Skip to main content

ประเทศไทย: นักฟุตบอลชาวบาห์เรนเดินทางกลับออสเตรเลียแล้ว

วงการฟุตบอลโลก กลุ่มสิทธิมนุษยชน ต่างช่วยกันหยุดยั้งการส่งกลับที่มิชอบด้วยกฎหมาย

(นิวยอร์ก) – ประเทศไทย ได้ปล่อยตัวนักฟุตบอลชาวบาห์เรนซึ่งเป็นผู้ลี้ภัย ที่ถูกดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ภายหลังแรงกดดันจากทั่วโลก จากทั้งนักกีฬา สมาคมกีฬา และกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้

ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 พนักงานอัยการของไทยได้ถอนฟ้องคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อฮาคีม อัล อาไรบี ตามคำร้องขอของบาห์เรน และอนุญาตให้เขาเดินทางกลับไปออสเตรเลีย ซึ่งให้สถานะผู้ลี้ภัยกับเขา ผู้นำองค์กรฟุตบอลระดับโลก ทั้งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ต่างออกมาเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ปล่อยตัวเขา

"ฮาคีม อัล อาไรบีเป็นผู้ลี้ภัยซึ่งต้องเผชิญกับความอยุติธรรมอย่างร้ายแรง จากการถูกกักตัวและส่งตัวกลับ” มิงกี วอร์เดน (Minky Worden) ผู้อำนวยการกิจกรรมระดับโลกของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ฟีฟ่าและไอโอซีควรได้รับคำชมจากการปฏิบัติตามนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนใหม่ขององค์กร ซึ่งช่วยให้มีการปล่อยตัวนายอัล อาไรบี ทำให้เขาสามารถเดินทางกลับบ้านที่ออสเตรเลียได้”

ทางการไทยได้ควบคุมตัวนายอัล อาไรบีตาม “หมายแดง” ที่ออกอย่างมิชอบโดยองค์การตำรวจสากล เพื่อให้ส่งตัวเขากลับไปบาห์เรน ซึ่งเขาเคยถูกทรมานและถูกคุกคามเอาชีวิตมาแล้ว

นายอัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ถูกควบคุมตัวและซ้อมทรมานหลังการชุมนุมประท้วงอาหรับสปริงส์เมื่อปี 2554 เขาหลบหนีออกจากประเทศไปยังออสเตรเลีย และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยที่นั่น ปัจจุบันเขาเป็นนักฟุตบอลอาชีพให้กับสโมสรพาสโค วาลที่กรุงเมลเบิร์น

การปล่อยตัวนายอัล อาไรบีแสดงให้เห็นพลังของปฏิบัติการร่วมกัน ระหว่างนักกีฬา รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานสหประชาชาติ สหภาพนักกีฬา และสมาคมกีฬา เพื่อแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว แต่โชคร้ายที่ชาวบาห์เรนคนอื่น ๆ ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากการรณรงค์อย่างเร่งด่วนของวงการกีฬาโลกและประชาคมสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ พวกเขาได้ถูกส่งกลับไปบาห์เรน และมีรายงานข่าวว่าต้องถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย ส่วนผู้ลี้ภัยคนอื่น ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะชาวอุยกูร์จากจีน ถูกบังคับส่งกลับ และมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่จะถูกทรมานและประหัตประหาร

“อิสรภาพของฮาคีม อัล อาไรบีเป็นผลมาจากแรงกดดันที่เข้มแข็งของนักกีฬา ฟีฟ่า ไอโอซี และขบวนการสิทธิมนุษยชนระดับโลก” วอร์เดนกล่าว “แต่กรณีของนายอัล อาไรบีชี้ให้เห็นช่องว่างในระบบคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของฟีฟ่า และความจำเป็นที่จะต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่”

ในปี 2560 ฟีฟ่าได้แต่งตั้งคณะกรรมที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชน จัดทำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน และในปี 2561 ได้กำหนดให้มีระบบรับข้อร้องเรียนสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้สื่อข่าว ซึ่งเห็นว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของฟีฟ่า ศูนย์กีฬาและสิทธิมนุษยชนที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ และคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชนของฟีฟ่า ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่งในการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายอัล อาไรบี รวมทั้งจดหมายจากเลขาธิการฟีฟ่า

“ฟีฟ่าและไอโอซีเริ่มตระหนักถึงความสอดคล้องต้องกัน ระหว่างประโยชน์ของสมาคมกีฬากับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผู้ตกเป็นเหยื่อการปฏิบัติมิชอบ” วอร์เดนกล่าว “กรณีนี้ควรกระตุ้นให้ฟีฟ่าหาทางแก้ปัญหาการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในวงการฟุตบอลโลก รวมทั้งยุติการปฏิบัติมิชอบทางเพศและอื่น ๆ ในวงการกีฬานี้

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.