจรจาต่อรองร่วม แกนนำสหภาพแรงงานต้องเผชิญกับการคุกคามด้วยกระบวนการทางกฎหมายและศาล โดยบริษัทได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากการสูญเสียรายได้อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน เป็นเหตุให้แกนนำเหล่านี้ถูกฟ้องล้มละลาย และทำให้คนงานคนอื่น ๆ ไม่กล้าที่จะเปิดโปงว่ามีการปฏิบัติมิชอบ หรือเรียกร้องการเยียวยา และในตอนนี้ รัฐบาลไทยยังคงดำเนินคดีอาญากับแกนนำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เนื่องจากการรวมตัวรณรงค์มาตรการ ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อแก้ปัญหาซึ่งคนงานเชื่อว่าเป็นสาเหตุทำให้รถไฟตกรางจนมีผู้เสียชีวิตเมื่อปี 2552

สมาชิกของ Seafood Working Group และหน่วยงานอื่น ๆ สามารถเก็บข้อมูลการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงาน และการใช้แรงงานบังคับที่เกิดขึ้นกับคนงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยได้อย่างสม่ำเสมอ เราได้ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการแสวงหาประโยชน์เช่นนี้กับการเลือกปฏิบัติทางกฎหมายที่ยังคงเกิดขึ้นกับคนงานข้ามชาติ รวมทั้ง การปฏิเสธไม่ให้พวกเขาได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม คนงานข้ามชาติประมาณสี่ล้านคนในไทยซึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็น 10% ของแรงงานในประเทศ และเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมหลายแห่งที่มีการจ่ายค่าแรงต่ำ พวกเขาไม่มีสิทธิตามกฎหมายในการจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานข้ามชาติเป็นหลัก อย่างเช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลและประมง เนื่องจากแทบไม่มีสหภาพแรงงานที่มีการจัดตั้งไว้แล้วเพื่อเป็นตัวแทนแรงงานในการดูแลสิทธิประโยชน์ของคนงาน ดังที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศและหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชนได้อธิบายอย่างต่อเนื่องว่า การจำกัดสิทธิเช่นนี้เป็นการขัดขวางไม่ให้คนงานข้ามชาติสามารถปกป้องผลประโยชน์ของตนได้อย่างจริงจัง และเป็นเหตุให้ เสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อของ การแสวงหาประโยชน์ เมื่อคนงานข้ามชาติออกมาพูดต่อต้านการปฏิบัติมิชอบ ทางบริษัทได้ดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญากับพวกเขา ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ในขณะที่ศาลรับคำฟ้องและพร้อมจะพิจารณาคดีเหล่านี้

ภายหลังการประกาศของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ บริษัทผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ อย่างเช่น ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปและเจริญโภคภัณฑ์อาหารประกาศว่า การเปลี่ยนแปลงต่อสิทธิพิเศษทางการค้า จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ต่อการดำเนินธุรกิจของตน เนื่องจากสินค้าส่งออกที่สำคัญของพวกเขารวมทั้งผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการ GSP อยู่แล้ว แต่ไม่ว่าสินค้าอาหารทะเลประเภทใดจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตัดสินใจของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ การปฏิบัติมิชอบด้านแรงงานที่เลวร้ายยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในภาคเศรษฐกิจของไทย บริษัทอาหารทะเลและผู้ซื้อจากต่างชาติที่สำคัญ โดยเฉพาะสมาชิกของกลุ่ม Seafood Task Force ควรส่งสัญญาณอย่างชัดเจนเพื่อให้รัฐบาลไทยและบริษัทอาหารทะเลอื่น ๆ ในไทยทราบว่า ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องยุติการเลือกปฏิบัติทางกฎหมายต่อคนงานข้ามชาติ และยกเลิกการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา โดยให้เป็นไปตามหลักการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งกำหนดให้บริษัทต่าง ๆ มีความรับผิดชอบ ที่จะต้องเคารพสิทธิอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างมีอิสระ ด้วยจตจำนงที่จะดำเนินการตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ความรับผิดชอบของบรรษัทนั้นย่อมอยู่เหนือกว่าการปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศ จนกว่าจะมีหลักประกันคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานเหล่านี้ ปัญหาการใช้แรงงานบังคับจะยังคงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายต่อไป

รัฐบาลไทยมีเวลาอีกหกเดือนก่อนจะถึงวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่จะดำเนินการแก้ไขเพื่อให้มีคุณสมบัติได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าอีกในปี 2564 Seafood Working Group จึงขอให้รัฐบาลไทยและบริษัทที่เกี่ยวข้องทุกแห่งเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่ม Seafood Task Force ดำเนินการโดยพลันและสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นนานก่อนหน้านี้แล้ว

