Skip to main content

ประเทศไทย: พบซากชิ้นส่วนของนักเคลื่อนไหวที่ “หายตัวไป”

ความยุติธรรมสำหรับบิลลี่ถูกขัดขวาง เนื่องจากการปกปิดข้อมูลและช่องโหว่ด้านกฎหมาย

พอละจี รักจงเจริญ © 2014 Human Rights Watch / Private

(นิวยอร์ก) – ทางการไทย ควรดำเนินการสอบสวนที่น่าเชื่อถือโดยทันที กรณีการอุ้มฆ่านักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงคนสำคัญ ซึ่งตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่าห้าปีที่แล้ว ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ 

ในการแถลงข่าววันที่ 3 กันยายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม แถลงว่า พบซากชิ้นส่วนจากศพของพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดที่เขาหายตัวไประหว่างถูกเจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมตัวเมื่อเดือนเมษายน 2557

“การค้นพบซากชิ้นส่วนของบิลลี่ ควรกระตุ้นให้ทางการไทย เพิ่มความพยายามอย่างเร่งด่วนในการสอบสวน และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามแนวทางการสอบสวนที่พบ” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ไม่ควรมีความพยายามปกปิดข้อมูล หรือทำให้เกิดความล่าช้าอีกต่อไป หากควรมีการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมต่อทุกคนที่มีส่วนรับผิดชอบกับความตายของบิลลี่”

พันตำรวจโทกรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษระบุว่า คณะผู้สอบสวนได้พบถังน้ำมัน เศษซากของฝาปิดถัง เหล็กเส้นสองชิ้น ชิ้นส่วนของไม้ที่ถูกเผาไหม้ และเศษกระดูกสองชิ้นที่ก้นอ่างเก็บน้ำในระหว่างวันที่ 26 เมษายน 2562 และ  22-24 พฤษภาคม 2562 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าสารพันธุกรรมที่พบในกระดูกหนึ่งชิ้น ซึ่งพบอยู่ในถังน้ำมัน ตรงกับแม่ของบิลลี่ คณะผู้สอบสวนจึงสรุปว่า เศษกระดูกดังกล่าวเป็นของบิลลี่ โดยระบุว่า วัตถุเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส ซึ่งชี้ว่าคนร้ายได้เผาศพบิลลี่เพื่ออำพรางคดี คณะผู้สอบสวนได้เดินทางไปยังที่เกิดเหตุอีกครั้งในระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม และพบเศษกระดูกอีกกว่า 20 ชิ้น โดยแปดชิ้นเป็นกระดูกมนุษย์

ประเทศไทยมีพันธกรณีตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ตนเป็นภาคี โดยจะต้องดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีอย่างเหมาะสมเมื่อเกิดเหตุการบังคับบุคลให้สูญหาย การทรมาน การเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว และข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว 

ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ดีเอสไอมีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญาร้ายแรง รวมทั้งคดีที่มีความซับซ้อนซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีสอบสวนพิเศษ สอบสวนความผิดอาญาที่กระทำโดยกลุ่มอาชญากร และคดีเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดีเอสไอจึงควรเป็นแกนนำในการสอบสวนคดีสำคัญนี้ต่อไป ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

อย่างไรก็ดี การสอบสวนที่ผ่านมาประสบความล่าช้า เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายไทยที่กำหนดให้การบังคับบุคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญา รัฐบาลเป็นผู้กระทำการบังคับบุคลให้สูญหาย เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือตัวแทนนำบุคคลมาควบคุมตัว และต่อมาปฏิเสธว่าไม่ได้ควบคุมตัวบุคคล หรือไม่ยอมเปิดเผยชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น 

ที่ผ่านมาฮิวแมนไรท์วอทช์กระตุ้นรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามาตลอด เพื่อให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเมื่อปี 2555 และให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อกำหนดให้การบังคับบุคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญา

“จำเป็นต้องมีการสอบสวนอย่างน่าเชื่อถือโดยเร่งด่วนเพื่อครอบครัวของบิลลี่ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับนักปกป้องสิทธิคนสำคัญที่มาจากชุมชนชาวกะเหรี่ยง และเพื่อยุติการบังคับบุคลให้สูญหายในประเทศไทย” อดัมส์กล่าว “คดีของบิลลี่จะเป็นเงาบดบังรัฐบาลไทยต่อไป จนกว่าจะมีการชี้แจงถึงชะตากรรมของเขาทั้งหมด และจนกว่าจะมีการลงโทษผู้กระทำความผิด”

ข้อมูลพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น และเจ้าหน้าที่ของเขา ได้จับกุมบิลลี่ในข้อหาครอบครองน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย พร้อมกับของกลางเป็นขวดน้ำผึ้งหกขวด เจ้าหน้าที่อุทยานอ้างว่า ต่อมาได้ปล่อยตัวบิลลี่หลังสอบปากคำเขาเป็นเวลาสั้น ๆ และไม่มีข้อมูลว่าเขาอยู่ที่ไหน ในเดือนกันยายน 2557 ตำรวจภูธรภาค 7 ได้ดำเนินคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาต่อนายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่อุทยานอีกสี่คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าควบคุมตัวบิลลี่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยตำรวจไม่พบว่ามีหลักฐานการปล่อยตัวบิลลี่ออกมา ดีเอสไอพบคราบเลือดมนุษย์ในรถยนต์ที่เป็นของเจ้าหน้าที่อุทยาน แต่ไม่ทันได้ตรวจสอบว่าเป็นเลือดของบิลลี่หรือไม่ เนื่องจากมีการล้างรถยนต์คันดังกล่าว ก่อนที่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจะทำการตรวจสอบ

ขณะที่ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคลให้สูญหาย บิลลี่กำลังเดินทางจากหมู่บ้านในภูเขาที่อำเภอแก่งกระจาน ไปพบกับชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงและนักเคลื่อนไหว เพื่อเตรียมตัวในการขึ้นศาล ในคดีที่ชาวบ้านฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายชัยวัฒน์ ชาวบ้านกล่าวหาในคำฟ้องว่าในเดือนกรกฎาคม 2554 ทางการได้เข้ามาทำลายและเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน บิลลี่ยังอยู่ระหว่างเตรียมยื่นทูลเกล้าถวายฎีกาในคดีนี้ โดยเขาได้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องติดตัวไปด้วย

แม้นายชัยวัฒน์จะถูก กล่าวหา ในหลายข้อหา รวมทั้งการใช้อำนาจและการประพฤติตนอย่างมิชอบร้ายแรง ขณะดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเลื่อนตำแหน่งให้เขาเป็นหัวหน้าหน่วยพญาเสือ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองป่าไม้และสัตว์ป่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.