รัฐบาลไทยควร

  • ปฏิรูปพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพื่ออนุญาตให้คนงานทุกคน  มีสิทธิที่จะจัดตั้งและเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน มีสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม และการนัดหยุดงาน โดยไม่มีการแบ่งแยก กฎหมายควรให้การคุ้มครองทางกฎหมายกับสิทธิเหล่านี้ เพื่อให้คนงานสามารถใช้สิทธิเหล่านี้โดยไม่ต้องหวาดกลัวหรือไม่ต้องถูกตอบโต้
  • ลดการเอาผิดทางอาญากับความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งในประมวลกฎหมายอาญาและพรบ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และออกกฎหมายเพื่อต่อต้านการฟ้องคดียุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) เพื่อประกันว่า คนงานและนักปกป้องสิทธิแรงงานจะไม่ตกเป็นเป้าการฟ้องคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง หากมีการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิที่จะแสดงความเห็นต่อต้านการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงาน
  • ทำงานร่วมกับตัวแทนสหภาพแรงงานและองค์กรคนงานที่เป็นอิสระ เพื่อแก้ปัญหาช่องโหว่ทางกฎหมายอันนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์จากคนงาน และให้มีการปฏิรูปกฎหมายที่จำเป็นเพื่อให้เกิดการคุ้มครองอย่างเหมาะสมต่อสิทธิของคนงานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และป้องกันการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน
  • แก้ไขข้อพิพาทเนื่องจากการละเมิดสิทธิแรงงาน ตามรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ Committee on Freedom of Association และข้อร้องเรียน เกี่ยวกับสิทธิ GSP ที่หน่วยงานต่าง ๆ ยื่นต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ รวมทั้ง AFL-CIO
  • ให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 (เสรีภาพในการสมาคม) และ 98 (สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม)

บริษัทซึ่งส่งออกและใช้วัตถุดิบที่เป็นอาหารทะเลจากประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่ม Seafood Task Force ยังควรดำเนินการในส่วนของตน โดยใช้ความเป็นผู้นำและอิทธิพลของตนดังนี้

  • บริษัทผู้ซื้อจากต่างประเทศควรเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้รัฐบาลไทยปฏิรูปกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพื่อประกันว่าคนงานได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ด้วยในแง่ของสิทธิเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
  • บริษัทผู้ซื้อจากต่างประเทศควรประกันว่า บริษัทซัพพลายเออร์แจ้งให้คนงานทุกคนและตัวแทนของพวกเขา ทราบถึงการมีเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม บริษัทซัพพลายเออร์ควรยอมให้มีการจัดตั้งองค์กรที่เป็นตัวแทนของคนงานและเป็นอิสระในสถานประกอบการ (รวมทั้งองค์กรของคนงานข้ามชาติ) และให้เจรจาต่อรองร่วมอย่างสุจริตใจกับตัวแทนคนงาน โดยไม่ควรมีการเลิกจ้างคนงาน หรือตอบโต้คนงานที่ยื่นข้อเรียกร้องในการเจรจาต่อรองร่วมกับนายจ้าง
  • บริษัทผู้ซื้อจากต่างประเทศควรร่วมมือกับบริษัทซัพพลายเออร์ เพื่อทำการประเมินการดำเนินงาน เพื่อตรวจสอบว่ามีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของหลักการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และให้ประกาศผลการประเมินต่อสาธารณะ และดำเนินการที่จำเป็นทุกประการเพื่อป้องกันและเยียวยาเมื่อเกิดการปฏิบัติมิชอบต่อสิทธิของคนงานทุกคนในระหว่างการดำเนินงานของบริษัท

ขอแสดงความนับถือ

American Federation of Labor and Congress of Industrial Organizations (AFL-CIO)
Be Slavery Free
Business & Human Rights Resource Centre (BHRRC)
Center for Alliance of Labor and Human Rights (CENTRAL)
Environmental Justice Foundation (EJF)
Ethical Trading Initiative (ETI)
Finnwatch
Freedom Fund
Freedom United
Foundation for Education and Development (FED)
Greenpeace
Green America
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
Human Rights at Sea
Human Rights Watch
Humanity United Action
International Labor Rights Forum (ILRF)
เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN)
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)
Oxfam
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (ภาคีเครือข่ายฯ)
United Food and Commercial Workers International Union (UFCW)

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.